เปิดโลกการเรียนรู้สารพันวิชาในสวน

นอกจากสวนผัก จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ทักษะชีวิตด้านการเกษตร ทั้งการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงการทำอาหาร ให้กับเด็กๆแล้ว พื้นที่สวนผักยังเป็นพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ที่ทั้งคุณครู และคุณพ่อคุณแม่ สามารถเชื่อมโยงบูรณาการให้เข้ากับวิชาต่างๆได้มากมาย ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม ภาษาอังกฤษ ศิลปะแขนงต่างๆ  ไปจนถึงเรื่องของโภชนาการและสุขภาพ ใครที่คิดไม่ออกว่าจะเชื่อมโยงยังไง ลองไปดูไอเดียการสร้างสรรค์ในแต่ละรายวิชากันค่ะ

วิทยาศาสตร์ : อาจกล่าวได้ว่าวิชาวิทยาศาสตร์ในสวนนี่ เป็นอะไรที่เหมาะมาก เพราะพื้นที่สวนเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆได้สำรวจ เรียนรู้ที่จะสังเกต ตั้งคำถาม และหาคำตอบ ผ่านประสบการณ์จริงที่พบเจอในสวน ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในสวน ลักษณะการเติบโตของพืชพรรณชนิดต่างๆ ห่วงโซ่อาหาร การเชื่อมโยงกันของชีวิตต่างๆ ไปจนถึงความแตกต่างของรูปทรงของพืช การปรับตัว การผสมพันธุ์ และวงจรชีวิต ตัวอย่างหัวข้อที่เด็กๆสามารถที่จะศึกษากันได้คือ

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิต กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต และระหว่างตัวเราที่เป็ฯมนุษญืกับพืช มีความเหมือนและความต่างกันอย่างไรบ้าง
  • พืชแต่ละชนิดมีการเจริญเติบโตอย่างไร ลองสังเกตรายละเอียด วาดรูป หรือจดบันทึกอย่างละเอียด
  • พืชต้องการอะไรในการเจริญเติบโตบ้าง และพืชแต่ละชนิดต้องการเหมือนกันมั้ย ถ้าเราปลูกพืชชนิดเดียวกัน ที่สภาพแวดล้อมต่างกัน พืชจะเติบโตเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง เช่นแสง น้ำ อากาศ อาหาร ต่างกัน พืชจะต่างกันหรือไม่อย่างไร
  • พืชมีการขยายพันธุ์อย่างไร
  • พืชมีการปรับตัวอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
  • แต่ละส่วนของพืชมีหน้าที่อย่างไรบ้าง
  • ลองสำรวจพืช และสัตว์ในสวน และวาดห่วงโซ่อาหารที่เกิดขึ้นในสวน ว่ามีอะไรกินอะไรเป็นอาหารบ้าง แต่ละชีวิตเชื่อมโยงกันอย่างไร และหากขาดสิ่งใด หรือมีสิ่งใดมากไป จะเกิดอะไรขึ้น
  • ลองวัดอุณหภูมิในแต่ละวัน และสังเกตการเจริญเติบโตของพืชควบคู่ไปด้วย
  • ลองศึกษาดิน เปรียบเทียบความเหมือนความต่างของดินในที่ต่างๆ ทั้งเรื่องขององค์ประกอบของอินทรียวัตถุ น้ำ กลิ่น เนื้อสัมผัส รูปร่างหน้าตา
  • ลองวัดค่า PH ของดิน และดูว่าค่า PH ที่ต่างกัน ส่งผลต่อการเติบโตของพืชอย่างไร

 

 

วิชาคณิตศาสตร์ : พื้นที่สวนสามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้วิชาทางคณิตศาสตร์ได้ทั้งแต่การวัด การคำนวณ การเปรียบเทียบ การเก็บข้อมูล ทำกราฟต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น

  • วัดการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด และแสดงการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดด้วยการใช้กราฟ และลองคาดการณ์การเจริญเติบโตของพืชในอนาคต
  • ลองทดลองปลูกเมล็ดถั่วชนิดต่างๆ วัดการเจริญเติบโต และเปรียบเทียบดูว่าถั่วชนิดใดโตเร็วที่สุด
  • วัดขนาดของพื้นที่ วัดขนาดแปลง อาจจะลองออกแบบสวนของตัวเองด้วยการคำนวณขนาดพื้นที่ ขนาดแปลงดู ว่าจะสามารถวางแปลงได้จำนวนกี่แปลง วางในรูปแบบใด
  • คำนวณปริมาณดิน ปริมาณน้ำที่ใช้เพาะปลูก
  • สำรวจราคาผักในตลาด และลองคำนวณว่าผลผลิตในแปลงมีมูลค่าเท่าไหร่
  • เรียนรู้เรื่องอัตราการงอก โดยนับจำนวนเมล็ดที่เพาะ และจำนวนต้นกล้าที่งอก
  • หัดทำอาหารจากพืชผักในแปลง คำนวณวัตถุดิบที่ใช้ โดยใช้หน่วยวัดชั่งตวงต่างๆ

วิชาสังคมและประวัติศาสตร์ : พืชผักแต่ละชนิดล้วนมีประวัติความเป็นมา รวมถึงการเกษตร รูปแบบการผลิตต่างก็มีเรื่องราวที่น่าค้นหาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เราสามารถที่จะเชื่อมโยงการเรียนรู้ในวิชานี้ได้ผ่านชีวิตในสวน หัวข้อที่น่าสนใจ เช่น

  • ลองศึกษาค้นคว้าประวัติการเพาะปลูก และเขียนเป็น timeline ระบุเหตุการณ์สำคัญๆออกมา
  • ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิถีการกิน และวิถีการทำเกษตรของผู้คนที่ต่างวัฒนธรรม ต่างชาติ ต่างภาษากัน
  • ลงพื้นที่ไปศึกษาพื้นที่เกษตรในบริเวณใกล้เคียง สัมภาษณ์พูดคุยกับเกษตรกร ถึงเรื่องราวชีวิต วิถีการเพาะปลูก การขาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • ศึกษาประวัติความเป็นมาของพืชผักแต่ละชนิดที่ปลูก ว่าพืชแต่ละชนิดเดินทางมาจากไหนบ้าง อาจจะลองช่วยกันวาดแผนที่การเดินทางของพืชผักแต่ละชนิดออกมาด้วยกัน
  • ออกสำรวจตามหาเส้นทางของอาหารที่กิน พืชแต่ละชนิดนั้นเดินทางมาจากไหนบ้าง
  • เลือกวันสำคัญทางประเพณีวัฒนธรรมมา 1 วัน และลองศึกษาว่าอาหารในประเพณีนั้นคืออะไร และมีการเพาะปลูกอย่างไร เดินทางมาจากไหน

 

 

วิชาภาษาอังกฤษ : เราสามารถใช้พื้นที่สวนให้การพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ผ่านการอ่านและการเขียน เช่น

  • บันทึกการสังเกตในพื้นที่สวน สิ่งที่พบเจอ รวมถึงกิจกรรมที่ทำเป็นภาษาอังกฤษ
  • เรียนรู้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องพืชผัก สัตว์ต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ และองค์ประกอบต่างๆของสวน
  • เรียนรู้เรื่องคำ Adjective ที่อธิบายลักษณะของพืชต่างๆ
  • เรียนรู้คำกริยา verb ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆในสวน
  • เขียนอธิบายขั้นตอนการทำสวนเป็นลำดับ เป็นภาษาอังกฤษ
  • เขียนเรื่อง หรือบทกวี เกี่ยวกับสวน

 

 

วิชาศิลปะ : ความงาม ความหลากหลายของธรรมชาติในสวน สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลป์แขนงต่างๆได้มากมาย เช่น

  • วาดภาพเหมือนของพืชผักที่ปลูก
  • ช่วยกันต่อเติมวาดภาพสวนผักเป็นภาพใหญ่ 1 ภาพด้วยกัน
  • นำเมล็ดพันธุ์มาสร้างสรรค์งานศิลป์เป็นรูปต่างๆ
  • ทดลองทำเครื่องดนตรีจากพืชในสวน
  • นำพืชในสวนมาทำเป็นศิลปะภาพพิมพ์
  • สร้างสรรค์ลีลาการเต้น โดยศึกษาจากการเติบโตของเมล็ดพันธุ์ หรือการบานของดอกไม้
  • หาเพลงที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เกี่ยวข้องกับการเกษตร
  • ลองฟังเสียงเพลงที่ขับขานโดยธรรมชาติ
  • นำธรรมชาติในสวนมาสร้างสรรค์ nature mandala

 

 

วิชาโภชนาการและสุขภาพ : สำหรับการเรียนรู้เรื่องนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นเลยที่พบว่า การทำสวนผักในโรงเรียนนั้น มีส่วนช่วยทำให้เด็กๆหันมากินพืชผักผลไม้มากขึ้น อีกทั้งยังรู้จักเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพกินกันมากขึ้นด้วย ซึ่งก็ส่งผลช่วยให้อัตราของเด็กที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ลดน้อยลง เราสามารถชวนเด็กๆเรียนรู้เรื่องอะไรได้บ้าง ลองดูกันค่ะ

  • ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของพืชที่ปลูกในสวน
  • สำรวจและลองช่วยกันระบุว่าผักผลไม้ที่กินนั้น คือส่วนใดของพืชแต่ละชนิด
  • ศึกษาว่าแต่ละส่วนของพืชนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการ หรือคุณสมบัติที่ต่างกันหรือไม่อย่างไร
  • ปิดตาชิมพืชผักที่ปลูก กับพืชผักที่มาจากตลาด ดูความเหมือนความต่าง
  • เรียนรู้วิธีการถนอมอาหารรูปแบบต่างๆ เช่นการตากแห้ง การหมักดอง
  • ออกแบบแผ่นพับเกี่ยวกับข้อมูลด้านอาหารว่าควรกินอะไรมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน
  • ออกแบบเมนูอาหารประจำวัน ที่ทำให้ได้รับอาหารอย่างครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
  • เชิญเชฟมาสาธิตการทำอาหารจากวัตถุดิบในสวน
  • ช่วยกันทำเมนูอาหาร ที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบที่ปลูกในสวน
  • นำเสนอเรื่องราวของอาหารที่ดีมีคุณภาพ กับเรื่องราวของอาหารที่ให้โทษต่อร่างกาย ผ่านละคร หรือการแสดงต่างๆ
  • เปรียบเทียบคุณค่าทางอาหารระหว่างพืชผักสีสันต่างๆ
  • ใช้วรรณกรรม วัฒนธรรมของชาติต่างๆ รวมถึงประเพณีวันสำคัญต่างๆ ในการศึกษาเกี่ยวกับอาหารที่ใช้ อาจจะลองค้นคว้าถึงความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของพืชต่างๆ เมนูต่างๆ อาจจะลองให้เด็กได้ทดลองทำเมนูแปลกๆที่พบเจอ และจัดงานปาร์ตี้เล็กๆด้วยกัน

 

 

จะเห็นได้ว่าพื้นที่สวนผัก สามารถต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่วิชาต่างๆได้มากมายจริงๆ นี่เป็นไอเดียเล็กๆน้อยๆที่ทาง Collective School Garden Network เขารวบรวมและนำเสนอไว้ ลองนำไปประยุกต์ ปรับใช้กันดูนะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.csgn.org/sites/csgn.org/files/GFL_3.pdf