บ้าน สวน ระบบน้ำ กับการออกแบบอย่างยั่งยืน

  • จะเป็นอย่างไร ถ้าเราเคยมีเงินเดือนเป็นแสน แต่วันหนึ่งชีวิตกลับพลิกผัน ทำให้มีรายได้เหลือประมาณ 300 บาทต่อวัน
  • จะเป็นอย่างไร ถ้าวันที่เราเกษียณอายุ แต่ยังไม่มีบ้าน และไม่มีเงินเก็บมากนัก
  • จะเป็นอย่างไร ถ้าบริเวณรอบที่ดินที่เราคิดจะสร้างบ้าน มีปัญหาไฟป่า จนเกือบจะรุกเข้ามาได้
  • จะเป็นอย่างไร ถ้าบ้านที่เราอยู่ ต้องใช้น้ำบาดาล และน้ำบาดาลมีปัญหาเรื่องสนิมเหล็ก
  • จะเป็นอย่างไร ถ้าเราปลูกบ้านแล้ว อยากปลูกผักทำสวนด้วย แต่อายุมากแล้ว ไม่อยากก้มมาก

สำหรับบางคน โจทย์ ปัญหา อุปสรรคต่างๆที่เข้ามาในชีวิต อาจทำให้รู้สึกท้อ บางคนอาจใช้วิธีการหนีปัญหา แต่สำหรับอาจารย์จิรศักดิ์ จินดาโรจน์ อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่นเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต ประกอบกับวิชา ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆที่สั่งสมมา ทำให้อาจารย์สามารถก้าวข้ามปัญหา และออกแบบสร้างสรรค์ทั้งบ้าน สวน และระบบน้ำ ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจมาก

อาจารย์จีรศักดิ์เล่าให้ฟังว่า ชีวิตอาจารย์มีจุดเปลี่ยน จุดพลิกผันมากมาย แต่มาวันนี้ สิ่งที่คิดหวังตอนนี้คือการแสวงหาด้วยตนเอง และต้องทำให้เป็นถึงจะบอกต่อคนอื่นได้ เป็นแบบอย่างได้ และมีโอกาสที่จะถ่ายทอดให้คนอื่น เป็นการอยู่อย่างธรรมดา และมีของแบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย

สิ่งที่อาจารย์ลงมือทำหลังจากเกษียณอายุ โดยที่ไม่มีบ้าน และไม่ค่อยมีเงินเก็บ ก็คือการออกแบบ และสร้างบ้านเอง โดยออกแบบบ้านให้มีใต้ถุนสูง มีอากาศเคลื่อนที่ผ่านบ้านได้ ทำให้บ้านไม่ร้อน ข้าวของอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ก็ล้วนได้รับการออกแบบ และลงมือทำด้วยตัวเอง โดยมีลูกน้องคอยช่วย 1 คน สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ก็คือเศษไม้ต่างๆที่เหลือทิ้ง บางทีก็มีคนมาโค่นทิ้งไว้ หรือบางทีก็ไปซื้อพวกไม้แบบที่เขากำลังจะเอาไปทำฟืนมาทำ
อาจารย์บอกว่า เราต้องคิดยืดอายุป่า ไม่ใช่ด้วยการไม่ตัดไม้มา แต่คือการใช้ไม้ในป่าให้คุ้มค่าตลอดเส้นทาง หากใครมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนบ้านอาจารย์ ก็จะเห็นว่าชั้นวางของ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ทำเองทั้งสิ้น
นอกจากการออกแบบบ้านแล้ว อาจารย์ยังออกแบบ และทำระบบการบำบัดน้ำบาดาล ที่มีปัญหาเรื่องสนิมเหล็กด้วยตัวเอง อีกทั้งยังทำระบบบำบัดน้ำจากในครัว ให้ไหลคืนสู่สวนที่ปลูกไว้ และไหลคืนสู่ธรรมชาติด้วย ที่น่าสนใจคือเป็นระบบที่ไม่ต้องลงทุนมาก และใช้วัสดุเหลือใช้มาเป็นส่วนประกอบในการทำ

สำหรับพืชหลักที่อาจารย์ใช้ในการบำบัดสนิมเหล็กจากน้ำบาดาลก็คือต้นเตย โดยระบบที่อาจารย์ออกแบบก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องการเติมอากาศ รวมถึงระยะเวลาในการทำปฏิกิริยาต่างๆ เมื่อผ่านการบำบัดแล้ว ตัวที่จะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าน้ำสะอาดเพียงใด ก็เห็นจะรากต้นเตย จากท่อหรือบ่อแรกที่เต็มไปด้วยสนิมเหล็ก และในท่อหรือบ่อสุดท้าย กลับสะอาด และน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้ว ก็จะไหลที่อ่างเลี้ยงปลา และต่อเชื่อมโยงไปหล่อเลี้ยงพืชผักนานาชนิดที่อาจารย์ปลูกไว้

ระบบน้ำทั้งการบำบัดน้ำบาดาลและน้ำจากอ่างล้างจานในครัวนี้ ไม่ได้มีแค่จุดเดียว และไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว อาจารย์ได้ทดลองทำมาหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เป็นโอ่ง เป็นอ่าง หรือเป็นแบบทำเป็นสระปูผ้าพลาสติกบนดิน แล้วปลูกพืชที่ใช้บำบัดอย่างเตย และกกด้านบน เกิดเป็นระบบน้ำที่ไหลเชื่อมต่อกันทั่วบริเวณบ้าน หล่อเลี้ยง บำรุงดิน และพืชพรรณนานาชนิดที่อาจารย์ปลูกไว้ ซึ่งคงต้องบอกว่ารอบบริเวณบ้านอาจารย์นี้ เต็มไปด้วยพืชพรรณไม้นานาชนิดที่ขึ้นและเติบโตอย่างอุดสมบูรณ์ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นตลอดเวลา
อาจารย์บอกว่า สิ่งที่พืชต้องการก็คือพลังจากผืนดิน ไม่ใช่ปุ๋ย ถ้าดินมีพลังชีวิต มีสุขภาพดี หรือที่เรียกว่า Healthy Soil ก็เกิดวงจรของสรรพสิ่ง มีพลังดินน้ำลมไฟ ที่ทำให้ต้นไม้แข็งแรง แมลงก็ไม่รบกวน สิ่งสำคัญคือเราต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบ pro-active ไม่ใช่ re-active คือการยอมรับ เรียนรู้ที่ของอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไม่ใช่การพยายามจะเอาชนะธรรมชาติ
นอกจากไม้ยืนต้นชนิดต่างๆทั้งไม้ดอก และไม้ผลกินได้แล้ว อาจารย์ยังปลูกผักไว้กินเอง โดยใช้ไม้ที่มีอยู่มาต่อเป็นโต๊ะยกสูงขึ้นมา ให้ความรู้สึกเหมือนทำงานบนโต๊ะทำงาน และไม่ต้องก้มตัวลงมากเกินไปเวลาปลูกและดูแล

ที่สำคัญอาจารย์บอกว่า ปลูกผักนี่แทบไม่ต้องดูแลอะไรมากเลย เพราะเอาดินจากผืนดินขึ้นมาปลูก ซึ่งเป็นดินที่มีพลังชีวิตดี แล้วก็ต่อระบบน้ำอัตโนมัติ โดยใช้ขวดน้ำพลาสติกที่เหลือทิ้งมาทำ ใช้วิธีกรีดข้างขวดให้น้ำซึม เลี้ยงต้นผักให้เติบโต โดยที่แทบไม่ต้องดูแล อยากกินอะไรก็ออกมาเก็บกินได้เลย

อาจารย์บอกว่า ชีวิตหลังเกษียณ แม้จะมีรายได้เฉลี่ยตกวันละ 300 บาท แต่เราก็อยู่ได้อย่างมีความสุข เราปรับรายจ่ายให้สัมพันธ์กับรายได้ และลงมือทำอะไรหลายอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งก็ทำให้เราสุขภาพแข็งแรงขึ้นกว่าเมื่อก่อนด้วย
ตอนนี้นอกจากอยู่บ้าน ทดลอง และพัฒนาสิ่งต่างๆอยู่เสมอแล้ว อาจารย์ยังไปช่วยเป็นอาจารย์พิเศษ สอนศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้วย

ขอขอบพระคุณอาจารย์จิรศักดิ์ จินดาโรจน์ เป็นอย่างสูงที่ให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี และได้พาพวกเราเรียนรู้กับสิ่งต่างๆที่อาจารย์ลงมือทำ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเรามากมาย