สวนผักคนเมืองย่านตลิ่งชัน พื้นที่อาหารของพี่น้องคนจนเมือง

ปุ้ย : ป้าทองเชื้อ ทำสวนผักคนเมืองมาเกือบ 3 เดือน เป็นยังไงบ้าง ผักมันยังไม่ค่อยโต ใช้เวลาปรับปรุงดินนานหน่อยนะ ถอดใจรึเปล่า ??

ป้าทองเชื้อ : หัวเราะนิดๆ ก็เหนื่อยแหละ แต่ดีที่พี่น้องเรามาลงแรงช่วยกัน เราต่อสู้เรื่องบ้านมาตั้งหลาย สิบปีกว่าจะได้  รอให้ผักโตแค่นี้ไม่มีปัญหาหรอก… แต่ทำสวนผักตรงนี้มันดีนะ เพราะเราไม่เคยมีที่ดินปลูกผักเลย แต่ตอนนี้พอได้ปลูกผักในพื้นที่ใหญ่ๆ มันทำให้พวกเรารู้สึกเป็นอิสระ มันได้ปลดปล่อยความอยาก ความหวัง ความเป็นคนออกมา!!….

ชุมชนฟ้าใหม่ร่วมใจพัฒนา ถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน  เป็นกลุ่มชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ซึ่งก็เหมือนกับชุมชนแออัดอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง การขยายทางคู่ ที่มีแผนการก่อสร้างในทุกภาคของประเทศไทย โครงการการจัดการน้ำในเขตกรุงเทพมหานคร  9 คลองหลัก และในพื้นที่เอกชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการพัฒนาของรัฐ โครงการพัฒนาเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมทางรถไฟ ริมคลอง และในพื้นที่เอกชน ต้องถูกไล่รื้อ ถูกย้าย ถูกแย่งชิงที่ดินไปให้กับการพัฒนา ทว่าปัญหาของการไล่รื้อนี้ไม่ได้กระทบแต่เพียงเรื่องที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่หากยังเชื่อมโยงกับปัญหาเรื่อง อาชีพ รายได้ ภาระหนี้สิน การคมนาคม ที่ยิ่งซ้ำเติมปัญหาของเครือข่ายพี่น้องคนจนเมือง กระบวนการต่อสู้ เรียกร้องสิทธิด้านที่อยู่อาศัยได้ขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน บางชุมชนได้ที่อยู่อาศัยใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังคงต้องต่อสู้กันต่อไป

สำหรับชุมชนฟ้าใหม่ร่วมใจพัฒนา ได้เจรจาเพื่อจัดหาที่ดินใหม่รองรับการย้ายชุมชนมาอยู่รวมกันบริเวณฝั่งตรงข้ามที่หยุดรถไฟสถานีบางระมาด เขตตลิ่งชัน จำนวน 120 หลังคาเรือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ทั้งนี้การวางผังชุมชนใหม่ทางชุมชนได้จัดสัดส่วนที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่สร้างบ้าน และพื้นที่ส่วนกลาง  และในพื้นที่ส่วนกลางนี้เองทางชุมชนได้มีการประชุมตกลงกันแล้วว่า จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่อาหาร โดยจะมีแปลงเกษตรปลอดสารสำหรับสมาชิกชุมชนที่สามารถเก็บกิน ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวตนเองได้ โดยการประสานงานของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  พัฒนาโครงการสวนผักคนเมืองย่านตลิ่งชัน บนพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนสร้างใหม่ ขนาด 81 ตารางวา ที่ชุมชนเช่าที่ดินกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเวลา 30 ปี มีเป้าร่วมกันของสมาชิก คือ เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนกลางชุมชนเป็นแหล่งสร้างอาหารปลอดสารพิษให้กับสมาชิกชุมชน และเป็นกิจกรรมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ป้าทองเชื้อ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ บอกว่า มีสมาชิกประมาณ 20 – 25 คน ที่เข้ามาช่วยกันเพาะปลูก ทำกิจกรรมต่างๆ มีอะไรก็เอามาช่วยกัน อย่างเช่น กระเบื้องทำแปลงนี่ สมาชิกก็เอามาช่วยกัน  เมล็ดพันธุ์  ต้นกล้าบ้านไหนเพาะไว้เยอะ มีเยอะก็มามาลงปลูกที่นี่ เพราะมีพื้นที่เยอะ สมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่ก็ทำงานรับจ้าง เราแบ่งเวลา แบ่งงานกันเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับพื้นที่อาหารแห่งนี้  โดยแบ่งเวรรดน้ำกันวันละ 1 คนๆ ละ 3 วัน  และทุก 1 เดือนก็จะมาประชุมและหมุนเวียนหน้าที่กัน แต่ก็มีสมาชิกที่บ้านอยู่ติดกับแปลงผักนี้ เขารับอาสาช่วยรดน้ำตอนเช้าทุกวันให้ เพราะรู้ว่าสมาชิกคนอื่นๆ อยู่ไกล มีภารกิจช่วงเช้าที่ต้องจัดการเยอะ แต่ถ้าเป็นวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันที่ต้องลงแรงกันเยอะ สมาชิกก็จะมาช่วยกันอย่างแข็งขัน มาทำงานด้วยกันจนมืดค่ำ บางคนก็พากันมาทั้งครอบครัว แปลงผักตรงนี้จึงเป็นอีกพื้นที่ที่พวกเราได้ทำงานร่วมกัน ทั้งคนสูงอายุ วัยทำงาน วัยเด็กก็มาช่วยกัน มาสนุกด้วยกัน

ป้าทองเชื้อ ยังเสริมต่อว่า เมื่อก่อนสมาชิกในชุมชนไม่มีพื้นที่ปลูกผักแบบนี้ อย่างมากก็ปลูกได้ 2 – 3 กระถาง แต่พอเรามีพื้นที่ปลูกผัก พื้นที่ทำเกษตรใหญ่ขึ้น พวกเรามีความสุขมาก อยากปลูกอะไรก็ได้ปลูก  พอพื้นที่มันเยอะก็ต้องดึงคนมาช่วยกันทำ กลายเป็นว่าการปลูกผักทำให้พวกเราได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น แถมเป็นงานที่มีความสุข ไม่เครียด เพราะที่ผ่านมาเราเครียดกับการต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยมามากพอแล้ว มันเหมือนว่ามีอิสระมากขึ้น…. อนาคตเราก็คุยกันว่า พอมีผลผลิตมากพอ หลังจากแบ่งปันกันแล้ว พอมีเหลือขายเราก็จะตั้งกล่องไว้ที่บ้านที่อยู่ติดแปลงผัก ใครสนใจมาเก็บก็ช่วยหยอดกล่อง จะได้เอาเงินนั้นมาซื้อเมล็ดพันธุ์และทำกิจกรรมต่อ

“วันไหนมีตลาดน้ำตลิ่งชัน คนมาเที่ยวกันเยอะ เขาจะได้มาเยี่ยม มาเห็นแปลงผักของเรา มาซื้อผลผลิตของเรา รายได้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยคนเหล่านั้นจะได้รู้จักเราว่าพวกเราเองมีศักยภาพ มีบ้านเป็นของตัวเอง มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีพื้นที่อาหารปลอดภัยที่ทั้งให้คนในชุมชนได้กิน และยังขายให้คนอื่นๆ ได้กินของดีๆ ด้วย พวกเราจะได้มีพื้นที่ทางสังคมบ้าง มีคนรู้จักเราบ้าง”

หลังจากนี้พวกเขายังมีแผน ที่จะช่วยกันทำแปลงผักให้เต็มพื้นที่ ค่อยๆ ปรับปรุงดินไปเรื่อยๆ และเสริมด้วยโรงเพาะเห็ด ที่ระหว่ารอให้ผักในแปลงโต ก็จะมีเห็ดให้เก็บกิน เก็บขายไประหว่างนี้ พร้อมกับเรียนรู้การทำดินหมัก ปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไส้เดือน การทำสารกำจัดแมลงศัตรูพืช และเทคนิค ความรู้อื่นๆ ที่จำเป็นไปพร้อมกับพี่เลี้ยงโครงการ

แต่ปัญหาสุดคลาสสิกของของการทำเกษตรในเมือง ไม่ว่าพื้นที่ไหนๆ ก็ต้องเจอ คือ “ปัญหาเรื่องดิน” ในวันปฐมนิเทศสมาชิกโครงการสวนผักคนเมือง เราได้ทำการวิเคราะห์คุณภาพดินเบื้องต้นให้กับสมาชิกทุกๆ โครงการ เพื่อประเมินและวางแผนการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการเพาะปลูก การทำเกษตรในเมือง หลังจากนั้นยังสนับสนุนให้ทุกๆ โครงการ มีทีมพี่เลี้ยง ซึ่งก็เป็นวิทยากรจากศูนย์อบรม และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยที่สมัครเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ที่จะเป็นทีมสนับสนุนด้านความรู้ เทคนิค และเป็นที่ปรึกษาให้กับสมาชิกโครงการตลอดระยะเวลา 1 ปี

อ.ปุ้ย และ อ.จัน จากสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พี่เลี้ยงของโครงการนี้ ได้บอกกับเราว่า จากการประเมินสภาพและคุณภาพของดินของโครงการนี้ ถือว่าแย่มาก อาจจะแย่กว่าโครงการอื่นๆ ของปีนี้ ถ้าเราสังเกตสีของดิน เป็นสีเหลืองขนาดนี้ ประเมินว่า น่าจะเป็นดินก้นบ่อที่ขุดขึ้นมาถม เป็นดินเหนียวปนทราย เมื่อเจอน้ำก็จะเหนียว น้ำไม่สามารถระบายได้ พอแห้งก็จะแข็งและแน่นมาก มันอาจจะเหมาะกับการสร้างบ้าน แต่ไม่เหมาะกับการทำเกษตรเลย

สังเกตว่าถ้าไม่รดน้ำเอาไว้ก่อนจะไม่สามารถใช้จอบขุดลงไปได้เลย การทำเกษตร หรือการเพาะปลูกในสภาพดินแบบนี้ วิธีการเร็วที่สุด  คือ การยกแปลงและการเติมดินใหม่เข้าไปในแปลง ใช้การปรับปรุงดินใหม่นี้เลย จะใช้เวลาประมาณ 15 – 30 วัน ดินก็จะพร้อมสำหรับการเพาะปลูก แต่สำหรับโครงการนี้ เราไม่เลือกใช้วิธีดังกล่าว เพราะได้หารือร่วมกับสมาชิกในชุมชน ด้วยวางเป้าหมายว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่อาหารปลอดภัยให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และอยากทำให้มีความยั่งยืน สามารถเพาะปลูกพืชผักไปได้นานๆ การเลือกวิธีการปรับปรุงดินในพื้นที่ทั้งหมด การปรับโครงสร้างของดินเดิม การเติมธาตุอาหารให้กับดิน ทำให้ดินมีความเหมาะสมกับการเพาะปลูก จึงเป็นทางเลือกของโครงการนี้

วิธีการ คือ การใช้ดินเดิม  2  ส่วน  ดินสำเร็จพร้อมปลูก(ที่วางขายตามร้านขายดินทั่วไป)   2  ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน  คลุมฟางเพื่อรักษาความชื้น หมักทิ้งไว้ อย่างน้อย 14 วัน โดยจะต้องรดน้ำทุกวัน และเสริมด้วยการรดน้ำหมัก จุลินทรีย์อื่นๆ ช่วยอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ในอัตราส่วน 20 CC./น้ำ 20 ลิตร หลังการเพาะปลูก 1 รอบ ก็ให้ทำกระบวนการปรับปรุงดินแบบเดิมนี้อีก 2 – 3 รอบการเพาะปลูก ซึ่งควรจะขุดดินเดิมลงไปอีก 1 หน้าจอบทุกครั้ง เพื่อปรับโครงสร้างของดินเพิ่มเติม  วิธีการนี้อาจจะต้องใช้เวลา 5 – 6 เดือน แต่รับรองว่าเราจะได้ดินที่มีความสมบูรณ์ โครงสร้างดินดีขึ้น ดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีธาตุอาหารและจุลินทรีย์สำหรับเป็นอาหารของพืชผัก พร้อมสำหรับการทำเกษตรในระยะยาวแน่นอน

อาจารย์ปุ้ยยังเสริมอีกว่า การออกแบบพื้นที่ การบริหารจัดการแปลงก็มีความสำคัญต่อการทำเกษตรในเมือง ที่เราควรจะให้ความสำคัญ อาทิ

  • พื้นที่ปลูกผัก จำนวนแปลง ความหลากหลายของชนิดผัก ที่จะต้องวางแผนการเพาะปลูกให้ดี รู้จักพืช อายุพืช ฤดูกาล ซึ่งจะต้องเอามาออกแบบว่าจะปลูกอะไร อะไรเก็บเกี่ยวก่อน – หลัง หมุนเวียนการเพาะปลูกอย่างไร การพักดิน  เพื่อให้มีผักให้ได้เก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่อง
  • ปลูกผักให้มีความหลากหลาย ต้องรู้ว่าผักชนิดนี้ ควรปลูกคู่กับอะไร เช่น ผักกินใบ(อายุสั้น)ควรปลูกคู่ผักกินผล  ควรปลูกผักที่มีกลิ่นฉุนคู่กับผักอื่นๆ ในแปลง เพราะช่วยไล่แมลงได้ เป็นต้น
  • หากมีพื้นที่เยอะ ควรปลูกไม้ผล อายุสั้นร่วมด้วย เช่น กล้วย เพราะกล้วย ให้ผลผลิตที่มีคุณค่าหลายอย่าง ทั้งกินผล ปลี ใบตองก็มีประโยชน์ หน่อกล้วยยังเอามาทำน้ำหมักได้อีก แถมยังให้ร่มเงาให้ได้พักผ่อนระหว่างทำงานอีกด้วย
  • แปลงสมุนไพร ควรจะมี เพราะนอกจากเป็นอาหารแล้ว ก็ยังจำเป็นสำหรับการนำมาใช้เป็นสารไล่แมลง กำจัดศัตรูพืช
  • เสริมด้วยการปลูกไม้ดอก เพื่อช่วยทั้งล่อแมลงที่ดีเข้ามช่วยกำจัดแมลงไม่ดี ด้วยวิธีธรรมชาติ ให้ระบบของธรรมชาติดูแลกันเอง และยังช่วยเพิ่มสีสันให้กับแปลงผักของเราได้ด้วย
  • พื้นที่ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ
  • มีระบบน้ำที่ดี ซึ่งต้องประเมินว่า พื้นที่ของเราใช้น้ำมากน้อยแค่ไหน มีระบบน้ำในพื้นที่แบบไหน ที่สำคัญคือ ควรมีถังเก็บน้ำสำรอง ถังพักน้ำไว้ การมีระบบน้ำที่ดีจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาน้อยลง เพราะถ้าพื้นที่ใหญ่ๆ หากน้ำไม่แรง น้ำไม่พอ เราต้องใช้เวลารดน้ำ 1–2 ชม.เลยทีเดียว
  • ความสะอาด ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายคนไม่ค่อยให้ความสนใจ ความสะอาดในที่นี้ คือ เวลามีโรคพืช เช่น เพลี้ย หนอน ศัตรูพืช เวลาตัดแต่ง เด็ดใบ จะต้องเอาไปทิ้งให้ห่างจากแปลง ไม่ใช่เด็ดแล้วทิ้งลงในแปลง การทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องต่างๆ รวมถึงต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งไม้ พืชผักต่างๆ เพื่อให้แสงส่องลงไปได้
  • อีกเรื่องสำคัญ ที่อาจารย์ปุ้ยทิ้งท้ายไว้ คือ ต้องค่อยๆ ปรับปรุง ค่อยๆ เรียนรู้ อย่าใจร้อน

หลังจากนี้อีกไม่นาน บ้านมั่นคง บ้านหลังใหม่ของพี่น้องชุมชนฟ้าใหม่ร่วมใจพัฒนาคงจะได้เริ่มวางรากฐานความมั่นคง/สิทธิในที่อยู่อาศัยของพวกเขา แต่ก็คงจะมาพร้อมกับภาระหนี้สินที่ชาวบ้านจะต้องแบกรับกันไปอีกหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ดิน ปีละ 1,000 บาท ค่าผ่อนบ้านเดือนละ 2,500 บาท ระยะเวลา 30 ปี  เราหวังว่า พื้นที่อาหารปลอดภัยแห่งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชนได้มีสิทธิในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีอาหารที่ดี มีพื้นที่สีเขียวที่ให้ทุกคนได้ผ่อนคลายจากภาระ ความเครียมเครียดต่างๆ มีพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้มาทำงานร่วมกัน สร้างความเข้มแข็งของชุมชน  รวมถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ ให้ได้หันกลับมามองเห็นการมีตัวตนของพี่น้องคนจนเมือง เห็นถึงศักยภาพที่พวกเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้ สนับสนุน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน