#จะอีกกี่ครั้งก็ยังไหว

เมื่อสวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 (ดอนเมือง) กลายเป็นพื้นที่ผลิตอาหารสำคัญสำหรับแบ่งปันดูแลกันในชุมชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 มาอย่างยาวนาน

สวนผัก : พี่ต้อมสถานการณ์เป็นยังไงบ้าง ชุมชน : เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มากนัก (จำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชน)
สวนผัก : แล้วเรื่องอาหารล่ะ พอดูแลกันไหม ที่โครงการทำปันอาหารปันชีวิตนะ ถ้ามีวิกฤตอาหารบอกมาได้เลยะนะ มีอาหารสำหรับแบ่งปันคนเปราะบาง
ชุมชน : ไม่ต้องห่วงเลย สวนผักเราก้าวหน้ามาก เอาผักไปแจกคนเดือดร้อนมากๆ ก่อนเลย ที่นี่เราดูแลกันได้ เรื่องอาหารยังพอแบ่งปันดูแลกัน สวนผักเรารับมือได้

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง แต่สวนผักชุมชนแห่งนี้ก็สามารถรับมือกับวิกฤตอาหารมาได้ตลอด นี่แหละคือศักยภาพของชุมชนเมืองที่สามารถรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการทำเกษตรในเมือง

วนผักคนเมืองบูรพา 7 สวนผักชุมชนแห่งนี้ เกิดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2558 และในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เข้าร่วมหารือกับสำนักงานเขตดอนเมือง เพื่อพัฒนาพื้นที่อาหารของชุมชนในระดับเขต ให้เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบเครือข่ายพื้นที่อาหารของชุมชนเมือง ซึ่งในปีนั้นได้พัฒนาพื้นที่ต้นแบบสวนผักชุมชนในเขตดอนเมือง ในพื้นที่ 400 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ส่วนตัวของประธานชุมชน ที่ต้องการสร้างพื้นที่อาหารให้กับคนในชุมชน และต้องการทำเกษตรในเมือง มีสมาชิกทั้งหมด 13 คน

❤รู้จักพื้นที่เพื่ออกแบบพื้นที่
สิ่งที่สำคัญในการวางแผนการใช้ที่ดินคือ ทิศทางแสง และทิศทางลม 2 ปัจจัยนี้ มีผลต่อการเลือกพืชที่จะปลูก เพื่อไม่ให้บังแสง และลม พื้นที่ทำสวนผักบูรพา 7 จะอยู่ด้านหลังของบ้านทางทิศตะวันตก พื้นที่ ¼ ส่วน จะโดนเงาของบ้านบังให้ช่วงเช้า ส่วนพื้นที่ด้านอื่นได้รับแสงเต็มที่ ทางทิศตะวันออกจะเหมาะกับการปลูกพืชมากที่สุด เพราะพืชจะได้รับแสงช่วงเช้า ทิศใต้ เป็นทิศลม ลมจะเข้าทางทิศใต้ไปหาทิศเหนือ ถ้าตั้งโรงปุ๋ยหรือที่เตรียมปัจจัยการผลิตด้านทิศใต้ จะทำให้กินปุ๋ยต่าง ๆ ลอยไปเข้าบ้าน ซึ่งการวางแผนนั้นมีการพัฒนารูปแบบตลอด จนได้รูปแบบที่เหมาะสม การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ การออกแบบและวางผังแปลง จัดโซนตามหลักภูมิศาสตร์ และมีกิจกรรมที่หลากหลายเกิดขึ้นภายในพื้นที่ อีกทั้งที่นี่มีองค์ความรู้เรื่องการทำแบบยก แบบหมุนได้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางของแสง เพื่อให้พืชนั้นเจริญเติบโตที่ดีขึ้น

❤สังเกต บันทึกการเปลี่ยนแปลง ทำข้อมูลเปรียบเทียบ วางแผนแก้ไข
สวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 มักเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมหนักในฤดูฝน 3 – 4 เดือนมาตลอด ทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ สมาชิกไม่จอมจำนนต่อปัญหา หากแต่ช่วยกันออกแบบผังการทำแปลงผักใหม่ทั้งหมด จากการสังเกตและจดบันทึกความสูงของระดับน้ำในช่วงฝนตกหนักและน้ำท่วมแปลงผักในปีที่ผ่านมา แล้วออกแบบแบบจะทำอย่างไรให้พื้นที่แปลงผักไม่ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย โดยการจัดสรรพื้นที่การทำเกษตรออกเป็น 3 โซน โซนน้ำไม่ท่วม พื้นที่ส่วนนี้ไม่ต้องเจอปัญหานำท่วมอีก สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี มีทั้งการถมดินให้สูงขึ้น การยกขอบแปลงให้สูง การก่อขอบแปลงด้วยอิฐ และการปลูกผักในบ่อซีเมนต์ โซนน้ำท่วมพื้นที่แต่ไม่ท่วมแปลงผัก เป็นพื้นที่ที่ต่ำไล่ระดับลงมา ไม่มีการถมดินเพิ่ม แต่ใช้วิธีการยกขอบแปลงผักให้สูงมากขึ้นอีก 30 เซนติเมตร เวลามีฝนตกหนักน้ำอาจจะท่วมขังรอบๆ แปลงได้ แต่ไม่เข้าไปแปลงผัก จนทำให้ผักในแปลงเสียหาย และโซนน้ำท่วมได้ คือ เป็นพื้นที่ต่ำที่สุด พื้นที่ตรงนี้ สมาชิกตกลงร่วมกันยอมให้น้ำท่วมแปลงได้ แต่จะใช้วิธีการเลือกชนิดผักที่ปลูกให้เป็นพืชอายุสั้น หรือพืชที่ชอบน้ำหรือความชื้นมาเพาะปลูกแทน ปัจจุบันสมาชิกแก้ไขปัญหาด้วยการทำแปลงผักยกพื้นจำนวน 6 แปลง

❤ปรับปรุงดินให้ดี พึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิต
ช่วงปีแรก ช่วงแรกของการทำสวนผัก เป็นการเปิดหน้าดินใหม่ เวลาปลูกครั้งแรก ๆ พืชจะเจริญเติบโตดี เพราะได้ธาตุอาหารจากดิน และหลังจากนั้นเริ่มลดลง ชุมชนเลยมีการนำเอาเศษใบก้ามปู ใบไม้มาทำปุ๋ยหมักร่วมกับเศษอาหาร และใช้กระบวนการหมักในแปลง ซึ่งยังไม่มีกระบวนการที่จะทำปุ๋ยไว้ใช้
– พัฒนา ทดลอง เรียนรู้ต่อเนื่อง การปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยคอก คือ ขี้วัว ผสมกับเศษใบไม้แห้ง และเศษอาหาร แล้วผสมคลุกเคล้าลงไปให้ดิน และหมักทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ ผลการทดสอบ พบว่า สามารถปลูกผักได้ดี แต่ดินยังเหนียวและแน่น ระบายน้ำได้ไม่ดี ปี 2563 มีการเรียนรู้ใหม่ และมีการทำแปลงยกแคร่เพิ่มขึ้น ในช่วงฤดูฝน การเตรียมดินในแปลงอิฐบล็อก เริ่มมีการนำเอาดินถุงมาผสม เติมแกลบดิบ ปุ๋ยคอกและเศษใบไม้ และมีการหมักแปลงโดยใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หมักไว้ 2 – 4 สัปดาห์ โดยสังเกตการร่วนซุยของดิน และเมื่อมีการเลี้ยงไก่ไข่ จนได้รอบการเปลี่ยนแกลบในเล้าไก่ ชุมชนได้เปลี่ยนวิธีการหมักดินอีกครั้ง โดยใช้ขี้ไก่แกลบร่วมกับใบไม้แห้ง และจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงและรดด้วยน้ำในบ่อปลา จะทำแบบนี้ทุกครั้งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต สิ่งที่สั้งเกตได้คือ ดินมีความร่วนซุยมากขึ้น และผลผลิตดี ต้นมีขนาดใหญ่ ใบเขียวเข้ม เพราะได้ไนโตรเจนจากขี้ไก่แกลบ
– จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ที่นี่ใช้น้ำจากบ่อปลา มาเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์ โดยใช้ไข่ไก่ กะปิ และผงชูรสเป็นอาหาร นำมาผสมกันและตั้งตากแดดทิ้งไว้ 15 – 30 วัน น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและนำมาใช้ในการหมักปุ๋ยและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชทุกช่วงการเจริญเติบโต
– ปุ๋ยหมัก ทำเป็นกองบ่อวงตาข่าย และนำเศษใบไม้ 3 ส่วน มาเท ตามด้วยเศษอาหาร 1 ส่วน และปุ๋ยคอก 1 ส่วน รดด้วยจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และก็ทำแบบนี้ไปจนเต็มบ่อ รดน้ำให้ชุ่มตลอด ผ่านไป 2 เดือน นำมาใช้ในการปรับปรุงดิน
-ปุ๋ยหมักจากก้อนเห็ดเก่า นำก้อนเห็ดเก่า 3 ส่วน ผสมขี้ไก่แกลบ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน รดด้วยจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และหมักทิ้งไว้ในที่ร่ม 30 วัน นำมาใส่แปลงช่วยปรับปรุงดินและเพิ่มไนโตรเจน

.

❤สำรวจการบริโภค ความชอบ เมนูอาหารประจำบ้าน
การเลือกผักปลูก ที่นี่จะใช้ผักตามความชอบของคนในกลุ่มและชุมชนเป็นหลัก เพราะเป็นผักที่ใช้ในครัวเรือน และทานเป็นประจำ อีกทั้งขายง่าย ดูแลง่าย โดยจะแบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของพืชและการนำส่วนต่าง ๆ มาบริโภค ดังนี้
ผักกินใบ : ผักกาดเขียวน้อย ผักกาดเขียว ฉุ่นฉ่าย ผักบุ้ง กวางตุ้งดอก กวางตุ้งใบ ผักกาดขาวน้อย ผักกาดขาวใหญ่ ผักชี คะน้า ผักสลัด กะเพรา โหระพา
ผักกินหัว : หัวไชเท้า
ผักกินผล : พริก มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือเทศ มะละกอ มะนาว มะกรูด
ผักขึ้นค้าง : ถั่วฝักยาว บวบ น้ำเต้า ฟัก แฟง

❤แบ่งงานกันทำตามความชอบ ความถนัด
ต้อม : วางแผนการปลูก จัดซื้อ ประสานงาน หว่านเมล็ดพันธุ์ เพาะกล้า ดูแลเห็ด
น้อย : รดน้ำ ดูแลสวนโดยรวมทุกวัน ทำปุ๋ยมัก น้ำหมัก จุลินทรีย์สังเคราะห์ แสง ให้อาหารไก่และปลาดุก
บอย : ปรับพื้นที่ ทำแปลงผัก ขุดดิน ปรับปรุงดิน งานปลูก ดูแลเห็ด
มวล : ปรับพื้นที่ ทำแปลงผัก ขุดดิน เพาะกล้า ย้ายกล้า
เทพ : ปรับพื้นที่ ทำแปลงผัก ขุดดิน พรวนดิน
ตุ๊ก : รดน้ำ เก็บผลผลิต
ยุ : รดน้ำ เพาะกล้า ปลูก
นี : ถอนหญ้า เก็บผลผลิต และแบ่งปันผลผลิตผัก และไข่ไก่
หมาย : เก็บผลผลิต จำหน่ายผลผลิต
ทัน : รดน้ำ เพาะกล้า ปลูก

❤ยกระดับสู่การพึ่งตนเองด้านอาหารที่มากขึ้น
เมื่อสวนผักแห่งนี้สามารถทำการเพาะปลูกผักได้อย่างต่อเนื่อง มีผลผลิตเพียงพอสำหรับการแบ่งปันสมาชิก และบางส่วนสามารถจำหน่ายในราคาถูกให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชนสามารถเข้าถึงผักอินทรีย์ได้ในราคาที่เป็นธรรม สวนผักแห่งนี้ก็ยกระดับไปสู่การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ เพื่อให้ชมุชนสามารถพึ่งตนเองด้านอาหารจากผลผลิตที่หลากหลาย

สวนผักกับการรับมือวิกฤตโควิด-19 นับตั้งแต่การระบาดช่วงแรก สวนผักแห่งนี้กลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญให้กับสมาชิก และกลุ่มคนตกงาน ไม่มีรายได้ ผู้สูงอายุในชุมชน ผลผลิตกว่าร้อยละ 50 ทั้งผัก ไข่ไก่ จะถูกจัดสรรเพื่อแบ่งปันให้กับกลุ่มคนเปราะบางในชุมชนอีกกว่า 30 คน ให้สามารถเข้าถึงอาหารได้

ชุมชนสามารถงัดเอาความรู้ ทักษะการเป็นผู้ผลิตอาหาร มาวางแผนการเพราะปลูกพืชอายุสั้น ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว ปลูกง่าย ดูแลง่าย ให้ผลผลิตดี เพื่อให้สามารถแบ่งปันอาหารให้กับสมาชิกในชุมชนได้มากขึ้น

นอกจากเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชนแล้ว สวนผักได้กลายเป็นพื้นที่บำบัดเยียวยาสุขภาพกาย ใจให้กับคนในชุมชนได้อย่างมาก คนจำนวนมากตกงาน มาตรการการห้ามเดินทางทำให้หลาบคนเริ่มกังวล เกิดความเครียด หลายคนเริ่มซึมเศร้า แต่ก็ได้พื้นที่สีเขียวแห่งนี้เอ้าแขนเปิดรับผู้คนจำนวนมาก ให้ได้มาเดินสำรวจ พักผ่อน คลายความกังวลด้วยพื้นที่สีเขียว พืชผักที่กำลังงอกงาม พี่ต้อมบอกว่าในช่วงที่มีมาตรการคุมเข้ม มีสมาชิกเดินเข้ามาในสวนมากกว่าวันละ 10 – 15คน ใช้เวลาเดินในสวน 1 – 2 ชม. บางคนไม่เคยเข้ามาในสวนเลย แต่ตอนวิกฤตมากๆ สวนแห่งนี้สร้างรอยยิ้มและช่วยเยียวยาพวกเขา

โครงการฯ และสมาชิก ร่วมกันเก็บบันทึกข้อมูลผลผลิตตลอดทั้งปี ที่เก็บเกี่ยวบนแหล่งผลิตอาหารนี้ พบว่า การทำสวนผักคนเมืองบนพื้นที่ 400 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงดูผู้คนให้สามารถเข้าถึงการบริโภคผักอย่างเพียงพอได้ถึง 25 คน และยังสามารถเข้าถึงอาหารอื่นๆ ที่เมืองจะสามารถผลิตได้อีกด้วย

และงานวิจัยศักยภาพของการผลิตอาหารของสวนผักชุมชนแห่งนี้ ยังเปิดเผยให้เห็นโอกาสและศักยภาพที่พวกเขาจะสามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้มากขึ้นอีกด้วย เมื่อผลการศึกษาพบว่า ใน 1 รอบการผลิต สวนผักชุมชนแห่งนี้ สามารถผลิตได้มากถึง
🎯 ผักบุ้ง 5 kg/ตร.ม.
🎯 ผักกาดเขียว 8 kg/ตร.ม.
🎯 คะน้า 5 kg/ตร.ม.
🎯 ชุนฉ่าย 8 kg/ตร.ม.
🎯 กวางตุ้ง 5 kg/ตร.ม.
🎯 หัวไชเท้า 6 kg/ตร.ม.
🎯 ถั่วฝักยาว 4 kg/ตร.ม.
🎯 ผักสลัด 2 kg/ตร.ม. ปลูกบนแคร่

นี่เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาของสวนผักชุมชน ที่แสดงให้เห็นบทบาทความสำคัญของการทำเกษตรในเมือง ที่ช่วยยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหาร และช่วยให้ชุมชนเมืองสามารถรับมือกับวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นได้

🔺 ในสัปดาห์ต่อไป โครงการสวนผักคนเมืองมีโปรแกรมทัวร์สวน(ทิพย์) โดยจะเชิญชวนทุกท่านที่สนใจเรื่องสวนผักชุมชน สวนผักคนเมืองว่าจะมีรูปแบบไหนบ้าง พวกเขามีวิธีการ กิจกรรม และบทเรียนสำคัญอย่างไรบ้าง ในการสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนให้สามารถรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้

📣📣 เตรียมตัวให้พร้อม ออกไปเรียนรู้ ส่งต่อกำลังใจ และกลับมาลงมือสร้างความมั่นคงทางอาหารในบ้านและในชุมชนกันนะ 🌶🥒