“เกษตรในเมือง” เป็นเรื่อง “สำคัญ”

การปลูกผักในบ้าน สร้างแหล่งอาหารในเมือง หรือการทำเกษตรในเมือง มีความสำคัญต่อเมืองเป็นอย่างมากทั้งในภาวะปกติ หรือภาวะไม่ปกติอย่างที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานี้ เพราะ“อาหาร” คือหนึ่งในปัจจัยสี่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน เราต้องกินอาหาร 3 มื้อต่อวัน

เราจึงต้องมี “แหล่งอาหาร” ของเมือง และต้องมีพื้นที่เกษตรในเมือง (urban agriculture) ที่ประเทศไทยไม่ควรถูกมองข้ามอีกต่อไป เพราะเกษตรในเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในเชิงแนวคิดและแนวปฏิบัติไปทั่วโลก ทั้งเมืองขนาดเล็กหรือขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ก็ต่างหันมาให้ความสำคัญทั้งสิ้น เพื่อการปรับตัวของเมืองและคนเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อประโยชน์อื่นๆ โดยไปโยงอยู่กับการเกิดขึ้นของกลุ่มเคลื่อนไหวทั่วทุกมุมโลกในเรื่องระบบอาหารใกล้บ้าน ระบบอาหารทางเลือก ความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่น การลดการเดินทางของอาหาร ห่วงโซ่อาหารที่เป็นธรรม ความเกื้อกูลและรับผิดชอบต่อกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค และแนวคิดอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งเกี่ยวโยงและเชื่อมร้อยกันทั้งสิ้น

มีรูปธรรมจากหลายๆ เมืองทั่วโลก ที่รอดพ้นจากภาวะวิกฤติ และสามารถฟื้นฟูเมืองด้วย การทำเกษตรในเมือง

กรณีที่อังกฤษ ที่ในช่วงปี 1649-1950 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามกลางเมืองยุติลง ทำให้มีปัญหาเรื่องการผลิตและกระจายอาหารจากผลพวงของสงคราม เริ่มมีกลุ่มคนที่เริ่มตระหนักว่าปัญหาเรื่องความสามารถในการผลิตและเข้าถึงอาหารในพื้นที่ๆตนเองอาศัยอยู่มีความสำคัญ ได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวด้วยการกลับมาขุดดินทำเกษตร โดยเฉพาะในลักษณะแปลงเกษตรของส่วนรวม  ซึ่งเรียกตัวเองว่า “นักขุดดิน (Diggers)” และน่าจะเป็นการตระหนักและขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมืองครั้งแรกๆ ของโลกเลยทีเดียว โดยนักขุดดินที่เป็นคนชายขอบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองนั้นแต่ขาดการเข้าถึงที่ดินที่พอเพียง ได้ตัดสินใจรุกล้ำไปขุดดินตามที่สาธารณะต่างๆ เช่น บนถนน บนทางเดิน รวมถึง บนที่ๆคนอื่นล้อมรั้ว ซึ่งนับเป็นการเรียกร้องอธิปไตยทางอาหารหรือสิทธิทางอาหารครั้งแรกๆ ของโลกเช่นเดียวกันก็ว่าได้ หรือที่คนทั่วไปอาจจะรู้จักในนาม “สวนแห่งชัยชนะ”(Victory Garden) ที่สร้างบนพื้นที่ที่ถูกทิ้งระเบิดในกรุงลอนลอนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  ในช่วงนั้นเกิดการรณรงค์ที่เรียกว่า ขุดเพื่อชัยชยะ (Dig of Victory) ที่ส่งเสริมให้เจ้าของบ้านปลูกผักไว้เป็นอาหาร ในเวลานั้นจะพบว่า ตามลานจอดรถ สวน หรือแม้แค่คูน้ำของหอคอยลอนดอนก็เปลี่ยนเป็นแปลงผักทั้งหมด

พัฒนาการของการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมืองเริ่มชัดเจนขึ้นในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างชนบทและเมืองถูกสร้างขึ้นอย่างชัดเจนขึ้นมาก พื้นที่ๆ มีโรงงานกลายเป็นพื้นที่เมืองที่ชัดเจน จากที่กิจกรรมด้านการเกษตรถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ประชากรในพื้นที่เหล่านั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ของผู้ใช้แรงงาน การเพิ่มขึ้นของประชากรในเมือง ทำให้เกิดการแย่งกันกินแย่งกันใช้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ในยุโรป และเกิดคนจนเมืองที่ขาดแคลนอาหารขึ้นมากมายในที่สุด เกษตรในเมืองจึงเกิดขึ้นชัดเจนมากในช่วงนั้น หลังจากมีการแจกพื้นที่เล็กๆ เท่ากับโลงศพเรียกว่า ‘Allotment’ ให้คนจนเมืองได้ปลูกอาหารกินเองในพื้นที่เมืองที่อังกฤษและเยอรมัน

 

เกษตรในเมืองกับการยกระดับความมั่นคงทางอาหารของเมืองฮาวาน่า ประเทศคิวบา คิวบาเป็นประเทศสังคมนิยม ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่เขาถูกบีบให้จำใจต้องพึ่งตนเอง ด้วยการกีดกันทางการค้าโดยประเทศต่างๆ พอคนอดอยาก ก็เลยเกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ และเกิดเกษตรกรรมในเมืองขึ้น จากเดิมที่เน้นปลูกอ้อย ก็เปลี่ยนมาปลูกปลูกสิ่งที่กิน กินสิ่งที่ปลูก จนเกิดความหลากหลายขึ้น คนทั้งนอกทั้งในเมืองหันมาปลูกสารพัดอย่าง โดยรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่มอบที่ดินให้ประชาชนทำกิน โดยไม่คิดค่าเช่า แต่เน้นที่ความคุ้มค่าสูงสุดของการใช้ที่ดิน แนวทางนี้ นำไปสู่การรวมกลุ่มกันของประชาชนเพื่อทำกินในพื้นที่ของรัฐ ทั้งในรูปกลุ่มเกษตรกร กลุ่มคนงาน หรือสหกรณ์  ส่วนเอกชนก็ถูกจูงใจสารพัดในการหันมาทำเรื่องนี้ เช่น มีการลดหย่อนภาษี ในขณะที่ รัฐเองก็ลงทุนด้านการเกษตรเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเป็นบริษัทของรัฐ  และก็ให้หน่วยงานต่างๆ ปลูกผักในพื้นที่ส่วนราชการของตนเองด้วย จนแทบจะกลายเป็นเมืองผักไปก็ว่าได้

ประชาชนถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ หลังจากที่รัฐบาลกระจายอำนาจมาให้ โดยเฉพาะผ่านหน่วยการบริหารจัดการระดับท้องถิ่นที่เล็กๆ ชื่อว่าสภาประชาชน และในเทศบาลของเขาก็มีการตั้งแผนกเกษตรกรรมในเมืองขึ้นมาโดยเฉพาะเลย เพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ โดยรัฐบาลมีการจัดประกวดผลงานระหว่างเทศบาลด้วย ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้แต่ละแห่งจริงจังกับการผลักดันเรื่องนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องมาทำเกษตร มีทั้งแบบที่อาสามาทำ เพื่อปากท้องของตน และกรณีที่ถูกจ้างโดยรัฐให้มาทำ(รัฐบาลให้เงินเดือนเกษตรกร) ซึ่งกรณีหลังก็จะไปไกลกว่าเรื่องปากท้องตนเอง แต่ต้องทำงานหนัก เพื่อให้เกิดการกระจายอาหารมากที่สุด ประชาสังคมก็เกิดขึ้นเยอะมาก โดยกลุ่มผู้หญิงก็จะมีบทบาทโดดเด่น  สื่อก็ทำหน้าที่ด้านการให้ข้อมูลและความรู้ต่างๆเรื่องการทำเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในตอนหลัง เอกชนก็มีบทบาทมากเช่นกัน หลังจากที่เปิดให้เกิดการลงทุน และมีการเชื่อมโยงเรื่องเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สำหรับเกษตรกรที่อยากทำเชิงพาณิชย์ก็สามารถเช่าที่รัฐลงทุนได้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เป้าหมายการทำเกษตรในเมืองของฮาวาน่าก็ไปไกลขึ้น มากกว่าเรื่องปากท้องหรือการพึ่งตนเองอย่างเดียว มีการทำเกษตรในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ด้วยความที่คนนอกสนใจเยอะ โดยนักท่องเที่ยวก็กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ในขณะเดียวกัน เป้าหมายในเชิงสิ่งแวดล้อมก็ได้รับความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน

ประเด็นเรื่องการใช้ที่ดินนี่น่าสนใจมาก ตั้งแต่เรื่องการวางแผนการใช้ที่ดิน ที่สำคัญมากๆ คือ การกำหนดเขตการใช้ที่ดินประเภทต่างๆ ในเมืองฮาวาน่า ซึ่งเขาเข้มงวดมาก ไปจนถึงเทคนิคการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมในการทำเกษตรให้สามารถทำเกษตรได้ โดยเขามีการสนับสนุนการวิจัย โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ได้จริงเป็นจำนวนมาก  มีโครงการอบรมแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เอาเป็นว่าที่ดินทุกประเภท เขาเอามาสร้างอาหารได้หมด ทั้งนี้ หากจะถามว่า ของเขาใช้เคมีหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มาก จากที่เคมีไม่ถูกอนุญาตให้นำมาขายในตลาดที่ถูกกฎหมาย ยกเว้นสำหรับพืชบางชนิด เช่น หอม กระเทียม เป็นต้น และเขาสามารถทำให้ราคาสินค้าอินทรีย์ถูกกว่าเคมีได้ด้วย สิ่งที่เราน่าจะเรียนรู้จากเขาได้มาก อย่างน้อยก็คือ (1) รัฐบาลและท้องถิ่นของเขาสนับสนุนเต็มที่ ในผังเมืองของเขาเน้นแปลงผักเป็นพื้นที่สีเขียว มากกว่าจะเน้นเรื่องการปลูกไม้ที่กินไม่ได้ (2) เขาทำให้การซื้อหาสารเคมีเพื่อการเกษตรเป็นเรื่องยากและไม่ถูกกฎหมาย รวมถึงอาหารอินทรีย์กลายเป็นอาหารที่ถูก (3) สำนักงาน ส่วนราชการของเขาทำเป็นตัวอย่างกันพร้อมหน้า สุดท้าย (4) เขาเด่นมากในการเอาของเสียในเมืองมาใช้ในการทำเกษตร คือมีการเชื่อมโยงการจัดการของเสียเข้ากับเรื่องเกษตรกรรมในเมือง

เรียบเรียงใหม่จากบทความสังเขปบทเรียนเกษตรในเมืองในต่างประเทศ: ตอนที่ 1 – ฮาวาน่า (คิวบา)”
โดย ผศ.ดร.ปิยะพงษ์
  บุษบงก์

ปาฐกถา เรื่อง “เกษตรในเมือง ความสำคัญ ความท้าทาย สู่เป้าหมายเมืองยั่งยืน” ในงานสัมมนาวิชาการเกษตรในเมืองครั้งที่ 1 โดย ผศ.ดร.ปิยะพงษ์  บุษบงก์

 

ขอบคุณภาพจาก