พื้นที่อาหาร พื้นที่ชีวิต สวนผักกลุ่มคนเย็บผ้าบางบอน

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีข่าวโรงงานทยอยปิดตัวและเลิกจ้างพนักงานและลูกจ้าง ลดการชั่วโมงการทำงาน ลดจำนวนพนักงาน!! และโรงงานแจ้งปิดกิจการในปี 2562 มากถึง 1,989 แห่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดสถิติเดือนพฤศจิกายน 2562 พบมีงานทำ 38 ล้านคน ลดลง 5.5 แสนคนเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีผู้มีงานทำ 38.26 ล้านคน โดนเลิกจ้างพุ่ง 251%  โดยจำนวนผู้ว่างงานดังกล่าวเพิ่มขึ้น 6 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 และหากเทียบกับเดือนก่อน ตุลาคม 2562 ที่ พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.4 หมื่นคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

เมื่อลองติดตามสถิติโรงงานในไทยปิดกิจการในรอบ 12 ปี ก็น่าตกใจ!! https://thestandard.co/thai-factories-closed/

ฟังข่าวนี้แล้ว ก็ทำให้นึกถึงเพื่อนสมาชิก โครงการสวนผักชุมชนเยาวชนคนงาน @บางบอน พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เคยถูกนายจ้างเลิกจ้างและลอยแพ โดยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้ จึงได้คิดรวมตัวกันเปิดโรงงานและบริหารงานเอง โดยใช้วิชาชีพที่ตนเองเคยทำคือการเย็บผ้า และเปิดเป็นโรงงานกลุ่มสมานฉันท์ขึ้น ช่วงเริ่มทำงานกันใหม่ๆ เงินเดือนน้อยมาก จึงได้คิดปลูกผักไว้กินเอง เพื่อช่วยลดรายจ่าย โดยเดิมทีได้ใช้พื้นที่ว่างของชุมชนทำเป็นสวนผัก มีพืชผักให้สมาชิกมาเก็บกินได้มากมาย แต่ไม่นานเจ้าของพื้นที่และนายทุนได้มาเอาพื้นที่คืน พืชผักที่เคยปลูกก็ถูกรถแบคโฮเข้าทำลายจนเรียบไปหมด” ลองอ่านเรื่องราวของพวกเขาในช่วงปี 2553 – 2554 ได้ที่ https://thaicityfarm.com/2018/02/20/%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%8a%e0%b8%b8%e0%b8%a1%e0%b8%8a%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%8a%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/

และเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สวนผักคนเมืองได้กลับมาทำงานกับเพื่อนโครงการนี้อีกครั้ง เมื่อเรารู้ว่าพวกเขาต้องย้ายอาคารของโรงงานอีกครั้ง เพราะมีเจ้าของธุรกิจมาติดต่อซื้ออาคารพานิชย์ที่พวกเขาเช่าทำเป็นโรงงานอีกครั้ง มานพ แกนนำของกลุ่มสมานฉันท์ เล่าให้เราฟังถึงบรรยากาศ และความกดดันที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นให้เราฟัง “ในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่สาหัสมาก เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ไม่ค่อยมีงาน ยอดสั่งของเข้ามาไม่มาก เราหมุนเงินกันแทบไม่ทัน และเจ้าของตึกก็ให้เราย้ายออกภายใน 3 เดือน ในช่วงนั้นเลยต้องทำงานกันอย่างหนัก แทบไม่มีเวลาพัก ทั้งการหาตึกเช่าแห่งใหม่ การปรับปรุงตึก  เก็บของเตรียมย้าย งานลูกค้าที่ค้างอยู่ก็ต้องทำ ช่วง 3 เดือนนั้นเลยแย่มาก แต่ดีที่สมาชิกในกลุ่มของเราเข้าใจ และช่วยเหลือกันมา ต่อสู้ด้วยกันมาตลอด”

สวนผัก และกิจกรรมการปลูกผัก ก็ไม่เคยห่างหายไปจากวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะต้องย้ายตึก ย้ายโรงงานใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่สักกี่ครั้ง พื้นที่สวนผัก พื้นที่อาหารก็จะติดตามไปเติบโตในสถานที่แห่งใหม่ด้วยทุกครั้ง มานพ เล่าให้เราฟังว่า ตั้งแต่ได้รับทุนโครงการสวนผักคนเมือง ครั้งแรกเมื่อปี 2553 เราก็ทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยหยุดทำเลย แต่อาจจะน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา

“สวนผักคนเมืองเป็นกิจกรรมที่เสริมเข้ามาในกลุ่ม พวกเราเข้าใจเรื่องนี้ว่า มันมากกว่าเรื่องผลผลิต หรือการกินผัก แต่พื้นที่สวนผัก เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้ทำงานกับผู้อื่น ทำงานร่วมกัน รู้สึกมีคุณค่า”

และยิ่งในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ สวนผักแห่งนี้ก็ได้ทำหน้าที่หลายบทบาท เป็นแหล่งอาหารสำคัญให้กับพนักงานในโรงงานแห่งนี้ ที่มีกันอยู่กว่า 30 ชีวิต อยู่กิน-นอนด้วยกัน ทุกคนมีห้องพักเล็กๆ อยู่ในโรงงาน จำนวน 5 ตึก พื้นที่บนดาดฟ้าของทุกตึกก็จะแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกผัก ให้แต่ละห้องดูแลแปลงผักของตัวเอง เวลาทำอาหารก็สามารถเก็บผักจากแปลงไปทำอาหารกินได้เลย หรือบางครั้งถ้ามีผลผลิตออกเยอะก็จะทำอาหารกินด้วยกัน พืชผักที่ปลูกส่วนใหญ่ จึงเป็นผักที่สมาชิกในโรงงานชอบทาน เช่น กระเพรา โหระพา แมงลัก คื่นช่าย ต้นหอม ผักบุ้ง แตงกวา ผักกาดขาว  คะน้า เป็นต้น ซึ่งก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้กับสมาชิกในกลุ่มได้บ้าง

เป็นพื้นที่ได้ผ่อนคลายความเครียด ความกังวลใจ มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง เกือบ 6 เดือนที่โรงงานแทบไม่มีงานเข้ามาเลย ทั้งฝ่ายบริหาร และสมาชิกในกลุ่มค่อนข้างกังวล พวกเขาจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ด้วยการรับเงินเดือนที่น้อยลง บางเดือนต้องค่อยๆ ทยอยจ่ายให้กับพนักงาน ในช่วงเวลานั้นทุกคนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในสวนผัก ช่วยกันทำแปลงผัก เตรียมดิน และปลูกผัก ได้ใช้เวลาทำงานร่วมกัน พูดคุยกันถึงเรื่องราวส่วนตัว ชีวิตครอบครัวกันมากขึ้น ช่วงเวลาในสวนผักจึงลดความกังวลใจให้เบาบางลง เปลี่ยนเป็นรอยยิ้มที่เห็นผักในแปลงเจริญเติบโตทุกวันๆ

สวนผักกับความสัมพันธ์และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสมาชิกในกลุ่มเท่านั้น แต่เรื่องราวของพืชผัก ผลผลิตจากแปลง และอาหารแสนอร่อย ได้เชื่อมโยงคนบ้านใกล้เรือนเคียง โรงงานอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ ของกลุ่มให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ด้วยการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า พันธุกรรมท้องถิ่นที่มาจากหลากหลายสถานที่ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีผลผลิตอะไรที่ได้เก็บเกี่ยวก็จะเดินเอาไปฝาก เอาไปแบ่งปันกันโดยตลอด

นอกจากแบ่งปันเรื่องราวของการปลูกผักแล้ว พวกเขายังช่วยเหลือแบ่งปันกันในเรื่องงานอีกด้วย เพราะหลายๆ โรงงานแถวนั้นก็ไม่ค่อยมีงานเช่นกัน บางครั้งถ้าโรงงานไหนได้งานมา ก็จะแบ่งงานบางส่วนให้กับเพื่อนๆ โรงงานอื่น เช่น เย็บกระดุม เย็บปก เป็นต้น แม้ว่าจะมีงานเข้ามาน้อยแต่ทุกๆ คนต่างเข้าใจถึงความยากลำบากของกันและกัน จึงต้องช่วยกันพยุงเพื่อนๆ ให้รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ไปให้ได้

ประเด็นสำคัญที่โครงการนี้พูดถึง และทำให้สวนผักยิ่งต้องเพิ่มความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานของเราต่อไป พี่ติ๋วและมานพ พูดถึงเรื่อง โครงการพัฒนา/นโยบายบางอย่าง  “ที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนมีทุนเบียดเบียนคนจนที่มากขึ้นในสังคมไทย  เพราะนโยบายบางอย่างมันไม่ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งของคน กลุ่ม และชุมชนเลย ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ความต้องการที่แท้จริงของคนแต่ละกลุ่ม มันถูกล็อกสเปก ขีดกรอบมาอย่างชัดเจนจากที่หนึ่งมาให้อีกที่หนึ่งทำ มันเหมือนการตัดเสื้อสำเร็จรูป แบบไม่วัดไซด์เลย  แต่สำหรับกลุ่มเรา กว่าจะรับโครงการแต่ละโครงการมาทำได้นั้น เราต้องมีการประชุม พูดคุยกันในกลุ่มเยอะมาก เราต้องถามความเห็นทุกคนว่า โครงการที่ได้มามีประโยชน์ ตอบสนองกับความต้องการของสมาชิกในกลุ่มอย่างไร และเราจะร่วมกันพัฒนามันได้อย่างที่วางเป้าหมายได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ว่าอยากได้เงิน หรือได้โครงการมาทำเท่านั้น”  

ตอนนี้กลุ่มคนงานสมานฉันท์ ได้จัดตั้งเป็น บริษัท ในนาม “โซลิดาริตี้ กรุ๊ป” ซึ่งเป็นชื่อที่ดูเป็นตัวตนของพวกเขา และเหมาะสมมากที่สุด การจดทะเบียนเป็นบริษัทก็เพื่อทำให้พวกเขาสามารถประมูลงานได้มากขึ้น ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาเริ่มประมูลงานได้มากขึ้น และยังคงกระจายงานไปสู่เพื่อนบ้าน และโรงงานข้างเคียงเช่นเดิม

นอกจากนั้น มานพ และพี่ติ๋ว ยังคงมุ่งมั่นทำงาน ในฐานะ “นักพัฒนา” เพราะนอกจากจะต้องบริหารธุรกิจของกลุ่มแล้ว พวกเขายังเป็นอีกแกนนำสำคัญในการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ เรื่องหลักประกันสุขภาพ และยังทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนๆ แรงงานที่ได้รับผลผลกระทบจากการเลิกจ้าง คนเจ็บป่วยที่ไม่ได้รับบริการที่เป็นธรรม พวกเขาต่างยื่นมีเข้าช่วยเหมือนกับเป็นคนในครอบครัว

พร้อมๆ กับการดูแลสมาชิกในกลุ่มอีก 30 ชีวิตอย่างดีที่สุด ทั้งในเรื่องค่าแรงที่เป็นธรรม  ค่า OT  ประกันสังคม กองทุนทดแทน ค่าห้องพักราคาถูกเพียงเดือนละ 600 บาทเพื่อให้สมาชิกลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเอาไปจ่ายค่าหอพักข้างนอก  วันหยุด วันลาตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อถึงฤดูการทำนาสมาชิกก็สามารถลางานไปช่วยเหลือที่บ้านได้ด้วยแบบไม่รวมกับวันหยุดวันลาปกติ  ถ้าครอบครัวไหนมีพ่อแม่ คนในครอบครัวป่วยไข้ก็สามารถพามาดูแลที่โรงงานได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ไม่ว่าจะเป็นชื่อ กลุ่มคนงานสมานฉันท์  หรือ บริษัท โซลิดาริตี้ กรุ๊ป  หรือ โครงการพื้นที่ชีวิต กลุ่มคนงานเย็บผ้าบางบอน พวกเขาได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า สังคมที่น่าอยู่และน่าจะอยู่รอดภายใต้วิกฤติต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามานั้น “การอยู่ร่วมกัน” “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” “เพื่อนและมิตรภาพที่แท้จริง” จะนำพาพวกเราก้าวผ่านปัญหาไปได้

เหมือนที่พวกเขาได้ร่วมกันถักทอพื้นที่ชีวิต เพื่อแบ่งปันแรงงาน  แบ่งปันเวลา แบ่งปันอาหาร แบ่งปันความสุข ระหว่างกัน ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยพืชผัก และอาหารแสนอร่อย