ชีวิต กับความมั่นคงทางอาหาร : บทเรียนจากคนรุ่นเก่าก่อน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และวิกฤตต่างๆที่ผู้คนกำลังเผชิญ Evangeline Kagwiite หญิงชราชาวอูกานดาวัย 90 ปี ยังคงดำเนินชีวิต ดูแลผืนดิน เพาะปลูกพืชพรรณ หล่อเลี้ยงครอบครัวอย่างมั่นคง

Evangeline เล่าให้ฟังว่า ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา ผู้คนหลายครอบครัวประสบปัญหา ต้องย้ายจากเมือง กลับมาอยู่ในบ้านเกิดของตัวเอง แต่ด้วยความที่หลายบ้านก็เปลี่ยนวิถีการผลิตไปแล้ว ทำให้หลายครอบครัวมีอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนสมาชิกที่มีเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตัวเธอยังคงดูแลผืนดิน เพาะปลูกพืชพรรณหลากหลายชนิดเอาไว้เป็นอาหารเหมือนเดิม ทำให้แม้จะมีสมาชิกมากถึง 9 คน แต่สวนเล็กๆที่มีความหลากหลาย ก็สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตคนในครอบครัวได้อย่างสบาย

คุณยาย Evangeline บอกว่าที่สวนของเธอมีทั้งมัน กล้วย ถั่วนานาชนิด ไม่ไกลจากบริเวณสวนกล้วยนัก เธอก็ปลูกมันฝรั่ง และที่บริเวณใกล้ๆบ้าน เธอก็ปลูกมันสำปะหลัง และก็ข้าวฟ่างเอาไว้ ทั้งตัวเธอและลูกๆ ต่างก็ช่วยกันเพาะปลูกคนละไม้ละมือ

ที่สำคัญคือ เมล็ดพันธุ์ที่เธอเลือกนำมาปลูกนั้น ล้วนเป็นพืชพรรณพื้นบ้านที่มีความหลากหลาย หาใช่เมล็ดพันธุ์ที่ทางหน่วยงานภาครัฐส่งเสริม เธอบอกว่า พืชพรรณพื้นบ้านนั้นอร่อยกว่ามาก แถมยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับปลูกต่อในฤดูกาลต่อๆไปได้ด้วย  โดยเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด เธอก็จะมีวิธีการเก็บรักษาแตกต่างกันไป บ้างก็ใช้ขี้วัวกับขี้เถ้าในการเก็บรักษา หรืออย่างข้าวฟ่าง ก็จะมียุ้งฉางสำหรับเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

เหนือสิ่งอื่นใด การใช้ชีวิตในวิถีแบบนี้ นอกจากจะทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงทางอาหาร แม้ในยามวิกฤตที่ใครต่อใครต่างก็ประสบปัญหาเรื่องอาหารการกินแล้ว การกินอย่างหลากหลาย ควบคู่ไปกับการทำสวน ดูแลผืนดิน ตามวิถีที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ยังมีส่วนช่วยทำให้เธอมีสุขภาพที่แข็งแรงด้วย เรียกว่าถึงจะอายุ 90 ปีแล้ว แต่คุณยายก็ยังมีแรงออกไปทำสวนอย่างขยันขันแข็งอยู่ทุกวัน และไม่มีโรคภัยใดๆมาเบียดเบียน โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆที่คนสูงอายุมักจะเป็นกัน  เธอบอกว่าไม่ได้โรงพยาบาลมานานแสนนานจนจำไม่ได้แล้วว่าไปมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่  

จวบจนทุกวันนี้ แม้จะมีสารเคมี ยาฆ่าแมลงเข้ามาจูงใจให้ผู้คนใช้มากมาย แต่เธอก็ไม่เคยเลือกที่จะใช้ ด้วยความเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำลายทั้งสุขภาพตัวเอง และก็ทำลายระบบนิเวศด้วย คุณยายยังคงใช้มือของตัวเองลงแรงถอนวัชพืช และถึงจะมีแมลงศัตรูพืชมารบกวนบ้าง แต่คุณยายก็บอกว่า เราก็อยู่ด้วยกันมานาน และเธอก็ยังมีอาหารกินอย่างพอเพียง

ในสายตาของผู้คนส่วนใหญ่ มักจะมองวิถีชีวิตแบบที่คุณยาย  Evangeline ใช้ ว่าเป็นชีวิตที่ล้าหลัง ไม่พัฒนา แต่วิถีชีวิตแบบนี้แหละที่นำพาให้เราสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤต และความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น

เรื่องราวของคุณยาย Evangeline ชาวอูกานดา วัย 90 ปีคนนี้  ชวนให้นึกถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของบรรพบุรุษรุ่นเก่าก่อนของบ้านเรา ความจริงหากเราลองย้อนกลับไปพินิจพิจารณาดู ก็จะพบกว่าบรรพบุรุษของเราที่เป็นเกษตรกร ต่างก็ช่วยกันดูแลผืนดินด้วยมือของตัวเอง มีการใช้และเก็บเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย ที่สำคัญบ้านเรายังมีประเพณีวัฒนธรรมที่ทั้งเคารพและขอบคุณธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการแบ่งปันให้ทั้งผู้คนอื่นในชุมชน และสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย

“ข้าขอขอบคุณ แม่พระโพสพปีนี้

ส่วนหนึ่งเอาเก็บไว้ทำนาปี

ส่วนหนึ่งเอาไว้ให้ทาน

อีกส่วนหนึ่งเอาเก็บไว้กินที่บ้าน”

นี่คือส่วนหนึ่งของบทกวีประกอบ “ระบำข้าว” ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปร่วม เป็นข้อความที่ฟังแล้วกินใจ รู้สึกลึกซึ้งยิ่งนักกับวิถีชีวิตในอดีตที่ผู้คนเคยเป็นมา

ยังไม่นับกระบวนการขั้นตอนต่างๆตั้งแต่หว่านข้าว ถอนกล้า ดำนา ทำขวัญข้าว เกี่ยวข้าว นวดข้าว และร่อนข้าว ก่อนจะถึงการทำขวัญอีกครั้งในตอนท้ายที่กล่าวมา แม้จะเป็นเพียงการขยับร่างกาย ทำท่าทางจำลอง ประกอบบทกวี ก็ทำให้รับรู้ถึงคุณค่าที่แฝงอยู่ในแต่ละท่วงท่า ในแต่ละขั้นตอน ที่สัมผัสได้อย่างมาก  คือการที่เราต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่น มีสติจดจ่อในการลงมือทำในแต่ละขั้นตอนด้วยมือเเละร่างกายของเรา บางครั้งเราก็ต้องอาศัยพลังของเพื่อนในชุมชนมาช่วยลงแรงกัน และที่ขาดไม่ได้ก็คือต้องอาศัยพลังของธรรมชาติมาช่วยเกื้อกูลหล่อเลี้ยงพืชพรรณให้เติบโต

บางทีอาจถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องหยุด มองย้อนหลัง และกลับไปเรียนรู้ภูมิปัญญาทั้งหลายที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของบรรพบุรุษรุ่นเก่าก่อน เพื่อที่ว่าเราจะสามารถอยู่รอดร่วมกันได้ในโลกปัจจุบัน และอนาคตที่กำลังจะมาถึง

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก https://www.gaiafoundation.org/lessons-from-evangelines-garden/

ขอบคุณแรงบันดาลใจ และบทกวีระบำข้าว จากการเข้าร่วม Open House หลักสูตร Eurythmy Foundation โดยครูชนก และคาเทีย ปิ่นสุวรรณ