การทำสวนผักแนวตั้งและสวนผักในพื้นที่จำกัด

หากบ้านเรามีพื้นที่น้อย การทำสวนผักแนวตั้งก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่น่าสนใจ ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการปลูกผักในภาชนะทั่วไป และสามารถออกแบบสวนผักให้เหมาะสมกันพื้นที่ของเราได้ ซึ่งมีหลักการทำที่ไม่ยากดังนี้

  • การจัดวางกระถาง ควรให้มีระยะห่างระหว่างกระถางประมาณ 1 นิ้ว และให้แต่ละแถวห่างกันประมาณ 2 คืบ เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอให้ผักเติบโตได้อย่างงอกงาม
  • ใช้กระถาง 2 ใบซ้อนกัน เพื่อให้สะดวกต่อการทำงาน โดยกระถางล่างเป็นใบที่ยืดติดกับโครงไม้ที่กำแพง ส่วนกระถางบน เป็นใบที่ใช้ปลูกผักเวลาเก็บเกี่ยวและเปลี่ยนดิน ก็สามารถยกกระถางบนออกไปได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาแกะและผูกลวดเพื่อยืดกำแพงใหม่อีกครั้ง
  • เพาะกล้าใหม่เตรียมไว้ เพื่อผักโตไล่กัน พอเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะได้มีกล้าล้างผักไว้ลงปลูกใหม่ทันที การวางแผนปลูกวิธีนี้ จะช่วยให้กำแพงสวยงามด้วยผักอยู่ตลอดเวลา
  • หากมีพื้นที่จำกัด การปลูกผักไว้หลายชั้น ในหลายรูปแบบผสมผสานกัน ก็มีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตในพื้นที่น้อยได้
  • ภาชนะที่ใช้ปลูกสวนผักลอยฟ้าควรมีน้ำหนักเบาและควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เนื่องจากน้ำจะระเหยเร็ว

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

  • การทำสวนผักแนวตั้ง ต้องเลือกชนิดผักให้เหมาะสมกับขนาดของกระถาง รวมถึงระยะห่างของกระถางทั้งด้านข้าง ด้านบน และด้านล่าง เช่น หากปลูกในกระถางขนาดเล็ก ควรเลือกปลูกผักทรงพุ่ม เช่น สลัด หรือ วอเตอร์เครส หากปลูกผักลำต้นสูง อาจจะโตจนบดบังแสงแดดของผักด้านบน
  • เพื่อให้ผักเจริญเติบโตดี ควรเพาะกล้าผักก่อนย้ายลงกระถาง เมื่อเก็บผลผลิตแล้ว ควรนำดินในกระถางออกมาปรับปรุงเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินทุกครั้ง โดยแนะนำว่าให้นำดินเก่าออกมาตากแดดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนนำไปผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อปลูกใหม่ หรือนำดินเก่าไปผสมทำเป็นดินหมัก
  • ไม่ควรเรียงกระถางแนวตั้งให้สูงจนเกินไป เพราะยากต่อการทำงาน การสถานที่วางสวนแนวตั้ง ควรคำนึงถึงเรื่องแสงแดด ระวังอย่าให้มีเงาตึก หรือ เงากระถางมาบังผักที่ปลูก
  • สวนผักแนวตั้งเหมาะสำหรับคนที่มีพื้นน้อย แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีเวลาดูแลน้อย เพราะต้องอาศัยการดูแลและบำรุงรักษาพอสมควร