ฟาร์มของคนเมือง ฟาร์มของความสุข (ตอนที่ 3)

และแล้วเราก็เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายของ “ฟาร์มของคนเมือง ฟาร์มของความสุข” ซึ่งฉันจะพาคุณไปสัมผัสกับความสุขอันยิ่งใหญ่อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในเครือข่าย Beijing farmer’s market ช่วยกันสรรค์สร้างสิ่งดีๆให้กับผู้คนและสังคม สองตอนที่ผ่านมาเราเรียนรู้บทบาทของฟาร์มเหล่านี้ในฐานะเป็นฐานการผลิตอาหาร เป็นพื้นที่อาหารปลอดภัยของเมืองปักกิ่ง ที่เชื่อมโยงผู้ผลิต/เกษตรกรรายย่อยกับคนเมือง/ผู้บริโภคเข้าด้วยกัน และในตอนนี้ฉันจะพาคุณไปเรียนรู้ สัมผัสประสบการณ์อีกหนึ่งบทบาทของฟาร์มในฐานะ “ฟาร์มผลิตคน”

แม้ฉันจะเข้าใจว่าปักกิ่งมีฟาร์มเกษตรชานเมืองเป็นจำนวนมาก พวกเขารักษาพื้นที่อาหารชานเมือง และแหล่งผลิตอาหารเอาไว้ใกล้มือใกล้เมืองของตัวเอง แต่กลับไม่ค่อยมีการทำเกษตรในเมือง คำถามที่ยังค้างคาในความคิดของฉันตลอด คือ หากมีวิกฤติหรือภัยพิบัติเกิดขึ้น พวกเขาจะอยู่อย่างไร?? เมื่อไม่มีทักษะการเพาะปลูกหรือการพึ่งตัวเองด้านอาหารเลยเพราะบทเรียนการทำงานของโครงการสวนผักคนเมืองที่เมืองไทย คนทำงานและคนปลูกผักในเมืองต่างเรียนรู้และตระหนักว่าการทำเกษตรในเมือง ไม่เพียงช่วยเราในเรื่องอาหาร และทักษะการพึ่งตัวเองเท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมโยงสู่การพัฒนาในมิติอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนเมือง เช่น สานสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ, สร้างสังคมของการแบ่งปัน การเกื้อกูลระหว่างกัน,กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และการบำบัดเยียวยาจิตใจ เป็นต้น ดังนั้น ฉันจึงมักใช้บทเรียนของเมืองไทยตั้งคำถามท้าทายต่อคนเมืองปักกิ่งว่า การทำเกษตรในเมืองน่าจะเป็นอีกหนทางของการสร้างระบบอาหารที่ดี สร้างสังคมที่น่าอยู่ให้กับเมืองของคุณ !! และสิ่งที่พวกเขาให้คำตอบ พาฉันไปสัมผัสเรียนรู้ในคำถามท้าทายนี้ เป็นบทพิสูจน์ว่าพวกเขาก้าวไปไกลแล้วจริงๆ

City Farming

เมืองปักกิ่งไม่มีการทำเกษตรในเมืองก็จริง แต่คนเมืองจำนวนมากออกไปเช่าที่ดินในฟาร์มชานเมืองและเดินทางออกจากเมืองทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อเพาะปลูกอาหารด้วยตัวเอง  ฉันมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรื่องนี้กับ 2 ฟาร์มหลักๆ คือ Little donkey farm และ Phoenix hill commune แต่ยังมีอีกหลายฟาร์มที่ทำเรื่องนี้ เพราะผู้จัดการฟาร์มของ Little donkey farm ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบอาหารปลอดภัยของปักกิ่งและยังเป็นกำลังสำคัญในการร่างกฎหมายเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยของปักกิ่งในขณะนี้ด้วย เขาบอกว่า การทำงานขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัยของปักกิ่งและจีน เคลื่อนงานเรื่องนี้ด้วย 3  แนวทางสำคัญคือ การทำ CSA ,City Farming และ Learning centerที่ครอบคลุมการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัย สร้างผู้บริโภค และสร้างคนรุ่นใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กัน

อย่างที่Little donkey farmเขาทำเรื่อง City Farming มาตั้งแต่เริ่มเปิดฟาร์มที่ปักกิ่ง คือ ปี 2008เขาแบ่งที่ดินในฟาร์มให้คนเมืองที่สนใจอยากเพาะปลูกพืชผัก เห็นความสำคัญของการเกษตร และโหยหาวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่าที่ดินแปลงเล็กๆ ขนาด 30 ตร.ม ในราคาเช่าที่คนเมืองจะต้องจ่าย คือ 2,000 หยวน/ปี (ประมาณ 11,000 บาท/ปี) ค่าใช้จ่ายนี้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า ปุ๋ยหมัก อุปกรณ์ เครื่องมือ ตู้เก็บของส่วนตัว และวิทยากรสำหรับให้คำแนะนำ ที่สำคัญสมาชิกต้องจ่ายเงินทั้งหมดล่วงหน้าด้วยนะ

ตอนทำเรื่องนี้ในปีแรก มีคนเมืองมาสมัครทำ  City Farming แค่ 50 ครอบครัวเท่านั้น ไม่ใช่คนเมืองไม่สนใจนะ พวกเขาสนใจมาก แต่อาจจะยังไม่เชื่อมั่นในตัว Little donkey farm มากกว่า ว่าน่าเชื่อถือขนาดที่พวกเขาจะจ่ายเงินทั้งปีหรือเปล่า แต่ในปีถัดไปรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนfarm ทั้งในเรื่องการพัฒนาพื้นที่และสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้เป็นพื้นทีเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ คนเมืองก็เริ่มเชื่อมั่นมากขึ้น จนมีสมาชิก 100 ครอบครัวในปีที่สอง และเพิ่มขึ้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีถึง 300 ครอบครัว สมาชิกบางครอบครัวทำการเพาะปลูกที่นี่มานานกว่า 6 ปี พื้นที่สำหรับเช่าทำ City Farming รวมกันก็มากกว่า 10 ไร่ ถ้ารวมผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก CSA เข้าไปด้วย ก็อาจกล่าวได้ว่านี่แค่ เพียงฟาร์มเดียวสามารถเชื่องโยงตรงกับคนเมืองถึง 600 ครอบครัว เลยทีเดียว

ถ้าเราไปที่ Little donkey farm ในวันเสาร์และอาทิตย์ รวมถึงวันหยุดอื่นๆ ฟาร์มจะคลาคล่ำไปด้วยรถยนต์ และคนเมืองจำนวนมากที่เดินทางไปยังแปลงผักของพวกเขาตั้งแต่เช้า และไม่ได้มาแค่คนเดียวนะ มากันทั้งครอบครัว ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ และลูกๆ ต่างหอบหิ้วเก้าอี้ ที่ปูนั่ง อุปกรณ์ใส่ผัก และอาหารกลางวัน คือ พวกเขามาทำฟาร์มจริงๆ ทำงานในแปลงผักของตัวเองอย่างเอาจริงเอาจัง  เอาใจใส่ บางคนเริ่มจากการถอนหญ้า พรวนดิน ใส่ปุ๋ย หยอดเมล็ด ย้ายกล้า ทำค้าง รดน้ำ ทำงานอย่างนั้นได้ตลอดทั้งวัน ไม่ยอมไปไหนเลย ถ้าเป็นคนไทยอย่างฉันหนีเข้าร่มตั้งแต่สิบโมงแล้ว เขาจะหยุดพักก็ตอนเวลาอาหารกลางวัน หลายๆ ครอบครัวจะนำอาหารมากิน มาทำกินร่วมกับเพื่อนๆ และที่ฟาร์มก็จัดพื้นที่ มีศาลา โต๊ะ เก้าอี้ สนามเด็กเล่นสำหรับพักผ่อนให้สมาชิกคนเมืองด้วย ฉันคิดว่ามันเป็นบรรยากาศที่ดีและน่ารักมาก เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมในสวน ร่วมกับครอบครัว ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย และใช้เวลาร่วมกันตลอดทั้งวัน หลังอาหารกลางวัน พวกเขาก็จะลงแปลงอีกครั้ง จนถึง 6 โมงเย็น จึงจะตัดผลผลิตจากแปลงแล้วเริ่มทยอยกันกลับบ้าน และกลับมาอีกครั้งในวันอาทิตย์

ฉันได้คุยกับอาสาสมัครที่มาช่วยงานด้านนี้ทุกสัปดาห์ เขาบอกว่าคนเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท ทำงานราชการบ้าง พวกเขาโหยหาชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติมาก ที่สำคัญพวกเขาค่อนข้างตระหนักเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กๆ พวกเขาสนใจเรื่องนี้มาก อยากให้ลูกๆได้มาเรียนรู้ ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งพวกเขายังไม่พร้อมจะหันเหชีวิตทั้งหมดออกจากเมือง จึงต้องหันมาพึ่ง City Farming เพื่อให้ชีวิตบางส่วนได้หลีกหนีจากความวุ่นวายในเมือง จากงานหนักที่พวกเขาต้องทำตลอด 5 วัน แล้วใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีบ้าง เพราะในเมืองปักกิ่งมีปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศมาก บางครอบครัวมาที่ฟาร์มทุกเย็นหลังเลิกงานก็มี

City Farming ทำให้ฉันเห็นถึงความกระหายของคนเมืองที่อยากหวนคืนสู่วิถีชีวิตการเพาะปลูก ชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และที่สำคัญพวกเขาต้องการอาหารที่ดี ไม่เพียงต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเช่าที่ดิน แต่พวกเขายังมีค่าใช้จ่ายอีกมากเพื่อเดินทางไปกลับกว่า  4 ชั่วโมงต่อวัน การลงทุนของพวกเขาทำให้ฉันค่อนข้างมั่นใจ และจินตนาการได้ถึงอนาคตอันสดใสของระบบอาหารเมืองปักกิ่ง เพราะทุกวันนี้มีคนเมืองจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาสนับสนุนระบบอาหารที่ดี คนกลุ่มนี้นอกจากจะได้เรียนรู้ทักษะการทำเกษตรแล้ว เงินที่พวกเขาจ่ายไป ยังช่วยสนับสนุนงานของฟาร์ม รักษาพื้นที่เกษตรชานเมืองเอาไว้ มันช่วยลดต้นทุนเรื่องค่าเช่าที่ดินที่ฟาร์มต้องจ่ายให้กับรัฐบาลได้มาก และแน่นอนพวกเขาไม่สามารถเพาะปลูกอาหารด้วยตนเอง 100% อีกไม่นานสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้และลงมือทำ จะสร้างให้พวกเขาเป็นผู้บริโภคที่ดี สนับสนุนระบบอาหารที่ดี และช่วยรักษาพื้นที่อาหาร เกษตรกรรายย่อยของปักกิ่งของจีนต่อไป ซึ่งโครงการสวนผักคนเมืองของเราก็มุ่งหวังเช่นเดียวกันนี้  นี่เป็นตัวอย่างแรกของฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของปักกิ่งในฐานะ “ฟาร์มผลิตคน”

Learning center

ฉันค่อนข้างแปลกใจกับเรื่องราวที่ได้พบ พื้นที่เกษตรชานเมืองของปักกิ่ง ที่เป็นแหล่งผลผลิตอาหารให้กับคนเมืองปักกิ่ง กลายเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่จากต่างจังหวัด เช่น Henan,Guangxi, Shandong เป็นต้น สนใจเข้ามาฝึกงานและเรียนรู้การทำเกษตร เพื่อกลับไปสานต่อความฝันที่อยากทำการเพาะปลูกที่บ้านของตัวเอง หลายๆ ฟาร์มที่ฉันไป มีหลักสูตรสำหรับเปิดอบรม เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้และฝึกทักษะการเพาะปลูก การทำเกษตรอย่างจริงจัง

อย่างเช่นที่ Little donkey farm มีหลักสูตรสำหรับสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ระยะเวลา 7 เดือน – 1 ปี ให้เยาวชนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ฝึกงาน ทักษะทุกอย่างที่จำเป็นต่อการทำเกษตร การบริหารจัดการฟาร์มอย่างยั่งยืน พวกเขาเข้ามาเป็น intern ได้เงินค่าตอบแทนเล็กน้อย ใช้ชีวิตอยู่ที่ฟาร์ม มีที่พักและอาหารให้ 3 มื้อ และพวกเขาทำงานให้ฟาร์ม มี intern มากกว่า 10 คน  แต่ที่ Phoenix hill commune เป็นหลักสูตรการเรียน 2 ปี เรียกว่า The Phoenix Academy of Farming and Schoolingที่นี่ค่อนข้างเข้มข้นและมีความน่าสนใจอย่างมาก พวกเขาทำการเพาะปลูกในรูปแบบ biodynamicและเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางการศึกษา วอลดอร์ฟ  และไม่ได้สอนเพียงการทำเกษตรเท่านั้น ที่นี่ยังสอนประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรมของจีน เช่น การเขียนพู่กันจีน งานปั้น โยคะ และการแปรรูปต่างๆด้วย ที่เปิดรับ intern/นักเรียน รอบละ 10 คน มีระบบการคัดเลือกที่เข้มข้นมากเช่นกัน  นอกจากหลักสูตรระยะยาวที่ฟาร์มเหล่านี้จัดขึ้นเพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่แล้ว พวกเขายังมีหลักสูตรระยะสั้น 7 – 10 วัน ที่เปิดสอน เปิดอบรมให้กับคนที่สนใจเข้าไปเรียนรู้อีกด้วย

ฉันคิดว่าพวกเขาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ฟาร์มได้อย่างคุ้มค่า มีคุณค่า และมีความหมายมากต่อการสร้างสังคมใหม่ที่น่าอยู่ของเมืองจีน  ฉันมีโอกาสได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ความคิด ความฝันกับน้องๆ เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็น intern ในหลายๆ ฟาร์ม ฉันสัมผัสได้ถึงแรงบันดาลใจ ความฝันอันยิ่งใหญ่ และความมุ่งมั่นของพวกเขาที่อยากจะเป็นเกษตรกร จะมีคนรุ่นใหม่สักกี่คนที่ค้นพบความหมาย และเป้าหมายในชีวิตว่าอยากเป็นเกษตรกร อยากเพาะปลูกอาหารที่ดีกับผู้คน ดีกับสิ่งแวดล้อมด้วยวัยเพียงแค่ 20 กว่าปี  ที่สำคัญพวกเขาค้นพบมันเร็วและก็เลือกที่จะเรียนรู้และลงมือทำตามความฝันโดยทันที

Wen Yan เธอมาจากเมือง Qingtaoเรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ หลังเรียนจบเธอเข้าทำงานในบริษัทเอกชนได้ 2 ปี และค้นพบตัวเองว่าไม่อยากใช้ชีวิตแบบนี้ ก่อนจะมาเป็น intern ที่  Little donkey farm เธอออกเดินทางรอบประเทศจีน 1 ปี ด้วยรถทัวร์ รถไฟ และการเดินเท้า การเดินทางครั้งนั้นเธอได้รับประสบการณ์และการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง ว่าเธอต้องการใช้ชีวิตในชนบท ชีวิตที่บ้านเกิดของตัวเอง อยากให้บ้านเกิดของเธอมีพื้นที่เพาะปลูกแบบอินทรีย์ อยากกลับไปทำเกษตร อยากสร้างอาหารที่ดีต่อผู้คนและชุมชนบ้านเกิดของเธอ

Xin Xinเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุแค่ 22 ปี เพิ่งเรียนจบมหาวิยาลัยในปักกิ่ง และจบมาทางด้านเกษตรด้วย แต่อยากเรียนรู้ มีประสบการณ์เพิ่มเติม จึงเข้ามาคัดเลือกเพื่อเป็นนักเรียนใน Phoenix hill commune เธอมีความฝันและความมุ่งมั่นอยากจะทำฟาร์มที่บ้านของเธอ แต่เป็นฟาร์มที่มีโรงเรียนสอนเด็กๆอยู่ในนั้นด้วย เธออยากใช้ความรู้ ความสามารถของเธอในการสอนเด็กๆ และออกแบบฟาร์มของเธอให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ทำกิจกรรมและสอนเด็กๆ ในชุมชนของเธอ ฉันถามเธอว่า เกษตรกรรม การเพาะปลูกคืออะไรในชีวิตและความคิดของเธอ ลองมาฟังคำตอบที่เด็กอายุ 22 ปี คนนี้ เธอบอกว่า“ฉันเชื่อว่าการทำเกษตรเชิงนิเวศจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาทั้งหมดในสังคมของเรา (I believe that ecological farming is the solution to solve all problems in our society)”  และเด็กหนุ่มอีกคน ผู้มาจากเมือง Shanxi เพื่อนของ Xin Xin เขาบอกกับฉันว่า “เกษตรกรรม คือพื้นฐานของชีวิต มันสร้างฐานรากที่เข้มแข็ง มั่นคงให้ชีวิตของเขา และผู้คนในสังคม”

ฉันคิดว่าความคิด ความเชื่อ และความมั่นคงต่อเป้าหมายชีวิต ส่วนหนึ่งมันมาจากตัวพวกเขาเอง แต่อีกส่วนหนึ่งมันน่าจะมาจากพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเขาคิด พวกเขาฝันนั้นมันทำให้เป็นจริงได้ ฉันว่าฟาร์มของปักกิ่ง กำลังทำเรื่องที่มีคุณค่าและความหมายอย่างมากต่อการอยู่รอดของสังคมเกษตรกรรม  ฟาร์มไม่เพียงช่วยสร้างระบบอาหารที่ดีให้กับปัจจุบันเท่านั้น แต่ฟาร์มกำลังสร้างและโอบอุ้มเกษตรกรรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ให้ได้เรียนรู้ บ่มเพาะทักษะของตัวเอง เพื่อก้าวออกไปสู่การเป็นเกษตรกร เป็นผู้ผลิตอาหารที่ดีในชุมชนในเมืองของตัวเองในอนาคตอันใกล้นี้

ระบบอาสาสมัครฉันว่ามันเป็นระบบการพัฒนาคน พัฒนาสังคมของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลของคนในสังคมเมือง ฟาร์มทั้งหมดเปิดโอกาสให้คนเมืองไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม ทั้งผู้สูงอายุ วัยกลางคน วัยรุ่น วัยเด็กได้เข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองาน มันมีระบบอาสาสมัครเกิดขึ้นมากมายทั้งในประเทศไทยและในจีนเอง แต่ฉันไม่ค่อยเห็นความสนใจของคนเมืองหรือคนรุ่นใหม่สนใจมาทำงานอาสาสมัครในฟาร์ม หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เพราะมันเป็นงานที่หนัก แต่ที่ปักกิ่งเราจะพบคนรุ่นใหม่ คนเมืองมากมายที่เข้าไปเป็นอาสาสมัครในเรื่องนี้ ฉันคิดว่าพวกเขามีความอยากและมีความฝันเกี่ยวกับการเพาะปลูก แต่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะหันเหวิถีชีวิตของตัวเองไปสู่เรื่องนั้น ฉันชื่นชมพวกเขาที่ค้นพบตัวเองความชอบ ความสนใจของตัวเอง และนำเวลาว่าง ช่วงวันหยุดมาทำงานให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เพราะมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสามารถลงมือทำมันได้ตั้งแต่ตอนนี้ และที่สำคัญพวกเขาลงมือทำงานนี้ด้วยรอยยิ้ม ความสุข และความเต็มใจ

ฉันคงไม่ต้องสรุปปิดท้ายอะไรมากมาย เพราะพวกคุณคงสามารถสัมผัส และซึมซับได้ถึงความความฝัน แรงบันดาลใจของเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คนจีน ที่พวกเขาได้บอกเล่าประสบการณ์อันยิ่งใหญ่นี้  การใช้ชีวิตที่ปักกิ่ง 30 วัน ฉันสัมผัสถึงพลังจากผู้คนตัวเล็กๆเหล่านี้ ที่กำลังส่งต่อพลังการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ต่อสังคม ต่อบ้านเมืองของพวกเขา และต่อคนไทยอย่างฉัน ซึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ “ฟาร์มผลิตคน” หลายๆฟาร์มที่ได้ช่วยกันสร้างสรรค์  สร้างคุณค่าและความหมายของเกษตรกรรมไปมากกว่าเรื่องของอาหาร ผู้บริโภค คนเมืองจำนวนมากที่ช่วยกันสนับสนุน รักษาไว้เกษตรกรรายย่อย พื้นที่ฟาร์มที่กำลังทำหน้าที่โอบอุ้มและบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้พร้อมที่จะเดินทางไปเติบโต หยั่งรากลึกบนผืนดินบ้านเกิดของพวกเขา