สร้างพื้นที่สีเขียว(กินได้) เพิ่มแหล่งผลิตอาหารของเมือง เชื่อมโยงสู่ครัว และการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของคนเมือง

เมื่อพูดถึงพื้นที่สีเขียวในเมือง คนส่วนใหญ่คงนึกถึงสวนสาธารณะหรือสวนดอกไม้สวยๆ ตามหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน และเราก็คงจะนึกถึงประโยชน์และบทบาทของพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ออกกำลังกายเท่านั้น แต่ในต่างประเทศบทบาทและการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะครอบคลุมไปมากกว่านั้น โดยเฉพาะมีบทบาทในการกระจายสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกอาหาร ทำเกษตรในเมือง สร้างป่าอาหาร  ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้คนในเมือง

และเราเองก็มีภาพฝันว่า เมืองไทยก็จะมีพื้นที่สีเขียวกินได้ สวนสาธารณะที่มีแปลงผัก สวนหย่อมกินได้ สวนสมุนไพรในร้านอาหาร สวนผักดาดฟ้า ป่าอาหารในเมือง นโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร เชื่อมโยงกับเกษตรกรรม สวนผัก การจัดการขยะอาหาร กิจกรรมสร้างสรรค์ และส่งเสริมการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของผู้คน

และในปีนี้โครงการสวนผักคนเมือง ขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สีเขียว(กินได้) เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่ว่าง เปลี่ยนสวนย่อม และสวนสาธารณะให้มีพื้นเกษตรในเมือง เกิดแหล่งผลิตอาหาร เชื่อมโยงผลผลิตสู่ครัว ที่จะนำไปสู่การเช้าถึง การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะในกลุ่มคนเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ร่วมกับร้านอาหาร ศูนย์อาหาร โรงแรม โรงพยาบาล อพาร์ทเม้นท์ และสวนสาธารณะ จำนวน 7  แห่ง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.)  สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ

สำหรับวันนี้เราจะพามารู้จัก 2 พื้นที่กันก่อน โดยพื้นที่แรกคือ ศูนย์อาหาร FEAST Ratchakru ตั้งอยู่ซอยราชครู พหลโยธิน 5 สามเสนใน เขตพญาไท และพื้นที่ที่สอง โรงพยาบาลบางโพ

FEAST Ratchakru ศูนย์อาหารที่รวบรวมสตรีทฟู้ดจากทั่วภูมิภาคและเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมือง ที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติและการจัดการขยะเศษอาหารนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์สำหรับแปลงผักในพื้นที่ศูนย์อาหาร ศูนย์อาหาร FEAST Ratchakru มีร้านอาหารจำนวน 10 ร้านและแต่วันจะมีขยะเศษอาหารเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของโครงการแปลงขยะเศษอาหารเป็นแปลงผักในร้านอาหารและศูนย์อาหารที่มีพื้นที่จำกัด เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการรวบรวมและจัดการขยะเศษอาหารจากร้านอาหารและศูนย์อาหารในพื้นที่จำกัด เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบของการขนส่งและการรวบรวมขยะเศษอาหารจากร้านอาหารและศูนย์อาหารในพื้นที่จำกัด และเพื่อสร้างแปลงผักต้นแบบจากวัสดุและดินปลูกจากเศษอาหารในพื้นที่จำกัดสำหรับศูนย์อาหารและศูนย์อาหาร

นอกจากนี้ FEAST Ratchakru มีแผนที่สร้างระบบการบริการจัดการเศษอาหารแบบสมาชิกรายเดือนหรือรายปีให้กับร้านอาหารและศูนย์อาหาร โดยการประชาสัมพันธ์จากสื่อประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมด้านการบริโภคสีเขียว ร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐในการสร้างมาตรฐานร้านอาหารและศูนย์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างรายได้จากการรับบริการจัดการขยะเศษอาหารของร้านอาหารที่มีพื้นที่จำกัดและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แปลงจากเศษอาหาร อาทิ วัสดุปลูก ดินคุณภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ผักปลอดสาร และพืชผักในถุงปลูก เป็นต้น

มารวมติดตามและให้กำลังใจ FEAST Ratchakru กับการจัดการขยะเศษอาหารและการสร้างพื้นที่สีเขียว(กินได้) เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร เชื่อมโยงสู่ครัว และส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะในกลุ่มคนเมืองด้วยเกษตรในเมือง

สวนผักพอเพียงริมระเบียงบางโพ (โครงการสวนผักคนเมืองโรงพยาบาลบางโพ)

จากจุดเริ่มต้นธุรกิจโรงน้ำแข็งของครอบครัวบนเนื้อที่ไร่กว่า เปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลบางโพ ขนาด 100 เตียง  เปิดให้บริการเมื่อ 2 มีนาคม 2533  ปัจจุบันโรงพยาบาลบางโพตั้งอยู่ถนนประชาราษฏร์ 2 เขตบางซื่อ มี 3 อาคาร บนที่ดินกว่า 5 ไร่  ซึ่งแบ่งเป็นอาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน และหอผู้ป่วย อาคารศูนย์การแพทย์ ซึ่งเปิดบริการมาแล้ว 29 ปี

โรงพยาบาลบางโพ มีพันธกิจให้บริการส่งเสริม ป้องกัน รักษา พยาบาล ฟื้นฟู อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ยึดคุณธรรม จริยธรรม เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีผู้ป่วย เกื้อกูลชุมชน ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีต่อผู้รับบริการและบุคลากร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ (ที่มา: https://bangpo-hospital.com)

นอกจากการบริการทางการแพทย์รักษาผู้เจ็บป่วยแล้ว โรงพยาบาลบางโพยังให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ โดยการสร้างพื้นที่สีเขียวสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อผู้รับบริการและบุคลากร และโรงพยาบาลบางโพได้เริ่มสร้างพื้นที่แปลงผักเพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ แปลงผักปลอดสารโรงพยาบาลบางโพ ซึ่งเริ่มลงมือทำแปลงผักเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่าน โดยใช้พื้นที่บริเวณข้างตึก พื้นที่ขนาด 12 ตารางเมตร

โรงพยาบาลบางโพมีแผนที่จะเพิ่มเติมพื้นที่แปลงในบริเวณ ดาดฟ้า เพื่อปลูกผัก เช่น กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักคะน้า กระเพรา โหระพา หมุนเวียนสลับกัน เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการปลูกผัก ให้กับบุคลากรในองค์กร สร้างองค์ความรู้ในการจัดการขยะเศษอาหาร เพื่อเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้ในแปลงผัก และเพื่อเพิ่มปริมาณผักปลอดสาร นำเข้าสู่ครัวโรงพยาบาลบางโพ สำหรับนำมาประกอบอาหารให้ผู้ป่วย รวมถึงบุคลากรต่างๆ ในโรงพยาบาลบางโพ

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา ร่วมกันสร้างพื้นที่พื้นที่สีเขียว(กินได้)ให้กับเมือง สร้างแหล่งอาหารให้กับตัวคุณด้วยตัวคุณเอง “เมื่อเริ่มปลูกผัก คนเมืองได้สัมผัสพื้นดิน  คุณค่า ที่มาของอาหาร และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงความรักในธรรมชาติ เชื่อมระหว่างคนเมืองกับชนบทได้ ทำให้คนเข้าใจ เข้าถึง วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ มากกว่าการปลูกผัก คือ การปลูกเมือง และปลูกชีวิต คนเมืองรู้ว่า พวกเขาสามารถผลิตอาหารได้ สร้างพื้นที่อาหารได้ และเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง และเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของเมืองให้เกิดขึ้นได้”

#สร้างพื้นที่สีเขียว(กินได้)

#โครงการสวนผักคนเมือง

#มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)

#สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ