Metta Garden ปลูกผักวิถีพุทธ คืนความหลายหลายทางชีวภาพสู่เมือง

โดยปกติ เวลาเราเห็นพื้นที่ว่างในเมือง คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดถึงการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆนานา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชีวิต ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร คอนโด ตึกแถว บ้านเรือน จึงผุดขึ้นมากมาย ในขณะเดียวกัน บางคนอาจคิดเรื่องการปลูกพืชผักมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนใหญ่ก็จะคิดถึงพื้นที่ที่ใช้สำหรับสร้างอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเอง หรือเพื่อขายเป็นรายได้ให้ตัวเองเป็นหลัก ทว่า Metta Garden ซึ่งอยู่ห่างจากโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกาไปประมาณ 12 กิโลเมตรแห่งนี้ เติบโตงอกงามขึ้น ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นพื้นที่ที่ทั้งคน พืชผัก ดอกไม้ และสรรพชีวิตทั้งหลายได้เติบโตงอกงามไปด้วยกัน

เมื่อปี 2013 ทาง Eco-V ประเทศศรีลังกา ได้ตัดสินใจซื้อพื้นที่รกร้างแห่งนี้ ซึ่งเคยเป็นที่ทิ้งขยะ และมีผืนดินที่แห้งกราด และตั้งใจจะพลิกฟื้นผืนดินแห่งนี้ ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้คน และสรรพชีวิตทั้งหลายให้ได้มากที่สุด

 

 

แรกเริ่มก่อนที่พวกเขาจะลงมือปรับปรุงผืนดิน เขาได้ทำการสำรวจ และเก็บข้อมูลความหลายหลายทางชีวภาพของที่ดินเดิมแห่งนี้ ไว้ ซึ่งตอนนั้น พบว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยมาก มีผีเสื้ออยู่ 6 ชนิด พบนกบ้าง นานๆครั้ง และไม่พบผึ้งเลย นอกจากนี้ในบริเวณที่เป็นผืนดิน ก็แห้งแล้งมาก และไม่พบไส้เดือนเลยสักตัว

หลังจากนั้น พวกเขาก็เริ่มปฏิบัติการณ์ปรับปรุงผืนดิน โดยใช้เศษผัก ผลไม้ ใบไม้ และต้นกล้วย เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และปล่อยให้พืชท้องถิ่นได้เติบโต เขาบอกว่า การทำเช่นนี้ มีส่วนช่วยทำให้ผีเสื้อจำนวนมากกลับมา ซึ่งภายในเวลาเพียง 1 ปี เขาก็พบว่ามีผีเสื้อ และผึ้งกลับมา มากถึง 60 กว่าชนิดด้วยกัน  ไม่เพียงดอกไม้ และพืชพื้นถิ่นเท่านั้น สวนแห่งนี้เขายังปลูกทั้งพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร อีกหลายชนิด เพื่อเป็นอาหารให้กับผู้คนด้วย

 

 

ความน่าสนใจอีกประการของ Metta Garden แห่งนี้คือ การออกแบบและดูแลทั้งผู้คน และสรรพชีวิตที่อยู่ในบริเวณสวนแห่งนี้ ภายใต้แนวคิดวิถีพุทธ  โดยบริเวณสวนแห่งนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน แต่ละส่วนเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 4 ตามแนวพุทธ คือ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุดิน และธาตุลม

บริเวณที่เป็นส่วนของธาตุน้ำ จะมีสระน้ำเล็กๆ และเลือกปลูกพืชผักที่มีส่วนประกอบของน้ำเอยะ อย่างแตงกวา มะละกอ อ้อย

ส่วนที่เป็นธาตุไฟ เป็นบริเวณที่ใช้หมักปุ๋ย ซึ่งในกระบวนการหมักต้องใช้ความร้อน และปลูกพืชที่มีคุณสมบัติของธาตุไฟ อย่างพริก และมะเขือเทศ

ส่วนที่เป็นธาตุลม เป็นบริเวณที่เลือกปลูกพืชทรงสูง ซึ่งเวลาสัมผัสกับสายลมก็จะเคลื่อนไหวไปมา

ส่วนที่เป็นธาตุดิน เป็นบริเวณที่ทำเป็นสวนหิน

นอกจากนี้บริเวณทางเดินที่เชื่อมไปยังบริเวณส่วนต่างๆของสวน ก็ได้รับการออกแบบพื้นผิวให้มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อให้ผู้คนได้ลองถอดรองเท้า ก้าวเดินอย่างมีสติ และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป โดยเริ่มเส้นทางการเดินจากพื้นที่เป็นหินแบบหยาบ ซึ่งเป็นตัวแทนที่สื่อความหมายถึงชีวิตที่อาจขรุขระ ต้องเผชิญกับอารมณ์ที่มากระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ความหลง ต่างๆ และเมื่อก้าวเดินต่อเมื่อเรื่อยๆ จากหินที่หยาบ ก็ก้าวเข้าสู่บริเวณพื้นกรวดเม็ดเล็ก ที่เชื้อเชิญให้เราได้สงบสติอารมณ์ และชื่นชมกับสวนรอบตัว รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆในบริเวณนั้นมากขึ้น เมื่อก้าวเดินต่อมาจากพื้นกรวด ก็กลายเป็นพื้นทราย ที่เปิดโอกาสให้เราได้เปิดประสาทสัมผัสมากขึ้นกับเนื้อทรายที่มาสัมผัสกับเท้า ณ จุดนี้ เราจะเริ่มรับรู้ถึงกลิ่นของต้นไม้ ดอกไม้ พืชพรรณต่างๆ รวมถึงได้สัมผัสสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นด้วย และปลายทางคือพื้นที่เป็นหญ้า ที่ให้ความรู้สึกเบา สบาย สงบ เย็น แทนชีวิตที่มีจิตใจที่สงบ ร่มเย็น เป็นสุข

 

 

การก้าวเดินบนเส้นทางนี้ นอกจากจะนำความสงบมาสู่จิตใจ และทำให้ก้าวเดินอย่างมีสติ รับรู้สิ่งรอบตัวได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนได้เรียนรู้ที่แสดงความเคารพ แสดงความขอบคุณ ต่อพืชและสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เติบโต และมาอยู่ร่วมกันในบริเวณนี้ด้วย

อาจกล่าวได้ว่าสวนแห่งนี้เติบโตขึ้นมาอย่างให้ความสำคัญกับทุกสรรพชีวิตที่อยู่ร่วมกัน ณ บริเวณนั้น ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ถือเป็นเสมือนกันฝึกความเมตตากรุณา ที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันด้วยความรัก และบ่มเพาะความเข้าใจในวิถีของธรรมชาติที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป มีขึ้นมีลงเสมอ เช่น ช่วงเวลาที่อากาศดี พืชผักก็งอกงาม ความหลากหลายทางชีวภาพก็มากมาย ในช่วงที่อากาศไม่ดี พืชผักก็อาจตาย สิ่งมีชีวิตก็น้อยลง เป็นธรรมดา

นอกจากการฝึกสมาธิด้วยการเดิน การปลูกพืชผัก การหายใจ รวมถึงการรับฟังเสียงธรรมชาติรอบตัวแล้ว การถอนวัชพืชบางชนิด ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำสมาธิ เพื่อชำระล้างความคิดด้านลบๆออกไปได้ด้วยเช่นกัน

 

 

ทุกวันนี้ Metta Garden แห่งนี้ได้กลายเป็นสวนที่อุดมไปด้วยอาหาร พืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยา มีชาวบ้านรวมถึงเด็กๆในละแวกนั้น เข้ามาเก็บผลผลิต เข้ามาเรียนรู้ รวมถึงนำเศษอาหารมาช่วยทำปุ๋ยเพื่อบำรุงหล่อเลี้ยงผืนดินด้วย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เต็มไปด้วยพืชพรรณท้องถิ่น มีผีเสื้อ ผึ้ง แมลงและนก 60 กว่าชนิด ในดินก็เต็มไปด้วยไส้เดือน แถมยังมีสัตว์มากมากปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะกิ้งก่า และกระรอก เรียกว่าทั้งผู้คน พืชพรรณ และสรรพชีวิตทั้งหลาย ต่างก็มาอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลในพื้นที่แห่งนี้

นับเป็นตัวอย่างการใช้ประโยชน์พื้นที่รกร้างตามวิถีพุทธ ที่น่าสนใจมากจริงๆ ทั้งเกิดประโยชน์ต่อผู้คน และสรรพชีวิต ทั้งช่วยบ่มเพาะสติ และบ่มเพาะความรัก ความเมตตา ให้เติบโตงอกงามขึ้นในใจ ใครกำลังอยากจะช่วยพลิกฟื้นผืนดินที่รกร้าง ลองนำเเนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กันดูนะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

https://www.buddhistdoor.net/features/a-humanitarian-action-for-other-living-beings-creating-space-for-urban-biodiversity-through-buddhist-gardening

https://www.iucn.org/news/commission-environmental-economic-and-social-policy/201807/creating-urban-garden-all-colombo-sri-lanka