เยียวยาบาดแผลภายใน และบาดแผลร่วมของสังคม ด้วยชุมชน และความสัมพันธ์

มีโอกาสได้ฟัง Communities for Future Online Summit  ซึ่งได้เชิญบุคคลสำคัญมากมายที่มาบทบาทสำคัญในการทำงานด้านต่างๆ เพื่อสร้างสังคมใหม่ให้เกิดขึ้น ท่ามกลางปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเผชิญอยู่  หนึ่งในบุคคลเหล่านั้น คือ Thomas Hubl ครูทางด้านจิตวิญญาณ ที่คิดริเริ่มโครงการ Pocket Project ขึ้น เพื่อทำงานเยียวยาบาดแผลร่วมของสังคม หรือ collective trauma ซึ่งมีผลต่อการกระทำ และสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

 

 

Thomas ได้อธิบายให้ฟังถึงคำว่า Trauma ว่าคือสภาวะความเจ็บปวด หรือความบาดเจ็บทางจิตใจ ที่เรารู้สึกว่ามากเกินกว่าที่จะรับมือไหว แล้วก็เลือกที่จะหนี ปฏิเสธ หรือแยกห่างจากความรู้สึกนั้น แต่แท้จริงแล้วความเจ็บปวดนั้น ไม่ได้หายไปไหน แต่กลับถูกเก็บไว้ในส่วนลึกของจิตใจ ร่วมถึงในร่างกายของเรา

ในชีวิตของเราแต่ละคนก็อาจจะมี Trauma ที่ต่างกัน ในขณะเดียวกัน เราต่างก็มี Collective Trauma ซึ่งเป็นความบาดเจ็บร่วมที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ  สงคราม การกีดกันสีผิว การก่อการร้าย การกดขี่หรือความไม่ยุติธรรม รวมถึงเหตุการณ์ร้ายๆที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างการกราดยิง เป็นต้น ซึ่งบางคนอาจคิดว่าตัวเองปลง บางคนก็เลือกที่จะไม่รู้สึกอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น และบอกว่า โลกก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่โลกเป็นจริงๆ แต่เป็นโลกที่บาดเจ็บต่างหาก และสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจเรา โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่อเราเลือกที่จะปฏิเสธความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความหดหู่ ความหวาดกลัว ความโกรธ หรือความเกลียด เป็นต้น

ความท้าทายของชีวิตในยุคปัจจุบันคือ เราเป็นพลเมืองของโลก ที่รับรู้ข่าวสารทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าเหตุอะไรจะเกิดที่ไหน เราก็มีส่วนรับรู้ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่เราจะรู้สึกท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสารต่างๆ และไม่อาจจะรับรู้ความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ เพราะมันมากไป สิ่งนี้จึงมีส่วนทำให้เราหลายคนกลายเป็นคนเฉยชากับเหตุการณ์ต่างๆมากขึ้นทุกวัน แต่ท่าทีที่เฉยชา ไม่ได้หมายความว่าส่วนลึกเราไม่รู้สึก หากแต่เราเลือกที่จะตัดการรับรู้ หรือปฏิเสธความรู้สึกนั้นไป ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดสะสมตามมาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ฟังแล้วก็ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมปัจจุบันนี้ ผู้คนจึงป่วยกันมาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโรคทางกายและทางใจ

ที่น่าสนใจคือ เขาบอกว่า สิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยเยียวยาบาดแผลร่วมของสังคมที่เกิดขึ้นได้ ก็คือความสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน  เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ที่พร้อมที่จะเปิดใจรับฟังกันและกัน และเป็นการรับฟังด้วยหัวใจ ที่พร้อมจะยอมรับและเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นของกันและกันอย่างแท้จริง

 

 

เขายกตัวอย่างสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น บางคนอาจจะรู้สึกกลัวโดยไม่มีสาเหตุเมื่อเข้าไปอยู่ในที่ที่เคยมีเหตุการณ์ร้ายๆ และเมื่อเขาคนนั้นมาเล่าให้อีกคนฟัง อีกคนก็มักจะพูดว่า ไม่มีอะไรต้องกลัว จะกลัวทำไม อย่ากลัว อีกฝ่ายมักจะปฏิเสธและผลักไสความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงออกไป แทนที่จะรับฟังและแสดงความเข้าใจ

จะว่าไปบทสนทนาเช่นนี้สามารถพบเจอได้แทบทุกที่ ทั้งในครอบครัว ที่โรงเรียน  หรือที่ทำงาน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อาจที่จะมีพื้นที่เปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองได้

ดังนั้นหนทางหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยเยียวยาบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นได้ ก็คือการฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ทั้งกับคนที่เรารู้สึกเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เป็นฝึกที่จะฟังด้วยหัวใจ และความรู้สึกที่ว่า ฉันอยากจะเข้าใจคนตรงหน้าจริงๆ ว่าคุณมองเรื่องนี้อย่างไร ในใจคุณคิดอย่างไร ไม่ใช่พยายามทำให้เขาเห็นด้วยกับเรา และการที่เราจะสามารถทำเช่นนี้ได้ เราก็ต้องฝึกสติ ฝึกที่จะมีพื้นที่ในการรับรู้ รับฟังตัวเองด้วยหัวใจด้วยเช่นกัน เพื่อที่เราจะได้มีความสามารถในการเชื่อมโยงกับผู้อื่น รวมถึงเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างชุมชนที่มีสามารถสื่อสาร เชื่อมโยงกันด้วยหัวใจ เป็นชุมชนที่เปี่ยมด้วยความรักและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ก็เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะเป็นทางรอดให้กับโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ฟังแล้ว ก็รู้สึกว่า ไม่ว่าเราจะกำลังทำอะไร อยู่ส่วนไหนของโลก หากเราทำอย่างมีสติ รับรู้และเข้าใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ และเราก็เชื่อมโยงกับผู้คนต่างๆมากมาย และไม่หลงลืมเรื่องความสัมพันธ์เชื่อมโยง รับฟังซึ่งกันและกันด้วยหัวใจแล้ว เราต่างก็ส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาเยียวยาทั้งตัวเอง ผู้อื่น รวมถึงโลกใบนี้ได้

บางทีการจะแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เมือง อาจเริ่มต้นที่ตัวเราก็เป็นนะคะ

 

 

ใครสนใจอยากฟังผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่มาพูดในงาน Communities for Future เพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://summit2020.ecovillage.org/summit-package/

ส่วนใครที่อยากรู้จัก Thomas Hubl เเละงานที่เขาทำมากขึ้น ก็สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ https://pocketproject.org  เนื้อหาที่นำมาเเบ่งปันนี้ ส่วนหนึ่งก็ได้มาจากการฟัง Healing Collective Trauma – Talks at Harvard by Thomas Hübl ซึ่งเเบ่งปันไว้ในเวปนี้ด้วยเช่นกัน ใครสนใจก็ไปหาฟังกันต่อได้เลยค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก https://pocketproject.org/news/

https://summit2020.ecovillage.org/