ความมั่นคงทางอาหาร สร้างความมั่นคงให้ผืนดิน และความมั่นคงในจิตใจ

“อาหารที่ดี ย่อมมาจากการเพาะปลูกที่ดี เกษตรในเมืองเพื่อการพึ่งตนเองด้านอาหาร และความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนเมือง ทำให้เราได้ย้อนกับมาดูแล ฟื้นฟู ผืนดิน แหล่งน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีชีวิต เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการเพาะปลูกให้พืชผักเติบโตอย่างสมบูรณ์ แข็งแรง และกลับมาเป็นอาหารที่ดีมีคุณภาพ มีพลังชีวิต เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในวิกฤตเช่นนี้ ”

สวนผักชุมชนหมู่บ้านอรุณนิเวศประชาร่วมใจ คลองถนน สายไหม กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยและตึกอาคารพาณิชย์ จำนวน 800 – 1,000 หลังคาเรือน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 มาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งเป็นการระงับกิจกรรมหลายประเภทที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ทำให้สมาชิกในชุมชนมีความตื่นตระหนกกังวลอย่างมาก ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้โดยสะดวก ในช่วงเวลานั้นแต่ละครอบครัวมีการกักตุนหาอาหารที่จำเป็นเก็บไว้บริโภคในบ้าน แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดกินเวลายาวนาน ทำให้โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือนลดลง บางคนโดนเลิกจ้าง ว่างงานเพิ่มขึ้น สมาชิกในชุมชนได้รับความลำบากด้านอาหาร รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพราะครึ่งของรายได้ที่หามาได้ ต้องจ่ายเป็น ค่าอาหาร

ผู้สูงอายุและคณะกรรมการชุมชน เล็งเห็นว่าในชุมชนมีพื้นที่สาธารณะ ว่างอยู่ขนาด 200 ตารางวา ที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร แต่พวกเขามีความฝันร่วมกันว่า ‘อยากให้พื้นที่ตรงนี้ กลายเป็นสวนสาธารณะ (กินได้) ของชุมชน เป็นพื้นที่สีเขียวที่สมาชิกในชุมชนมาทำกิจกรรม มาพักผ่อน มาปลูกผัก และสามารถเกี่ยวเกี่ยวผลผลิต พืชผักต่างๆ ไปทำอาหารได้ จนถึงอยากให้มีตลาดชุมชนในพื้นที่ตรงนี้ สมาชิกเก็บผักจากสวน จากบ้านมาขาย บ้านไหนทำอาหาร ทำขนม ของกิน มาขายได้ในตลาดชุมชนแห่งนี้ ’

ความฝันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่แกนนำอยากสร้างให้เป็นความจริงเพื่อสมาชิกในชุมชน แม้จะมีสมาชิกที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำทำอยู่ประมาณ 10 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ  แต่พวกเขาไม่เคยละทิ้งความฝัน ต่างมุ่งมั่นเรียนรู้  ค่อยๆ ลงมือทำ ตามแรงกำลังกาย  แต่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ และสวนผักคนเมือง อยากชวนพวกเราไปเรียนรู้  สัมผัสถึงกำลังใจอันยิ่งใหญ่ จากประสบการณ์ของคุณลุง คุณป้า ที่มุ่งมัน

“สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างความมั่นคงให้ผืนดิน และความมั่นคงในจิตใจ” ร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง ภายใต้การส่งเสริมเกษตรในเมืองและความมั่นคงทางอาหารเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในพื้นที่เมือง ร่วมกับสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พื้นที่ขนาด 200 ตารางวา บ่อเลี้ยงปลา สวนสาธารณะกินได้  และตลาดนัดชุมชน  บทเรียนแรก “แผนงาน แผนการปรับเปลี่ยนได้เสมอ แต่สิ่งสำคัญคือ ความมุ่งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมเรียนรู้ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม” เดิมแล้วในช่วงเริ่มต้นโครงการสมาชิกโครงการ มีการประชุมหารือร่วมกับพี่เลี้ยงกลุ่ม เพื่อออกแบบพื้นที่ การทำงาน การทดสอบดิน และต้องการเน้นไปที่การปรับปรุงดินเดิมให้อุดมสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการปลูกผักได้ระยะยาว แต่สมาชิกก็มีความคิดเพิ่มเติมว่า ถ้าในพื้นที่จะมีบ่อเลี้ยงปลา เพื่อไว้บริโภคในชุมชนด้วย  จึงมีการขุดขยายบ่อเลี้ยงปลา และนำดินก้นบ่อนั้นมาขึ้นเป็นแปลงปลูกผัก โดยนำมาขึ้นแปลงปลูกผัก ขนาด 1 x 3 เมตร  จำนวน 72 แปลง  โดยแบ่งออกเป็น 6 แถวๆ ละ 12 แปลง  สิ่งที่เปลี่ยนจากแผนเดิมคือ แผนแรกที่ไม่ใช้ดินจากก้นบ่อ จะเป็นดินที่ปรับปรุงง่ายกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า  แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นดินก้นบ่อ อาจารย์เติ้ล(พี่เลี้ยงกลุ่ม) ได้ทำการตรวจวัดคุณภาพดินอีกครั้ง พบว่า ได้ค่า pH ที่เป็นกรดจัด ประเมินว่า ถ้าหว่านปอเทือง ไม่งอกแน่นนอน จึงเสนอแผนใหม่ให้สมาชิก ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้แรงกาย และเวลามากกว่าแผนเดิมที่วางแผนไว้

  • ต้องปรับ pH ก่อน เพราะดินเป็นกรด จะส่งผลต่อการงอกและการตรึงไนโตรเจนของไรโซเบียมทที่รากปอเทือง เพราะไรโซเบียมเป็นแบคทีเรีย จะเจริญและตรึงไนโตรเจนได้ดีในดินที่มี pH 6 – 7
  • หว่านโดโลไมท์ อัตรา 0.5 kg/ ตร.ม. และรดน้ำตาม หมักทิ้งไว้ 7 วัน
  • หว่านปอเทืองลงในแปลงที่เตรียมไว้
  • สับปอเทืองระยะดอกตูม และระยะดอกบาน หมักลงแปลง
  • ใส่ปุ๋ยหมักแห้ง ร่วมกับการหมักปอเทือง 1 ครั้ง
  • รดจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และน้ำหมักผลไม้รด  ร่วมด้วยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • หมักทิ้งไว้ 1 เดือน

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของสมาชิก ที่อยากฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดิน ให้ดินมีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกอาหารที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง และลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องไปซื้อปัจจัยการผลิตตลอดเวลา จึงยอมจะเหนื่อยลงแรงกาย แรงใจ และใช้เวลาในการปรับปรุงดินในช่วงเริ่มต้นให้มากขึ้น เพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว พร้อมกับทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นการทดลองเล็กๆ ร่วมกับพี่เลี้ยงกลุ่ม ที่ศึกษาว่า การตัดสับปอเทืองในระยะไหนได้ผลดีที่สุด โดยการออกแบบพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก ทดลองสับในระยะดอกตูม  ส่วนที่สองสับปอเทืองในระยะดอกบาน และทดสอบว่า ดินจะร่วนขึ้น ค่า pH จะเพิ่มขึ้น และพืชจะเจริญเติบโตแค่ไหน ส่วนที่ 3 ปลูกปอเทืองเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดไว้ใช้ปลูกในครั้งต่อไป

บทเรียนที่สอง “ทำตามกำลัง ทำอย่างมีความสุข เรียนรู้ ลงมือทำต่อเนื่อง จะได้ไม่ท้อ ไม่หมดแรงกาย ไม่หมดกำลังใจ” โดยปกติแล้วในสถานการณ์วิกฤตด้านอาหารแบบนี้ พื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เราคงคุ้นชินและคาดหวังจะให้พื้นที่อาหารนี้งอกงามโดยเร็วที่สุด คนส่วนใหญ่จึงมักทุ่มแทกำลังกาย งบประมาณจำนวนมากในช่วงแรก เช่น  ซื้อดินใหม่มาลง ใส่ปุ๋ย คลุกๆ แล้วรีบหว่านเมล็ดพันธุ์ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้มีผักให้เก็บกินได้เร็ว  แต่ใครจะรู้ว่าการทำงานช่วงแรกนี่แหละคือบทพิสูจน์สำคัญ บางคนจะรู้สึกเหนื่อย ท้อจากการทุ่มแทอย่างหนัก และหากรีบเกินไป ไม่ทันได้ทำให้ดินฟื้นฟู มีความเหมาะสมกับการปลูกผัก ระหว่างทางเราก็จะต้องเจอกับปัญหาผักไม่โต แคระแกร็น มีแมลงศัตรูพืชรบกวน และในที่สุดก็จะยิ่งท้อแท้เพราะได้ทุ่มเทพลังไปมาก แต่ไม่ได้ผลผลิตกลับมาตามที่คาดหวังไว้ สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มสมาชิกของเรา และคนปลูกผักในเมืองทั่วไป

แต่สำหรับสวนผักชุมชนหมู่บ้านอรุณนิเวศประชาร่วมใจ พวกเราเรียนรู้พื้นฐานความสำคัญของการทำเกษตรในเมือง การเพาะปลูกพืชผักในบริบทข้อจำกัดของเมือง และที่สำคัญพวกเขาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับศักยภาพ การทำงานที่เหมาะสมกับกลุ่มคนทำงาน ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ การปรับปรุงดินที่ต้องอาศัยเวลา และแรงงาน แต่พวกเขามีแต่ผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงออกแบบการทำงาน แบบ “ทำตามกำลัง ทำแบบมีความสุข ไม่เร่งรีบ แต่ไม่หยุดทำ”

  • ระหว่างรอปอเทืองโตให้สับหมักลงแปลง พวกเขารวมกลุ่มกันในช่วงเย็น ทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ เศษผัก ผลไม้ที่หาได้จากรอบๆ ชุมชน มาหมักปุ๋ย ทำน้ำหมักชีวภาพ ไว้สำหรับกระบวนการปรับปรุงดิน และการเพาะปลูก  ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาพวกเขาได้ช่วยจัดการขยะอาหารของเมืองไปแล้วกว่า 2,600 กิโลกรัม
  • ในช่วงต้องสับปอเทืองลงหมักในแปลง ช่วงแรกพวกเขาวางแผนว่าจะใช้เครื่องย่อยใบไม้ เพื่อลดการใช้แรงงานและลดเวลาในการทำงานลง แต่เครื่องย่อยก็ดันมาเสียก่อน พวกเขาจึงนัดหมายกันมาช่วยกันสับปอเทืองด้วยมือ ค่อยๆ สับย่อยปอเทืองจำนวนหลายสิบแปลง อย่างมีความหวัง ถือเป็นกิจกรรมกลุ่ม แม้เหนื่อย แต่ก็มีช่วงเวลาได้นั่งพูดคุยกันระหว่างทำงาน
  • สับดินหมักปอเทือง เป็นงานที่หนัก แต่ลุง ป้า น้า อา ก็ประเมินกำลังตัวเอง วันหนึ่งช่วยกันทำได้ 1 – 2 แถว เท่านี้ก็พอ กลับไปพักให้หายเหนื่อย วันพรุ่งนี้ค่อยมาทำกันใหม่ ทำแบบมีความสุข จะได้อยากมาทำบ่อยๆ

บทเรียนที่สาม “ค่อยๆ ทำให้เกิดรูปธรรม สร้างความเข้าใจ กระจายความสุขกับคนรอบข้าง”  จากเดิมที่อาจารย์เติ้ลคาดการณ์ไว้ว่า อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการปรับปรุงดิน แต่วันนี้ผ่านมา 2 เดือน จากกความอดทน มุ่งมั่นในการทำงาน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์  วันนี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทาอาหารของชุมชน พวกเขาเลือกหว่านเมล็ดผักบุ้งในการปลูกผักรอบแรก ด้วยเหตุผล

  • ผักบุ้ง ปลูกง่าย ดูแลง่าย เพื่อทดสอบคุณภาพของดินว่าพร้อมสำหรับการปลูกผักหรือยัง
  • ผักบุ้งอายุสั้น ใช้เวลา 20 – 22 วันก็เก็บเกี่ยวได้ สมาชิกในชุมชนจะได้มีผักไปกิน ดูแลกันเรื่องอาหาร
  • ผักบุ้ง น่าจะเป็นเครื่องมือสื่อสาร ให้สมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชนเห็นว่าสิ่งที่แกนนำทำอยู่ เป็นเรื่องที่ทำได้จริง  มีผลผลิตจริง และเป็นผลผลิตที่สามารถแบ่งปันคนจำนวนมากในชุมชนได้
  • รูปธรรมที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็น “สาส์น” ที่ทรงพลังมากที่สุด ที่ทำให้คนในชุมชนหันมาเห็นความสำคัญของพื้นที่ผลิตอาหารของชุมชน  และฝันร่วมกันถึงสวนสาธารณะกินได้ ตลาดนัดชุมชน ร่วมกันมากขึ้น

และเมื่อถึงวันนั้น พวกเขามีความมั่นใจว่า ผืนดินที่พวกเขาช่วยกันดูแล ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ เตรียมพร้อมสำหรับการหว่านเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ให้เติบโตงอกงาม เป็นความมั่นคงทางอาหาร สร้างความมั่นคงให้ผืนดิน และความมั่นคงในจิตใจของคนในชุมชน

ทำให้เราย้อนนึกถึง ประโยคที่หมอจิ๊บเคยกล่าวไว้ เกี่ยวกับการปลูกผัก ว่า การเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิต เข้าใจข้างในของตนเองจึงสำคัญด้วย  ดังนั้นการทำงานของเรา ทุกคนต้องเข้าใจการทำสวนเพื่อตัวเราเองก่อนใครๆ เพราะถ้าเราไม่มีความสุขคนใกล้ตัวจะไม่มีความสุขไปด้วย และเข้าใจความสำเร็จที่แท้จริง คือความสุขระหว่างทาง.. คือความสุขของทุกๆ คน ความสุขของเราอาจจะไม่ใช่ที่สังคมคาดหวัง แต่เราจะไม่ละเลยการดูแลจิตใจตัวเราเอง เป็นอันดับแรก ”

และสิ่งที่อาจารย์ ปิยะพงษ์ บุษบงก์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยได้พูดในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2563  “สร้างสังคมความมั่นคงทางอาหาร เผชิญหน้าวิกฤต” ในหัวข้อ บทบาทเกษตรในเมืองในการรับมือวิกฤต  ของเมืองกี้โต้ ประเทศเอกวาดอร์  ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกับบ้านเรา และเอาเข้าจริงๆ เอกวาดอร์ ก็เผชิญกับวิกฤตบ่อยมาก ในช่วงก่อนที่จะเจอกับ Covid-19 ประเทศนี้ก็เจอกับปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงมาก และก็เผชิญกับวิกฤต Covid-19 ที่รุนแรงมากเช่นกัน ประชาชนล้มทั้งยืนเลยก็มีอย่างที่เราเห็นภาพข่าวกัน พูดง่ายๆ คือ เขาอยู่บนความวิกฤตมาโดยตลอด   แต่เมืองนี้มี “ยุทธศาสตร์อาหารของเมือง” มาก่อนหน้านี้ จึงสามารถทำให้เมืองแห่งนี้มีเกราะป้องกันคนเมืองให้คนเมืองรอดพ้นจากวิกฤตอาหาร แม้จะไม่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็น  แต่ความน่าสนใจก็คือ การผลิตอาหารในพื้นที่เมือง ห่วงโซ่อาหาร ระบบอาหารของเมืองทั้งระบบ  

  • การันตีความพอเพียงของสินค้าในตลาดอาหารที่เมืองผลิตได้เอง ประมาณ 1.35 ล้านกิโลกรัมต่อปี และระบบการกระจายสินค้าที่เข้าถึงจากทุกมุมเมือง (อนุญาตให้มีการขนส่งอาหารได้ตามปกติ แม้การใช้ยานพาหนะ ของคนทั่วไปใช้ได้สัปดาห์ละวันเท่านั้น)
  • การควบคุมราคาสินค้าอาหารเป็นไปได้อย่างจริงจัง
  • มีการบริหารคิวอย่างดีในการใช้บริการตลาดสดของเทศบาล
  • ควบคุมความหลากหลายทางชีวภาพ แม้แต่ในยามวิกฤต (ป้องกันการฉวยโอกาส) อาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงวิฤตก็มักจะเกิดขึ้นถกเถียงเรื่องการผลิต เพื่อตอบสนองกับความต้องการให้ได้มากและรวดเร็ว ก็มักจะมีการพิจารณาว่า จะ GMO ไหม ปลูกพืชเชิงเดี่ยวไหม แต่เมืองกีโต้ให้ความสำคัญเรื่องยุทธศาสตร์ของอาหารไปจนถึงเรื่อง การรักษาความหลากหลายของอาหาร และพันธุกรรมอีกด้วย
  • ควบคุมการเปิด-ปิด ร้านอาหารต่างๆ
  • แบ่งปันอาหารให้กับคนไร้บ้านและแรงงานยากจน ประมาณ 11 ตันต่อสัปดาห์ สามารถระดมอาหารไปแจกผู้คนได้
  • มีบริการขนส่งอาหารถึงบ้านกลุ่มคนเปราะบางที่ติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านทางเทศบาล ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าประชาชนเข้าไม่ถึงอาหารก็สามารถติดต่อเข้าไปที่เทศบาล และเทศบาลจะจัดส่งอาหารให้ถึงบ้าน
  • นี่คือผลพวงจากการมียุทธศาสตร์และนำยุทธศาสตร์ไปขับคลื่อน จึงทำให้พอมีวิกฤตเกิดขึ้น ประชาชนจึงไม้ได้รับผลผลิตในเรื่องอาหารมากนัก

ความมั่นคงทางอาหาร สร้างความมั่นคงให้ผืนดิน และความมั่นคงในจิตใจ  

สวนผักชุมชนหมู่บ้านอรุณนิเวศประชาร่วมใจ คลองถนน สายไหม กรุงเทพมหานคร