สวนผักชุมชนเยาวชนคนงาน

ถึงจะอยู่ตึกแถว และไม่มีที่ดิน แต่หนุ่มสาวกลุ่มโรงงานสมานฉันท์ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการปลูกพืชผักสวนครัวไว้แบ่งทั้งสมาชิกในกลุ่มและเพื่อนบ้านในชุมชนให้ได้กินกันนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริงอีกต่อไป

จากพื้นปูนข้างตึกแถวที่เคยถูกปล่อยทิ้งเป็นที่วางของระเกะระกะ พวกเขาค่อยๆ ช่วยกันก่ออิฐบล็อกสร้างแปลงขึ้นมายาวขนานไปตลอดรอบแนวตึก 2 ห้องที่สมาชิกกลุ่มโรงงานสมานฉันท์รวม 16 ชีวิต ใช้เป็นทั้งสถานที่ทำงานและที่พักเรือนกาย โดยออกแบบให้เป็นแปลงสูงเพื่อป้องกันการรุกรานของสุนัข

คะน้า ผักกาด กวางตุ้ง ต้นหอม ผักชีจีน ผักชีลาว ผักชีฝรั่ง พริก มะเขือ ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว ตะไคร้ โหระพา กะเพรา ผักไผ่ อ่อมแซบ และอีกสารพัดพันธุ์ผักที่พวกเขาสรรหาช่วยกันปลูกในแปลงแห่งนี้ คุณมานพ แก้วผกา ผู้รับผิดชอบโครงการสวนผักชุมชนเยาวชนคนงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสวนผักคนเมืองที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสสส. เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการคิดทำสวนผักแห่งนี้ว่า “อันที่จริงพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เคยถูกนายจ้างเลิกจ้างและลอยแพไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้ จึงได้คิดรวมตัวกันเปิดโรงงานและบริหารงานเอง โดยใช้วิชาชีพที่ตนเองเคยทำคือการเย็บผ้า และเปิดเป็นโรงงานกลุ่มสมานฉันท์ขึ้น ช่วงเริ่มทำงานกันใหม่ๆ เงินเดือนน้อยมาก จึงได้คิดปลูกผักไว้กินเอง เพื่อช่วยลดรายจ่าย โดยเดิมทีได้ใช้พื้นที่ว่างของชุมชนทำเป็นสวนผัก มีพืชผักให้สมาชิกมาเก็บกินได้มากมาย แต่เมื่อเดือนเมษายน ปีที่ผ่านมาเจ้าของพื้นที่และนายทุนได้มาเอาพื้นที่คืน พืชผักที่เคยปลูกก็ถูกรถแบคโฮเข้าทำลายจนเรียบไปหมด”

อุปสรรคครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขายอมแพ้ เมื่อพื้นดินปลูกไม่ได้เขาพยายามขึ้นไปปลูกบนดาดฟ้า แต่ไม่ประสบผลเท่าที่ควรเนื่องจากแดดร้อนมาก จากนั้นก็เริ่มคิดจะช่วยกันเก็บขยะเพื่อนำขยะไปขายเป็นทุนสำหรับก่อแปลงทำสวนผักข้างตึก แต่พอดีว่าได้รับทุนจากโครงการสวนผักคนเมืองก่อน จึงสามารถนำเงินมาช่วยกันพัฒนาแปลงผักได้เร็วขึ้น

ทุกวันนี้ เมนูยามเช้า กลางวัน เย็นจะเป็นอะไร พวกเขาก็จะลงมาดูผักที่แปลงก่อนว่ามีอะไรที่พอจะเก็บไปทำกับข้าวได้บ้าง ก็จะคิดเมนูตามผักที่มี เรียกว่าแทบไม่ต้องไปจ่ายตลาดกันเลยทีเดียว แถมบางทีมีงานเลี้ยง งานออกบูทที่ไหน ก็ได้เก็บผักเหล่านี้ไปทำอาหารเลี้ยงกันอีกด้วย ส่วนคนในชุมชนผ่านไปผ่านมาเห็นผักงาม ก็เข้ามาขอแบ่งไปกิน พวกเขาก็ยินดีแบ่งให้ด้วยความเต็มใจ

เมื่อถามถึงเรื่องการแบ่งงานกันทำ คุณมานพก็กล่าวให้ฟังว่า ไม่มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน แต่ทั้งตอนเช้าและตอนเย็นก็จะมีคนคอยหมุนเวียนมาช่วยกันดูแลรดน้ำแปลงผักอยู่เป็นประจำ เป็นเหมือนกิจกรรมที่ได้พักผ่อนหลังจากทำงานมาทั้งวันไปในตัว โดยแต่ละอาทิตย์ก็จะมีการประชุมพูดคุยกันว่าอะไรเก็บได้แล้วบ้าง ควรเก็บอย่างไร และจะปลูกอะไรใหม่ รวมถึงใครมีปัญหาอะไรก็จะมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เช่นตอนแรกๆ ก็มีบางคนไม่กล้ากินผักที่ตัวเองปลูก เพราะรู้สึกว่าดินและปุ๋ยคอกที่ใส่ไปดูสกปรก ก็มีการช่วยกันปรับแนวความคิดใหม่ และให้ความรู้เรื่องผักที่เต็มไปด้วยสารเคมีที่มีขายตามท้องตลาดควบคู่ไปด้วย

ที่น่าสนใจคือ “ความพยายามร่วมกันปลูกผักจนสำเร็จขึ้นมาเป็นรูปธรรมของพวกเขา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนที่ผ่านไปมา รวมถึงเจ้าของบ้านที่สร้างบ้านอยู่บนพื้นที่อันเคยเป็นแปลงผักของพวกเขา ก็หันมาสนใจและถามไถ่เรื่องการปลูกผักกับพวกเขา เรียกว่าได้มาขอทั้งความรู้และพันธุ์ผักไปทดลองปลูกในแปลงหลังบ้านตัวเองดูด้วย” คุณมานพกล่าวว่า “จากเดิมแทบไม่เคยคุยกันเลยทั้งๆ ที่อยู่ใกล้กัน ตอนนี้ความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้นแล้ว”

นอกจากเรื่องการปลูกผักแล้ว สมาชิกกลุ่มสมานฉันท์ยังร่วมกันทำกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย โดยได้ชวนเพื่อนบ้านในชุมชนทั้งกลุ่มเยาวชนและกลุ่มคนงานที่ทำงานในโรงงานละแวกนั้นมาร่วมทำด้วย ระหว่างการทำกิจกรรมก็มีการสอดแทรกความรู้เรื่องสิทธิแรงงานต่างๆ เข้าไปด้วย เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นไม่ให้ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างที่พวกตนเคยประสบมา

เรียกว่ากิจกรรมการทำแปลงผักสวนครัวนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่พวกเขาพยายามทำ ด้วยความมุ่งหวังร่วมกันของของในกลุ่มว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่เป็นธรรมขึ้น ตามสโลแกนที่กล่าวว่า “คนงานอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ และคนอื่นได้ประโยชน์”  นับเป็นพลังเล็กๆ ที่สามารถช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้อย่างน่าประทับใจจริงๆ