โครงการสวนผักคนเมือง เปิดรับข้อเสนอโครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองฯเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในพื้นที่เมือง

โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้สำนักสร้างสรรค์โอกาส ขอเชิญกลุ่มบุคคล ชุมชน โรงงาน หรือองค์กรที่ดูแลกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง อาทิ กลุ่มคนจนเมือง กลุ่มคนรายได้น้อย คนตกงาน เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ชุมชนผู้ลี้ภัย ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รายได้ อาชีพ และการเข้าถึงอาหาร จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งข้อเสนอโครงการย่อย เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารด้วยเกษตรในเมือง จำนวน 30 โครงการ

.

1. รู้จัก “สวนผักคนเมือง”

 “สวนผักคนเมือง” หรือ โครงการสวนผักคนเมือง : ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต ดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2553 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกับมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ศูนย์อบรมเกษตรในเมือง และเครือข่ายสวนผักคนเมือง โดยการสนับสนุนของสสส. ด้วยตระหนักถึงปัญหาของคนเมืองในด้านอาหาร ทั้งเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาด้านสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง เราจึงมุ่งยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมือง ฟื้นฟูทักษะการเป็นผู้ผลิตอาหาร เกษตรกรรมและผนวกเรื่องการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีและการพึ่งตนเองด้านอื่นๆให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนเมือง ยกระดับความคิด สร้างความตระหนักถึงบทบาทของเกษตรในเมืองในฐานะที่มีส่วนช่วยพัฒนาระบบอาหารและวิถีชีวิตทางเลือกที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูลระหว่างกัน เชื่อมโยงกับการฟื้นฟูดูแลระบบนิเวศของเมือง ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ เมืองกับชานเมืองและชนบท เพื่อให้ประชาชนได้มีสุขภาวะที่ดี และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของเมืองที่ให้ความสำคัญกับเกษตรในเมืองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีประเทศใดในโลกคาดการณ์และเตรียมที่จะรับมือกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว หลายประเทศมีมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอการระบาด เช่น การไม่รับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง การมีมาตรการกักกันบริเวณของบุคคลกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ดี มาตรการที่หลายๆ ประเทศใช้ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ คือ การล็อคดาวน์ ซึ่งเป็นการระงับกิจกรรมหลายประเภทที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทันที เพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ของกลุ่มคนและลดการสัมผัสใกล้ชิด องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แสดงความเป็นห่วงต่อภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิมในหลายประเทศ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 จะซ้ำเติมให้ภาวะนี้รุนแรงมากขึ้นเกือบเท่าตัว จะมีผู้คน 265 ล้านคนที่เสี่ยงอดอยากขาดแคลนอาหาร

ทั้งนี้มูลนิธิชีววิถี ได้วิเคราะห์การระบาดของโควิด-19 ว่าส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอาหารใน 3 ระยะ กล่าวคือ ในระยะแรกที่เกิดจากความตื่นตระหนก จะส่งผลทำให้เกิดการสะสมเสบียงและกักตุนอาหาร ในระยะกลาง จะกินเวลาตั้งแต่การล็อคดาวน์ ไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ จะทำให้เกิดปัญหาตลอดห่วงโซ่ของระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต โรงงานแปรรูป การขาดแคลนแรงงาน หรือมาตรการกักกันโรคส่งผลกระทบต่อการทำงาน และการขนส่งและกระจายผลิตผล ไปจนถึงผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวก การมีอาหารไม่หลากหลาย ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและคนตกงานไม่มีเงินพอที่จะซื้อหาอาหารได้อย่างเพียงพอ ในระยะยาวที่เกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนยากจนและผู้มีรายได้น้อย ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินตัวเลขคนตกงาน ว่ามีเกือบ 8 แสนคน และมีคนที่มีโอกาสได้ทำงาน แต่ทำงานน้อยลงสัปดาห์ละไม่เกิน 10 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ลดลง  อีกประมาณกว่า 2 ล้านคน เท่ากับว่า คนจน คนตกงาน คนรายได้น้อย อาจมีรวมถึง 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 10 % ของประชากรทั้งหมด เมื่อรายได้ลดลง ย่อมกระทบต่อปากท้อง การเข้าถึงอาหาร เพราะกว่าครึ่งของรายได้ที่หนึ่งครัวเรือนหามาได้ คือ ค่าอาหาร

บทเรียนของการทำงานที่ผ่านมา พบว่า สวนผักคนเมืองได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในเมือง โดยการนำพื้นที่ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารทั้งพื้นที่ของตนเอง พื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่สาธารณะของชุมชนมาสร้างอาหารทั้งการเพาะปลูกพืชผักและการเลี้ยงสัตว์ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ และมีผลงานเชิงประจักษ์ว่า การปลูกผักในเมืองสามารถเป็นแหล่งอาหารของคนเมืองได้เป็นอย่างดี  สร้างโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพของชุมชนเมือง และทำให้คนเมืองมีความยืดหยุ่นต่อการขาดแคลนอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พบกับภัยพิบัติ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า พื้นที่ผลิตอาหารของกลุ่มและชุมชนเป็นแหล่งอาหารสำคัญในช่วงการล็อคดาวน์เมือง สมาชิกได้พึ่งพาผลผลิตจากสวนผักเพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือน เครือข่ายสวนผักคนเมืองสามารถนำทักษะความรู้ต่างๆ เรื่องการทำเกษตรในเมืองมาใช้ เช่น การปรับปรุงดิน การปลูกผัก การเลี้ยงไก่ไข่ การถนอมอาหารให้เก็บไว้กินได้นาน พื้นที่ผลิตอาหารไม่เพียงทำหน้าที่ดูแลสมาชิกโครงการเท่านั้น แต่ผลผลิตในแปลงยังได้เชื่อมโยงไปสู่การดูแลกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบด้านอาหารในชุมชน พร้อมกับเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้สมาชิกในชุมชนได้เข้ามาพักผ่อน คลายความเครียด และปรึกษาหารือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย และบทเรียนสำคัญจากการทำงานในช่วงโควิด-19 คือ การทำให้คนเมืองและผู้เกี่ยวข้องเห็นว่า การทำเกษตรในเมือง การผลิตอาหารของเมืองจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับระบบของเมืองและผู้คนทุกกลุ่มของเมืองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการหมุนเวียนทรัพยากรมาใช้ให้คุ้มค่า และการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการทำเกษตรในเมือง รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาเมือง

โครงการสวนผักคนเมือง จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองและความมั่นคงทางอาหารเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหารในพื้นที่เมือง เพื่อสนับสนุนการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน ส่งเสริมความรู้ เทคนิคการทำเกษตรในเมือง ตลาดชุมชน การแปรรูปผลผลิต การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และความรอบรู้ด้านทักษะการเงิน เพิ่มขีดความสามารถการพึ่งตนเองด้านอาหาร จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ โดยมีเป้าหมายสนับสนุน จำนวน 30 โครงการ

.

2.วัตถุประสงค์

2.1 สนับสนุนการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพึ่งตนเองด้านอาหาร ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ให้กับกลุ่มคน/ชุมชนที่มีความเปราะบางด้านอาหาร จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

2.2 ส่งเสริมความรู้ เทคนิคการทำเกษตรในเมือง ตลาดชุมชน การแปรรูปผลผลิต การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และความรอบรู้ด้านทักษะการเงิน เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่

2.3 เพื่อให้คนปลูกผักในเมืองมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรในเมืองที่มีบทบาทสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง และการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับมิติต่างๆ มีส่วนร่วมพัฒนาระบบอาหารทางเลือกและวิถีชีวิตทางเลือกที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูลระหว่างกัน ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย

.

3.หลักเกณฑ์การสนับสนุน

3.1 สนับสุนนกลุ่มคน ชุมชน โรงงาน สถานสงเคราะห์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูแลกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 หรือวิกฤตอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร หรือมีองค์กรประสานงานที่ระบุให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเปราะบางด้านอาหาร การขาดแคลนอาหาร คนตกงาน ลดเวลา/วันทำงาน ไม่มีรายได้ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเข้าถึงอาหาร เป็นต้น

3.2 มีรวมกลุ่มของคนที่มีความสนใจร่วมกัน อย่างน้อย 10 คนขึ้นไป ความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านอาหาร ความมั่นคงทางอาหารผ่านการทำเกษตรในเมือง และพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนร่วมกัน

3.3 อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3.4 มีพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของในการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อปลูกผักและกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 2  ปี และมีขนาดเหมาะสมที่จะนำไปสู่การยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของกลุ่มและชุมชน

3.5 จะต้องดำเนินการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีใดๆ การปลูกผักหลากหลาย 15 ชนิดขึ้นไป โดยเฉพาะผักยืนต้นหรือผักพื้นบ้าน และเน้นส่งเสริมให้การพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิต การพึ่งตนเองด้านอื่นๆ ให้มากที่สุด

3.6 ต้องยอมรับและดำเนินการตามหลักการบริหารจัดการของโครงการของ สสส. อาทิ จัดทำเอกสารรายงาน ส่งรายงาน การจัดทำเอกสารหลักฐานการเงิน รายงานการเงิน และการใช้จ่ายงบประมาณตามหลักเกณฑ์ของแหล่งทุน

.

4.หลักเกณฑ์การคัดเลือก

4.1 เป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รวมถึงคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนตามที่กำหนดไว้ข้างต้น

4.2 มีรายละเอียดของโครงการชัดเจน และครบถ้วนตามหัวข้อในแบบเสนอโครงการ และสะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ ที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และส่งรายละเอียดโครงการครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด

4.3 มีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับกิจกรรมที่ดำเนินการ มีโอกาสที่จะมีความยั่งยืน และต่อเนื่องเมื่อโครงการสิ้นสุดลง  เข้าร่วมกิจกรรม/ขั้นตอนการคัดเลือกโครงการตามที่โครงการสวนผักคนเมืองกำหนดไว้

4.4 มีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการทำเกษตรในเมือง และพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนร่วมกัน

.

5.รูปแบบการสนับสนุน

 5.1 ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน ไม่เกิน 78,000 บาท  แบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1

  • งบปรับปรุงพื้นที่ การปรับปรุงดิน ยกแปลงเพาะปลูก การเตรียมปัจจัยการผลิต จำนวน 15,000 บาท
  • ค่าวัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็นกับการสร้างแหล่งผลิตอาหาร และการเพาะปลูกผัก ผลไม้ สมุนไพรต่างๆ อาทิ ดิน ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เมล็ดพันธ์ ต้นกล้าผักยืนต้น สายยาง อุปกรณ์การเกษตร ฯลฯ จำนวน 30,000 บาท
  • ค่าอาหารกิจกรรมกลุ่มใน กิจกรรมการพัฒนาแหล่งผลิตอาหาร จำนวน 10,000 บาท (ค่าอาหารกลางวัน 50 บาท/คน/มื้อ ค่าอาหารว่าง 25 บาท/คน/มื้อ)
  • ค่าประสานงาน ค่าเดินทางซื้ออุปกรณ์ ค่าบริหารจัดการด้านเอกสาร รายงาน รายงานการเงิน ตลอดโครงการ  จำนวน 5,000 บาท

ส่วนที่ 2

  • งบการจัดอบรมทักษะการทำเกษตรในเมือง การพึ่งตนเองด้านอาหารระหว่างสมาชิกโครงการและพี่เลี้ยงของโครงการสวนผักคนเมือง 5 ครั้ง/โครงการ จำนวน 15,000 บาท  (ค่าตอบแทนวิทยากร 2,000 บาท/ครั้ง  ค่าอุปกรณ์  1,000 บาท/ครั้ง)

ส่วนที่ 3

  • ค่าเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมกลางร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง  จำนวน 3 ครั้ง ประกอบด้วย ปฐมนิเทศโครงการ พัฒนาศักยภาพ และสรุปบทเรียนโครงการ จำนวน 3,000 บาท

.

5.2 สนับสนุนทีมที่ปรึกษา พี่เลี้ยงจากศูนย์อบรมเกษตรในเมือง และเครือข่ายสวนผักคนเมือง เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำตลอดการทำโครงการ

5.3 กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ workshop และการเรียนรู้อื่นๆ ของโครงการสวนผักคนเมืองตลอดทั้งปี

5.4 ผลผลิตจากแปลง หากมีจำนวนมากเกินความต้องการบริโภคในกลุ่ม สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ แหล่งกระจายอาหารของเครือข่ายสวนผักคนเมือง อาทิ ตลาดนัดชุมชน City farm market  เพิ่มช่องทางอาชีพ รายได้ เป็นเศรษฐกิจอาหารท้องถิ่นของเมืองต่อไป

5.5 สนับสนุนความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะชีวิตด้านการทำเกษตรในเมือง เกษตรกรรมยั่งยืน ทักษะการพึ่งตนเองด้านอาหาร และการพึ่งตนเองด้านอื่นๆ ในเมือง การเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมของการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ เมืองกับชนบท ฯลฯ

.

6.ภาพรวมระยะเวลาการดำเนินงาน

3 มี.ค.  – 15 มี.ค. 64เปิดรับข้อเสนอโครงการ
16 มี.ค. – 25 มี.ค. 64พิจารณา คัดเลือกข้อเสนอโครงการ
26 มี.ค. 64ประกาศผลโครงการที่ได้รับการสนับสนุน
27 มี.ค. – 31 มี.ค. 64 เตรียมเอกสารทำสัญญารับทุน
3 / 4 เม.ย. 64ปฐมนิเทศโครงการ
3 เม.ย. 64 – 15 ม.ค. 65ดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน
14 ส.ค. 64ส่งรายงานความก้าวหน้า กิจกรรมพัฒนาศักนภาพ
15 ม.ค. 65ส่งรายงานปิดโครงการ กิจกรรมสรุปบทเรียน

.

7.สมัครเข้าร่วมโครงการ ดาวน์โหลดใบสมัคร (ภายในวันที่ 15 มีนาคม)

ติดต่อสอบถาม & ข้อมูลเพิ่มเติม
บูรฮัน  065-034-4201
ต้น 065-505-7540
ส่งข้อเสนอโครงการ มาที่  อีเมล์ [email protected]

.