อาหาร ศิลปะ การศึกษา เครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคม โดยพลังคนรุ่นใหม่ @ Life Do Grow Farm

“สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็น เขามีคุณสมบัติทุกอย่างมากกว่าที่เราเห็น และมากกว่าที่เขาเป็น” นี่คือหนึ่งในความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญของการเชื่อมั่นในศักยภาพ และคุณค่าที่มีอยู่ในตัวผู้คนทุกคน

                ไม่บอกใครจะนึกว่าในย่านที่เรียกว่ายากจนที่สุดในเมืองที่ยากจนที่สุดของสหรัฐอเมริกา อย่างNorth Philadelphia จะมีสวนผัก ขนาดประมาณ2 เอเคอร์  ที่งอกงามขึ้นบนพื้นที่ที่เคยรกร้าง ที่น่าสนใจคือพื้นที่สวนผักชุมชนที่เรียกว่า Life Do Grow Farm แห่งนี้ เกิดขึ้นจากพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่วัย 20 กว่าๆ ที่มาร่วมตัวกัน ด้วยแรงใจไฟฝันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมากมาย

                ด้วยความที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันนี้ มีทั้งคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นทั้งนักเรียน นักศึกษา บ้างก็เป็นศิลปิน บ้างก็เป็นนักจัดกิจกรรม พื้นที่ 2 เอเคอร์นี้ จึงเป็นมากกว่าพื้นที่อาหาร แต่ยังเป็นพื้นที่ที่จัดแสดง หรือทำกิจกรรมทางศิลปะมากมาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกัน ผ่านการทำสวนปลูกผัก ผ่านการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับผู้คนในชุมชนละแวกใกล้เคียง อีกทั้งยังมีพื้นที่ในการเรียนรู้เรื่องการเมือง และมีพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงอาหาร เรื่องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงเรื่องของความเป็นอยู่ของคนผิวสีด้วย

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสวนผักแห่งนี้ จะมีประเด็นความสนใจที่หลากหลาย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ละเลยเรื่องของการผลิตอาหาร เพื่อให้ผู้คนในชุมชนในเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยในราคาถูกแต่อย่างใด ตั้งแต่ประมาณช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา สวนแห่งนี้ได้ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนไปกว่า 65,000 ปอนด์  อีกทั้งยังมีการทำอาหารเพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กๆที่ยากจนไปแล้วถึง 24,000 มื้อ เลยทีเดียว

                นอกจากนี้ พวกเขายังมีส่วนในการเข้าไปช่วยขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่สวนผักชุมชน รวมถึงพื้นที่สวนผักในโรงเรียนอีกหลายแห่ง ด้วยความเชื่อมั่นว่า พื้นที่สวนผักเหล่านี้ นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารแล้ว ยังช่วยบ่มเพาะความรักในชุมชน ช่วยทำให้ผู้คนเคารพกันและกัน รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

                ในด้านงานศิลปะ พื้นที่แห่งนี้ ก็ได้จัดงานทางด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี แกลเลอรี่ ตลาดนัดงานศิลปะ รวมถึงกิจกรรมกีฬา มาแล้วกว่า 68 ครั้ง มีคนเข้าร่วมเกือบหมื่นคนเลยทีเดียว

                ที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้ ยังเป็นเหมือนพื้นที่แห่งชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่มอบทั้งความหวัง กำลังใจ ทำให้หลายคนพบกับหนทางแห่งชีวิต หลายคนรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร และก็เดินหน้าไปสู่เป้าหมายในชีวิตของตัวเอง บางคนก็ได้มีการมีงานทำในสวนแห่งนี้ จากเดิมที่เคยอยู่อย่างไร้ทิศทาง บางคนหันไปพึ่งพายาเสพติด บางคนก็เคยค้ายา เคยติดคุกมาก่อน แต่ที่นี่ เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัย ที่ชุบชีวิตใหม่ให้กับพวกเขา ให้เขาได้เข้าใจตัวเอง ได้เข้าใจสังคม และใช้ชีวิตอย่างเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอื่น

                นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลในช่วงปี 2008-2015 ที่พบว่าการมีสวนผักแห่งนี้เกิดขึ้นทำให้มีเหตุการณ์อาชญากรรมรุนแรงลดน้อยลง 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดิมที่เรียกได้ว่าแถบนี้เป็นย่านที่เคยได้ยินเสียงปืนดังกันจนเป็นเรื่องปกติกันเลยทีเดียว

                จากปี 2010 จนถึงตอนนี้ นับว่าพวกเขาเดินทางมาไกลพอดูทีเดียว และพวกเขาก็ยังคงฝันต่อ โดยมีการวางแผนว่าจะปรับเปลี่ยน พัฒนาตัวเองให้สามารถทำงานในรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคมกันมากขึ้น แม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องความไม่แน่นอนของการใช้พื้นที่ ซึ่งจะหมดสัญญาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ใกล้เข้ามาก็ตาม

                นี่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนเล็กๆของเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ และก็เป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่สวนผักในเมืองที่เกิดขึ้นนั้น เป็นมากกว่าพื้นที่อาหาร ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงชุมชน เปลี่ยนแปลงสังคมมากมายจริงๆ

                ที่สำคัญ พื้นที่ดีๆแบบนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยมือของคนรุ่นใหม่ ที่ใครหลายคนเห็นผ่านๆ แล้วอาจจะมองข้าม บ้างอาจถึงขนาดโดนดูถูกว่าพวกเขาเป็นเหมือนขยะสังคม

“สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็น เขามีคุณสมบัติทุกอย่างมากกว่าที่เราเห็น และมากกว่าที่เขาเป็น”

เช่นเดียวกับพื้นที่รกร้างที่ถูกมองข้าม ถูกปล่อยให้กลายเป็นที่ทิ้งขยะ ที่มั่วสุม ก็อาจกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถชุบให้ผู้คน ชุมชน และสังคมได้มากมายเช่นกัน       

      

ขอบคุณเรื่องราวและรูปภาพจาก

https://fusion.inquirer.com/news/urban-farm-north-philadelphia-food-insecurity-supermarket-desert-20201124.html