เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เราได้นำเสนอ บทเกริ่นนำ : นิยามความหมาย ความท้าทายของการขับเคลื่อนงานเกษตรในเมืองของไทย และครั้งต่อไปจะชวนทำความเข้าใจบทบาทของเกษตรในเมือง บทที่ 1 : เกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง (Urban Metabolism)
แต่ก่อนจะไปถึงบทที่ 1 นั้น โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) อยากจะฉายภาพรวมให้เห็นบทบาทความสำคัญของเกษตรในเมือง ที่ไม่ได้มีเพียงมิติด้านอาหารเพียงอย่างเดียว แต่การทำเกษตรในเมืองยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองในหลายมิติอีกด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นความเชื่อมโยงภาพกว้างนี้ก่อน ว่าในอีก 6 -7 ครั้งที่เราจะ พูดถึงเรื่อง “เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน” นั้นจะประกอบด้วยอะไรบ้าง
เราสามารถแบ่งแนวคิดเรื่องบทบาทเกษตรในเมืองออกได้ดังนี้
1.เกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง (Urban Metabolism)
  • แนวคิดนี้มองเรื่องเกษตรในเมืองเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆของเมือง เช่น การใช้ประโยชน์ในที่ดิน การจัดการของเสีย การจัดการมลภาวะ การใช้พลังงาน การพัฒนาภูมิทัศน์ของเมือง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงการพิจารณาว่าในอีกด้านหนึ่งสวนเกษตรไปสร้างผลกระทบทางลบต่อระบบเมืองอย่างไรด้วย (Redwood, 2008)
2.เกษตรในเมืองกับการยกระดับความมั่นคงทางอาหารในเมือง (Urban food security)
  • แนวคิดนี้มองเกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะหนุนเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในเมือง กล่าวคือ (1) การมีแหล่งอาหารอยู่ (food available) ซึ่งโยงถึงเรื่องการมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางอาหารทั้งยามปกติและยามวิกฤติ (2) การเข้าถึงอาหาร (food accessibility) ซึ่งโยงถึงเรื่องการกระจายอาหาร และ (3) การมีอาหารให้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ (food stability) รวมถึง (4)การใช้ประโยชน์ในอาหาร (food utility) หรือ การได้บริโภคอาหารที่มีโภชนาการ เช่น สด ปลอดภัย มีคุณภาพที่ดี มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี และรู้แหล่งที่มา
3.เกษตรในเมืองกับการยกระดับอธิปไตยทางอาหาร (food sovereignty)
  • แนวคิดนี้ใส่ใจต่อสิทธิในการเข้าถึงอาหาร (right to food) ของกลุ่มคนจนเมืองและคนชายขอบ เช่น คนป่วย คนชรา และคนพิการเป็นพิเศษ (Wittman, Desmarais, and Wiebe, 2010; Pimbert, 2009) รวมถึงสิทธิในการถึงอาหารปลอดภัยหรืออาหารที่เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของชนชั้นกลาง ซึ่งล้วนได้รับความไม่เป็นธรรมจากระบบการค้าอาหารโลก เช่นจากการเปิดเสรีการค้า และบรรษัทอาหารข้ามชาติ เป็นต้น
4.เกษตรในเมืองกับการสร้างห่วงโซ่อาหารที่เป็นธรรมของคนเมือง (fair urban food chain)
  • บทบาทของเกษตรในเมืองนับว่ามีความสำคัญในมิตินี้ในแง่ที่ย่นย่อการระยะทางของอาหาร (food miles) และทำให้ห่วงโซ่อาหารทั้งเรื่องการผลิต การขนส่ง การตลาด และการบริโภคสั้นลงและเป็นธรรมมากขึ้น จากการตัดห่วงโซ่ที่ไม่จำเป็นของผู้แสวงหาประโยชน์ (rent seekers) ออกไป อีกทั้งทำให้แต่ละห่วงโซ่มีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น
5.เกษตรในเมืองในการเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองเพื่อการปรับตัวต่อวิกฤติและการเปลี่ยนแปลง (Adaptation to crisis and changes)
  • เกษตรในเมืองสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองได้ในหลายลักษณะ เช่น ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน กล่าวคือเกษตรในเมืองสามารถช่วยทำให้มีอาหารสำรองที่มีโภชนาการยามฉุกเฉินได้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ ซึ่งจะเป็นข่ายความปลอดภัยจากวิกฤติเศรษฐกิจในครัวเรือนที่มักเกิดขึ้นตามมากับภัยพิบัติ นอกจากนี้พื้นที่เกษตรในเมืองยังช่วยลดผลกระทบจากน้ำไหลบ่าจากที่สูง ช่วยกักและชะลอน้ำที่อาจท่วมฉับพลันได้ ที่สำคัญการผลิตอาหารในเมืองยังช่วยลดพลังงานในการขนส่งอาหาร การอุ่น การเก็บรักษา และการบรรจุหีบห่อ อีกทั้งยังเอื้อต่อการจัดการของเสียในเมือง และทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุดเช่นการนำน้ำเสียกลับมาบำบัดใช้ใหม่อีกครั้ง
6.เกษตรในเมืองกับการพัฒนาเครือข่ายทางสังคม (social network)
  • ฐานสำคัญของเครือข่ายทางสังคมคือเรื่องการขับเคลื่อนร่วมกัน (collective action) ระหว่างตัวแสดงต่างๆ ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างมีความอิสระแต่มาพึ่งพาอาศัยกัน (autonomous but interdependent actors) ด้วยการมามีส่วนร่วมในการผลักดันกิจกรรมร่วมกัน (Bruggeman, 2008; Freeman, 2008) โดยเกษตรในเมืองจะมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายทางสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายการผลิตและการกระจายอาหารเป็นสำคัญ ซึ่งเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งก็จะมีส่วนช่วยสร้างความสนิทสนม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และการพึ่งพากันให้เกิดขึ้นในสังคม
7.เกษตรในเมืองกับการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างการเรียนรู้ (innovation and learning)
  • แนวคิดนี้ถูกนำมาส่งเสริมการพัฒนาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมากเป็นพิเศษ โดยมีการนำเรื่องเกษตรในเมืองมาใช้เป็นนวัตกรรมหรือเครื่องมือที่ใช้สร้างความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลง และใช้ร่วมกับการเรียนรู้ ซึ่งให้ความสำคัญกับกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interactions) และความรับรู้กับความนึกคิด (perception and cognitive) ของแต่ละปัจเจกบุคคล โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และรากฐานทางวัฒนธรรม รวมถึงมุมมองทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.ดร.ปิยพงษ์ บุษบงค์
ในงานสัมมนาวิชาการเกษตรในเมือง: ปลูกเมือง ปลูกชีวิต