สวนผักบำบัดศรีราชา : งอกงาม ผลิดอก ออกผล ส่งต่อสู่ผู้คนมากมาย

ใครเป็นแฟนคลับโครงการสวนผักคนเมือง คงจำกันได้ดีว่า ตั้งแต่เมื่อปี 2554 หนึ่งในสมาชิกโครงการที่มีเรื่องราวโดดเด่น น่าประทับใจ ก็คือโครงการสวนผักบำบัดศรีราชา ที่นำทีมโดยหมอจิ๊บ พร้อมด้วยสมาชิกอย่างป้าพิศ ป้าน้อง พี่สุพัฒน์ พี่เผือก ที่นำพาให้พวกเราได้รู้จักกับพลังของสวนผัก ที่มีส่วนช่วยบำบัดเยียวยาผู้คน

จำได้ว่า แรกเริ่มเดิมที่ โครงการนี้ก็ยังไม่ได้มีรูปแบบกระบวนการอะไรที่ชัดเจน สิ่งแรกที่พวกเขาช่วยกันทำคือ เปิดโต๊ะ สอนเรื่องการปรุงดิน ปลูกผัก ที่บริเวณหน้าคลินิกผู้ป่วยจิตเวช และที่น่าอัศจรรย์คือ เรื่องราวของผักหนึ่งกระถาง ที่นำพาให้ชีวิตผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว และมีความสุขกับชีวิตตัวเองมากขึ้น แบบที่หมอจิ๊บ รวมถึงสมาชิกที่ช่วยกันทำนั้น ก็ไม่ได้คาดฝันมาก่อน แต่ผักกระถางนั้น ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นพลังสำคัญ ที่ขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราวดีๆขึ้นอีกมากมายที่ศรีราชา ไม่ว่าจะเป็นการเกิดพื้นที่สวนผักในโรงพยาบาลอ่าวอุดม หรือโรงพยาบาลแหลมฉบังในปัจจุบัน การเกิดพื้นที่สวนผักบำบัดสำหรับผู้ติดยาเสพติดบนพื้นที่ว่างเปล่าที่ถูกทิ้งร้างมากนานของพี่สุพัฒน์ การเกิดพื้นที่สวนผักบำบัด พนัสนิคม ซึ่งดาบตุ้ม เพื่อนของหมอจิ๊บ ได้นำไปทำและใช้บำบัดเยียวยาพ่อที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ และอื่นๆอีกมากมาย

 

 

เวลาผ่านไปร่วม 9 ปี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเยือนทีมสมาชิกสวนผักบำบัดศรีราชาอีกครั้ง แล้วก็พบว่า แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป โครงการได้สิ้นสุดลง หลายคนมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หมอจิ๊บลาออกจากการเป็นพยาบาลจิตเวช ออกมาทำงานเพื่อโลกในรูปแบบอิสระมากมาย ป้าพิศ ป้าน้อง ไม่ได้ไปเป็นอาสาสมัครที่โรงพยาบาลเหมือนเคย ด้วยอายุที่มากขึ้น ทำให้ลำบากในการเดินทาง แต่เรื่องของสวนผักไม่เคยสูญหายไปไหน แถมยังกลับเติบโตงอกงาม ผลิดอก ออกผล ส่งต่อสู่ผู้คน ตามรูปแบบ และลีลาของเส้นทางชีวิตแต่ละคน

สวนมีกรีน ของพี่ตุย ลูกชายป้าพิศ คือหนึ่งในเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตงอกงามขึ้น

 

 

พี่ตุยเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกมีปัญหาชีวิต ทั้งเรื่องงาน เรื่องครอบครัว ตอนนั้นเครียดมาก สุขภาพย่ำแย่มาก ขนาดเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์ ต้องไปทำกายภาพอยู่นาน กว่าจะฟื้น พอจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ป้าพิศ ผู้เป็นแม่ ก็ชวนให้ลองปลูกผัก

จำได้ว่า ป้าพิศเอง ก็เคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องลูกชาย ว่า ตอนนั้นเขาโทรมาบอกอยากจะโดดน้ำตาย แต่ด้วยความที่ป้าพิศเอง ก็เชื่อในพลังของสวนผักที่จะช่วยเยียวยาจิตใจผู้เป็นลูกได้ ทั้งจากประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ เวลาเครียดๆ พอไปปลูกผักก็ดีขึ้น และจากประสบการณ์การได้มีส่วนช่วยทำสวนผักบำบัดร่วมกับหมอจิ๊บ ป้าพิศจึงตัดสินใจชวนให้ลูกชายลองปลูกผักดู โดยเริ่มต้นจากปลูกในกระถางเล็กๆ เหมือนที่ตัวเองปลูกอยู่หน้าบ้าน

 

 

ป้าพิศเล่าว่า ความจริงตอนแรกก็ไม่คิดว่าเขาจะทำได้ เพราะชีวิตนี้ไม่เคยได้ให้จับดิน ไม่เคยขุดดิน ไม่เคยทำสวนมาก่อนเลย ช่วงแรกๆเขาก็บ่น ไม่ได้สนใจอยากจะทำ แต่ด้วยความที่ป้าพิศเป็นฝ่ายสนับสนุนที่ไม่เคยย่อท้อ คอยอยู่เคียงข้าง และพาลูกให้ลองทำ ลองไปเรียนรู้จากที่ต่างๆเพิ่มเติมอยู่เสมอ จนตอนนี้อาจเรียกได้ว่า พี่ตุย ตกหลุมรักการทำสวนผักเข้าอย่างจัง

 

 

จากปลูกผักในกระถางหน้าบ้าน เหมือนกับที่แม่ปลูก ตอนนี้พี่ตุยขยับขยายพื้นที่ มาปลูกผักบนที่ดินขนาดใหญ่ที่แบ่งเช่ากับเพื่อน เปิดเป็นสวนมีกรีน ที่ผลิตพืชผักปลอดสารเคมีไปขายที่ตลาดสีเขียวของมหาลัยบูรพาเป็นประจำทุกสัปดาห์ แถมยังมีลูกค้าประจำ ที่คอยรอสั่งผลผลิตจากสวนแห่งนี้ไม่ขาด

พี่ตุยเล่าว่า ความจริงตั้งแต่แรกที่เริ่มทำ ก็ไม่ได้คิดจะทำเป็นธุรกิจใหญ่โต แต่ทำสวนผักแห่งนี้ด้วยใจรัก และทำตามกำลังที่ตัวเองมี เวลาได้ปลูกผักนี่ รู้สึกมีความสุขมาก เหมือนได้คอยดูแลให้ผักแต่ละต้นเติบโต บางครั้งพอผักงามมากๆ ยังรู้สึกผูกพัน ไม่อยากจะตัดขายก็มี

 

 

ที่สำคัญคือ พี่ตุยบอกว่า สวนผักแห่งนี้ทำให้เขารู้สึกภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง คือนอกจากจะมีความสุขที่ได้ทำแล้ว ยังรู้สึกมีภูมิใจ ที่รู้สึกว่าตัวเองไปผลิตอาหารดีๆให้คนอื่นกิน และเห็นคุณค่าในตัวเองเวลาที่ได้แบ่งปันความรู้ ให้ผู้ที่สนใจและเข้ามาเรียนรู้ที่สวน

“ตอนที่ทำงานข้างนอก เราเหมือนไม่มีที่ยืน ไม่มีใครให้ความสำคัญกับเรา ตอนนี้ เราเป็นวิทยากร ใครเข้ามาก็เรียกเราว่าครู ก็รู้สึกภูมิใจ ที่ได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นประโยชน์ และก็เป็นทั้งแรงบันดาลใจ เป็นทั้งแบบอย่างให้คนอื่นได้ทำตาม เหมือนกับที่พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 เคยสอนไว้” พี่ตุยเล่าให้ฟังด้วยแววตาเป็นประกาย

เรื่องที่น่าภูมิใจอีกอย่างคือ พี่ตุยบอกว่า เวลาทำเกษตรแบบธรรมชาตินี้ ก็รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย พวกขยะอินทรีย์ที่มีคนเอามาทิ้ง พี่ตุยก็จัดการนำมาหมักเป็นปุ๋ยไว้ใช้ในสวนด้วย เป็นงานเบื้องหลัง ที่แม้ไม่มีใครรู้ แต่ตัวเองก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำ

 

 

เมื่อเราได้เดินดูสวนมีกรีน ก็พบว่า สวนผักแห่งนี้แตกต่างจากสวนผักบนดินที่อื่น คือแทนที่จะทำแปลงปลูกลงดิน พี่ตุยเลือกที่จะปลูกใส่ถุงดำขนาดกลางๆ เป็นหลัก

ถามว่าทำไมถึงเลือกปลูกใส่ถุง พี่ตุยบอกว่า ดูตามกำลังตัวเอง คือตัวเองต้นทุนไม่มาก แล้วแรงก็ไม่เยอะ ปลูกใส่ถุงดำ ต้นทุนไม่สูง แล้วก็จะได้ค่อยๆทำทีละเล็กละน้อย  พอผักโต ก็เก็บผัก แล้วก็เปลี่ยนดินใหม่ เอาดินเก่าออกมาปรุง แล้วก็ใส่ดินที่หมักเตรียมไว้ลงไปแทน

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มองไปในสวนแห่งนี้ ก็จะพบความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัสดุเหลือใช้มาปลูกผักมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟม กางเกง หรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ที่แม่ค้าทิ้ง  อันที่จริงก็มีแปลงที่ปลูกลงดินอยู่บ้าง ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ทำแปลงก็มีทั้งขวดน้ำ กระเบื้อง หลังคา ที่คนทิ้งแล้วทั้งนั้น

 

 

บอกตามตรงว่า เห็นแล้วรู้สึกประทับใจในความละเอียด ความประณีต ความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือเห็นความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ความอดทน และความรักในสิ่งที่ทำของพี่ตุยมากๆ

 

 

ความจริง จะว่าไปเส้นทางการทำสวนผักของพี่ตุยก็ไม่ได้สวยหรู ก่อนที่จะมาอยู่ตรงนี้ พี่ตุยเคยทำมาแล้ว 2 ที่ คือ พอทำได้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว เจ้าของที่ก็มาขอที่คืน เพราะมีคนมาขอซื้อที่ดิน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ถึง 2 ครั้ง 2 คราว ราวกับเป็นบททดสอบความมุ่งมั่นตั้งใจของพี่ตุย

 

 

ถามว่ามีช่วงท้อมั้ย พี่ตุยก็บอกว่ามี แต่พอได้กลับไปทำงานขับรถเหมือนเดิมแค่ 1 เดือน ก็รู้สึกว่าหัวใจมันเรียกร้องให้กลับมาทำสวน พี่ตุยบอกว่า เขาพบแล้วว่าชีวิตที่มีความสุขแบบพอเพียงมันเป็นยังไง ทุกวันนี้ พี่ตุยไม่ถึงกับมีรายได้มากมาย แต่มีน้อย ก็ใช้น้อย เรียกว่าพอมีพอกิน แอบเข้าไปดูที่นอนในสวน ก็เห็นพื้นที่เตียงนอนแคบๆในกระต๊อบเล็กๆ  หากไม่มีโอกาสได้พูดคุยด้วย ใครจะรู้ว่า ผู้ชายคนนี้ มีความสุขในชีวิตมากเพียงใด ที่สำคัญคือ เขายังแบ่งปันความสุขไปให้ผู้อื่นมากมายด้วย เกือบลืมบอกไปอีกเรื่องว่า ชีวิตในสวนผักที่เปี่ยมสุขนี้ ยังมีส่วนช่วยทำให้สุขภาพร่างกายของพี่ตุยเเข็งเเรงขึ้นด้วย จากที่เคยเป็นความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง ล่าสุดพี่ตุยเพิ่งไปตรวจมาก็พบว่าทุกอย่างปกติ

ฟังเรื่องราวผู้คนที่เติบโตจากการเริ่มต้นของสวนผักบำบัดศรีราชาแล้ว ก็รู้สึกว่าบางทีผักแค่กระถางเดียว ที่บางคนอาจไม่เห็นความสำคัญ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่มีพลัง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้คนได้มากมายจริงๆ

 

 

ขอบคุณผู้คนบนเส้นทางสวนผักบำบัดศรีราชาทุกคนที่มาให้การต้อนรับพวกเราอย่างดี ทั้งข้าวปลาอาหาร ที่ตั้งใจทำ พืชผักที่ตั้งใจปลูก ที่สำคัญคือมิตรภาพ และเรื่องราวชีวิตที่มอบพลังให้กับเราเสมอ วันนั้น หมอจิ๊บชวนแม่ๆเด็กพิเศษ ที่ไปทำกิจกรรมด้วย มาร่วมวงด้วย เชื่อว่าเรื่องราววันนั้น ก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนกลับไปลงมือปลูกผักต่อเช่นกัน