Be the change : จงเป็นความเปลี่ยนแปลง

ช่วงหลายปีให้หลังมานี้ เราเห็นความป่วยไข้ของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากสิ่งที่ดูเหมือนไกลตัว ก็ขยับเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางน้ำ ทางอากาศ สารพิษในอาหาร ไปจนถึงเรื่องน้ำท่วม ฝนแล้ง อากาศร้อนจัด ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และล่าสุดที่ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนอย่างไม่เลือกเพศ วัย เชื้อชาติ หรือศาสนาใดๆ ก็คือโรคระบาดโควิด 19 สิ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ พวกเราชาวมนุษย์ เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความป่วยไข้เหล่านี้ขึ้นมา

 

 

มีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Inner climate change documentary ที่ทาง Findhorn ซึ่งเป็นชุมชนนิเวศวิถี หรือ Ecovillage ได้จัดทำขึ้น ควบคู่กับการมีโอกาสได้ฟังประสบการณ์การเดินทางไปเยือน Ecovillage ที่อยู่ในบริบทต่างๆ ทั้งที่เป็นเมือง กึ่งเมือง หรือเป็นชนบท ทั่วโลกรวม 14 แห่ง ของศาสตราจารย์ Karen Litfin   ผู้สอนวิชา political science ที่ University of Washington ก็พบว่า จุดร่วมสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึก หรือจิตวิญญาณ ของผู้คน เป็นการกลับมาเชื่อมโยง ตระหนักถึงความจริงที่สำคัญว่า เราคือส่วนหนึ่งของโลก เราคือส่วนหนึ่งของข่ายใยแห่งชีวิต และเป็นข่ายใยชีวิตที่ศักดิ์สิทธ์ ที่ทั้งมนุษย์ และมวลมิตรในธรรมชาติ จะทำงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน อย่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน มนุษย์ไม่ใช่ผู้บงการ ไม่ใช่ผู้ควบคุมที่อยู่เหนือสิ่งต่างๆ อีกต่อไป

และหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นได้ ก็คือ การเป็นความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของเราเอง เริ่มต้นที่ตัวเรา แทนการพร่ำบ่น หรือเรียกร้องใดๆ ดังที่ท่านมหาตมะ คานธี ได้เคยกล่าวไว้ว่า “Be the change you want to see in the world”

 

 

กลุ่มผู้คนที่พยายามช่วยกันสร้างชุมชน ที่เรียกว่าชุมชนนิเวศน์วิถี หรือ Ecovillage นี้ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้คน ที่มีเป้าหมายร่วมกัน และเลือกที่จะออกมาเป็นความเปลี่ยนแปลงด้วยการลงมือทำให้สิ่งที่คิดฝันเกิดขึ้นจริง หรือที่คุณ Karen ได้พูดไว้ว่า เป็น DIY politic of YES คือ เน้นการลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง แทนการเรียกร้องทางการเมือง

 

 

คุณ Karen ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนนิเวศน์วิถีที่ตัวเองได้ไปใช้ชีวิตอยู่ด้วย ออกมาเป็นหนังสือเรื่อง Ecovillage : Lessons For Sustainable Community ซึ่งตอนนี้ หากใครสนใจอ่าน หนังสือเล่มนี้ก็เพิ่งได้รับการแปลเป็นหนังสือภาษาไทยในชื่อว่า “ชุมชนนิเวศวิถี บทเรียนเปลี่ยนชีวิตและโลก” และเขาก็เพิ่งมีวงเสวนาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ผ่านทาง Zoom ไปเมื่อไม่กี่วันมานี้

 

 

บทเรียนสำคัญที่คุณ Karen ได้เรียนรู้ และถอดออกมา ก็คือ ชุมชนนิเวศน์วิถีเหล่านี้ มีองค์ประกอบของความยั่งยืนที่พวกเขาให้ความสำคัญร่วมกันคือ เรื่องของนิเวศวิทยา (Ecology) เศรษฐกิจ (Economy) ชุมชน (Community) และจิตวิญญาณ (Consciousness) หรือที่เขาเรียกว่า E2 C2  โดยทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ มีความเชื่อมโยงกัน

 

 

เช่นการที่ชุมชนเลือกที่จะสร้างที่อยู่อาศัยด้วยวัสดุจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะจากดิน หรือการสร้างบ้านต้นไม้ ก็ด้วยพื้นฐานของจิตสำนึกคุณค่าภายในที่ตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และการอยู่ในที่อยู่ที่เป็นธรรมชาติ ก็จะทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นการสร้างอาคารเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว  หรือวิถีการทำเกษตรแบบธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะจะทำให้ชุมชนมีอาหารที่มีคุณภาพดีกิน โดยช่วยลดค่าใช้จ่าย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น  แต่วิถีเกษตรแบบนี้มีส่วนช่วยขัดเกลา บ่มเพาะจิตใจ และทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้นด้วย เป็นต้น

 

 

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวอีกแบบหนึ่งว่า กิจกรรม หรือพฤติกรรมต่างๆที่พวกเขาร่วมกันทำนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านใด ล้วนเป็นภาพสะท้อนออกมาจากจิตสำนึก จิตวิญญาณ หรือระบบคุณค่าที่ว่าเราคือส่วนหนึ่งของข่ายใยแห่งชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์นี้นั่นเอง

 

 

หัวใจสำคัญอีกอย่างที่เขาพูดถึงคือ การแบ่งปัน ซึ่งถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ เข้าใจว่า การแบ่งปันที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การแบ่งปันทรัพย์สิน ข้าวของเครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย ความรู้ หรือแรงงานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแบ่งปันความฝัน ความมุ่งมั่นตั้งใจ หรือเป้าหมายในชีวิต ร่วมกันด้วย

คุณ Karen ได้เน้นย้ำให้เราตระหนักว่า แท้จริงแล้ว เราทุกคนมีพรสวรรค์ที่ติดตัวมา และก็มีเป้าหมาย หรือหน้าที่บางอย่างในการเกิดมาใช้ชีวิตนี้ด้วย  สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องรับรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ อยู่ตรงไหนของปัญหาที่เกิดขึ้น  และลอง เปิดใจ รับฟังเสียงภายในของเรา ว่าสิ่งที่แท้จริงที่ภายในเรียกร้องให้เราทำคืออะไร อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงในชีวิตเรา ไม่ใช่การมองปัญหา แล้วพุ่งเข้าชนเพื่อแก้ไขปัญหาโดยไม่ได้รับฟังเสียงภายใน

 

 

การเป็นความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตัวเองนั้น เป็นสิ่งสำคัญ แต่การมีเพื่อน มีชุมชน ที่มีความคิด มีความฝัน มีเป้าหมายร่วมกัน ก็จะช่วยทำให้เกิดพลัง และทำสิ่งที่ตั้งใจให้สำเร็จขึ้นได้จริงมากขึ้นด้วยเช่นกัน  สิ่งที่ผู้คนในชุมชนนิเวศน์วิถีส่วนใหญ่มีคือ แต่ละคนต่างก็ตระหนักในพรสวรรค์ ความรู้ ความสามารถของตัวเอง และมีความตั้งใจที่จะนำพาสิ่งเหล่านั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมร่วมกัน  ไม่ใช่การแยกตัวออกไปใช้ชีวิตอย่างพอเพียง โดยไม่สนใจสังคมส่วนร่วมอย่างที่หลายคนเข้าใจ

 

 

ในขณะที่การมีเพื่อน มีชุมชน เป็นสิ่งสำคัญ ก็ต้องยอมรับว่าการมีเพื่อน มีชุมชน ก็เป็นสิ่งท้าท้ายไม่แพ้กัน คุณ Karen เล่าให้ฟังว่า ตัวเองได้พูดคุยกับสมาชิกชุมชนต่างๆถึงความท้าทายที่พวกเขาเผชิญ หลายคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องคน แต่เมื่อถามถึงของขวัญในชีวิตในการมาใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ แทบทุกคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า การได้พบกับเพื่อนที่นี่   เรียกว่า ผู้คน เป็นทั้งของขวัญ และความท้าทายในชีวิตของพวกเขา

 

 

ดังนั้น การพัฒนาจิตวิญญาณด้านใน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจตัวเอง การฝึกทักษะในการสื่อสาร การรับฟังด้วยหัวใจ การเข้าอกเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง อาจจะผ่านทางรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องคำพูด อย่างผ่านงานทางวัฒนธรรม ทางศิลปะ ดนตรี ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เรามิอาจจะมองข้ามไปได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น ทักษะในการสื่อสาร รับฟัง เชื่อมโยงสัมพันธ์กันนี้ ยังหมายรวมถึงการเรียนรู้ที่จะสื่อสาร รับฟัง เชื่อมโยง และทำงานร่วมกันกับธรรมชาติ และสรรพสิ่งต่างๆที่อยู่ในโลกนี้ร่วมกันด้วย    

 

 

ฟังบทเรียนจากชุมชนเหล่านี้แล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นบทเรียนที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตของเรา โดยที่เราอาจจะยังไม่จำเป็นต้องก้าวออกไปสร้างชุมชน Ecovillage เหมือนกับที่พวกเขาทำกันก็ได้ แต่เราสามารถเริ่มต้นได้ในทุกที่ที่เราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเมือง หรือชนบท เป็นการเริ่มต้นจากเป็นความเปลี่ยนแปลงจากภายในของเรา ฝึกที่จะรับฟังเสียงภายในตัวเอง รับฟังผู้อื่นด้วยหัวใจ รับฟังเสียงธรรมชาติ และค่อยๆปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในมิติต่างๆ ด้วยความตระหนักว่าเราคือโลก โลกคือเรา เราคือส่วนหนึ่งของข่ายใยชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์นี้ 

 

 

ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นตอนนี้ อาจเป็นเหมือนสัญญาณที่ร้องบอกพวกเราว่า ถึงเวลาที่แต่ละคนจะต้องเริ่มต้นเป็นความเปลี่ยนแปลงนั้นแล้วล่ะค่ะ  ใครอยู่จุดไหน สามารถทำอะไรได้ ก็ขอให้ช่วยกันทำ ใครเริ่มทำอะไรไปบ้างแล้ว ก็อาจจะลองทบทวนว่าสิ่งที่เราทำ มีด้านใดที่เรายังหลงลืมหรือละเลยไปหรือไม่

สิ่งที่น่าสนใจที่วิทยากรในวงเสวนาหนังสือ “ชุมชนนิเวศวิถี บทเรียนเปลี่ยนชีวิตและโลก” หลายคน ไม่ว่าจะเป็นคุณอ้อม แห่งกาย่าอาศรม คุณนฤมล แห่งอาศรมวงศ์สนิท รวมถึงคุณดิสทัต โรจนาลักษณ์ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ ฝากไว้ ก็คือ ถ้าเราอยู่ในเมือง เราอาจจะค่อยๆทำแต่ละมิติ แต่ละด้านไป และค่อยเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน   สิ่งสำคัญคือจิตวิญญาณ ต้องเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นก็จะทำทั้ง 4 ด้านไม่ได้ และที่เราต้องไม่ลืมคือ ความสุขที่แท้มาจากภายใน ดังนั้นการเดินหน้าทำอะไรก็ตาม เราต้องกลับมาทบทวนเสมอว่าภายในเราเป็นยังไง การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เราก็ต้องรู้จักดูแลความโกรธ มีความอดทน และมีเมตตาควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

 

ใครสนใจก็สามารถชมสารคดี inner climate change ฉบับเต็ม ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=YIzDhpx8aqQ&t=789s

หรือใครสนใจอยากฟังเรื่องราวประสบการณ์จากคุณ Karen ก็สามารไปชมกันได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=j-wN_SzkSzg

https://www.youtube.com/watch?v=xVjxkeMThx8

ขอบคุณเรื่องราวอันเป็นแรงบันดาลใจจากวิดีโอเหล่านี้ รวมถึงวงเสวนาหนังสือ“ชุมชนนิเวศวิถี บทเรียนเปลี่ยนชีวิตและโลก” ที่สำนักพิมพ์อินี่บุ๊ค จัดขึ้นด้วยค่ะ

ขอบคุณรูปภาพEcovillage ที่ต่างๆ จาก https://ecovillagebook.org/ecovillages/