ปลูกผักในบ้าน สร้างแหล่งอาหารในเมือง เราทำได้!!

บทเรียนการขับเคลื่อนงานเกษตรในเมือง ของโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)   มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา และศูนย์อบรมเกษตรในเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน ด้วยตระหนักว่า

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดยั้งของเมือง
ถึงเวลาแล้วที่คนเมืองต้องเริ่มเรียนรู้ และลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง !!
เพื่อสร้างอาหาร ความสัมพันธ์ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเมืองยั่งยืนไปพร้อมกัน

การขับเคลื่อนงานเกษตรในเมือง เพื่อสร้างระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนของเมือง ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ

  • ขับเคลื่อน/พัฒนา แนวคิดความรู้ เทคนิค นวัตกรรม ส่งเสริมคนเมืองให้มีความรู้ เทคนิค และนวัตกรรมการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ และการพึ่งตนเองในเมือง
  • สร้างพื้นที่ผลิตอาหาร สนับสนุนและสร้างให้เกิดพื้นที่รูปธรรมเกษตรในเมือง เพิ่มพื้นที่อาหารปลอดภัย ยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมือง และเชื่อมโยงกับมิติการพัฒนาด้านอื่นๆของชีวิต
  • สร้างพื้นที่เชื่อมโยงและกระจายอาหารของเมือง เชื่อมโยงผลผลิต ความหลากหลายของอาหาร การกินอยู่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติและฤดูกาล ทั้งในพื้นที่เมือง ชานเมือง และชนบท สู่ผู้บริโภคในเมือง อย่างมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน
  • เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย รวบรวมข้อมูล ความรู้ และพัฒนางานวิจัย งานวิชาการด้านเกษตรในเมือง รณรงค์เผยแพร่ สื่อสารสาธารณะ เพื่อยกระดับความคิดและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรในเมืองและสามารถเชื่อมโยงเรื่องเกษตรในเมืองไปสู่การพัฒนาเมือง พัฒนาสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจ

ยิ่งทำเรายิ่งมั่นใจว่า “เกษตรในเมือง” เป็นทางเลือก ทางรอดทั้งในมิติด้านอาหาร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของเมือง

  • ปัจจุบันมีความรู้ เทคนิค นวัตกรรมมากมาย ทั้งหนังสือ คู่มือ สื่อดิจิตอล ที่ส่งเสริมให้เราสามารถปลูกผักในบ้าน สร้างแหล่งอาหารในเมืองได้ ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสวนผักดาดฟ้า สวนผักบนพื้นปูน สวนผักแนวตั้ง สวนผักกำแพง สวนผักยกพื้น สวนผักในภาชนะ หรือแม้กระทั่งสวนผักในพื้นที่แปลงใหญ่ จากการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมือง เราก็มีรูปธรรมให้เห็นความสำเร็จจำนวนมาก ดังนั้น ความเป็นเมือง และความรู้ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดของการทำเกษตรในเมือง

  • ทุกคนสามารถมีแหล่งอาหารของตนเองได้ เพราะที่ผ่านมาเราทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเกือบทุกกลุ่มในสังคม เพื่อส่งเสริมให้คนเมืองมีทักษะความรู้ มีปัจจัยการผลิตพื้นฐานสำหรับการทำเกษตรในเมือง สนับสนุนการเข้าถึงอาหาร(ผัก ผลไม้) ที่สด สะอาด ปลอดภัย ที่อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ชุมชนของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเปราะบาง คนจนเมือง แรงงานนอกระบบ ผู้ป่วย ผู้ป่วยจิตเวช ผู้พิการ คนด้อยโอกาส คนรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง หรือแม้แต่กลุ่มคนรวย ทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะการพึ่งตนเองด้านอาหาร และแต่ละกลุ่มยังเชื่อมโยงเรื่องพื้นที่อาหารไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น การลดรายจ่ายด้านอาหารของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การสร้างพื้นที่สีเขียวผ่านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการขยะอินทรีย์ในเมืองเพื่อหมุนเวียนมาเป็นปุ๋ยหมัก การบำบัดเยียวยา เป็นต้น

  • ที่สำคัญในช่วงวิกฤตใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554 และสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 นี้ ในบ้านหรือชุมชนที่มีแหล่งอาหาร พื้นที่ผลิตอาหารของตนเอง สามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้เป็นอย่างดี ลดการเดินทางไปซื้ออาหารข้างนอก ได้บริโภคอาหารสดๆ ทั้งผัก และไข่ไก่แถมยังสะอาด ปลอดภัยที่มาจากการลงมือปลูก และดูแลด้วยตนเอง ให้เข้าถึงได้ง่าย ลดความเสี่ยง

มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับศักยภาพในการผลิตอาหารในพื้นที่เมืองที่น่าสนใจ สมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง และศูนย์อบรมเกษตรในเมือง ได้ทดลองและเก็บข้อมูลผลผลิตของเกษตรในเมือง ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร พบว่า ได้ผลผลิต น้ำหนักผัก ประมาณ 3 – 5 กก./ตร.ม. โดยใช้เวลาประมาณ 30 วัน หลังการย้ายกล้าลงแปลง ลองคำนวณตัวเลขดูว่า ถ้า WHO ระบุว่า เราควรบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ใน 1 เดือนเราต้องกินผัก ประมาณ 12 กก. เรามีพื้นที่ปลูกผักประมาณ 2.5 – 3 ตร.ม. ก็จะมีผักไว้กินตลอดเดือน แต่ต้องวางแผนการผลิต การเพาะปลูกร่วมด้วย

แต่ถ้าเรามีสมาชิกจำนวนมาก หรือบางบ้านไม่มีพื้นที่เพียงพอ การทำ สวนผักชุมชน จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะแหล่งอาหารนี้จะสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชนได้ สร้างพื้นที่อาหารร่วมกัน ลงแรงช่วยกัน แลกเปลี่ยนและแบ่งปันผลผลิตระหว่างกัน  ที่ผ่านมาโครงการสวนผักคนเมืองสนับสนุนการสร้างพื้นที่อาหารในเมือง ที่เป็นลักษณะของสวนผักชุมชน สวนผักในโรงเรียน สวนผักในโรงพยาบาล สวนผักในโรงงาน เกือบ 300 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ขอนแก่น สงขลา พัทลุง

และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการสวนผักคนเมืองให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมืองเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่อาหาร ผ่านการประสานการใช้ประโยชน์พื้นที่ระหว่างเจ้าของที่ดิน เครือข่ายคนปลูกผัก และภาคีอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิLand Sharing : แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต” ซึ่งในปีนี้มีทั้งหมด 18 พื้นที่เป็นพื้นที่รูปธรรมของการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่อาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มคนจนเมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงที่ดิน การสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงอาหารที่สด สะอาดปลอดภัย และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร  เพราะโดยทั่วไปค่าใช้จ่ายด้านอาหารนั้นมีสัดส่วนสูงมากถึง 35% ของครัวเรือนไทย สูงกว่าค่าใช้จ่ายอื่นทั้งหมด ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยนั้นมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงมากกว่า 50% ขึ้นไป การตกงานจึงส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสต่อประชาชนกลุ่มนี้

  • สวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ชุมชนหมู่บ้านจัดสรรที่แต่ละบ้านไม่มีพื้นที่ปลูกผัก ประธานชุมชนได้แบ่งปันพื้นที่ในบ้านที่เคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าขนาด 400 ตร.ม. ที่แต่เดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า สมาชิกในชุมชนมาลงแรงพัฒนาพื้นที่ ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน ปัจจุบันพื้นที่อาหารแห่งนี้มีอาหารสำหรับสมาชิกกลุ่มทุกวัน ทั้งผัก เห็ด ไข่ไก่ แถมยังมีรายได้จากการขายผักประมาณ 5 – 6 พันบาท/เดือน

  • สวนผักคนเมืองแปลงผักนักสำรวจน้อยเคหะทุ่งสองห้อง 327 หลัก กรุงทพมหานคร ต้นแบบของการใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ที่สำนักงานเขตหลักสี่พร้อมช่วยประสานกับบริษัทไทยคาเนตะ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เพื่อทำสัญญาขอใช้พื้นที่ฟรี และขออนุญาตใช้น้ำประปา โดยทางชุมชนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าน้ำเอง สวนผักคนเมืองเข้าไปสนับสนุนชุมชนในปี 2556 – ปัจจุบัน สวนผักแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชน ผู้สูงอายุได้มาปลูกผัก ออกกำลังกาย ผลผลิตที่เกินความต้องการของสมาชิก ก็ได้แบ่งปัน จำหน่ายให้กับสมาชิกในชุมชนในราคาถูก

  • สวนผักคนเมืองย่านตลิ่งชัน ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พื้นที่อาหารของพี่น้องคนจนเมือง ชุมชนฟ้าใหม่ร่วมใจพัฒนา ถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน เป็นกลุ่มชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ทางชุมชนได้เจรจาเพื่อจัดหาที่ดินใหม่รองรับการย้ายชุมชนมาอยู่รวมกันบริเวณฝั่งตรงข้ามที่หยุดรถไฟสถานีบางระมาด เขตตลิ่งชัน จำนวน 120 หลังคาเรือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ทั้งนี้การวางผังชุมชนใหม่ทางชุมชนได้จัดสัดส่วนที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่สร้างบ้าน และพื้นที่ส่วนกลาง และในพื้นที่ส่วนกลางนี้เองทางชุมชนได้มีการประชุมตกลงกันแล้วว่า จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่อาหาร โดยจะมีแปลงเกษตรปลอดสารสำหรับสมาชิกชุมชนที่สามารถเก็บกิน ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวตนเองได้ บนพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนสร้างใหม่ ขนาด 320 ตร.ม. ที่ชุมชนเช่าที่ดินกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเวลา 30 ปี มีเป้าร่วมกันของสมาชิก คือ เพื่อสร้างอาหารปลอดสารพิษให้กับสมาชิกชุมชน และเป็นกิจกรรมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

  • ปลูกผักข้างบ้าน สานรักสานสัมพันธ์ชุมชน ชุมชน กสม. พัฒนา สายไหม กรุงเทพมหานคร ชุมชนบ้านมั่นคง ที่สร้างแล้วเสร็จจำนวน 56 ครัวเรือน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ในขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย พื้นที่ผลิตอาหารนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่สมาชิกในชุมชน อีกทั้งสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายเพื่อก่อให้เกิดรายได้ พัฒนาให้ชุมชนมีความสามัคคี ร่วมมือกันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้ส่วนรวมในการใช้พื้นที่ประโยชน์พื้นที่ส่วนกลาง

นี่เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการปลูกผักในบ้าน สร้างแหล่งอาหารในเมือง ของเครือข่ายสวนผักคนเมือง ที่พยายามจะสร้างโอกาสให้คนเมืองทุกกลุ่มได้เข้าถึงแหล่งอาหารที่ดี มีคุณภาพ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะได้เข้าถึงอาหาร สิทธิที่จะได้อาศัยอยู่ในเมืองอย่างเท่าเทียม ที่สำคัญนอกเหนือจากการเป็นแหล่งอาหารแล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ช่วยจัดการขยะอินทรีย์ ลดความร้อนในเมือง และอีกหลายๆ ประโยชน์ที่เราจะสามารถผูกโยงความสัมพันธ์ของแหล่งอาหารนี้ได้

และหากลองจินตนาการว่า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเมืองมีมากขนาดไหน พื้นที่ดาดฟ้าบนตึกในเมืองมีจำนวนเยอะขนาดไหน หากรัฐบาล และทุกฝ่ายลองหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นที่ผลิตอาหารของเมือง แหล่งอาหารของคนทุกกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมือง ดังนั้นการส่งเสริมการปลูกผักในบ้านและสร้างอาหารในเขตเมือง กรุงเทพและเมืองใหญ่ควรมีนโยบายที่สร้างความเป็นธรรม โดยมีกฎหมาย/มาตรการที่บังคับให้ผู้ปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่าต้องมอบให้ชุมชนในเมืองใช้ประโยชน์เพื่อผลิตอาหาร แทนที่จะหลบเลี่ยงภาษีอย่างที่เป็นอยู่ แต่นอกจากรัฐและท้องถิ่นต้องสนับสนุนในการจัดหาพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ทั้งของรัฐและเอกชน มาให้กลุ่มคน ชุมชนได้เข้าถึงแล้ว การสนับสนุนปัจจัยการผลิตพื้นฐานก็ยังมีความจำเป็นมากเช่นกัน เพราะการเริ่มต้นทำเกษตรในเมืองต้องใช้ต้นทุนระดับหนึ่ง เช่น ดิน ปุ๋ยหมัก ระบบน้ำ เมล็ดพันธุ์ หรืออาจจะจำเป็นต้องวางแผนถึงระบบตลาดทางเลือกในเมือง ระบบการขนส่งการกระจายอาหาร เป็นแนวทางสำหรับอนาคตไว้ด้วย

มาร่วมสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ผลิตอาหารของเมืองกันเถอะ!!!