การทำสวนผักบนดาดฟ้า

เชื่อว่าหลายคนที่อาศัยอยู่ใจกลางเมือง มีความคิดที่อยากจะปลูกผักปลอดสารเคมีไว้ทานเองในบ้าน และที่อยู่อาศัยของหลายคนก็จะเป็นตัวอาคาร หรือ ตึกแถว ซึ่งบ่อยครั้ง มักไม่มีที่ดินว่างๆ หน้าบ้านไว้ปลูกผักเลย นอกจากเราจะเปลี่ยนดาดฟ้าให้มาเป็นสวนผักซะเอง ซึ่งการทำสวนผักดาดฟ้าก็จะมีเคล็ดลับที่ไม่ยากดังนี้

การเตรียมพื้นที่ดาดฟ้า

  • ดาดฟ้าที่จะนำมาทำแปลงผักต้องมีการลงน้ำยากันซึมก่อน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำรั่วซึมลงไปตามชั้นล่างซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างอาคารในภายหลังได้
  • พื้นที่ดาดฟ้าควรมีความลาดเอียงออกด้านข้างทั้ง 2 ด้าน อย่างน้อย 0.05 เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงเวลาที่ฝนตก หรือ รดน้ำต้นไม้
  • ควรมีท่อระบายน้ำด้านข้างอย่างน้อยข้างละ 4 จุด เพื่อระบายน้ำออกได้ง่าย หากเป็นเป็นไปได้ควรใช้ท่อที่มีขนาดใหญ่เพื่อป้องกันปัญหาท่อขุดตัน
  • การรองรับน้ำหนักของดาดฟ้า หากเป็นตึกอาคารทั่วไป พื้นที่ 1 ตร.ม. จะรองรับน้ำหนักได้ 200 กิโลกรัม ส่วนพื้นที่บริเวณคานจะรองรับน้ำหนักได้ 400-500 กิโลกรัม จึงมีความจำเป็นต้องออกแบบแปลงผักให้เหมาะสมต่อสภาพอาคาร โดยเฉพาะหากอาคารที่มีอายุเก่ามากควรปรึกษาสถาปนิกก่อนเพื่อความปลอดภัย

การออกแบบแปลงและสวนผักดาดฟ้า

องค์ประกอบสำคัญที่สวนผักดาดฟ้าพึงจะมีได้แก่ เสาปูน ตะขายพรางแสง ซุ้มผักหรือต้นไม้กันลม แปลงปลูก เรือนอนุบาลเพาะกล้า แปลงเพาะกล้า ก๊อกน้ำและถังสำหรับรองน้ำ โดยแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียดดังนี้

  • เสาปูน : สามารถนำท้อยางและนำเสาปูนมาใส่ แล้วเทปูนลงไป คล้ายกับเสาตะกร้อ ใช้สำหรับเป็นหลักยึดตาข่ายพรางแสง โดยอาจจะทำข้างละ 2 เสา ทั้งนี้ต้องดูตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่
  • ตาข่ายพรางแสง : เพราะดาดฟ้าจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดเต็มๆ อีกทั้งพื้นปูนก็ระบายความร้อนได้มากกว่าพื้นดิน ทำให้แปลงหรือกระถางผักได้รับความร้อนมากกว่าปกติ แต่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผักได้ ดังนั้น จึงควรขึงเชือกเป็นตาข่ายไว้ด้านบน โดยใช้ท่อ PVC และเหล็กสลิงช่วยยึด เพื่อสร้างความแข็งแรงทนทานต่อลมฝน หากใช้เชือกอย่างเดียวอาจไม่เสียหายจากแรงลมได้ เมื่อทำตาข่ายแล้ว ก็ปลูกไม้เลื้อยไว้ด้านข้างเพื่อให้ไม้เลื้อยไปปกคลุมไว้ด้านบนเพื่อช่วยพรางแสงให้กับแปลงผักด้านล่าง
  • ซุ้มผัก : เพื่อลดผลกระทบต่อแรงลม ซึ่งทำให้ดินแห้งเร็วเกินไปและส่งผลต่อผักที่ปลูก การทำซุ้มผักก็จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวไว้ได้ โดยทำได้จากการต่อท่อ PVC และอาจใช้ไม้ไผ่คาดเป็นโครงด้านข้างเพื่อเพิ่มความแข็งแรง หากใช้ท่อ PVC เพียงอย่างเดียว หากลมแรงอาจพัดซุ้มผักที่เป็นโครงท่อ PVC พังลงมาได้ ส่วนไม้เลื้อย อาทิ บวบ น้ำเต้า ฟัก ก็สามารถเลือกนำมาปลูกเป็นซุ้มผักได้ดี เนื่องจากใบไม่ทึบมากและให้ลมพัดผ่านไปได้สะดวก หากเลือกใช้ใบที่ทึบมาก ก็จะปะทะกับแรงลมมาก และส่งผลต่อโครงสร้างซุ้มผัก
  • ต้นไม้กันลม : สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกไม้กันลม โดยไม่ต้องทำซุ้มผัก แต่เราสามารถเลือกปลูกพวกเสาวรส องุ่น สับปะรด หรือกล้วยพันธุ์เตี้ยก็ได้ หากปลูกกล้วยพันธุ์สูงก็ต้องมีการตัดแต่งต้นอยู่เสมอ
  • แปลงปลูก : ควรมีการเว้นระยะแปลงเพื่อให้สามารถเดิน ขนดินและปุ๋ย รดน้ำ และปลูกลงแปลงได้สะดวก โดยความกว้างแปลงปลูกที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 50 – 100 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถก้มและทำงานได้สะดวก หากเป็นไปได้ควรยกแปลงให้สูงจากพื้นเล็กน้อย เพื่อให้สามารถทำควรสะอาดพื้นได้ง่าย และหลีกเลี้ยงทำแปลงปลูกติดกำแพงเพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังได้
  • เรือนอนุบาลต้นกล้า : เนื่องจากบนดาดฟ้าจะโดนแดดแรงมากกว่าปกติแล้ว ก็จะมีปัญหานกเข้ามาจิกกินต้นกล้า ดังนั้น การทำเรือนอนุบ้านต้นกล้าที่คลุมพลาสติกหรือสแลนสำหรับพลางแสงและป้องกันนกเข้ามาทำลายต้นกล้า เมื่อเพาะต้นกล้าจากเมล็ดเสร็จก็นำเข้ามาในเรือนอนุบาลที่เราทำไว้สัก 2-3 วัน
  • แปลงเพาะกล้า : หลังจากเพาะต้นกล้าในเรือนอนุบาลมา 2-3 วันแล้ว ก็ให้ย้ายกล้าลงแปลงหรือถาดเพาะกล้า โดยด้านบนควรมีการพรางแสงไว้ หากเป็นช่วงฤดูฝนก็ควรคลุมด้วยพลาสติกเพื่อกันฝน เมื่อต้นกล้าโตได้อายุประมาณ 10-15 วัน ก็จะแข็งแรงขึ้นจนสามารถย้ายออกมาด้านนอก เตรียมพร้อมลงแปลงใหญ่ได้
  • ก๊อกน้ำและถัง : สำหรับระบบให้น้ำ หากใช้น้ำประปาก็ต้องมีการต่อท่อขึ้นไป และควรมีถังพักน้ำไว้อย่างน้อย 1 คืนก่อนรดน้ำผัก เพราะน้ำประปามีคลอรีนมาก จะส่งผลให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินถูกคลอรีนทำลายและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผัก

 

การเตรียมดินและวัสดุปลูก

เนื่องจากบนพื้นปูนจะมีความร้อนสูงกว่าปกติเมื่อเที่ยบกับพื้นดิน อีกทั้งดาดฟ้าอาจรับน้ำหนักแปลงปลูกได้ไม่มากนัก ดังนั้น วัสดุปลูกจึงควรผสมด้วยกาบมะพร้าว โดยเทกาบมะพร้าวรองก้นแปลงลึก 2 ส่วน และถมด้วยดินลึก 1 ส่วนของความสูงของแปลง โดยกาบมะพร้าวจะช่วยให้น้ำหนักแปลงลดลง และ ดูดซับความร้อนจากพื้นปูนได้ดี

วิธีการต่อแปลงไม้ไผ่

  • นำกิ่งไม้ หรือ ไม้ไผ่ มาต่อเป็นแปลงสี่เหลี่ยมตามขนาดที่ต้องการ แล้วมัดติดกันด้วยลวด
  • นำกระสอบปุ๋ยมาเย็บติดกันเป็นแพเท่าขนาดแปลง
  • นำแผ่นโฟม หรือ แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดตัดตามขนาดแปลง เป็นการช่วยป้องกันและลดระยะเวลาผุพังของไม้แบบแปลง ซึ่งอาจย่อยสลายจากการรดน้ำผสมจุลินทรีย์

วิธีการต่อแปลงท่อ PVC

  • นำท่อ PVC ที่ตัดตามขนาด มาประกอบเป็นแปลง โดยใช้ข้อต่อ 3 ทางเป็นตัวประกอบ ใช้ค้อนยางตอกให้แน่น หรือใช้น้ำยาผสานท่อ PVC มาใช้แทนก็ได้
  • เมื่อได้โครงแปลงแล้ว ก็ให้ตัดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดมาบุด้านข้างทั้ง 4 ด้าน โดยวัดขนาดแผ่นฟิวให้สามารถพับเข้ามุมได้ หากแผ่นฟิวยาวไม่พอ ก็สามารถต่อแผ่นฟิวเพิ่มเติมในช่วงกลางแปลงได้
  • นำเทปกาวมาติดตรงมุม เพื่อยึดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดไว้กับแปลง จากนั้นนำผ้าใบ หรือ กระสอบปุ๋ยมาบุไว้รอบๆ แปลงปลูกเช่นเดียวกับแปลงไม้ไผ่ และทำการเจาะรูไว้รอบๆ เพื่อระบายน้ำ

ขั้นตอนการต่อแปลงอย่างละเอียด สามารถเข้าไปดูได้ที่ ต่อแปลงปลูกผักเองง่ายๆ ด้วยท่อ PVC โดย ครูอุษา สวนผักดาดฟ้าบ้านรังษี

คุณประโยชน์ในการทำสวนผักดาดฟ้าที่นอกจากการเป็นแหล่งผลิตอาหาร

  • ช่วยลดอุณหภูมิของตัวตึกลง ซึ่งหากเป็นอาคารที่ใช้เครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศก็จะทำงานน้อยลง และประหยัดพลังงานมากขึ้น
  • แปลงดินสามารถช่วยรองรับปริมาณน้ำฝน ชะลอการไหลของน้ำ ลดการเกิดน้ำท่วมจากฝนที่ตกหนัก
  • สร้างพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพ ลดมลพิษทางอากาศ
  • เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านการผลิตอาหารของคนเมืองได้