อยากปลูกผัก แต่ไม่รู้จะเริ่มจากอะไร

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐต้องเข้มงวดและออกมาตรการเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การออกคำสั่งปิดร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อ หรือการประกาศเคอร์ฟิวที่ห้ามผู้คนออกจากบ้าน เป็นต้น ทำให้หลายคนเข้าถึงแหล่งอาหารได้ยากขึ้น และหันมาปลูกผักในบ้านกันมากขึ้น ซึ่งการเริ่มปลูกผักก็สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. สำรวจความต้องการของเราดูว่า อยากจะปลูกผักเพราะอะไร เช่นการมีผักปลอดสารเคมีไว้ทานเองในภาวะวิกฤต ลดค่าใช้จ่าย หรือทำเป็นกิจกรรมพักผ่อนยามว่าง
  2. ถัดมาคือ ลองดูว่าเรามีปัจจัยที่สำคัญต่อการปลูกผักอะไรอยู่บ้าง อาทิ มีขนาดพื้นที่ปลูกอยู่เท่าไร พื้นที่ปลูกเป็นพื้นดินหรือพื้นปูน หากเป็นพื้นดินแล้ว ดินปลูกเป็นดินแบบใด มีความเหมาะสมต่อการปลูกผักหรือไม่ นอกจากเรื่องดินแล้ว พื้นที่ของเราแสงแดดได้มากน้อยเพียงใด มีแหล่งน้ำเพียงพอไหม รวมไปถึงเงินทุนในการผลิต มีแรงงานหรือเวลามาทำเกษตรหรือไม่ เป็นต้น
  3. เมื่อสำรวจปัจจัยแวดล้อมมาแล้ว ก็มาดูที่การเลือกพื้นที่ปลูกผัก โดยเฉพาะหากต้องการปลูกผักกินใบอย่าง สลัด คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักโขม พื้นที่ปลูกควรได้รับแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน หากได้รับแสงน้อยกว่านี้แสดงว่า ควรปลูกใบเตย สะระเหน่ ชะพลู ขิง ข่า ตำลึง อ่อมแซบ ใบบัวบก วอเตอร์เครส ใบย่านาง ผักแพว กระเพรา โหระพา ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่แดดรำไร และหากต้องการผักกินผลอย่างมะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือเทศ แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว พริก ผักกินผลเหล่านี้ต้องปลูกในพื้นที่แดดเต็มวัน
  4. เมื่อรู้แล้วว่า พื้นที่ของเราสามารถปลูกผักอะไรได้บ้าง ก็ทำการออกแบบแปลงให้เหมาะสมกับพื้นที่ และลงมือทำ!!!!!

การวัดปริมาณการรับแสงในพื้นที่อย่างง่าย

จะรู้ได้อย่างไรว่า พื้นที่ของเราได้รับแสงในปริมาณเท่าไรนั้น สามารถวัดได้ง่ายๆ โดยการสังเกตแสงแดดใน 3 ช่วงเวลาดังนี้

  • ช่วงที่ 1:00-09.00 น.
  • ช่วงที่ 2: 00-13.00 น.
  • ช่วงที่ 3: 00-17.00 น.

โดยแต่ละช่างเวลาให้ใช้เวลาสังเกตสัก 10 นาที ว่าพื้นที่ของเราโดนแสงแดดในช่วงเวลาใดบ้างแล้วบันทึกไว้ หากพื้นที่ของเราได้รับแสงแดดได้ครบทั้ง 3 ช่วงเวลา ก็แสดงว่า พื้นที่ของเราได้รับแสงแดดแบบ”เต็มวัน” หากพื้นที่ของเราได้รับแสงแดดเฉพาะช่วงเช้า (07.00 – 09.00 น.) ก็แสดงว่าพื้นที่ของเราได้รับแสงแดดเพียง “ครึ่งวัน” หรือได้รับแสงแดดเพียง 4-6 ชั่วโมงต่อวัน และหากพื้นที่ของเราได้รับแสงเฉพาะช่วงเย็น หรือ ได้รับแสงแดดเพียงวันละ 3 ชั่วโมง ก็แสดงว่าพื้นที่ของเราเป็นพื้นที่แดด”รำไร” เป็นต้น