ความมั่นคงทางอาหาร = ความมั่นคงของมนุษย์

อัพเดตความเคลื่อนไหว พื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จากกลุ่มคน/ชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหาร วันนี้พวกเขาเรียนรู้และเริ่มลงมือทำ เพื่อเปลี่ยนแปลง “ความเปราะบาง” นั้นให้เป็น “ความมั่นคง”

ในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 หลายจังหวัดต้องเผชิญกับการระบาดที่รุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง แน่นอนว่าเมืองเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการรวมตัวของผู้คนขนาดใหญ่ เมืองจึงเป็นพื้นที่แห่งความหวัง โอกาสและการแสดงออกถึงนวัตกรรมและความเจริญ เมืองที่มีความหนาแน่นของผู้คนได้กลายเป็นตัวเร่งการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว เพราะกิจกรรมของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนไม่สามารถหลีกหนีหรือเว้นระยะห่างกันได้ เราจำเป็นต้องใช้รถสาธารณะที่แน่นในทุกเช้าและเย็น เมืองจึงกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งโลกสามารถเคลื่อนย้ายผู้คนได้อย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้การแพร่เชื้อจากต่างประเทศมาในประเทศ จากเมืองใหญ่แพร่กระจายไปยังเมืองรอง ไปจนถึงหมู่บ้านชนบทขนาดเล็ก

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ที่ประเทศไทยต่างก็รับรู้ว่า เราต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดเป็นรอบที่สามแล้ว และดูเหมือนว่าครั้งนี้จะรุนแรง ขยายวงกว้างมากกว่าครั้งไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต จังหวัด/พื้นที่ที่มีการระบาด แน่นอนว่า เมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี และเชียงใหม่ ยังคงครองตำแหน่งเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดมากเช่นเดิม การเป็นพื้นที่สีแดงมาอย่างต่อเนื่อง การหนาแน่นของประชากร ความเป็นเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภค ต้องพึ่งพาอาหารจากข้างนอก ขนส่งจากพื้นที่ชนบทเป็นหลัก จะเข้าถึงอาหารได้ก็ต้องออกทำงาน เพื่อนำรายได้มาซื้ออาหาร แถมตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านอาหารของคนเมืองก็สูงมากกว่าที่อื่นๆ โดยเฉพาะยิ่งในกลุ่มคนจนเมือง กลุ่มแรงงานรายวัน ตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านอาหารคิดเป็น ร้อยละ 50 ของค่าแรงขั้นต่ำเลยทีเดียว และยิ่งมีมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศ บังคับใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การกักตัวที่บ้านในกลุ่มเสี่ยง,  มาตรการ work from Home 14 วัน, การปิดสถานบริการหลายประเภท, การห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ล้วนส่งผลกระทบต่อแรงงานรายวัน กลุ่มคนจน คนรายได้น้อยทั้งสิ้น

ในบทความนี้ สวนผักคนเมืองจะไม่พูดถึงปัญหาด้านอาหารของกลุ่มคนเปราะบาง คนจน หรือแม้แต่คนเมืองทั่วไป ซึ่งเราต่างก็รับรู้ว่าทุกครั้งที่มีวิกฤตเกิดขึ้น คนเมืองต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตอาหารด้วยเสมอ

และในบทความนี้เราอยากชวน ไปดู ไปอัพเดตความเคลื่อนไหว พื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จากกลุ่มคน/ชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหาร วันนี้พวกเขาเรียนรู้และเริ่มลงมือทำ เพื่อจะเปลี่ยนแปลง “ความเปราะบาง” นั้นให้เป็น “ความมั่นคง”

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รอบแรก โครงการสวนผักคนเมืองได้เข้าร่วม ภารกิจ “กลุ่มปันอาหารปันชีวิต วิกฤตโควิด-19 เราจะไม่ทิ้งกัน” ผ่านการเปิดรับบริจาคเพื่อนำเงินไปรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตตามแนวทางเกษตรยั่งยืน เกษตรธรรมชาติ แต่ไม่สามารถระบายผลผลิตได้ ไปส่งมอบให้กลุ่มกลุ่มเปราะบางในเมืองให้สามารถเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ ในช่วงเกิดวิกฤตด้านอาหารและสุขภาพ ตลอด 13 สัปดาห์ สามารถส่งมอบอาหารช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางได้มากกว่า 10,000 ครอบครัว เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เราได้เชิญชวนชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารหลายกลุ่ม  มาร่วมสร้างพื้นที่ความมมั่นคงทางอาหารของชุมชนด้วยการทำเกษตรในเมือง  โดยมีชุมชนเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล สมุทรสาคร และเชียงใหม่ มาร่วมสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนเพื่อบริโภคและแบ่งปันกัน จำนวน 30 พื้นที่

โดยให้แต่ละชุมชนรวมกลุ่มเพื่อนบ้าน อย่างน้อย 10 คน มาเรียนรู้การทำเกษตรในเมือง ที่เชื่อมโยงทั้งเรื่องการทำปัจจัยการผลิตที่ดี การเพาะปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว  ที่มีการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมืองในระยะเวลาเร่งด่วน รวมถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเริ่มต้นที่สำคัญและจำเป็น ทั้งเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ดินหมัก ปุ๋ยหมัก อุปกรณ์การทำเกษตร และมีวิทยากรพี่เลี้ยงลงให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ทำให้ชุมชนสามารถมีพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของตนเองได้ ถึงแม้ว่าผลผลิตจากแปลงเกษตร จะไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการด้านอาหารได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเปราะบาง ช่วยยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารในชุมชนเปราะบาง

ทั้งนี้จากการสนับสนุนการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารทั้ง 30 ชุมชน ในช่วงการระบาดรอบสาม ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ทางกลุ่มปันอาหารปันชีวิต ได้สอบถามเกี่ยวกับวิกฤตด้านอาหารว่า ชุมชนยังมีความต้องการให้ช่วยเหลือด้านอาหารอีกหรือไม่ สถานการณ์ด้านอาหารเป็นอย่างไร ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ ตอบกลับมาว่า ….ตอนนี้พวกเราสามารถดูแลกันได้ระดับหนึ่ง สวนผักในชุมชนมีผลผลิตได้เก็บเกี่ยวและแบ่งปันกัน ขอให้นำเงินบริจาค และอาหารเหล่านั้น ไปช่วยเหลือกลุ่มคนที่ขาดแคลน เข้าไม่ถึงอาหาร และลำบากมากกว่าเรา …. ข้อความสั้นๆ ที่ตอบกลับมานี้ คือความสำเร็จก้าวใหญ่ของสมาชิกชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหาร ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในวันนั้น วันนี้พวกเขาสามารถก้าวเดินไปบนเส้นทางของความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตได้ด้วยตนเอง จากการเริ่มต้น ลงมือทำ ร่วมแรงสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนอย่างเข้าใจ

และเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 สวนผักคนเมือง ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองฯ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 30 พื้นที่ ซึ่งกระจายอยู่ใน กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และชลบุรี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สสส.) มีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน สร้างการเรียนรู้ ฟื้นฟูทักษะพื้นฐานของชีวิตในด้านความรู้ เทคนิคการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านอาหาร และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง ให้กับ กลุ่มคน ชุมชน โรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มคนด้อยโอกาส ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งเราได้จัดปฐมนิเทศสมาชิกโครงการ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 64 และถือเป็นวันเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

ในปีนี้เราได้รับเกียรติจากทีมพี่เลี้ยง อาจารย์เติ้ล เกศศิรินทร์ แสงมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรในเมืองและการปรับปรุงดิน  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และทีมลูกศิษย์ น้องปอย และน้องกิ๊ฟ มาให้ความรู้ พื้นฐาน และการเรียนรู้ภาพรวมของการทำเกษตรในเมือง โดยเฉพาะเรื่องลักษณะดิน คุณภาพของดินเดิม ทิศทางแสง ลม สิ่งแวดล้อมรอบๆ พื้นที่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบพื้นที่เกษตรกรรม และการวางแผนการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนที่สอดคล้องและเหมาะสม

ในช่วงสุดท้ายอาจารย์เติ้ล ให้การบ้านของแต่ละโครงการได้ไปสำรวจพื้นที่ ถ่ายภาพดิน เนื้อดิน และพื้นที่โดยรอบ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานการการออกแบบแปลงผัก พื้นที่ผลิตอาหารร่วมกันระหว่างพี่เลี้ยงและสมาชิกโครงการ

ถึงวันนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือน เราอยากชวนไปดูความเคลื่อนไหว ของพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เหล่านั้น ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

  • แต่ละชุมชน เริ่มต้นด้วยการประชุมหารือกับสมาชิกโครงการ เพื่อวางเป้าหมาย ออกแบบการทำงาน วางแผนการทำงานกับพี่เลี้ยง และทำแบบประเมินการพึ่งตนเองด้านอาหารก่อนการเข้าร่วมโครงการ

  • สมาชิก ถ่ายภาพพื้นที่เป้าหมายที่วางแผนจะทำแปลงเพาะปลูก ลักษณะดิน สิ่งแวดล้อม และรายละเอียดของรูปแบบการปลูกผักที่อยากทำ พืชผักที่อยากปลูก ส่งข้อมูลให้กับทีมพี่ลี้ยงได้เห็นภาพ มีข้อมูลเบื้องต้นให้พี่เลี้ยงได้ช่วยออกแบบ
  • สมาชิก 30 โครงการ จัดตั้งกรุ๊ปไลน์ เพื่อส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสริมกำลังในซึ่งกันและกัน หลายๆ ชุมชนมีการรวมกันจัดซื้อปัจจัยการผลิต ต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ เพื่อลดการขนส่ง  ได้แลกเปลี่ยนปัญหา ข้อสงสัยไปร่วมกัน
  • ทีมพี่เลี้ยง และสมาชิกช่วยกันออกแบบพื้นที่ วางผังแปลง จัดโซนพื้นที่เพาะปลูก ประเมินวัสดุ อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม และวางแผนการเตรียมงานในพื้นที่ที่ชุมชนสามารถจัดเตรียม พัฒนาพื้นที่ได้ก่อน
  • บางชุมชนสามารถประสานงานกับสำนักงานเขต องค์กรปกครองท้องถิ่น  ขอสนับสนุนดินหมัก ปุ๋ยหมักจากหน่วยงานในพื้นที่ ทำให้เราเห็นโอกาสที่ชุมชนสามารถเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานเจ้าภาพ  
  • หลายชุมชนได้พัฒนาพื้นที่ เตรียมแปลง เตรียมดิน  ให้พร้อมสำหรับ ทีมพี่เลี้ยง และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ คำแนะนำ
  • ทีมพี่เลี้ยง ลงพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้ ปฏิบัติการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารร่วมกับชุมชน โดยมี 3 หลักสูตรสำคัญที่ทุกโครงการจะต้องอบรมเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ
    (1) การออกแบบพื้นที่ ออกแบบแปลง การปรับปรุงดิน และเตรียมปัจจัยการผลิต
    (2) การทำวัสดุเพาะ การเพาะกล้า การขยายพันธุ์พืช การย้ายกล้า
    (3) การดูแล บำรุงพืชผัก และการเก็บเกี่ยว
    และอีก 2 หลักสูตร ที่สมาชิกสามารถเลือกอบรมได้ตามความชอบ และเป้าหมายของกลุ่ม ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการพึ่งตนเองด้านอาหารที่มากขึ้น และการยกระดับไปสู่การสร้างเศรษฐกิจจากการทำเกษตรในเมือง ไม่ว่าจะเป็น การเพาะเห็ด การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาดุก การแปรรูปผลผลิต และการทำดินหมัก ปุ๋ยหมัก เป็นต้น

ภาพทั้งหมดแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของชุมชน ที่เริ่มปฏิบัติการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในเมืองด้วยเกษตรในเมือง แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะรุนแรงและน่ากังวล แต่ทุกชุมชนต่างก็เห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่อาหาร ที่เป็นส่วนสำคัญของการยกระดับความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนในภาวะวิกฤต แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพ  และที่น่าดีใจที่สุดคือ สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ หลายๆชุมชนจะเริ่มเก็บผลผลิตรอบแรกได้แล้ว

เพราะความมั่นคงทางอาหาร = ความมั่นคงของมนุษย์

จากกลุ่มคน /ชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19   วันนี้พวกเขาเรียนรู้และเริ่มลงมือทำ เพื่อจะเปลี่ยนแปลง“ความเปราะบาง”นั้นให้เป็น“ความมั่นคง”ของผู้คน ด้วยพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเมือง และเกษตรกรรมในเมือง