“Corona Victory Garden” เครือข่ายสร้างอาหารยามวิกฤต

Victory Garden คือคำเรียกสวนเกษตรในเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรียกข้าวยากหมากแพง และเพื่อป้องกันปัญหาความอดอยากหิวโหยของประชาชน พื้นที่ว่างของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ทางหนีไฟ ระเบียง สวนหลังบ้าน ที่ว่างหน้าบ้าน ข้างบ้าน ที่ว่างของโรงเรียน ของชุมชน หรือของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ล้วนถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อาหารทั้งสิ้น เหมือนว่าการปลูกผัก สร้างอาหารให้ตัวเองนั้น เป็นหน้าที่หนึ่งของประชาชนที่ต้องช่วยกันทำ เรียกว่าตอนนั้นในสหรัฐอเมริกามีสวนเกษตรเกิดขึ้นราว 20 ล้านแห่งทั่วประเทศเลยทีเดียว

 

 

เหตุการณ์ผ่านไปเนินนาน จนจำนวนผู้คนและพื้นที่การปลูกผักก็ลดลงตามไปด้วย เมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ จนกระทั่งถึงวันนี้ เมื่อทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ซึ่งก็ทำให้หลายคนเกิดความหวั่นเกรง ว่าจะไม่มีอาหารเพียงพอให้กิน ไม่เพียงในประเทศไทยของเรา ในประเทศสหรัฐอเมริกา ชั้นวางอาหารขายตามซุปเปอร์มาร์เกตก็ว่างเปล่าเช่นกัน ทำให้ผู้คนเกิดกระแสความสนใจอยากกลับมาปลูกผัก ทำเกษตรกันอีกครั้ง

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขายเมล็ดพันธุ์ สินค้าทำเกษตรทั้งหลาย ต่างก็พูดว่ายอดขายของที่ผู้คนจะนำไปทำปลูกผักทำสวนนั้นพุ่งขึ้นอย่างมาก ด้วยผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการกลับมาพึ่งตนเอง ไม่ฝากชีวิตไว้กับสินค้าในระบบอุตสาหกรรมที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

 

 

Experimental Farm Network เป็นหนึ่งในองค์กรไม่หวังผลกำไรแห่ง Philadelphia ที่ทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร นักปลูกผักมือสมัครเล่นทั้งหลาย เขาได้หวนนึกถึงความสำคัญของ Victory Garden ที่เกิดขึ้นเมื่อยามเกิดสงคราม และก็เกิดแรงบันดาลใจลุกขึ้นมาทำโครงการ “Corona Victory Garden”  ซึ่งตอนนี้เขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Cooperative Garden Commission” เพื่อเชื่อมโยงผู้คน และอาสาสมัครที่สนใจ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันให้ความรู้ ช่วยกันแบ่งปันทั้งเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า วัสดุปลูก ไปจนถึงแรงงานในการไปช่วยสร้างพื้นที่อาหารให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะคนในเมืองที่มีพื้นที่ แต่ไม่เคยปลูก พวกเขาก็สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน งานนี้ใครเคยมีสนามหญ้า เขาก็ชวนให้เปลี่ยนสนามหญ้าให้เป็นที่ปลูกผักด้วย หรือใครไม่มีที่เลย เขาก็ชวนให้ลองไปติดต่อโรงเรียน องค์กร สถาบัน หรือหน่วยงานต่างๆที่มีที่ และเริ่มลงมือสร้างพื้นที่อาหารไปด้วยกัน

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ที่มีพื้นที่อยู่แล้ว ช่วยกันปลูกพืชผัก สร้างอาหารสำรอง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะแบ่งปันให้กับผู้คนในชุมชน และละแวกใกล้เคียง เพื่อลดการเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นไปอีก

 

 

หลังจากที่เขาเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจร่วมโครงการ Cooperative Garden ไปด้วยกัน โดยมีใบสมัครและแบบสอบถามเบื้องต้นให้กรอก ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การปลูกผัก สิ่งที่ปลูกอยู่ตอนนี้ สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือด้านต่างๆ ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ดิน ความรู้ อาสาสมัครที่เป็นแรงงาน ไปจนถึงการเข้าถึงที่ดิน นอกจากนี้ยังให้ใส่ข้อมูลว่า ตัวเองจะสามารถช่วยหรือสนับสนุนอะไรได้บ้างด้วย เขาบอกว่าตอนนี้มีคนตอบรับมาแล้วกว่า 1000 คนในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเขาก็มีการวางแผนการทำงานร่วมกันด้วยความมุ่งมั่น และเปี่ยมด้วยความหวังต่อไป ด้วยเชื่อว่า เวลานี้ สิ่งสำคัญคือเราต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญคือต้องแบ่งปันความช่วยเหลือสู่ผู้อื่น และสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่เกิดขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่บรรพบุรุษได้เคยทำกันมาในยามต้องเผชิญกับวิกฤต และก็เชื่อว่าหลายคนก็จะได้เรียนรู้สิ่งดีๆที่เกิดขึ้นระหว่างทางครั้งนี้เช่นกัน

 

ใครสนใจลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.experimentalfarmnetwork.org/

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก https://www.nytimes.com/2020/03/25/dining/victory-gardens-coronavirus.html?fbclid=IwAR2JuoZrwvwLWy59z6Rm4KFLx2WFSmf7jE1S9ghn1M93LT9HlLttKQxqr2s

https://www.facebook.com/ExperimentalFarmNetwork