ชุมชนไทยเกรียง : เศรษฐกิจฐานรากในชุมชนอดีตแรงงาน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2564 ทีมงานสวนผักคนเมืองได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียน พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อถอดบทเรียนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากกับอดีตแรงงานทอผ้าโรงงานไทยเกรียง ย่านพระประแดง ที่เคยรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพที่เข้มแข็งและพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในการเป็นต้นแบบในการรวมกลุ่ม และการเรียกร้องสิทธิประกันสังคม ถึงแม้สุดท้ายโรงงานไทยเกรียงจะปิดกิจการลงเมื่อปี 2543  แรงงานกว่า 5000 คนที่ทำงานอยู่ก็ได้ว่างงานลงแต่ด้วยความผูกพันกับสถานที่ สภาพแวดล้อม และเพื่อนพี่น้องที่ทำงานร่วมกันมากว่า 30 ปี และด้วยที่อดีตแรงงานไทยเกรียงยังอาศัยอยู่ด้วยกัน จึงตั้งชุมชนไทยเกรียง  และรวมกลุ่มกันทำงานเพื่อสังคมในนาม สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา โดยได้เปิดเป็นสำนักงานศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของชุมชนไทยเกรียง

แต่ในช่วงก่อนที่จะรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสมาคมเหมือนดังทุกวันนี้ ในช่วงที่โรงงานกำลังปิดตัวลง แรงงานบางส่วนก็ได้ถูกเลิกจ้างก่อน และได้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิของสิทธิในการถูกเลิกจ้างของตนเองที่บริเวณหน้าโรงงาน แต่ในการชุนนุมครั้งนั้นอดีตคนงานไทยเกรียงก็ได้รู้ถึงปัญหาของพวกตน นั่นคือทุกคนไม่มีเงินออมเผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เมื่อถูกเลิกจ้างมีปัญหาตามมามากมายไม่ว่าจะเป็น ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมลูก ไม่มีเงินจ่ายค่าที่พัก หรือคิดประกอบอาชีพค้าขายก็ไม่มีทุนเพียงพอ กลุ่มอดีตแรงงานไทยเกรียงจึงได้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา มีสมาชิกเริ่มแรก 17 คน ออมคนละ 100 บาท  และได้นำเงินก่อนนั้นมาให้สมาชิกกู้ไปซื้อรถเข็นมาให้ใช้ขายของในชุมชน ต่อมาก็ได้มีคนมาเข้าร่วมกันมากขึ้น ปัจจุบันสามารถตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์สัจจะ ชุมชนไทยเกรียงที่มีเงินหมุนเวียนในหลักหลายล้านบาท ซึ่งสมาชิกได้ลดลงไปบ้างเนื่องจากสมาชิกได้ถอนหุ้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ส่งผลต่อรายได้ของสมาชิกที่เป็นแรงงานในชุมชน

ต่อมาช่วงหลังจากการถูกเลิกจ้าง นอกจากเรื่องการตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้วทางกลุ่มก็ยังได้มีการติดต่อให้กรมการพัฒนาแรงงาน มาฝึกอบรมอาชีพให้กับสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นสอนทำขนม สอนทำน้ำเต้าหู้ และอบรมนวดแผนไทย ที่ปัจจุบันก็ยังมีสมาชิกที่ยังได้ใช้ประโยชน์อยู่ โดยเฉพาะร้านนวดที่ทางกลุ่มมีร้านเป็นของทางกลุ่มเอง เป็นรายได้ให้กับอดีตแรงงานเหล่านี้จนสามารถผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และส่งลูกจนเรียนจบได้ และยังมีวิทยากรจากหน่วยงาน และมูลนิธิต่าง ๆ มาอบรมอาชีพต่าง ๆ ให้อยู่เสมอรวมถึงการปลูกผักสวนครัว การปลูกผัก

แต่เมื่อถึงคิวแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ “พี่เด้ง”  ที่เป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในชุมชน ที่ในอดีตเคยเป็นคนติดเหล้าอย่างหนัก ต้องกินเหล้าอยู่ตลอดเวลา จนวันหนึ่งป้ากุ้งจากสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนาได้มาชวนให้เข้าโครงการเลิกเหล้า เสริมกับที่ได้ทำกับกิจกรรมที่ตนเองเคยได้ทำตอนอยู่บ้านนอกก่อนมาทำงานในเมือง นั้นก็คือ การปลูกผัก ทำเกษตรรอบ ๆ บ้านในยามว่างแทนการตั้งวงกินเหล้าเหมือนเคย พี่เด้งยังได้เล่าอีกว่า

“ การปลูกผักช่วยให้ได้ออกแรง ได้ใช้เวลากับตัวเอง อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ทำให้ไม่คิดอยากเหล้า ”

โดยพี่เด้งได้อบรมการปรุงดิน การทำปุ๋ยหมักจากเศษขยะอาหาร การปลูกผัก จากคุณชูเกียรติ โกเมน หนึ่งในวิทยากรเครือข่ายสวนผักคนเมืองด้วย รวมถึงพี่เด้งยังมีความรู้และประสบการณ์ในวัยเด็ก อีกทั้งได้ฝึกทำจริงในพื้นที่หลังบ้านเช่าในชุมชน  จนตอนนี้ชำนาญและสามารถเป็นวิทยากรสอนคนอื่นได้แล้ว โดยล่าสุดก็ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในวังจิตรลดาด้วย พี่เด้งเล่าอย่างภูมิใจ

ผัก และผลผลิตต่าง ๆ ที่ปลูกได้ พี่เด้งก็นำไปแจกจ่าย แลกเปลี่ยนกับผู้คนในชุมชน เพราะหลายบ้านในชุมชนไทยเกรียงก็ปลูกผักตามที่ว่างในบ้านเหมือนกัน เมื่อมีผลผลิตจำนวนล้นมากจนกินไม่ทัน ก็จะนำผลผลิตไปฝากขายกับสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ที่เข็นรถเข็นขายของในชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากแหล่งผลิตอาหารในชุมชน และยังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนเพื่อรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤติในปัจจุบันที่ผู้คนในชุมชนนั้นล้วนได้รับผลกระทบในการทำมาหากิน และมีรายได้ลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19