เผชิญหน้ากับ ‘ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร’

ความเชื่อที่ว่า “เมืองไทยนั้นอุดมสมบูณ์  ในน้ำมีปลาในนามีข้าว  เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ และกำลังจะเป็นครัวของโลก”  อาจจะเป็นเพียงมายาคติสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต เพราะวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้  ค่อยๆพิสูจน์และฉายภาพให้เราเห็นมากขึ้นว่า เรากำลัง เผชิญหน้ากับ ‘ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร’

นิยาม ความมั่นคงทางอาหาร  

โดยทั่วไปที่มักใช้ในการพิจารณา หรือ นำมาใช้เป็นกรอบการชี้วัด 4 ประเด็นหลักๆ คือ

(1) การมีแหล่งอาหารอยู่ (food available) ซึ่งโยงถึงเรื่องการมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางอาหารทั้งยามปกติและยามวิกฤติ (2) การเข้าถึงอาหาร (food accessibility) ซึ่งโยงถึงเรื่องการกระจายอาหาร (3) การมีอาหารให้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ (food stability) และ (4) การใช้ประโยชน์ในอาหาร (food utility) หรือ การได้บริโภคอาหารที่มีโภชนาการ เช่น สด ปลอดภัย มีคุณภาพที่ดี มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี และรู้แหล่งที่มา

แต่หากมาดู นิยามความมั่นคงทางอาหาร ให้ละเอียดและลึกซึ้งมากกว่านั้น จากองค์กร เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทาง BIOTHAI ได้รวบรวมไว้

“ความมั่นคงทางอาหาร จะมีได้ก็ต่อเมื่อ ทุกคน ในทุกเวลา สามารถเข้าถึงอาหารโดยทางกายภาพ และเศรษฐกิจ อย่างเพียงพอ ปลอดภัย และมีโภชนาการ ตามความต้องการ และความพึงพอใจ เพื่อชีวิตที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรง” (ที่มา : “World Food Summit, 1996)

“ความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรรายย่อย คือ สิทธิของประชาชน ชุมชน และประเทศ ที่จะกำหนดนโยบายทางการเกษตร แรงงาน การประมง และที่ดิน ซึ่งสอดคล้องกับระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยรวมถึงสิทธิที่แท้จริงในอาหาร และการผลิตอาหาร ซึ่งหมายความรวมถึงสิทธิที่ประชาชาทุกคนจะต้องได้รับอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ สอดคล้องกับวัฒนธรรม ทรัพยากรในการผลิต และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน (ที่มา : La Via Campesina, 2002)

“ความมั่นคงทางอาหาร คือ ประชาธิปไตยทางอาหาร สิทธิและอำนาจของประชาชนในการจัดการอาหารทุกระดับ (1) ใช้ประโยชน์จากผืนดิน ทะเล แหล่งน้ำ ทุ่งหญ้า ป่าไม้ (2) เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืช/สัตว์ ปัจจัยการผลิต (3) มีอำนาจตัดสินใจในการผลิตทางการเกษตร (4) มีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากการค้าอย่างเป็นธรรม (5) ได้รับอาหารเพื่อการบริโภคตามวิถีวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน (6) มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับอาหาร

วิกฤตอาหารที่เพิ่งผ่านมา แม้ว่าในวันนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศ คลายมาตรการล็อกดาวน์ ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด สถานประกอบกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ แต่ก็มีหลายภาคส่วนออกมาประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 BioThai วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอาหารจะเกิดขึ้นใน 3 ระยะ

  • ผลกระทบในระยะแรก ที่เกิดจากความตื่นตระหนก จะส่งผลทำให้เกิดการสะสมเสบียงและกักตุนอาหารกินเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ไปจนถึง 1 เดือนหรือมากกว่านั้น การประกาศล็อคดาวน์ “ปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดบ้าน” การระบาดที่รุนแรง มาตรการปิดเมือง พิษโควิด-19 ชาวบ้านนับพันคนยืนเข้าแถวต่อคิวขอข้าววัดกิน  ไม่มีงาน ไม่มีเงิน มีเพียงเวลาอันยาวนานต่อแถวแลกข้าววันต่อวัน
  • ผลกระทบในระยะกลาง ซึ่งจะกินเวลาตั้งแต่เริ่มการล็อคดาวน์ ไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ จะทำให้เกิดปัญหาตลอดห่วงโซ่ของระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต โรงงานแปรรูปได้รับผลกระทบจากการระบาด การขาดแคลนแรงงาน หรือมาตรการกักกันโรคส่งผลกระทบต่อการทำงาน และการขนส่งและกระจายผลิตผล ไปจนถึงผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวก มีอาหารไม่หลากหลาย ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและคนตกงานไม่มีเงินพอที่จะซื้อหาอาหารได้อย่างเพียงพอได้
  • ผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนยากจนและผู้มีรายได้น้อย ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยมีคนยากจนอยู่ประมาณ 9.85% ของประชากร หรือ ประมาณ 6.7 ล้านคน เมื่อปี 2561 โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 13-14 ล้านคน

ยังไม่นับรวมกับสถานการณ์ระบบเกษตรและอาหารของไทย  พบว่า อายุเกษตรกรโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอายุเฉลี่ย 55 ปี และที่สำคัญคือดูเหมือนว่าเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะสนใจที่จะทำเกษตรกันสักเท่าไหร่แล้ว พื้นที่เกษตรลดน้อยลง น้ำก็จะเริ่มขาดแคลนมากขึ้น ในขณะที่ประชากรก็จะเพิ่มสูงขึ้น  มีการนำพืชอาหารไปผลิตเป็นพืชพลังงานมากขึ้น  มีการใช้สารเคมีในการผลิตสูง นำไปสู่อาหารที่ไม่ปลอดภัย ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม พันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิดกำลังสูญพันธุ์ไป  สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติต่างจะรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิต การเปลี่ยนแปลงการใช้ดินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่เกษตรซึ่งเป็นพื้นที่อาหารเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในท้องทะเล ตลอดจนการแย่งยึดที่ดิน ภัยคุกคามจากระบบการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของบรรษัทขนาดใหญ่ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ หรือนโยบายการตลาด เช่นการเปิดเสรี ซึ่งล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ทั้งสิ้น

ด้วยความที่เป็นคนในเมือง หลายคนอาจจะคิดไม่ออกว่าเราจะเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารได้อย่างไร เรียกว่าขอแค่มีสตางค์ จะเดินเข้าห้าง หรือเดินไปในตลาด ก็มีสารพัดพืชผัก สารพันเมนูอาหารให้เลือกจับจ่ายกันอย่างเพลิดเพลินแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวิกฤตอาหารที่ผ่านมา และแนวโน้มของอนาคต อาจจะทำให้หลายคนเริ่มตระหนักได้ว่า ถึงจะรวยล้นฟ้าเพียงใด ก็ใช่จะหาอาหารกินได้เสมอไป เพราะชั้นวางของตามห้างสรรพสินค้าที่ตัวเองเคยฝากท้องไว้ กลับว่างเปล่าอย่างน่าใจหาย

 

การเผชิญหน้ากับ ‘ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร’

ผศ.ดร. ปิยะพงษ์ บุษบงก์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้สรุปบทเรียนบทเรียนจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับ “บทบาทเกษตรในเมืองในการรับมือวิกฤต” ในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2563  ณ สวนชีววิถี

ประการแรก : การรับมือกับวิกฤติของพื้นที่เมือง ค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับตัวนโยบายของเมืองค่อนข้างมาก  อย่างที่อาหารได้พูดถึงในเกือบทุกเมือง คือ ยุทธศาสตร์อาหารของเมือง หรือ สภาอาหารของเมือง มีบทบาทสำคัญมากในการกำหนดแนวทางของเมืองที่จะรับมือกับวิกฤติได้

กรณีตัวอย่างเมืองกี้โต้ ประเทศเอกาดอร์ ก่อนวิกฤตเมืองแห่งนี้มี Quito Food Strategy ที่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเมือง  และเพื่อจัดการกับผลกระทบของวิกฤติ COVID-19 ในระบบอาหารของ Quito ที่ต้องการทั้งแผนระยะสั้น แผนที่ยั่งยืน และแผนการทำงานระยะยาว ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทเกษตรในเมืองที่สามารถทำได้ในการพัฒนาชุมชน และในการเสริมความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการริเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น สิ่งแวดล้อม การบริโภคอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ องค์กรทางสังคม ความกลมเกลียวกัน และความสัมพันธ์ทางสังคม รัฐบาลท้องถิ่นใน Quito ออกมาตรการหลายอย่าง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการจัดส่งอาหารเข้าสู่เมืองจะดำเนินการได้ดี

  • การันตีความพอเพียงของสินค้าในตลาดอาหารที่เมืองผลิตได้เอง ประมาณ 35 ล้านกิโลกรัมต่อปี และระบบการกระจายสินค้าที่เข้าถึงจากทุกมุมเมือง (อนุญาตให้มีการขนส่งอาหารได้ตามปกติ แม้การใช้ยานพาหนะ ของคนทั่วไปใช้ได้สัปดาห์ละวันเท่านั้น)
  • การควบคุมราคาสินค้าอาหารเป็นไปได้อย่างจริงจัง
  • มีการบริหารคิวอย่างดีในการใช้บริการตลาดสดของเทศบาล
  • ควบคุมความหลากหลายทางชีวภาพ แม้แต่ในยามวิกฤต (ป้องกันการฉวยโอกาส) อาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงวิกฤติก็มักจะเกิดขึ้นถกเถียงเรื่องการผลิต เพื่อตอบสนองกับความต้องการให้ได้มากและรวดเร็ว ก็มักจะมีการพิจารณาว่า จะ GMO ไหม ปลูกพืชเชิงเดี่ยวไหม แต่เมืองกี้โต้ให้ความสำคัญเรื่องยุทธศาสตร์ของอาหารไปจนถึงเรื่อง การรักษาความหลากหลายของอาหาร และพันธุกรรมอีกด้วย
  • ควบคุมการเปิด-ปิด ร้านอาหารต่างๆ
  • แบ่งปันอาหารให้กับคนไร้บ้านและแรงงานยากจน ประมาณ 11 ตันต่อสัปดาห์ สามารถระดมอาหารไปแจกผู้คนได้
  • มีบริการขนส่งอาหารถึงบ้านกลุ่มคนเปราะบางที่ติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านทางเทศบาล ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าประชาชนเข้าไม่ถึงอาหารก็สามารถติดต่อเข้าไปที่เทศบาล และเทศบาลจะจัดส่งอาหารให้ถึงบ้าน

นี่คือผลพวงจากการมียุทธศาสตร์และนำยุทธศาสตร์ไปขับคลื่อน จึงทำให้พอมีวิกฤตเกิดขึ้น ประชาชนจึงไม่ได้รับผลผลิตในเรื่องอาหารมากนัก

ประการที่สองคือ : เรื่องการผลิตอาหาร การปลูกผักแบบบ้านใครบ้านมัน หรือการสร้างพื้นที่อาหารในเมือง ไม่ได้เป็นไปเพื่อเรื่องของอาหารเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเชื่อมโยงกับชีวิตในมิติอื่นๆ และเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง และการผลิตอาหารที่เกิดขึ้นในเมือง ยังจำเป็นต้องหาระบบเชื่อมโยงและกระจายอาหารให้ทั่วถึงกันเข้ามารองรับด้วย  ซึ่งทั้งในกรณีของสวนผักคนเมือง และบทเรียนของต่างประเทศ มีความเหมือนกันคือ ต้องมีระบบเชื่อมโยงและกระจายอาหารทั้งห่วงโซ่ ทั้งจากการผลิตในเมือง ชานเมือง และชนบทเชื่อมโยงกัน

เมืองเมเดลลิน ประเทศโคลัมเบีย  มีโครงการผลิตอาหารของเมือง ด้วยการใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเปลี่ยนมาเป็นแปลงผลิตอาหาร เหมือนที่เชียงใหม่ และหลายเมืองกำลังทำอยู่ มี municipal program of urban and peri-urban gardens ในช่วงกักตัว ซึ่งผลิตอาหารได้ 20 ตัน และยังทำหน้าที่เชื่อมโยงและกระจายอาหารให้กับคนเปราะบางในเมือง สร้าง food distribution channels สำหรับการกระจายอาหาร
มากกว่า 7 ตัน ภายในเมืองต่อวัน สร้าง digital platform สำหรับ Online Farmer’s Markets มากถึง  120 แห่ง ภายใน 3 วันแรก เข้าถึงคนมากกว่า 12,000 คน โดยกระจายอาหารได้ถึง 8.2 ตัน

แต่ถ้าจะรอหวังว่าระดับนโยบายบ้านเราเพียงอย่างเดียวให้หันมาเห็นความสำคัญของเกษตรในเมือง พื้นที่อาหารของเมือง ความมั่นคงทางอาหารของเมือง ก็ไม่แน่ใจนักว่าเราจะต้องเผชิญหน้ากับ ‘ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร’ อีกกี่ครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องหมดหวังกับนโยบาย  เพราะการแก้ไขปัญหา หรือการทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร อธิปไตยทางอาหารต้องอาศัยการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างด้วย  แต่หากในระหว่างนี้สิ่งสำคัญ ที่ควรตระหนัก และลงมือทำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพึ่งตนเองด้านอาหารในระดับตนเอง กลุ่ม และชุมชนเมือง ให้สามารถเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพทั้งในยามปกติและยามวิกฤติ เป็นสิ่งที่ในระดับบุคคล สามารถเรียนรู้และลงมือทำได้เลย

จากบทเรียนการทำงานของเครือข่ายสวนผักคนเมือง ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา  ความท้าทายใหญ่ๆ ในเรื่องวิกฤตอาหาร เกิดขึ้น 2 ครั้ง  คือ มหาอุทกภัยปี 2554 และ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น มีข้อมูลและรูปธรรมเชิงประจักษ์ว่า ‘ความพร้อมของคนเมือง ทักษะการพึ่งตนเองด้านอาหาร ทักษะเพาะปลูก และการมีพื้นที่อาหารในบ้าน/ชุมชน ช่วยสนับสนุนให้คนเมือง สามารถรอดพ้นจากวิกฤตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารขาดแคลน  การเข้าถึง  ราคาอาหาร  โภชนาการ ได้ระดับหนึ่ง’

เส้นทางสู่การเผชิญหน้า ‘ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร’ ด้วยเกษตรในเมือง

ขั้นตอนที่ 1 :  มีความมุ่งมั่นที่จะพึ่งตนเองด้านอาหาร เป็นผู้ผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการตอบโจทย์เป้าหมายด้านใดของชีวิตก็ตาม ขอให้มีความมุ่งมั่นเป็นที่ตั้งก่อน ขั้นตอนที่เหลือก็จะเกิดขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 : มีความพร้อม ทั้งด้านความรู้ ทักษะ เทคนิค ในการเป็นผู้ผลิตอาหารด้วยตนเอง โดยเฉพาะการผลิตอาหารในพื้นที่เมือง ซึ่งมีความแตกต่าง และมีข้อจำกัดมากกว่าการเพาะปลูกในพื้นที่ชานเมือง และชนบท ทั้งเรื่องพื้นที่ แสง น้ำ และความร้อนของเมืองที่อาจจะส่งผลกับการเพาะปลูก แต่ความรู้พื้นฐานที่ควรเป็นทักษะติดตัวไว้ คือ ปัจจัยพื้นฐานของการเพาะปลูก  ดินที่อุดมสมบูรณ์  จะปรับปรุงดินอย่างไรให้มีสารอาหารพร้อมสำหรับการเจริญเติบโตของพืชผัก  พืชผักแต่ละชนิดต้องการแสงแดดมากน้อยแค่ไหน ฤดูกาลของอาหาร พืชผักแต่ละชนิดมีฤดูกาลของตนเอง การศึกษา ทำความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับขั้นแรกๆ เราอาจจะต้องศึกษาไปถึงเรื่องความชอบ อาหารการกินของเรา คนในครอบครัวของเรา ว่าชอบทานอะไร ปริมาณความต้องการเป็นอย่างไร เพื่อวางแผนการผลิต และการตอบสนองได้ตรงกับความต้องการ

ขั้นตอนที่ 3 :  มีปัจจัยการผลิตพื้นฐานเตรียมไว้  เมื่อเราพร้อมที่จะลงมือสร้างพื้นที่อาหาร ก็จะสามารถเริ่มต้นได้ทันที หรือในตอนนี้อาจจะยังไม่เริ่มต้น แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้น ก็สามารถงัดเอาความรู้ และปัจจัยการผลิตพื้นฐานขึ้นมาใช้ได้เลย  ปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญของการทำเกษตรในเมือง คือ พื้นที่ที่จะเพาะปลูก ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น  และถ้าจะขยับไปสู่การพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิตให้ได้ด้วย เส้นทางนี้ก็มีความน่าสนใจและเป็นไปได้  เช่น การเตรียมดิน การปรับปรุงดินให้มีความสมบูรณ์จากการหมุนเวียนขยะในครัวเรือนมาใช้หมักดิน  การทำสารบำรุงพืชผักจากธรรมชาติ  การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 4 : การลงมือสร้างพื้นที่อาหาร พึ่งตนเองด้านอาหาร  ถึงแม้เราจะศึกษาความรู้ ไปเรียนรู้ที่โน่นที่นี่ไว้มากมาย ซื้อดิน ซื้อเมล็ดพันธุ์เตรียมไว้มาหลายปี แต่หากยังไม่ลงมือเพาะปลูก หรือสร้างพื้นที่อาหารของตนเอง นั่นอาจจะหมายถึงว่า การเตรียมตัวอาจจะเสียเปล่า เพราะเมื่อวิกฤตเกิดขึ้นคุณอาจจะไม่สามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้  เราไม่รู้ว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่หากวันนี้เราได้เรียนรู้และลงมือสร้างพื้นที่อาหารของตนเอง เราก็สามารถเข้าถึงอาหารได้ทันที และหากวิกฤตจะเกิดขึ้น เราก็ยังมั่นใจได้ว่าเรามีพื้นที่ผลิตอาหารบางส่วนเอาไว้แล้ว และยิ่งในปัจจุบันการพึ่งตนเองด้านอาหารขยายขอบเขตมากขึ้นกว่าแค่เรื่องการปลูกผัก ในเมืองยังสามารถพึ่งตนเองในด้านอาหารได้มากขึ้น เช่น ผลไม้ ผักยืนต้น ไข่ไก่  และถ้าต้องการมีพื้นที่อาหารเพิ่มมากขึ้น มีความหลากหลาย มีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน ขอแนะนำว่านอกจากมีพื้นที่อาหารในบ้านแล้ว ควรขยับไปสร้างพื้นที่อาหารของชุมชนด้วย การมีพื้นที่อาหารหลายๆ แห่ง การใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะมาเป็นพื้นที่อาหาร ยังช่วยให้เรามีความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น รักษาพื้นที่อาหารในเมืองไว้ให้มากที่สุด

ขั้นตอนที่ 5 : การเชื่อมโยงกับเกษตรกรรายย่อย พื้นที่ผลิตอาหารในชานเมือง และชนบท  เพราะถึงจะเกิดพื้นที่เกษตรในเมือง พื้นที่อาหารของเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่เมืองก็ไม่อาจผลิตอาหารได้หลากหลาย และเพียงพอกับการเลี้ยงดูผู้คน ดังนั้นการเผชิญหน้า ‘ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร’ ของคนเมืองก็จะต้องจับมือร่วมเดินไปกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิตอาหารที่แท้จริง อาจจะผ่านช่องทางตลาดทางเลือก ตลาดสีเขียว หรือให้ระบบ CSA ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นช่องทางการ ส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รู้จัก เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ขั้นตอนที่ 6 : เรียนรู้การแปรรูป การถนอมอาหาร เครื่องปรุงต่างๆ ไว้ใช้เอง ทั้งที่มาจากผลผลิตที่เพาะปลูกเอง หรือการสนับสนุนจากเกษตรกรรายย่อย การถนอม เก็บรักษาอาหารไว้ให้ทานได้นาน ก็เป็นตัวช่วยเสริมความมั่นคงทางอาหารของเราได้มากขึ้น รวมถึงยังช่วยลดขยะอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย

ขั้นตอนที่  7 :  การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ที่สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของเมือง และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ  เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเป็นธรรม เพราะหลายๆ สาเหตุของความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร ก็มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง  เช่น ความเหลื่อมล้ำ สิทธิในที่ดิน การเข้าถึงที่ดิน การสนับสนุนด้านเงินทุน และร่วมปกป้องภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เช่น CPTPP  UPOV เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  รวมถึงนโยบายที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่นๆด้วย

 

29 สิงหาคม 2563 นี้ สวนผักคนเมืองขอเป็นจุดเริ่มต้น การเรียนรู้ของคนเมือง

เพื่อการเผชิญหน้ากับ ‘ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร’ ด้วยเกษตรในเมือง

พบกับ

Workshop อบรมพื้นฐานการปลูกผักในเมือง ตลอดทั้งวัน

โซน ปัจจัยการผลิต และ นิทรรศการความรู้ พบกับ ความรู้เรื่องการปรับปรุงดินด้วยขยะอาหารในบ้าน สารปรับปรุงดิน ดินพร้อมปลูก ต้นกล้าผักต่างๆ ทั้งผักกินใบ ผักสวนครัว และผักยืนต้นจากภาคใต้ ถังเพาะถั่วงอก ชุดเพาะต้นอ่อน เมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ชุดปลูกผักแนวตั้ง และอื่นๆ อีกมากกมาย

โซนผลผลิตทางการเกษตร ผัก ผลไม้ หมู ไก่ ไข่ไก่ ประมงพื้นบ้าน อาหารแปรรูป เครื่องปรุง และอาหารพร้อมทาน กว่า 15 บูธ

 

ข้อมูลและภาพจาก

https://colombiareports.com/medellin-takes-urban-farming-heal-memories-war/

https://www.facebook.com/biothai.net

https://www.facebook.com/poope.usaha

https://ruaf.org