จากที่รกร้าง ปันใช้พื้นที่ สู่แปลงผัก คลังอาหารของคนเมือง

เกษตรในเมือง (Urban Agriculture) เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเพื่อตอบโจทย์แนวทาง “เมืองแห่งการเปลี่ยนแปลง” หรือ Transition Town ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งสนับสนุนให้มีการสร้างแหล่งอาหารภายในชุมชน เพื่อรับมือภัยธรรมชาติและความผันผวนทางเศรษฐกิจและพลังงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

Land Sharing แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต อีกหนึ่งโมเดลของโครงการสวนผักคนเมือง ในการส่งเสริมเกษตรในเมืองเพื่อสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ด้วยการให้เครือข่ายและผู้สนใจเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้กลายเป็นแปลงเกษตรกรรม ผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับตนเองและแบ่งปันให้ชุมชน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการสวนผักคนเมืองให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมืองเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่อาหาร ผ่านการประสานการใช้ประโยชน์พื้นที่ระหว่างเจ้าของที่ดิน เครือข่ายคนปลูกผัก และภาคีอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด “Land Sharing : แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต” ซึ่งในปีนี้มีทั้งหมด 18 พื้นที่เป็นพื้นที่รูปธรรมของการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่อาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มคนจนเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงที่ดิน การสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงอาหารที่สด สะอาดปลอดภัย และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร  เพราะโดยทั่วไปค่าใช้จ่ายด้านอาหารนั้นมีสัดส่วนสูงมากถึง 35% ของครัวเรือนไทย สูงกว่าค่าใช้จ่ายอื่นทั้งหมด ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยนั้นมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงมากกว่า 50% ขึ้นไป การตกงานจึงส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสต่อประชาชนกลุ่มนี้

รูปธรรมของการปลูกผักในบ้าน สร้างแหล่งอาหารในเมือง ของเครือข่ายสวนผักคนเมือง ที่พยายามจะสร้างโอกาสให้คนเมืองทุกกลุ่มได้เข้าถึงแหล่งอาหารที่ดี มีคุณภาพ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะได้เข้าถึงอาหาร สิทธิที่จะได้อาศัยอยู่ในเมืองอย่างเท่าเทียม ที่สำคัญนอกเหนือจากการเป็นแหล่งอาหารแล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ช่วยจัดการขยะอินทรีย์ ลดความร้อนในเมือง และอีกหลายๆ ประโยชน์ที่เราจะสามารถผูกโยงความสัมพันธ์ของแหล่งอาหารนี้ได้

แบ่งปันอาหารชุมชนเมือง

  • แบ่งปันอาหารชุมชนเมือง สายไหม กรุงเทพฯ

  • ปลูกผักข้างบ้าน สานรักสานสัมพันธ์ชุมชน สายไหม กรุงเทพฯ
  • สวนผัก ปลูกรายได้ ปลูกความสุข สายไหม กรุงเทพฯ
  • กลุ่มสวนผักผู้รับงานมาทำที่บ้าน บางบอน กรุงเทพฯ
  • พื้นที่ชีวิตกลุ่มคนเย็บผ้า บางบอน บางบอน กรุงเทพฯ
  • สวนผักชุมชน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งรัก ทวีวัฒนา กรุงเทพฯ

  • สวนผักคนเมืองย่านตลิ่งชัน ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

  • สวนผักเอื้ออาทร ธัญบุรี ปทุมธานี

  • ปลูกผักปลอดสารพิษเพื่ออาหารกลางวัน ไทรน้อย   นนทบุรี

  • ความสุขปลูกได้ ไทรน้อย  นนทบุรี

  • สวนผักผสมผสาน ชมรมเศรษฐกิจพอเพียง มสธ ปากเกร็ด นนทบุรี

  • ปลูกเอง กินเอง บางบัวทอง  นนทบุรี

  • สวนผักปลอดสาร ศูนย์คนไร้บ้าน เมืองปทุมธานี ปทุมธานี

  • สวนผักต้านมะเร็ง คลอง12 ลำลูกกา ปทุมธานี

  • สวนผักสดหนุ่มสาวโรงงานฉันทนา สามพราน นครปฐม                                                 
  • สวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 ดอนเมือง กรุงเทพฯ

  • แปลงผักนักสำรวจน้อย ชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 327 หลักสี่ กรุงเทพฯ

  • สวนผักคนเมืองลาดหลุมแก้ว ลาดหลุมแก้ว  ปทุมธานี

 

ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์  สำนักนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายระบบอาหารในชุมชนเช่นนี้ว่า คือการสร้างความมั่นคงให้กับท้องถิ่น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่ทำให้ระบบขนส่งอาหาร คือจากแหล่งปลูกสู่ตัวเมืองเกิดความไม่ปกติ

“วงจรของสินค้าเกษตร คือปลูกนอกเมือง แล้วระบบโลจิสติกส์จะลำเลียงมาในเมือง แล้วค่อยๆ ขยายตลาดไปสู่นอกเมืองใหม่อีกครั้ง แม้ผลไม้จะปลูกที่เชียงใหม่ เชียงราย แต่คนกรุงเทพฯจะได้บริโภคก่อน แล้วเวลาเกิดน้ำท่วมเราก็มักได้ยินข่าวว่าผักผลไม้ราคาแพงขึ้น นั่นก็เพราะวงจรโลจิสติกส์เดิมถูกรบกวน ดังนั้นจะดีกว่าไหมที่แต่ละชุมชนท้องถิ่นจะมีแหล่งอาหารของตัวเอง”

ทุกวันนี้การขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่เกษตรกรรมลดลง คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2050 อาหารที่คนเมืองบริโภค ต้องนำเข้าจากพื้นที่ชนบทถึงร้อยละ 80 และผู้บริโภคต้องจ่ายเงินกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ครัวเรือนเพื่อซื้ออาหาร

ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บอกว่า การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจและพลังงาน เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจและจริงจังมากขึ้น เราเรียกเรื่องนี้ว่า The Transition Network ที่เชื่อว่าการรับมือที่ได้ผลดีและยั่งยืนที่สุด คือการขับเคลื่อนไปกันทั้งชุมชนหรือเมือง จนนำไปสู่เมืองแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือ Transition Town โดยมีเมืองคินเซล (kinsale) และเมืองท็อตเน (Tones) ประเทศอังกฤษเป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบ ซึ่งชาวเมืองพร้อมใจ Re-skill หรือสร้างทักษะของตัวเองใหม่ควบคู่กับการทำงานในระบบเมืองแบบที่เราคุ้นชิน โดยการสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น การสร้างแหล่งอาหารภายในชุมชน หรือแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน ที่ล้วนพึ่งพาตนเอง

การนำไปสู่เมืองแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ เศรษฐกิจ และพลังงานได้นั้น มิติด้านอาหาร หรือการสร้างแหล่งอาหารในชุมชนถือเป็นหัวใจของทั้งหมด การสร้างเมืองแห่งการเปลี่ยนแปลงคือการพึ่งพาตนเอง เพราะถ้าเกิดภัยพิบัติ เราไม่อาจหวังพึ่งระบบอาหารเดิมๆ หรือคาดหวังกลไกระบบทั้งหมดจะช่วยเราได้

ในฐานะมุมมองแบบ Futurist (อนาคตศาสตร์) คือต้องมองไปข้างหน้า คาดการณ์ก่อนที่สถานการณ์ร้ายๆ จะมาถึง คนเมืองโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ จึงต้องพูดคุยกันบ่อยๆ ยอมรับความจริง พร้อมพัฒนาทักษะดั้งเดิมในการสร้างแหล่งอาหาร เอาตัวรอดในสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่อาจแปรปรวนได้ทุกเมื่อ

เมืองที่ดีจึงน่าจะเป็นเมืองที่ผู้คนเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ ลดความเลื่อมล้ำในสังคม ฟื้นฟูระบบนิเวศของเมือง ทั้งในยามสงบและยามเปลี่ยนแปลงจากภัยธรรมชาติ

พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอีกเป็นจำนวนมาก หากครึ่งหนึ่งถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คนเมืองกรุงก็น่าจะมีคลังอาหารขนาดใหญ่ที่ช่วยเพิ่มความมั่นทางอาหาร และพร้อมที่จะก้าวสู่ “เมืองแห่งการเปลี่ยนแปลง” ในอนาคต