“บทบาทเกษตรในเมืองในการรับมือวิกฤต” ตอนที่ 1

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ฟังการบรรยายของ

ผศ.ดร. ปิยะพงษ์ บุษบงก์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2563  “สร้างสังคมความมั่นคงทางอาหาร เผชิญหน้าวิกฤต”

ระหว่างวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2563 ณ สวนชีววิถี

โดย ผศ.ดร. ปิยะพงษ์ บุษบงก์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยน  หัวข้อ “เมืองผลิตอาหาร” ในประเด็น  “บทบาทเกษตรในเมืองในการรับมืองวิกฤต”  ร่วมกับ พี่สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนบทบาทเกษตรในเมืองของเมืองไทย (สวนผักคนเมือง) และอาจารย์ร่วมแลกเปลี่ยนในบริบทของต่างประเทศ ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของเกษตรในเมืองในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง

โครงการสวนผักคนเมือง ขอสรุปเนื้อหา/บทเรียนในระดับสากล ที่ชี้ให้เห็นว่าเกษตรในเมืองมีบทบาทสำคัญกับการรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องอาหาร ที่อาจารย์ได้ค้นคว้าข้อมูล ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ มาเล่าให้เราฟัง

“เกษตรในเมืองทั่วโลก เกิดและเติบโตมาจากวิกฤต

เวลาที่เราพูดถึงเรื่องเกษตรในเมือง เราต้องเริ่มต้น ตั้งต้นให้ดีเลยว่า ทั่วโลกเรื่องเกษตรในเมืองเกิดขึ้น และเติบโตมาจากวิกฤตแทบทั้งสิ้น!!   อาทิ

  • ปี 1649 – 1650 ปรากฏการณ์ “นักขุดดิน (Diggers)”  เกิดขึ้นในช่วงที่มีสงครามกลางเมืองในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ  …เมื่อทุกคนเริ่มรู้สึกและตระหนักว่าการเข้าถึงอาหารเป็นเรื่องลำบาก ก็เกิดปรากฎการณ์ นักขุดดิน หรือ Diggers ขึ้น โดยคนเมืองลุกขึ้นมาหยิบจอบหยิบเสียมขุดดินเพื่อผลิตอาหาร ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในตัวเมืองที่กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรม

+ 

  • ศตวรรษที่ 18 – ‘Allotment’ เป็นช่วงเวลาสุกงอมของการปฎิวัติอุตสาหกรรม  ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็พบว่า  มีการแบ่งปันพื้นที่ที่อยู่ใจกลางเมือง พื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งในกรุงลอนดอน กรุงเบอร์ลิน ด้วยการแบ่งปันพื้นที่เหล่านี้ให้กับครอบครัวของกลุ่มแรงงาน ได้มาใช้ประโยชน์ ปลูกผัก ปลูกอาหารกินเอง และจากจุดเริ่มต้นตรงนี้เองที่ส่งผลเป็นวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบันนี้ ที่เรียกว่า Allotment couture  หรือการแบ่งปันพื้นที่ขนาดเล็กเท่าหลุมฝักศพให้กับผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากคนจนที่อยู่ในเมือง ได้มีพื้นที่ผลิตอาหารบริโภคเอง ซึ่งปรากฎการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเช่นเดียวกัน

  • ปี 1902 – Garden Cities of Tomorrow ก็เริ่มมีการตั้งคำถามกับผังเมืองในแบบเดิม ที่มองว่าการพัฒนาเมืองก็คือการพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์เป็นหลัก ไปสู่การคิดถึงเรื่อง Garden Cities ที่พวกเราเริ่มได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงหลังมานี้  ที่มีการพูดถึงว่า ‘การพัฒนาเมืองที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องละทิ้งเรื่องของพื้นที่อาหาร และพื้นที่สีเขียวอื่นๆ’  ก็เลยเกิดตัวอย่างของเมือง ที่ชื่อว่า  ‘Letchworth’ เริ่มมีการออกแบบผังเมืองของเมืองแห่งนี้ ให้เป็นเมืองที่มีทั้ง พาณิชย์ อุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม  พื้นที่อาหาร รวมไปถึงพื้นที่สีเขียวอยู่ด้วยกัน และได้กลายเป็นโมเดลสำคัญที่ขยายไปเป็นการออกแบบเมืองในหลายๆ เมือง ให้ศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นต้นมา ที่คิดถึงการออกแบบเมือง และเมืองในความหมายที่ว่า เมืองไม่จำเป็นจะต้องเป็นเมืองอุตสาหกรรมนำอย่างเดียว

  • ปี 1969 ที่เมืองฮาวาน่า ประเทศคิวบา เมืองตัวอย่างของเรื่องเกษตรในเมือง ซึ่งมีปรากฏการณ์สำคัญ คือ เมืองหลายเมืองได้รับผลกระทบ ความกดดัน การคว่ำบาตรต่างๆ ที่เป็นผลพวงมาจากช่วงสงครามเย็น  เนื่องจากเกิดวิกฤตที่มาจากการถูกคว่ำบาตร จนทำให้ไม่มีอาหารกินเลย ถึงขั้นว่า อาหารในสวนสัตว์ ต้องเขียนป้ายติดไว้ว่า “ห้ามแย่งอาหารสัตว์กิน ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามันเกิดปัญหา เกิดวิกฤตทางอาหารที่รุนแรงมาก   และในช่วงเวลานั้นที่ประเทศคิวบา โดยเฉพาะที่เมืองฮาวาน่า ที่ถือได้ว่าเป็นเมืองต้นแบบที่ได้รับการยอมรับที่สำคัญ ในการพูดถึงเรื่องเกษตรในเมือง เพราะการทำเกษตรในเมือง เป็นตัวตอบโจทย์เรื่องความไม่มั่นคงทางอาหารของเขา  การทำเกษตรในเมืองทำให้เมืองฮาวาน่า ผ่านพ้นวิกฤตอาหารในครั้งนั้นมาได้ และยังรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน ทั้งผ่านพ้นวิกฤตอาหาร และยังมีการผลิตอาหารที่เพียงพอกับทุกคน  ซึ่งกรณีศึกษาของเมืองนี้ถือเป็นลักษณะพิเศษ เพราะไม่ใช่ว่าทุกเมืองจะสามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูคนได้ 100%

  • ปี 2001 เมืองโรซาริโอ ประเทศอาเจนตินา หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งคล้ายๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในบ้านเรา คือ เป็นสถานการร์ที่รุนแรงมาก วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทำให้เมืองโรซาริโอแทบจะล้มครืนลงไปเลยทีเดียว แต่เมืองแห่งนี้ก็สามารถฟื้นตัวได้ด้วยเกษตรในเมืองเช่นเดียวกัน  ผลพวงของเรื่องเกษตรในเมือง จึงเป็นการตอบรับ และการรับเมืองกับวิกฤตที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต

  • วิกฤติ Climate Change – ขบวนการ Transition towns ซึ่งเป็นขบวนการที่เอาเรื่องเกษตรกรรมนำหน้าในการที่จะรับมือกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมือง ทั้งนี้ก็มักจะเริ่มต้นจากเรื่องของอาหาร  เรื่องของพลังงาน และระบบแลกเปลี่ยนภายในชุมชน  ซึ่งการเติบโตของกลุ่ม  Transition towns  กระจายตัวอยู่ทั่วโลก เราจะเห็นเครือข่ายนี้กระจายอยู่เกือบทุกเมืองหลักๆ ในโลกทุกมุมโลก  และในฝั่งของทวีปเอเชียเองก็มีหลายเมืองก็พยายามที่จะพัฒนาไปในแนวทางนี้  ซึ่งก็เป็นการผนวกเรื่องของอาหารเข้าไปกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตที่มาจาก Climate Change โดยเฉพาะการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ 

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือ อยากจะเน้นให้เห็นก่อนว่า 

เกษตรในเมืองนั้น เกิดและเติบโตมาพร้อมกับวิกฤตมาโดยตลอด

ที่มาของรูปภาพจาก

โปรดติดตาม ตอนที่ 2 อาจารย์ปิยะพงษ์ จะพาพวกเราไปเรียนรู้ประสบการณ์ของ เมือง 8  เมือง ใน  8 ประเทศ ที่มีความโดดเด่นอย่างมาก  ในช่วงวิกฤต COVID -19 ทั้ง 8 เมือง ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเกษตรในเมือง ที่นำพาให้เมืองรอดจากวิกฤตอาหาร