ฟาร์มของคนเมือง ฟาร์มของความสุข (ตอนที่1)

ฉันตั้งความหวังกับการเดินทางไปปักกิ่งครั้งนี้  ฉันอยากเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องเกษตรในเมืองและระบบอาหารของเมือง ด้วยความที่ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงเหมือนกับกรุงเทพที่ฉันทำงาน แต่มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพถึง 10 เท่า มีประชากรอาศัยอยู่มากถึง 20 ล้านคน มันต้องมี “เกษตรในเมือง” ที่ใหญ่และน่าสนใจมาก แต่ฉันกลับได้รับข้อมูลว่า ที่ปักกิ่งไม่ค่อยมีการทำเกษตรในเมือง อาจจะมีบ้างใน village ที่เขาจะเพาะปลูกเอาไว้กินเล็กๆ น้อยๆ เพราะเหตุผลหลายอย่าง เช่น มลพิษทางอากาศ ราคาที่ดินที่สูงมากเกินกว่าจะเอามาเพาะปลูก ที่สำคัญคือน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรในเมือง  ฉันตั้งคำถามมากมายต่อสิ่งที่พวกเขาบอก ฉันไม่เชื่อว่าสถานการณ์พวกนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการทำเกษตรในเมือง?? การทำเกษตรในเมืองอาจจะช่วยคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ก็ได้?? ที่สำคัญหากมีวิกฤติ/ภัยพิบัติเกิดขึ้น พวกเขาจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร หากพวกเขาไม่มีพื้นที่อาหารของตัวเองเลย?? จนช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย Host ก็ช่วยคลี่คลายความสงสัยในหัวของฉัน ด้วยการส่งไปเรียนรู้ และใช้ชีวิตในฟาร์มที่เป็นเกษตรกรรายย่อยของ Beijing farmer’s market มากถึง 7 แห่ง

หากเราเดินทางออกจากตัวเมืองปักกิ่ง ห่างออกไปประมาณ 30 – 40 กม. คนปักกิ่งไม่นิยมบอกเป็นระยะทาง พวกเขาจะบอกเป็นระยะเวลาในการเดินทางมากกว่า ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง พื้นที่แถบนั้นจะเต็มไปด้วยฟาร์ม พื้นที่เพาะปลูกทั้งพืชผัก ผลไม้ ต้นไม้ และปศุสัตว์ อย่าง ไก่ เป็ด แพะ ซึ่งก็มีทั้งเคมีและอินทรีย์ปนๆกันไป แต่ฟาร์มที่ฉันไปเรียนรู้เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ฟาร์มเหล่านี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ Beijing farmer’s market คือประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา มีบางฟาร์มที่เริ่มทำเรื่องนี้มาก่อน 1 – 2 ปี พอมี Beijing farmer’s market ยิ่งทำให้มีพื้นที่ของการเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยกับผู้บริโภคให้ใกล้ชิดและเติบโตอย่างรวดเร็ว

พวกเขาเป็นคนเมือง ไม่ได้มีพื้นฐานของการเป็นเกษตรกรมาก่อน บางคนทำงานบริษัท บางคนเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และบางคนก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ แต่สนใจเรื่องการเพาะปลูก การทำเกษตร ฉันถามถึงแรงบันดาลใจ และเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงสนใจมาทำเกษตร เพราะคนทั่วไปคิดว่ามันเป็นงานที่หนักมาก ซึ่งทุกๆคนก็จะตอบคำถามนี้คล้ายๆ กันว่า พวกเขาตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ปัญหาสิ่งแวดล้อม พวกเขาอยากมีอาหารที่ดี อยากมีความมั่นคงทางอาหาร  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาและคนอื่นๆ ในเมืองที่ต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต พวกเขาตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง  ฉันคิดว่าความมุ่งหมายของชีวิตที่ชัดเจน พวกเขาค้นพบมันเร็ว และลงมือทำมันทันที ไม่ปล่อยให้มันเป็นแค่ความฝันหรือเรื่องของอนาคตอันแสนไกล และสิ่งสำคัญอีกประการ คือ ที่ปักกิ่งมีผู้บริโภคที่สนใจและต้องการบริโภคอาหารปลอดภัยเยอะมาก ที่สำคัญพวกเขามีกำลังซื้อและยินดีสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรายย่อย ฉันคงไม่ได้กล่าวเกินจริง เพราะการเกิดขึ้นของ Beijing farmer’s market ก็เกิดขึ้นจากพลังผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่ดี พวกเขาลุกขึ้นมารวมกลุ่มกัน ค้นหาผู้ผลิตที่เพาะปลูกด้วยระบบอินทรีย์สนับสนุนให้ทำการเพาะปลูกที่ดี และเกษตรกรรายไหนที่สนใจอยากปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกมาทำแบบอินทรีย์พวกเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน พัฒนาศักยภาพและสร้างตลาดให้กับเกษตรกรมาเจอกับผู้บริโภค มาเชื่อมโยงผลผลิตจากฟาร์มตรงถึงมือผู้บริโภคในเมือง  นี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในเครือข่าย Beijing farmer’s market และเกษตรอินทรีย์ชานเมืองปักกิ่ง ถึงเติบโตอย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง

ระบบการผลิตการทำฟาร์มที่นี่แตกต่างจากการทำงานกับเกษตรกรรายย่อยขององค์กรที่ฉันทำงาน มันดูคล้ายกับเป็น Social Enterpriseมากกว่า พวกเขาเป็นเจ้าของฟาร์มที่ไม่ใช่แค่ผู้บริหาร แต่พวกเขาก็ลงมือเพาะปลูกด้วย เวลาฉันถามว่าที่ฟาร์มของคุณมีจำนวนแรงงานที่ช่วยงานในฟาร์มเท่าไหร่ พวกเขาก็จะนับรวมตัวเองเข้าไปด้วย แล้วบอกว่าฉันก็ทำงานในฟาร์มเต็มเวลา ทำทุกอย่างเหมือนที่แรงงานคนอื่นๆทำ มีการจ้างแรงงานในฟาร์ม และกระจายผลผลิตตรงสู่ผู้บริโภคเอง ไม่มีการรวมกลุ่มเกษตรกร หรือสมาชิกในชุมชนเหมือนบ้านเรา ขนาดของฟาร์มก็ใหญ่มาก ประมาณ  10 – 30 ไร่ ฟาร์มเล็กสุดที่ฉันไปก็ขนาด  3 ไร่ ส่วนใหญ่พวกเขาเพาะปลูกใน glasshouse เนื่องจากที่ปักกิ่งอากาศค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี  glasshouse ช่วยเรื่องอุณหภูมิและการป้องกันแมลงได้ดี  พวกเขามีระบบการบริหารจัดการแปลง การจัดการผลผลิตที่ดีมาก คือแทบไม่มีความผิดพลาด ความเสี่ยงเกี่ยวกับผลผลิตในแปลงเลย  ฉันอยากเล่าถึงรายละเอียดของระบบฟาร์มที่นี่

พวกเขาเริ่มต้น และลงมือเพาะปลูกตามความต้องการของผู้บริโภค และความต้องการของตลาดที่เชื่อมโยงกับฟาร์มเป็นหลัก  เพราะเกษตรอินทรีย์ของที่นี่ขับเคลื่อนด้วยพลังของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปลอดภัย และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย การเพาะปลูกในแต่ละรอบทั้งเรื่องชนิดของผัก จำนวนผลผลิต พวกเขาจะเปิดรับสมัครผู้บริโภคทุกๆ เดือนบนอินเตอร์เน็ต ผู้บริโภคต้องการผักชนิดไหน จำนวนเท่าไหร่ และต้องการเป็นสมาชิกรับผักจำนวนกี่เดือน ผู้บริโภคเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนด ทุกอย่างทำผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องผลผลิตจากแปลงล้นตลาด หรือไม่สามารถหากลุ่มผู้บริโภคได้

ฟาร์มมีระบบการบันทึกข้อมูลที่ดีมาก สามารถคำนวณได้ว่าในแต่ละแปลงจะสามารถสร้างผลผลิตได้จำนวนเท่าไหร่ ใช้เวลาการเพาะปลูกเท่าไหร่ ตั้งแต่เพาะกล้าจนเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งถึงมือผู้บริโภค พวกเขาเอาข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค  ระยะเวลาการเพาะปลูก จำนวนพื้นที่แปลง จำนวนแรงงาน มาออกแบบวางแผนการผลิต  เช่น มีผู้บริโภค 1 ครอบครัวที่เขาต้องส่งผักให้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 1 เดือน ผักส่วนใหญ่ใช้เวลา 3 เดือน เป็นเวลาของการเพาะกล้า 1 เดือน และปลูกในแปลงอีก 2 เดือน เขาจะเพาะกล้าผัก(กินใบ)แต่ละชนิด 2 ถาดเพาะ (188 หลุม) ถึงจะได้ผลผลิตเพียงพอต่อการส่งให้ผู้บริโภค และจะหมุนเวียนการเพาะกล้า/การย้ายกล้า ทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวได้ต่อเนื่อง วันที่ฉันลงไปช่วยเขาทำงานในฟาร์ม เราต้องเพาะกล้าผักสำหรับผู้บริโภคจำนวน 5 ราย ที่เพิ่งสมัครเป็นสมาชิก CSA ของฟาร์ม เราเพาะกล้าผักมากกกว่า 30 ถาด ทำแล้วก็อดนึกถึงภาพอีก 3 เดือนข้างหน้า  ผู้บริโภคจะได้ทานผักสดๆ อร่อยๆ ที่ฉันลงมือเพาะกล้าเอง

ใน glasshouse ขนาดกลาง มาตรฐานจะอยู่ที่ กว้าง 8 เมตร ยาว 100 เมตร ใช้แรงงานในการดูแล 1 คน พวกเขาออกแบบแปลงขนาด 800 ตารางเมตรนี้ ให้เป็นแปลงขนาดเล็กๆ 25 – 30  ตารางเมตร เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล ลดเวลาในการทำงาน เพราะไม่ต้องทำงานพร้อมๆ กันทั้ง 800 ตารางเมตร วันนี้คุณอาจจะดูแล แค่ 200 ตารางเมตรก็ได้ ทุกๆ แปลงย่อยพวกจะปลูกผักที่แตกต่าง สลับกันไป นอกจากนั้นในแต่ละแปลงย่อยยังเพาะปลูกผัก 2 ชนิด คู่กัน คือพืชที่อายุเก็บเกี่ยวสั้นและยาว นอกจากจะคุ้มค่าเรื่องการใช้พื้นที่แล้ว เขาบอกว่ามันช่วยป้องกันความเสียหายจากแมลงได้ค่อนข้างมาก พอหมดรอบการผลิตก็จะหมุนเวียนการเพาะปลูก เช่น จากพืชกินใบ ไปเป็นพืชหัว ต่อด้วยกินลูก ซึ่งระบบนี้คล้ายกับการทำเกษตรยั่งยืนในบ้านเรา

ฟาร์มที่นี่ค่อนข้างมีเสถียรภาพเรื่องผลผลิต เวลาเดินเข้าไปในฟาร์มฉันค่อนข้างตื่นตาตื่นใจ พืชผักในแต่ละแปลงมีความสมบรูณ์แข็งแรงมาก ทุกต้นขนาดเท่าๆกัน แทบหาความเสียหายของพืชผักไม่ได้เลย ที่สำคัญมันอร่อย หวาน และสดมาก เกษตรกรมักเด็ดผักสดๆ จากต้นให้ฉันชิมตลอดเมื่อเดินผ่านแปลงผัก ฉันคิดว่ามันอร่อยมากๆ หลังๆไม่ต้องรอพวกเขาเด็ดให้ เพราะฉันอยากกินของอร่อยอยู่แล้ว  ในทุกๆ 1 แปลงย่อย (25-30 ตร.ม) หากเป็นผักกินใบจะให้ผลผลิตประมาณ 25 – 30 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นพืชหัวหรือกะหล่ำปลี จะได้ถึง 50 กิโลกรัม ใน 1 glasshouse จะมีความหลากหลายของผลผลิต 10 – 15 ชนิด และใน 1 เดือน/ฟาร์ม พวกเขาสามารถมีผลผลิตที่หลากหลายส่งถึงผู้บริโภคประมาณ 30 – 45 ชนิด นอกจากนั้นแล้วยังมีการเลี้ยงไก่ เป็ด และห่าน เพื่อเอาไข่ด้วย  มันเป็นระบบการผลิตที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคได้อย่างดี ทีแรกฉันเขาใจว่าการปลูกผักตามความต้องการของผู้บริโภคมันจะทำให้ปลูกผักได้ไม่หลากหลายรึเปล่า แต่ไม่ใช่เลยพวกเขาปลูกผักได้หลากหลายมาก หรือการให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกชนิดผักยิ่งช่วยสร้างความหลากหลายของพืชผักและอาหารมากขึ้น

ทุกฟาร์มจะทำปุ๋ยหมักเอง น้ำหมักหัวปลา น้ำหมักชีวภาพ สารสกัดสมุนไพรไล่แมลงจากใบยาสูบใช้เอง โดยหมักเศษผัก ใบไม้แห้ง มูลสัตว์ เช่น ขี้ไก่ ขี้แพะ ขี้หมู และลา ถ้าเข้าไปในฟาร์มเราจะเห็นแปลงปุ๋ยหมักขนาดใหญ่ เศษผัก เศษอาหารในฟาร์มยังใช้เลี้ยงสัตว์ด้วย พวกเขาแทบไม่มีเหลือทิ้งออกนอกฟาร์มเลย หมุนเวียนทุกอย่างมาใช้ในการเพาะปลูกทั้งหมด พวกเขาบอกกับฉันว่า ทุกฟาร์มในเครือข่ายเน้นการทำปุ๋ยหมักใช้เองทั้งหมด เพราะมันช่วยเรื่องคุณภาพ สารอาหารในดิน พวกเขาบอกว่าดินที่นี่จะนุ่มและร่วนซุยมากเพราะใช้ปุ๋ยหมักรองก้นหลุมก่อนย้ายกล้าบางฟาร์มก็เตรียมดินด้วยการรองแปลงด้วยปุ๋ยหมัก มันทำให้รากพืชสามารถหยั่งรากได้ลึกและกว้าง ดินมันก็นุ่มจริงๆ อย่างที่เขาว่า ฉันเหยียบลงไปบนแปลงถึงกับตกใจมันยุบลงไปลึกมาก พอถอนผักขึ้นมา รากก็ใหญ่และยาวมากๆ ไม่แปลกใจที่ผลผลิตของพวกเขาค่อนข้างมีมาตรฐาน

ภาพซ้าย เครื่องหยอดเมล็ด ภาพขวา เครื่องตีดินเเละหยอดเมล็ดพันธุ์ลงเเปลงใหญ่

-พวกเขาใช้เทคโนโลยี เครื่องมือขนาดเล็กมาช่วยในฟาร์ม เช่น เครื่องพรวนดิน เครื่องหยอดเมล็ดในแปลงและถาดเพาะ ระบบรดน้ำ เครื่องบดใบไม้ และยังมีเครื่องมือ นวัตกรรมน่ารักๆ ง่ายๆ สำหรับการเตรียมดินการพรวนดิน ฉันมีโอกาสทดลองใช้ตอนทำงานในแปลง ฉันรู้สึกว่ามันน้ำหนักเบา ใช้งานง่าย ทั้งในพื้นที่เล็กและใหญ่  ซึ่งทั้งหมดช่วยลดแรงงานและเวลาของการทำงานได้มาก

ภาพนวัตกรรมที่ใส่ดินลงถุงเพาะกล้าสีดำ โดยสามารถเทดิน เเละเกลี่ยให้ดินลงถุงได้จำนวนมากๆ

ภาพซ้าย ที่พรวนดิน ภาพขวา จอบ เสียม คราดหลากหลายรูปเเบบเเละน้ำหนักเบา

แรงงานในฟาร์ม ฉันสังเกตว่าทุกฟาร์มมีแรงงานผู้สูงอายุ และวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น จริงๆ แล้วมีเหตุผลหลายอย่าง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรดั้งเดิมในปักกิ่ง เมื่อ 20 ปีก่อน ปักกิ่งเป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่เพาะปลูกมาก่อน แต่ภายหลังการพัฒนา การเติบโตของเมือง และยิ่งในช่วงการจัด Olympic game ปี 2008 มีการพัฒนาค่อนข้างมาก หลายๆ หมู่บ้านถูกพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อรองรับการจัดการแข่งขัน เกษตรกรดั้งเดิมเหล่านี้ต้องย้ายเข้าสู่การเป็นแรงงานในฟาร์มอื่นๆ แทน และจีนก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ในเมืองเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ เจ้าของฟาร์มหลายคนบอกฉันว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้มีทักษะ ความเชี่ยวชาญในการทำเกษตรมาก และการจ้างงานพวกเขาก็ช่วยสร้างรายได้ ความมั่นคงให้กับพวกเขา แม้จะเป็นผู้สูงอายุ แต่ถ้าเทียบกับคนหนุ่มสาวอย่างฉัน พวกเขาแข็งแรงมาก พวกเขาจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน  ค่าแรงของผู้หญิง วันละ 90 หยวน( 450 – 480 บาท) ผู้ชาย 120 หยวน (650 บาท) พวกเขามีที่พักและอาหารให้ 3 มื้อ มันเป็นชุมชนขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว ฉันมีโอกาสได้เรียนรู้และใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขา พวกเขาจะตื่นนอนประมาณ 5.00 น. มีคนหมุนเวียนกันทำอาหารเช้า และเย็น ส่วนมื้อเที่ยงเจ้าของฟาร์มจะเป็นผู้ทำอาหาร กินข้าวเช้า 6.30 น. หลังจากนั้นประมาณ 7.30 น. พวกเขาจะเริ่มทำงานในฟาร์ม แต่ถ้าวันไหนมีตลาด พวกเขาจะตื่นเช้าขึ้นและช่วยกันเก็บผลผลิต จัดผลผลิตเพื่อไปตลาดก่อน ทำงานเร็วมาก และจัดการกันง่ายๆ ฝ่ายหนึ่งเก็บ ฝ่ายหนึ่งชั่งน้ำหนัก อีกฝ่ายบรรจุถุงติดสติ๊กเกอร์ ขนใส่ลัง ขึ้นรถ จบ…. แต่ถ้าไม่มีตลาดช่วงเช้าพวกเขาจะทำงานในแปลงที่อยู่นอก glasshouse ก่อน เพราะอากาศและแสงแดดยังไม่ร้อนมาก ส่วนช่วงบ่ายก็จะเข้าไปทำงานข้างใน ฉันคิดว่าพวกเขามีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์ม พวกเขาทำงานด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานโดยตลอด บางวันพวกเขาก็ทำงานในฟาร์มไปจนเย็นย่ำ ฉันคิดว่าพวกเขาทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง แต่มันไม่ได้มาจากการถูกบังคับใดๆ พวกเขาเต็มใจที่จะทำมันและก็ทำด้วยความเบิกบาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆก็จะเข้าไปช่วยทำในบางงานที่สำคัญก่อน มันคงเป็นบ้านเป็นชุมชนของพวกเขา เพราะไม่มีใครรีบเร่ง พวกเขาทำงานอย่างเต็มความสามารถเต็มเวลาเท่าที่จะทำได้ เหมือนกับเป็นฟาร์มของตัวเอง ที่สำคัญเจ้าของฟาร์มก็ยังใช้เวลาส่วนใหญ่ลงมือทำการเพาะปลูกร่วมกับพวกเขาด้วย ไม่ใช่บรรยากาศแบบนายจ้างลูกจ้าง

ถ้าเราลองจินตนาการถึงขนาดของเมืองปักกิ่งที่ใหญ่กว่ากรุงเทพฯถึง 10 เท่า พื้นที่ชานเมืองเต็มไปด้วยฟาร์มเกษตร ซึ่งอย่างน้อยฉันก็รู้ว่า 7 ฟาร์มที่ฉันได้ไปเยี่ยมเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ และยังมีอีกกว่า 20 ฟาร์มในเครือข่ายของ Beijing farmer’s market ที่ฉันไม่ได้ไป แต่รู้ว่าพวกเขาก็เพาะปลูกในระบบอินทรีย์ และก็ยังคงมีอีกหลายฟาร์มที่เพาะปลูกในระบบอินทรีย์ด้วยเช่นกัน นอกจากฟาร์มจะเป็นพื้นที่ของการเพาะปลูกพืชผักเท่านั้น แต่ส่วนมากเกือบทุกฟาร์มที่ฉันมีโอกาสลงไปเยี่ยมพวกเขา มีทั้งผลไม้ ไก่ เป็ด ห่าน ที่ช่วยผลิตไข่เป็นแหล่งโปรตีน ส่งให้กับผู้บริโภคอีกด้วย บางฟาร์มก็ยังมีผลผลิตอื่นๆ ที่ได้จากการแปรรูป เช่น เต้าหู้  นม ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า น้ำผลผลไม้ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยขนาดของฟาร์ม และผลผลิตที่มีมาตรฐาน คุณน่าจะจินตนาการได้ว่าพวกเขามีความมั่นคงทางอาหารมากเพียงใด แม้พื้นที่ในเมืองจะไม่มีการทำเกษตร แต่ปักกิ่งก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารของพวกเขา ด้วยการเห็นความสำคัญ ความตระหนักรู้ทั้งในส่วนของผู้บริโภค และผู้ผลิตที่ต่างลุกขึ้นมาทำบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ด้วยการช่วยกันสนับสนุนและรักษาไว้ซึ่งพื้นที่อาหารใกล้มือ ใกล้เมืองของตนเอง

ตอนต่อไปฉันจะชวนคุณไปเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบตลาด และการกระจายผลผลิตของฟาร์มที่ปักกิ่ง มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมาก  ต่อด้วยบทบาทของฟาร์มเกษตรชานเมืองที่เป็นมากกว่าฟาร์มผลิตอาหาร แต่เขาใช้ฟาร์มเป็นพื้นที่สำหรับผลิตคน และสังคมแห่งการช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน

ขอบคุณทุกๆ ฟาร์มในเครือข่าย  Beijing farmer’s market ที่เปิดพื้นที่ให้ฉันได้เข้าไปเรียนรู้และใช้ชีวิตกับพวกคุณ

  • De Run Wu Organic & Natural Store
  • Little donkey Farm
  • Phoenix hill commune
  • Little willow farm
  • และอีกหลายๆ ฟาร์มที่อาจไม่ได้ใส่ชื่อ เพราะเป็นชื่อภาษาจีน