อบรมปลูกผักออนไลน์ในภาวะวิกฤติ “โครงการ พืชผักปลอดพิษ คนปลอดภัย เมอร์ซี่”

ถึงแม้ว่าวันนี้สถานการณ์โควิด – 19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักส่งผลให้ทีมงานสวนผักคนเมืองนั้นไม่สามารถลงพื้นที่ ไปเยี่ยมชม หรือไปอบรมโดยวิทยากรของเราได้

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของวิทยากร อ.เกศศิรินทร์ แสงมณี หรือ อ.เติ้ล ที่อยากเห็นสมาชิกโครงการทุกกลุ่มสามารถปลูกผักได้งอกงาม เป็นแหล่งอาหารในยามวิกฤติได้ จึงนัดอบรมออนไลน์กับกลุ่มที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 รุนแรงจนต้องปิดชุมชนไม่ให้คนนอกเข้าถ้าไม่มีเหตุจำเป็น ซึ่ง อ.เติ้ลก็ได้มีการอบรมออนไลน์กับกลุ่มที่ไม่พร้อมให้เข้าพื้นที่ชุมชนไปแล้วหลายกลุ่มตั้งแต่โครงการได้เริ่มต้น แต่ยิ่งในสถานกาณ์แบบนี้ตารางการอบรมออนไลน์ในเดือนกันยายนของ อ.เติ้ล จึงแน่นเอี๊ยดไปเรียบร้อยแล้ว

.



วันนี้สวนผักคนเมืองจะมาเล่าถึงหนึ่งกลุ่มที่ก็เป็นสมาชิกโครงการของเราในปีนี้เช่นกัน โดยพื้นที่ของพวกพี่ ๆ เขาอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม (มาก ๆ ) อย่างคลองเตย กลุ่มที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้คือ “โครงการ พืชผักปลอดพิษ คนปลอดภัย เมอร์ซี่” กลุ่มนี้มีสมาชิกทั้งหมดเป็นแม่บ้านที่ทำงานที่สำนักงานของมูลนิธิเมอร์ซี่ และสตรีที่อาศัยอยู่ในระแวกใกล้เคียง

.

กลุ่มนี้ถูกปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 เล่นงานอย่างหนักหน่วงตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการ ส่งผลให้รวมกลุ่มกันได้ยาก สมาชิกกลุ่มต้องผลัดกันกักตัวอยู่บ้านทำให้ต้องผลัดกันมาดูแลสวนผัก ถ้าจะนัดมาทำงานด้วยกัน ก็ต้องนัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เกิน 3 – 4 คน และยืนทำงานห่างกัน ปลูกผักกันอย่างรวดเร็วจากนั้นก็แยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน

.

ด้วยความลำบากที่กล่าวถึง อ.เติ้ลซึ่งเป็นวิทยากรที่นิยมลงไปสอนที่หน้างานเพื่อดูสถานที่จริง และให้คำแนะนำจากหน้างาน เพื่อให้สมาชิกที่มาเรียนด้วยนั้นเข้าใจได้ง่ายและเห็นภาพยิ่งขึ้น ก็ยังไม่สามารถลงพื้นที่นี้ได้ แต่ทางกลุ่มซึ่งได้เริ่มปลูกผักไปบ้างแล้ว ทั้งต้นหอม กะเพรา พริก ผักกาด ชะอม เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ผลผลิต ผักบางอย่างก็ดูแข็งแรงดี แต่ผักบางอย่างกลับแคระแกลน และใบออกสีเหลือง ๆ จึงอยากอบรมกับ อ.เติ้ลเรื่องการปรุงดินและการดูแลผัก

.

ถึงเวลาอบรม อ.เติ้ลก็ได้พูดถึงพื้นฐานของการปลูกผักในเมืองว่าหลัก ๆ แล้ว มีปัญหาคือเรื่องแสงและดิน ซึ่งก็คือปัญหาเกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาของความคับแคบของสถานที่อีกทีนึง โดยของกลุ่มของพี่ ๆ แม่บ้านที่คลองเตยนี้ที่ผักมันแคระแกลนเพราะมันโดนแดดไม่ถึง 6 ชม.ต่อวัน และผักกาดที่แคระแกลนนั้นเกิดจากการหว่านเมล็ดถี่และเยอะเกินไปโดยไม่ได้ย้ายกล้าที่เริ่มโตแล้วให้มีระยะห่างมากพอสำหรับการเติบโต

อ.เติ้ลบอกว่า ” ผักที่ปลูกชิดกันเกินไป ผักจะอ่อนแอ ลำต้นเล็ก และเป็นโรคได้ง่าย ” ดังนั้นถ้าเรารู้ว่าเมล็ดผักที่เราหว่านไปมันขึ้นมาชิดเกินไป (ให้ดูหลังหว่านไปแล้ว 14 วัน) เราก็ต้องถอนมันทิ้งหรือย้ายที่ปลูก ถ้าเราถอนผักในช่วง 14 วัน เราสามารถนำไปกินเป็นผักสดแนมกับน้ำพริกได้อย่างเข้าคู่กันอย่างดี

หรือจะใช้วิธีหยอดลงหลุมที่ใช้นิ้วจิ้มเอาไว้ โดยให้แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 10 ซม. ในแนวแถวเดียวกันและห่างกัน 20 ซม. ในแถวที่ติดกัน จากนั้นจึงมาเลือกว่าผักต้นไหนดูแข็งแรงก็เก็บเอาไว้

.

ส่วนผักที่ใบออกเหลือง ๆ เหมือนต้นชะอมในรูปด้านบนนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าต้นไม้นั้นได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ อ.เติ้ลแนะนำว่า “ให้สมาชิกสังเกตุในแต่ละพื้นที่ว่ามีแสงส่องช่วงไหนของวันบ้าง วันละกี่ชั่วโมง แดดแรงแดดอ่อนขนาดไหน” แล้วเราจึงเลือกผักที่เหมาะกับสภาพแสงในพื้นที่จริง ที่โครงการนี้สมาชิกอาจจะไม่สามารถปลูกผักได้ตามใจชอบ เพราะว่าบริเวณที่โดนแสงตลอดวันแทบไม่มีเลย โดย อ.เติ้ลแนะนำว่าบริเวณด้านหน้าแปลงที่ถูกแสงแดดเยอะที่สุด โดนแสงแดดวันละประมาณ 6 ชั่วโมงนั้นควรจะปลูกผักกินใบ เช่นผักกาด

แต่บริเวณที่อยู่ร่มไม้เดิมนั้นให้ปลูกพวกพริกขี้หนู วอเตอร์เคส ผักแพว ใบบัวบก ซึ่งไม่ต้องใช้แสงในการเจริญเติบโตมาก มีแสงส่องถึงวันละ 3 ชั่วโมง ผักก็แข็งแรงแล้ว

.

หลังจาก อ.เติ้ลช่วยไขข้อสงสัยของสมาชิกกลุ่มแล้วว่าทำไมของพวกเขาถึงไม่ค่อยโตเรียบร้อยแล้ว อ.เติ้ลก็ได้มาสอนหมักดินต่อ และสอนทำน้ำหมักชีวภาพต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ดินของเรามีธาตุอาหารมากขึ้น และผักของเราจะแข็งแรงมากยิ่งขึ้น รสชาติก็ดีขึ้น โดย อ.เติ้ลได้พาสมาชิกกลุ่มที่ได้เข้าอบรมได้ดูดินและน้ำหมักของจริงที่ อ.เติ้ลทำไว้ที่สวนผักด้วย

และสุดท้าย อ.เติ้ลก็ได้เป็นห่วงว่า ถ้าในอนาคตผักขึ้นดีแล้ว แต่ถ้าไม่รู้วิธีไล่แมลง สมาชิกที่ปลูกผักกันมาก็อาจจะไม่ได้กินผักที่ตัวเองปลูก อ.เติ้ลเลยแนะนำทิ้งท้ายว่า กลุ่มนี้อาจจะต้องปลูกแนวกันแมลงรอบๆ แปลงผัก โดยแนวกันแมลงจะประกอบด้วยไม้ดอก เช่น ดาวกระจาย ดาวเรือง หรือจะปลูกไม้ดอกที่กินได้อย่างกะเพราะ หรือโหระพาก็ได้ ถ้ายังไม่เพียงพอก็อาจจะใช้ยาสูบละลายน้ำผสมเหล้าขาวฉีดพ่นก็ช่วยได้เหมือนกัน

.

ก่อนจบการอบรมทุกคนได้พูดคุย ถามถึงสารทุกข์ สุขดิบ ว่าในช่วงเวลาอย่างลำบากเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลองเตย ที่ทุกวันนี้ก็ยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ ชีวิตพวกพี่ ๆ เขา นั้นลำบากมากขนาดไหน ยังหาของกินได้ไหม พวกพี่เขาบอกว่า


” นอกจากของที่มีคนบริจาคเขามาช่วย ซึ่งส่วนมากก็เป็นข้าวกล่องหรืออาหารสำเร็จรูป พวกเขายังโชคดีที่ยังสามารถหาผักกินได้ง่าย ๆ อย่างน้อย ผักหอมที่พวกเราปลูกกันได้ดีนั้นก็มาเป็นอาหารง่าย ๆ ยามหิวได้หลายมื้อ “
.

#สวนผักคนเมือง
#สสส
#ปลูกเมืองปลูกชีวิต
#เกษตรในเมืองฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก