สูงวัย หัวใจสีเขียว

วันที่กลับไปเยี่ยมสมาชิกโครงการสวนผักบำบัดศรีราชา นอกจากสวนมีกรีน ของพี่ตุย ที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้ว เรายังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนบ้านใหม่ของป้าพิศ ผู้เป็นแม่ และได้กลับไปเยี่ยมเยือนสวนผักของพี่สุพัฒน์ พื้นที่ที่เคยใช้เป็นสวนผักบำบัด ด้วย

แม้ว่าป้าพิศ จะย้ายบ้านใหม่ แต่หัวใจสีเขียวของการเป็นนักปลูกผักก็ไม่จางหายไปไหน ทันทีที่ไปถึง ยังไม่ทันเข้าบ้าน ก็มีพืชผักปลูกอยู่เป็นแนวริมรั้ว รอต้อนรับพวกเราแล้ว เป็นสวนหน้าบ้านที่ใช้พื้นที่ไม่มาก แต่มีพืชผักหลากหลายมาก รวมทั้งสมุนไพรนานาชนิด ที่ช่วยลดความดันบ้าง ลดน้ำตาลบ้าง

 

 

เดินเข้าไปในบ้าน แม้จะมีที่ไม่เยอะ แต่ยังมีพืชผักที่ปลูกไว้ในกระถางเรียงรายให้เห็นอยู่มากมาย ทั้งผักกินใบ กินยอด ด้านข้างก็ยังมีไม้เลื้อยกินผลปลูกไว้ด้วย เรียกว่าใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่ามาก

 

 

 

ป้าพิศบอกว่า มาอยู่ที่นี่ จะออกไปตลาดเองก็ลำบาก ต้องรอลูกพาไป เวลาอยู่บ้านก็ได้การปลูกผักนี่แหละเป็นเพื่อน ไม่งั้นอยู่คนเดียวก็เหงา แถมยังชวนเด็กเล็กวัยอนุบาลที่มีคนมาฝากเลี้ยง ให้ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ สัมผัสดิน ปลูกผักไปกับป้าพิศด้วย

 

 

เคล็ดลับการเพาะกล้าของป้าพิศ คือ นำทิชชู่เปียกมาวางรองในกล่อง โรยเมล็ด แล้วก็ปิดฝา เอาเข้าแช่ในตู้เย็น 3 วัน แล้วก็เอาออกมา เปิดฝา พรมน้ำให้ชื้นๆ รอให้โตอีกนิด ก็ค่อยๆย้ายลงกระถาง แต่ต้องทำด้วยความเบา ระมัดระวังอย่าให้รากขาด

 

 

นอกจากเพาะกล้า ย้ายลงกระถางเเล้ว ป้าพิศก็ยังเพาะต้นอ่อนผักไว้ในกระบะ ไว้ตัดกินตั้งเเต่เป็นต้นเล็กๆ โดยมักจะใช้กินสด เเนมกับน้ำพริก หรือกับข้าวอื่น จนใครๆก็มักให้ฉายาว่า ป้าพิศกินเด็ก กันเลยทีเดียว ใครมีที่ไม่เยอะ มีเวลาดูเเลไม่มาก ก็อาจลองใช้วิธีเเบบป้าพิศดูก็ได้นะคะ ลองกินเเล้ว ก็อร่อยไม่เบาเลยค่ะ

 

 

ส่วนพี่สุพัฒน์ แม้เวลาจะผ่านไปร่วม 9 ปี แต่พี่สุพัฒน์ก็ยังคงปลูกผักทำสวนต่อเนื่องไม่ได้หยุด ที่สำคัญคือ เราเห็นหัวใจของการเป็นนักแบ่งปันความรู้ของพี่สุพัฒน์ ที่ไม่เคยหมดไฟลงไปเลยจริงๆ  ตอนที่เราไปเยี่ยมสวนมีกรีน ไปกินอาหารกลางวันด้วยกันที่นั้น พี่สุพัฒน์ก็เพาะถั่วงอกคอนโดมาให้กิน แถมยังพกอุปกรณ์ถังเพาะถั่วงอกมาพร้อม เรียกว่าพอมีคนสงสัยใคร่รู้ว่า ถั่วงอกเพาะยังไง พี่สุพัฒน์ก็พร้อมหยิบออกมา และสอนให้ด้วยความเต็มใจ แม้ว่าจะเคยพูดซ้ำๆแบบนี้มาแล้วกี่รอบ แต่เราก็สัมผัสได้เลยว่า พี่สุพัฒน์ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยล้า หรือหมดพลัง ที่จะแบ่งปันสิ่งดีดีให้คนอื่นได้เรียนรู้ และนำกลับไปทำ

 

 

เราเข้าไปที่สวน ก็เห็นถึงการออกแบบแปลง ที่พร้อมจะแบ่งปันให้ผู้ที่เข้ามาได้เห็น และเกิดแรงบันดาลใจว่า แค่ที่เล็กๆ ก็สามารถปลูกผักหลากหลายชนิด ทั้งผักกวางตุ้ง กระเพรา มะเขือยาว บวบ อยู่ร่วมกันได้ในแปลงเดียวกัน

 

 

พี่สุพัฒน์ยังชวนให้เราดูต้นมะเขือที่งอกงามจากการทำปุ๋ยหมักแบบเพอร์มาคัลเชอร์ ที่ตัวเองได้ทดลองทำ พี่สุพัฒน์บอกว่าพอเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่ได้ทำปุ๋ยแบบนี้ที่โคนต้นแล้ว การทำปุ๋ยหมักแบบนี้ได้ผลดีมาก

 

 

ถามว่าทำยังไง เคล็ดลับการทำปุ๋ยหมักแบบเพอร์มาคัลเชอร์ที่ได้จากสวนพี่สุพัฒน์คือ

  1. นำเศษไม้มากองไว้ที่โคนต้น ทั้งใหญ่และเล็ก
  2. หาก้อนหินมาวางกองไว้ให้ทั่วด้วย เพื่อให้มีการระบายอากาศดี
  3. นำเศษใบไม้แห้งมาใส่ เติมเศษผักผลไม้ลงไป แล้วก็กลบด้วยปุ๋ยคอก

พี่สุพัฒน์บอกว่า เราสามารถเติมเศษใบไม้ เศษผักผลไม้ และกลบด้วยปุ๋ยคอก สลับชั้นกันไปแบบนี้ได้เรื่อยๆ แล้วก็ไม่ต้องไปทำที่กองที่อื่น สามารถทำที่ต้นไม้ที่จะบำรุงได้เลย

 

 

สำหรับผลผลิตที่ได้จากสวน นอกจากจะเก็บไว้กินเองแล้ว ก็ยังนำไปขายที่ตลาดสีเขียว โรงพยาบาลแหลมฉบังด้วย แน่นอนว่า คนอย่างพี่สุพัฒน์ คงไม่ได้แค่ขายผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีเท่านั้น แต่ยังช่วยแบ่งปันความรู้  ปลูกความสนใจ และความรักในการปลูกผักให้กับผู้อื่นอีกมากมาย

เป็นเรื่องราวของชีวิต และเทคนิคเล็กๆน้อยๆ ที่เก็บมาฝากจากป้าพิศ และพี่สุพัฒน์ สูงวัย หัวใจสีเขียว ผู้เป็นกำลังสำคัญของสวนผักบำบัดศรีราชาค่ะ