สวนผักจากวัสดุเหลือใช้ และการทำซุ้มไม้เลื่อย

นอกจากการปลูกผักจะมีส่วนช่วยลดขยะด้วยการเปลี่ยนขยะอินทรีย์มาเป็นปุ๋ยแล้ว ยังสามารถนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้เป็นภาชนะปลูกอย่างสร้างสรรค์และคุ้มค่าอีกด้วย อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ถัง หรือภาชนะที่เคยใส่เคมีมาก่อน เพราะอาจมีสารตกค้าง

การเลือกผักให้เหมาะสมกับภาชน

เราสามารถเลือกใช้ทั้งกระถางที่มีขายทั่วไป หรือภาชนะเหลือใช้ตั้งแต่กะละมัง กระสอบ กระบอกไม้ไผ่ กล่องโฟม ตะกร้า เข่ง ขวดน้ำ ถัง และล้อยาง สิ่งสำคัญคือต้องเลือกผักให้เหมาะสมกับภาชนะ

  • ผักรากหยั่งตื้น ได้แก่ ผักชี ต้นหอม คะน้า ผักบุ้งจีน ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม สะระแหน่ ขึ้นฉ่าย ตั้งโอ๋ ควรเลือกภาชนะปากกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 4 นิ้ว และไม่ต้องลึกมากนัก
  • ผักรากหยั่งลึกปานกลาง ได้แก่ กะเพรา โหระพา พริก มะเขือ มะเขือเทศ แตงกวา ถั่วแขก ถั่วฝักยาว และพืชกินหัว ได้แก่ หัวไชเท้า แครอท มันเทศ ควรเลือกภาชนะทรงกระบอก เช่น กระถาง กระป๋อง กระสอบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว ขึ้นไป ลึกอย่างน้อย 12 นิ้ว
  • ผักชนิดที่เป็นไม้เลื้อย เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วพู แตงกวา บวบ ฟัก มะระ ควรทำค้างให้พืชเลื้อยซึ่งก็ออกแบบได้หลากหลาย ตามวัสดุอุปกรณ์ และลักษณะพื้นที่ปลูกของตัวเอง

TIPS : เคล็ดลับการปลูกผักในภาชนะ

  • ระบายน้ำได้ดี : ภาชนะที่ใช้ควรระบายน้ำได้ดี ดังนั้นหากภาชนะที่ใช้ไม่มีที่ระบายน้ำ ก็ควรเจาะรู
  • รดน้ำสม่ำเสมอ : ผักที่ปลูกในภาชนะจะแห้งเร็วกว่าผักที่ปลูกลงแปลงดิน ดังนั้นควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ และรดในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป อาจสังเกตง่ายๆ คือให้น้ำที่รดไหลผ่านออกจากภาชนะปลูกเล็กน้อย ก็เพียงพอ
  • ให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอ : การปลูกผักในภาชนะ มีพื้นที่ให้พืชหาอาหารได้น้อยกว่าการปลูกลงดิน ดังนั้นเราต้องให้ปุ๋ยมากกว่าการปลูกลงดิน เพื่อให้พืชได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ