Techniques in Urban Agriculture บทที่ 6: ฤดูกาล และ ปฏิทินการปลูกผัก

ฤดูกาล กับ เกษตรกรรม เป็นสิ่งอยู่คู่กันมาอย่างช้านาน เมื่อก่อนหลายสิบปี เราจึงมักได้ยินว่า หน้าทุเรียน หน้าลำไย หน้ามะม่วง เป็นต้น หรือก็คือ การเพาะปลูกที่สอดคล้องกับฤดูกาลนั้นเอง การปลูกผักเองก็อ้างอิงกับฤดูกาลเช่นเดียวกับผลไม้ ซึ่งต้องคำนึงถึงสภาพอากาศที่เหมาะกับผักแต่ละชนิดจะทำให้ผักเติบโตได้ดี สวยงาม การปลูกผักผลไม้นอกฤดูกาลที่ฝืนกลไกทางธรรมชาติ ทำให้ต้องใส่ปุ๋ย สารเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโตรวมถึงวิธีการอื่นๆ เพื่อให้มีผลผลิตทานตลอดปี เรามาดูกันว่า ในแต่ละฤดูกาล มีผักชนิดใดบ้างที่เราสามารถปลูกได้

ฤดูหนาว

เป็นฤดูที่จะปลูกผักอะไรก็งามทั้งนั้น เนื่องจากอากาศที่เย็น แสงแดดไม่ร้อนจัดเกินไป จึงเหมาะสำหรับผักที่ชอบอากาศเย็น อาทิ ผักสลัด (ผักคอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ฯลฯ) กะหล่ำ ผักกาด รวมถึงผักกินหัว เช่น หัวไชเท้า แครอทก็ปลูกได้ดีเช่นกัน พืชผักชนิดอื่นๆ ก็ให้ผลผลิตดีในช่วงหน้าหนาว เช่น ดอกแค สะเดา กุยช่าย หอมแบ่ง ผักชี ขึ้นฉ่าย เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นฤดูทองของการปลูกผักก็ว่าได้

ฤดูร้อน

เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม เป็นฤดูที่ปลูกผักได้ไม่งามนักเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ฝนก็ตกน้อย การรดน้ำและการรักษาความชื้นในแปลงผักจึงมีความสำคัญมากในการปลูกผักในฤดูร้อน การรักษาความชื้นในดิน มาเริ่มที่การรดน้ำ ปกติในฤดูหนาว เรามักจะรดวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) แต่เมื่อหน้าร้อนมาเยือน อาจต้องรดน้ำถึงวันละ 3 ครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) และหากเป็นแปลงผักกลางแจ้งที่ไม่มีร่มเงาอาจต้องรดน้ำถี่ขึ้นอีกเมื่อพบว่าหน้าดินเริ่มแห้ง

นอกจากการรดน้ำที่ต้องถี่ขึ้นแล้ว การรักษาความชื้นในดินก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเช่นกัน เริ่มตั้งแต่การพรวนดินให้มีความโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และมีช่องว่างให้น้ำสามารถแทรกตัวไปตามช่องว่างในชั้นดินได้ลึกขึ้น วิธีการตรวจดูว่า ดินที่จะใช้ปลูกนั้นได้รับน้ำเพียงพอแล้วหรือยัง ก็สามารถจับดินขึ้นมาดู หากชั้นดินที่ลึกจากผิวดินชัก 10-20 เซนติเมตร ยังมีความแห้งอยู่ แสดงว่าดินยังไม่โปร่งและน้ำยังซึมลงไปไม่ลึกเพียงพอ ก็ต้องแก้ไขด้วยการพรวนดินให้ลึกขึ้นอีก และรดน้ำลงไปเพื่อให้มั่นใจได้ว่าชั้นดินที่อยู่ใต้ผิวดินมีความชื้นเพียงพอให้รากพืชสามารถดูดขึ้นมาใช้ได้ เพราะหน้าร้อนพืชต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ จึงมีความจำเป็นที่ดินต้องเก็บความชื้นไว้ที่ใต้ดินมากเป็นพิเศษ

เมื่อดินมีความร่วนและชื้นเพียงพอแล้วก็นำฟางข้าวหรือหญ้าแห้งมาคลุมต้นกล้าและดินรอบแปลงปลูกเพื่อรักษาความชื้นในดิน และการใช้ระบบน้ำหยดจะช่วยให้พืชได้รับน้ำมากกว่าปกติและลดการสิ้นเปลืองน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะหน้าร้อน น้ำจะระเหยและซึมลงดินเร็วมากกว่าฤดูกาลอื่นๆ หากผักได้รับน้ำไม่เพียงพอหรือถูกแสงแดดจัดตลอดทั้งวันอาจทำให้ผักเหี่ยวเฉาและตายอย่างง่ายดาย การปลูกผักในฤดูร้อนจึงต้องตรวจดินในแปลงปลูกอยู่บ่อยครั้ง หากดินเริ่มแห้ง ก็ต้องรดน้ำทันที

ไม่ใช่ผักทุกชนิดจะสามารถปลูกได้ดีในทุกฤดูกาล โดยทั่วไปผักพื้นบ้าน เช่น ตำลึง กะเพรา โหระพา แมงลัก ถั่วพู ข่า ตะไคร้ สะระแหน่ พริก ผักเหล่านี้เป็นผักที่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในเมืองไทยได้ดี จึงไม่จำเป็นต้องดูแลมาก ทนทานโรคและแมลง แต่หากเป็นผักจีน เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ก็สามารถปลูกได้ในฤดูร้อน แต่อาจดูแลและเอาใจใส่มากกว่าผักพื้นบ้าน ซึ่งต้องหมั่นรดน้ำเพื่อป้องกันอาการเหี่ยวเฉา ส่วนผักอื่นๆ เช่น แตงกวา บวบ ชะอม ดอกแค ผักกาดหอมก็สามารถปลูกในฤดูร้อนได้เช่นกัน

ส่วนฟาร์มผักที่ผลิตผักสลัดอินทรีย์แบบเชิงพาณิชย์ ก็ใช้วิธีการพรางแสงด้วยสแลน ที่สร้างร่มเงาให้แก่ผัก ลดความร้อนและรักษาความชื้นในอากาศ หากในกรณีที่เราไม่ได้พรางแสงด้วยสแลน หรือ ไม่ได้ปลูกผักในพื้นที่กลางแจ้งที่ต้องโดนแดดจัดตลอดทั้งวัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องรดน้ำให้ถี่ขึ้น เช่น จากเดิมรดน้ำวันละ 2-3 ครั้ง เป็นวันละ 4-5 ครั้ง เพื่อรักษาความชื้นในดิน

ฤดูฝน

การปลูกพืชผักในฤดูฝนนั้น (มิถุนายน ถึง ตุลาคม) ดูเหมือนว่า น่าจะปลูกผักง่ายกว่าฤดูอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนตก และไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำทางการเกษตร แต่น้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจนเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกอาจส่งผลเสีบต่อการเพาะปลูกเช่นกัน

โดยปัญหาการเพาะปลูกในฤดูฝนที่เรามักพบได้แก่ การสูญเสียธาตุอาหารเนื่องจากหน้าดินถูกน้ำฝนชะล้างและพัดพาหน้าดินออกไป ในฤดูฝนท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณแสงแดดมีไม่เพียงพอต่อการสังเคราะห์แสงในพืช เป็นเหตุให้ผักหยุดชะงักการเจริญเติบโต วัชพืชที่ขึ้นเป็นจำนวนมากเนื่องจากปริมาณน้ำฝนและความชื้นสูง ซึ่งวัชพืชจะไปแย่งอาหารในดินจากพืชผลที่เราปลูกไว้ เป็นเหตุให้ผักเจริญเติบโตช้าลง ให้ฤดูฝนจึงมีการใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นจำนวนมาก โรครากเน่าอันเนื่องมาจากแปลงปลูกถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งโรคพืชหลายชนิดที่เกิดจากเชื้อราเป็นสาเหตุหลักซึ่งสามารถขึ้นได้ง่ายในดินมีความชื้นสูง ดังนั้น โรคพืชจึงมักจะชุกชุมในฤดูนี้ การเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลา 2 ถึง 3 วันขึ้นไป ทำให้รากพืชเกิดสภาวะการขาดก๊าซออกซิเจน และทำให้รากพืชตายได้ นอกจากการขาดก๊าซออกซิเจนแล้ว ยังเกิดปัญหาการขาดแคลนธาตุไนโตรเจนอีกด้วย สุดท้ายหยดน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักจะทำให้ต้นอ่อนและผักใบอ่อนเกิดความเสียหายได้

การปลูกผักในหน้าฝนสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การคลุมแปลงปลูกด้วยฟาง หญ้าแห้งหรือใบไม้แห้งเพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้นและลดการชะล้างหน้าดิน ป้องกันดินอัดแน่นจากแรงน้ำฝนที่ตกมากระแทกดิน และป้องกันไม่ให้รากผักได้รับความเสียหายจากน้ำฝนได้ การคลุมแปลงปลูกด้วยพลาสติก สแลนหรือตาข่ายบาง เพื่อป้องกันไม่ให้พืชผักที่ปลูกได้รับแรงกระทบกระเทือนจากหยกน้ำฝนมากจนเกินไปนัก การยกแปลงปลูกให้สูงขึ้นจะช่วยให้น้ำระบายได้ดี รวมทั้งลดปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณรากพืช

พืชที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในฤดูฝน อาทิเช่น ผักกลุ่มหัวหอม (หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม) ผักกลุ่มกะหล่ำ (กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคเคอรี่ ผักกาดขาว) ผักกินผล (พริกแดง พริกชี้ฟ้า พริกหวาน มะเขือเทศ ฟักทอง) ผักจำพวกใบบาง (ผักชี ขึ้นช่าย) และผักกินหัว (แครอท หัวไชเท้า)

ผักที่เหมาะสมต่อการปลูกในหน้าฝน ได้แก่ ตำลึง แตงกวา ผักบุ้ง คะน้า หน่อไม้ ต้นหอม มะระ กวางตุ้ง บวบ สำหรับ สลัด ผักชี และขึ้นช่ายควรมีการคลุมพลาสติกเพื่อป้องความเสียหายจากเม็ดฝน

References
  • โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย). (2557). สวนผักคนเมือง : รวมรูปแบบ เทคนิคและเคล็ดลับการปลูกผักในเมือง. ภายใต้การสนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
  • อานัฐ ตันโซ. (2556). ตำรา เกษตรกรรมธรรมชาติประยุกต์ แนวคิด หลักการ เทคนิคปฏิบัติในประเทศไทย ปี 2556. ภายใต้การสนับสนุน โดย  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • วงล้อปฏิทินปลูกผัก https://www.thaihealth.or.th/Content/44596-%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81.html
  • แฟนเพจ Home 6 บ้านฉันน่าอยู่ Credit : หน่วยจัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก (node) จ.เลย สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
  • Gliessman, S.R. (2015). Agroecology : The Ecology of Sustainable Food Systems. Bosa Roca: Taylor & Francis Inc.
  • Proksch, G. (2017). Creating urban agriculture systems: an integrated approach to design. New York: Routledge.