ราใบไม้สีขาว จุลินทรีย์ท้องถิ่น : (1) วงจรชีวิตของจุลินทรีย์กับต้นไม้

วันนี้สวนผักคนเมืองมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการบำรุงดินและผักด้วยจุลินทรีย์พื้นบ้านที่เผื่อว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้ความรู้และสนุกกับการสังเกตดินและผักที่ทุกท่านปลูกมากกว่าที่เคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราหวังว่ามันจะช่วยให้ผักที่ผู้อ่านปลูกอ่านนั้นเติบโตอย่างแข็งแรงยิ่งขึ้น และเป็นแหล่งผลิตอาหารในเมืองที่ดีต่อสุขภาพของทุกคน โดยชุดเกร็ดความรู้นี้อ้างอิงมาจากหนังสือ “จุลินทรีย์ดินหอม” ที่จัดพิมพ์โดย “พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน)” หนังสือเล่มนี้รวบรวมความรู้และประสบการณ์ของ อ.ปรีชา บุญท้วม (น้าอ๋อย) ปราชญ์เกษตรแห่งเขาชะเมา

เราจะแบ่งบทความชุด”ราใบไม้สีขาว จุลินทรีย์ท้องถิ่น” ออกเป็น 3 ตอน ได้แก่
(1) วงจรชีวิตของจุลินทรีย์กับต้นไม้
(2) นาฬิกาชีวิตพืช
(3) วิธีการเก็บ เพาะเลี้ยง และทำรำหมักจากจุลินทรีย์พื้นบ้าน

ในตอนแรกของบทความ (1) วงจรชีวิตของจุลินทรีย์กับต้นไม้ นั้นเราจะมาพูดกันว่าจุลินทรีย์คืออะไร ? จุลินทรีย์พื้นบ้านคืออะไร ? หาได้จากไหน ? และมีความสำคัญกับพืชอย่างไร ?

จุลินทรีย์ (Micro Organism) คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มนุษย์เราทุกคนนั้นได้อาศัยร่วมกับจุลินทรีย์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เราสามารถพบจุลินทรีย์ในทุกสภาพแวดล้อม ทั้งในร่างกายคน สัตว์ หรือแม้แต่ในทะเลน้ำลึก ปล่องภูเขาไฟ ในน้ำแข็งที่เย็นจัด หรือพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมกรดด่างสูง บริเวณที่ไม่มีออกซิเจน โดยจุลินทรีย์ที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่ แบคทีเรีย รา และยีสต์ เป็นต้น จุลินทรีย์ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (ฺBiodiversity) และมีบทบาทที่สำคัญในวัฏจักรต่าง ๆ ของโลกใบนี้ รวมถึงผลิตธาตุอาหารในดินให้แก่พืช และย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ซากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่ในดินอีกด้วย

ในแต่ละบริเวณที่แตกต่างกัน ชนิดของจุลินทรีย์นั้นก็จะแตกต่างกัน คุณสมบัติของจุลินทรีย์นั้นก็มีความเฉพาะเจาะจงต่างกันไป แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงจุลินทรีย์พื้นบ้าน เพราะจุลินทรีย์พื้นบ้านจะมีความทนทานต่อโรค สภาพอากาศ ต่อพื้นที่นั้น ๆ เมื่อเรานำมันมาใช้ก็จะได้จุลินทรีย์ที่แข็งแรง และเหมาะที่จะเป็นแรงงานในการผลิตธาตุอาหารให้แก่ดินและพืช

โดยจุลินทรีย์พื้นบ้านที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ “ราใบไม้สีขาว” ซึ่งมีความสามารถในการย่อยซากพืชซากสัตว์ในดิน และปล่อยแร่ธาตุและสารอาหารคืนสู่ดิน รวมถึงทำให้ดินเป็นก้อนเล็ก ๆ และร่วนซุย ราใบไม้สีขาวมักพบได้ตามใต้กอไผ่ กองใบก้ามปู และในกอกล้วย

เชื้อราใบไม้สีขาว (Mycorrhizal Fungi) เป็นราที่อยู่คู่กับรากพืช ซึ่งพืชได้เลี้ยงเอาไว้ที่บริเวณรากอ่อนของพวกมัน เพื่อทำหน้าที่หาน้ำ อาหาร แร่ธาตุในดินมาป้อนให้พืช โดยจะย่อยให้ซากพืชซากสัตว์ให้เล็กที่สุดเพื่อให้พืชได้ดูดซึมธาตุอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ และยังคุ้มครองป้องกันรากอ่อน เชื้อราประเภทนี้เป็นจุลินทรีย์ที่เกษตรกรนิยมนำมาทำเป็นน้ำหมักเพื่อช่วยบำรุงดินและพืช

วงจรชีวิตของจุลินทรีย์กับต้นไม้

จุลินทรีย์ราใบไม้สีขาวมีความหลากหลายของสายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์จะอาศัยอยู่ในแต่ละบริเวณของพืช ซึ่งความสามารถและหน้าที่ของแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีหน้าที่ต่างกันตามบริเวณที่มันอาศัยอยู่ จุลินทรีย์ราใบไม้สีขาวสามารถแบ่งออกได้ 2 ระดับใหญ่ คือ จุลินทรีย์ในดิน และจุลินทรีย์ระดับยอดไม้ แต่ทั้ง 2 ระดับจะมีระดับย่อย ๆ อีกรวมกันเป็น 10 ระดับ (ตำแหน่ง)

1.จุลินทรีย์ราใบไม้สีขาวในระดับยอดไม้

บางคนอาจจะเคยเข้าใจผิดว่าจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์กับพืชจะมีอยู่แค่ในดิน แต่จริง ๆ แล้วมีจุลินทรีย์มากมายที่มีประโยชน์กับพืช โดยจุลินทรีย์ใบไม้สีขาวที่อาศัยในระดับยอดไม้นั้นสามารถแบ่งออกเป็๋น 6 ระดับ คือ

  • ระดับที่ 1 ยอดพนม (กลุ่มการจัดการ) ยอดพนมจะมีอายุตั้งแต่ 1 – 20 วัน เป็นยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ใบ รวมตัวกันอยู่ปลายกิ่งหรือปลายยอด (ลักษณะคล้านมือพนม) โดยยอดพนมจัดอยู่ในกลุ่มจิลินทรีย์ไร้แสง เร่งการเจริญเติบโต สร้างฮอร์โมนจิบเบอเรลลินที่สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้
  • ระดับที่ 2 ใบอ่อน (กลุ่มประสานงาน) ใบอ่อนคือใบที่รองลงมาจากยอดพนม ใบอ่อนมีอายุ 20 – 50 วัน ใบอ่อนจะยังไม่โตเต็มที่ ลักษณะของใบจะมีสีออกขาวนวลอ่อน หรือมีสีเขียวอ่อน โดยใบอ่อนจะทำหน้าที่ดึงคาร์บอน (Carbon) ในอากาศมาสร้างกรดแลคติค ซึ่งกรดแลคติคจะคัดแยกแบ่งอาหารออกเป็นส่วน ๆ เพื่อการลำเลียงธาตุอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ เมื่อต้นไม้ได้รับแสงแดด ต้นไม้ก็จะสังเคราะห์แสง ธาตุอาหารที่ถูกแบ่งไว้ก็จะถูกส่งไปตามส่วนต่าง ๆ ให้ต้นไม้ได้เจริฐเติบโต
  • ระดับที่ 3 ใบเพสลาดอ่อน (กลุ่มปรุงอาหาร) คือใบที่ 3 ที่รองลงมาจากใบอ่อน มีอายุตั้งแต่ 50 – 80 วัน ใบเพสลาดอ่อนคือใบอ่อนที่มีลักษณะใบขาวอมเขียว ถ้าสัมผัสใบจะรู้สึกอ่อนนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ใบเพสลาดอ่อนมีขนาดใหญ่กว่าใบอ่อน ทำหน้าที่สังเคราะห์ธาตุอาหาร สร้างกรดแลคติก และนำสารอาหารจากดินมาปรุงเป็นธาตุอาหาร 12 ชนิด เพื่อส่งธาตุอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ เพื่อลำเลียงไปใบเลี้ยงใบ กิ่ง ก้าน เร่งการเจริญเติบโตของต้นไม้
  • ระดับที่ 4 ใบเพสลาด (กลุ่มแปรรูป) หรือถ้าจะเรียกชื่อตามหน้าที่ ชื่อของมันคือโรงครัว เพราะหน้าที่ของใบเพสลาดนี้คือ สร้างฮอร์โมนและธาตุอาหารทั้งฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเพื่อผลิต “ตาดอก” โดยใบเพสลาด (กลุ่มแปรรูป) นั้นจะเป็นใบที่ 4 รองลงมาจากใบเพสลาดอ่อน (มีอายุ 80 – 110 วัน) ลักษณะใบจะค่อนข้างแก่ สีเขียวเข้ม ผิวของใบจะมันวาว ใบมีความแข็งกระด้าง
  • ระดับที่ 5 ใบเพสลาดค่อนข้างแก่ (กลุ่มปรับเปลี่ยน) ลักษณะใบจะมีความกรอบ และมีสีเขียวเข้ม (มีอายุ 110 – 140 วัน) ถ้าลองนำใบขยี้ ใบจะแตกแต่ไม่หักไม่ฉีกและยังคงสภาพเป็นรูปใบได้ หน้าที่ของใบเพสลาดชนิดนี้คือ ผลิตแป้งและน้ำตาลเพื่อใช้ในการสร้างผลผลิต และยังช่วยเร่งการเจริญเติบโต
  • ระดับที่ 6 ใบแก่ (กลุ่มป้องกัน) คือใบที่อยู่ตั้งแต่ใบแก่ระดับที่ 6 – 9 ลงมา มีอายุ 5 – 8 เดือน ลักษณะใบแข็งกรอบ สีเขียวเข้ม ถ้านำใบมาขยี้จะแตกเป็นชิ้น ๆ โดยใบพืชตั้งแต่ใบระดับที่ 6 ลงมาจะไม่มีสารอาหารเหลือสะสมอยู่จำนวนน้อย เพราะธาตุอาหารที่สะสมไว้จะถูกพืชนำไปใช้จนจะหมดแล้ว หน้าที่ของใบแก่จึงเป็นการสร้างสารเบื่อเมา ก๊าซมีเทนเพื่อใช้ในการไล่แมลง

2.จุลินทรีย์ในดิน

จุลินทรีย์ในดินนั้นมีความหลากหลายสูงมาก อีกทั้งมีปัจจัยจำนวนมากที่ส่งผลต่อความหลากหลายในทุกมิติทั้งในมิติปริมาณ ชนิด หรือกลุ่มสายพันธุ์ จุลินทรีย์นั้นอาศัยอยู่ทั้งบนชั้นดินและในดิน ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อจุลินทรีย์จึงมีทั้งความชื้น อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม คุณภาพของดิน ความเป็นกรดด่าง ปริมาณอินทรีย์วัตถุ ความลึกของชั้นดิน ซึ่งความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์กับพืชในความลึกของดินแต่ละระดับชั้นก็แตกต่างกันไปอีกด้วย จุลินทรีย์สามารถช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารต่าง ๆ ในดินและทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้อยู่ในรูปแบบที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และจุลินทรีย์ยังช่วยให้ไม่เกิดโรคพืชอีกด้วย สำหรับจุลินทรีย์พื้นบ้าน ราใบไม้สีขาว นั้นเราสามารถแบ่งจุลินทรีย์ที่พบออกได้ 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 จุลินทรีย์หน้าดิน หรือผิวดิน (อาหารบนผิวดิน) คือกลุ่มจุลินทรีย์ราใบไม้สีขาวที่อาศัยอยู่บนดิน เราสามารถสังเกตมันได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะของมันจะเป็นสปอร์สีขาว ลักษณะเหมือนปุยสำลี หรือฝ้าย มีกลิ่นหอม พบได้ตามใบไม้ และชั้นผิวดิน ส่วนมากมักอาศัยอยู่ตามใบก้ามปู ใบไผ่ และกอกล้วย ทำหน้าที่เป็นผู้สร้างแลคโตบาซิลลัสอยู่บนดิน และย่อยซากพืช ซากสัตว์
  • ระดับที่ 2 ราใบไม้สังเคราะห์แสงสีขาว (ทำหน้าที่ปลดปล่อย) เป็นจุลินทรีย์ชนิดที่มีประโยชน์ ไม่สามารถมองเห็นได้ตาเปล่า จุลินทรีย์ชนิดนี้จะพบได้ในดินที่มีความลึก 50 – 100 เซนติเมตร และมันทำหน้าที่กำจัดเชื้อราและกลุ่มจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ รวมถึงปรับเปลี่ยนโพแทสเซียมจากชั้นใต้ดินให้เป็นคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้พืชนำไปใช้เพื่อดึงก๊าซออกซิเจนจากอากาศมาใช้หายใจ
  • ระดับที่ 3 ราใบไม้สีขาว (ปรับเปลี่ยนสาร) อาศัยอยู่ในดินที่ลึกประมาณ 170 – 200 เซนติเมตร และยังสามารถแบ่งราใบไม้สีขาวที่พบออกอีก 2 ระดับชั้น ชั้นที่อยู่สูงกว่ามีหน้าที่ปรับเปลี่ยนฟอสฟอรัสให้เป็นฮอร์โมน สร้างฟอสเฟต และปรับเปลี่ยนไนโตรเจนให้เป็นโปรตีน เพื่อกระตุ้นตาดอก โดยในชั้นที่อยู่ลึกกว่านั้นจุลินทรีย์ที่พบมีหน้าที่สร้างฟอสเฟตด้วยการดีงออกมาจากดิน เพื่อปลดปล่อยฟอสซิล หินปูน ในชั้นใต้ดินให้กลายเป็นธาตุอาหาร
  • ระดับที่ 4 กลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงในชั้นใต้ดินที่ลึกที่สุด ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จุลินทรีย์กลุ่มนี้ไม่ต้องใช้แสงในการสังเคราะห์ มีหน้าที่ในการดึงไนโตรเจนจากดินและปลดปล่อยสารระเหยจากธรรมชาติหรือไนโตรเจน เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในการสร้างใบและยอด

โดยในตอนหน้าเราจะมาพูดถึงนาฬิกาชีวิตของพืช ที่จะทำให้ทุกคนรู้ว่า ผักมีวงจรชีวิตเป็นอย่างไร และเราควรจะบำรุงผักของเราตอนไหน ?