เดินทางไปเรียนรู้ 4 พื้นที่ต้นแบบเกษตรในเมือง ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญ

ในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มีโอกาสได้ต้อนรับที่ปรึกษา 2 ท่าน จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO – Food and Agriculture Organization of the United Nations) ได้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ Yves Cabannes หรือ คุณอีฟ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Urban Development Planning จาก University College London (UCL) และอาจารย์ Cecilia Delgado หรือ คุณซิชีเลียผู้เชี่ยวชาญด้าน Urban and Peri-Urban Agriculture จาก University of Lisbon โปรตุเกส โดยมี ผศ.ดร. ปิยะพงษ์ บุษบงก์ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรึกษาโครงการสวนผักคนเมือง ช่วยประสานงานให้เกิดกิจกรรมในครั้งนี้ และยังช่วย เป็นล่ามแปลภาษา ในการเดินทางเข้าเยี่ยมชมงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่ต้นแบบเกษตรในเมืองทั้ง 4 พื้นที่ ได้แก่

  • ศูนย์เรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติเกษตรอินทรีย์ สวนเกษตรดาดฟ้า
  • โครงการสวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7
  • ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง “ฟาร์มเจ้าชายสัตว์”
  • ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก (ลาดพร้าว 71)

ศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติเกษตรอินทรีย์ สวนเกษตรดาดฟ้า สำนักงานเขตหลักสี่

วินาทีแรกที่ขึ้นลิฟท์มาชั้น 8 คุณอีฟได้อุทานออกมาว่า It’s amazing!!!!! ว่าสวนผักดาดฟ้าแห่งนี้เป็นที่ที่น่าประหลาดใจ มหัศจรรย์ เปรียบเสมือน Shangri-La (แชงกรี-ลา) หรือดินแดนในอุดมคติในนวนิยาย หรือคล้ายกับ Oasis กลางท้องทะเลทราย ที่มีต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวที่รายล้อมด้วยตึกและอาคาร ด้วยพื้นที่ปลูกผักบนดาดฟ้าที่โดดเด่น คำถามในใจของคุณอีฟและคุณซิชีเลียเลยผุดขึ้นมามากมาย ที่จะถามพี่แหม่ม เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตหลักสี่ ซึ่งเป็นผู้ดูแสสวนผักดาดฟ้าแห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ แหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ วิธีจัดการโรคและแมลง การทำปุ๋ยหมักบนดาดฟ้า การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ การจัดอบรมให้แก่คนในเมืองที่สนใจทำเกษตร การออกแบบพื้นที่สวนผักบนดาดฟ้า การเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น

โดยรวมๆ แล้ว พี่แหม่มได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจหลายแง่มุม โดยสวนเกษตรดาดฟ้าเขตหลักสี่ มีชื่อทางการว่า “ศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียนธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ สวนเกษตรดาดฟ้า” ตั้งอยู่บนชั้นดาดฟ้าของสำนักงานเขตหลักสี่ โดยปลูกผักสวนครัว ผลไม้ และพืชสมุนไพรไทยไว้หลายชนิด ทั้งพริกขี้หนู มะนาว ตะไคร้ มะกรูด เห็ด ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาด กะหล่ำดอก กวางตุ้ง ฟักทอง บวบ และผักพื้นบ้านต่างๆ

มีการนำขยะอินทรีย์ จากเศษอาหารภายในสำนักงานเขตมาทำปุ๋ยหมัก อีกทั้งยังใช้เลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยอีกด้วย การทำปุ๋ยหมักเองบนดาดฟ้า ตัวพี่แหม่มเองก็แปลกใจว่าในขณะทำปุ๋ยหมักจากเศษขยะใบไม้ ซึ่งเอามาจากแปลงผักทั้งสิ้น ไม่มีดินผสมเลยระหว่างกรรมวิธีการหมัก แต่ผลออกมาเหมือนปุ๋ยหมักที่ได้กลับกลายเป็นดินที่ดำสนิท โดยหมักไว้ 7-8 เดือนแล้วนำมาร่อนและแพ็คใส่ถุงไว้ขาย

ที่สำคัญ สวนผักดาดฟ้าแห่งนี้ มีความโดดเด่นด้านการคิดค้น เทคนิค นวัตกรรมของการทำสวนผักดาดฟ้า ที่ให้ความสำคัญกับการคำนวณน้ำหนักของแปลงปลูกให้เหมาะสม ประยุกต์ใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ให้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญคือมีความสวยงามและมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ในแต่ละครั้งที่เรามีโอกาสไปเยี่ยมสวนผักดาดฟ้าแห่งนี้ ก็จะพบรูปแบบการทำแปลงผักใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้เสมอ ตั้งแต่การทำแปลงปลูกจากเศษป้ายไม้เก่าๆ ไม้ยูคามาก่อเป็นขอบแปลงและปูรองด้วยกระสอบปุ๋ยมาเย็บติดกัน หรือการนำแผ่นโฟมหรือแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดมาทำเป็นแปลงปลูก และนวัตกรรมล่าสุดคือ การใช้อิฐมวลเอามาทำแปลง และลดน้ำหนักแปลงด้วยการใช้ขวดน้ำพลาสติกประสานเป็นขอบแปลง แทรกระหว่างอิฐมวลเบา ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดน้ำหนักของแปลงผักลงได้มาก สำหรับพื้นที่บนดาดฟ้าทางวิศวกรโครงสร้างที่สำนักงานเขตให้ข้อมูลว่าพื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 250 กิโลกรัม

ในด้านการจัดการปัญหาแมลงศัตรูพืช ใช้เทคนิคการตัดตอนวงจรการระบาดก่อนที่แมลงจะเข้ามารุกราน โดยจะไม่ปลูกผักชนิดเดียวกันในพื้นที่ที่เคยปลูก มีการปลูกผักหมุนเวียนเรื่อยๆ และอีกเทคนิคที่น่าสนใจคือ การปลูกพวกผักกินใบทั่วไป เมื่อย้ายกล้าผักลงแปลงปลูก จะใช้เวลาดูแลต่ออีกไม่เกิน 30 วัน ก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนที่แมลงจะเข้ามากิน ทำให้ยังไม่มีแมลงเข้ามารบกวน

สวนผักดาดฟ้าแห่งนี้ถือว่าเป็นพื้นที่อาหารของคนในสำนักงานเขต รวมถึงประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่เรียนรู้เองการทำเกษตรในเมืองให้คนทั่วไปที่สนใจอีกด้วย โดยจะจัดอบรมเป็นประจำทุกเดือน ปัจจุบัน สวนผักดาดาฟ้าแห่งนี้ให้ข้อมูลว่า คนรุ่นใหม่เริ่มมีความสนใจการทำเกษตรในเมืองกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คุณอีฟได้ให้คำแนะนำว่า ในกรุงเทพควรมีธนาคารไว้ผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง ปัจจุบัน ธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวและผักพื้นบ้านส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือเป็นหลัก คนเมืองต้องพึ่งพาแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์จากภายนอก และการมีธนาคารเมล็ดพันธุ์หลายแห่งก็จะช่วยส่งเสริมงานอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งดีกว่าการมีธนาคารเมล็ดพันธุ์เพียง 1-2 แห่ง เพราะเมื่อถูกน้ำท่วมหรือไฟไหม้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่แหล่งเก็บเมล็ดพันธุ์จะสูญเสียไปกับภัยพิบัติต่างๆ

โครงการสวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7

 

เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รกร้างที่ปกคลุมไปด้วยป่าละเมาะ สมาชิกในชุมชนที่สนใจและตกลงร่วมกันว่าอยากจะพัฒนาและเปลี่ยนให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อาหารปลอดภัยของคนในชุมชน จึงลงแรงกัน ช่วยกันถากถางพื้นที่ เพื่อปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ แต่พื้นที่เกษตรในเมืองแห่งนี้พื้นที่แห่งนี้จะเกิดปัญหาน้ำท่วมทุกปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่ชาวบ้านก็ไม่ย่อท้อต่อการอยู่กับวิกฤติธรรมชาติ และเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะรู้ว่าน้ำท่วมแต่ละครั้ง น้ำจะท่วมถึงหัวเขา และ ขังในพื้นที่นานถึง 2-3 เดือน ซึ่งก็ต้องปล่อยๆให้ท่วมไป และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือไว้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทำแปลงผักยกพื้น การเพิ่มความสูงของแปลงให้สูงกว่าระดับน้ำที่จะท่วม การทำเล้าไก่ให้มีพื้นสองชั้นเพื่อให้ไก่หนีน้ำท่วม การปลูกผักที่มีอายุสั้นและเกี่ยวก่อนที่น้ำจะมา เป็นต้น

ในด้านการจัดการสมาชิกก็เป็นอีกแง่มุมที่น่าสนใจ โดยมีการแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนตามความถนัด บางคนถนัดปลูก อีกคนถนัดเก็บ ถนัดรดน้ำ ถนัดบำรุงดูแล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้กันสักระยะหนึ่ง ที่สำคัญลุงที่ดูแลเป็นข้าราชการทหารเกษียณได้เข้ามาทำเกษตรกรรมเพราะผ่านชีวิตทางการทหารที่ได้ฝึกการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาตลอดชีวิตของลุง

โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง “ฟาร์มเจ้าชายสัตว์“

 

 

พื้นที่เกษตรในเมืองที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติใช้ ซึ่งริเริ่มโดย คุณอั้น (ก้องเกียรติ ถาดทอง) อดีตข้าราชการที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรที่เน้นการทำปศุสัตว์ในเมือง ด้วยพื้นที่เช่าเพียง 1 ไร่ครึ่ง โดยแบ่งเป็น 2 โซนหลัก ได้แก่ โซนต้นไม้ ทั้งไม้ยืนต้น และพืชหมุนเวียน ที่ปลูกให้โตจนออกผลผลิตให้กินกันสดๆ ทั้งผักกาด คะน้า ผักบุ้ง กะเพรา พืชผักสวนครัวต่างๆ เป็นผักปลอดสาร 100 เปอร์เซ็นต์ และหากใครมาฟาร์มของคุณอั้นแล้วจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หมาของที่นี่ดุมากกกกก ซึ่งหลายท่านก็แปลกใจว่าทำไม หมาของที่นี่ไม่มาเดินเหยียบย่ำแปลงผักเลย ซึ่งคุณอั้นก็ให้คำแนะนำมาว่า ต้องฝึกตั้งแต่เค้ายังเล็ก หากเดินเข้าไปย่ำแปลงผักก็ใช้ไม้ตี หรือ การขู่ให้กลัวด้วยการนำ “ตุ๊กตาหมา” มาวางบนแปลงผักแล้วใช้ไม้ตีเป็นตัวอย่างให้หมาที่สุดแสนจะดุให้เกิดความรู้สึกกลัว ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย

และโซนเลี้ยงสัตว์ที่เป็นจุดเด่นของที่นี่ ทำให้คุณอั้น ถูกเรียกขนานนามว่า “เจ้าชายสัตว์” คนในชุมชนข้างวัดพระศรีมหาธาตุรู้จักคุณอั้นดี เพราะมีแค่คนเดียวในชุมชนที่ขี่ม้าออกมาจับจ่ายซื้อของตามร้านค้าในซอย ภายในพื้นที่ปศุสัตว์ประกอบไปด้วย บ่อเลี้ยงปลาธรรมชาติ คอกเลี้ยงม้า พื้นที่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และคอกอนุรักษ์ควายไทย ซึ่งอาจเป็นที่แห่งเดียวในกรุงเทพที่เลี้ยงควาย คุณอั๋น อีกทั้งคุณอั้นยังบอกอีกว่า ที่นี่ยังเลี้ยงแพะนมเพื่อผลิตนมแพะขาย ซึ่งแพะเองเป็นสัตว์ที่น่ารักและสะดุดตาแก่ผู้เข้ามาพบเห็น โดยนมแพะผลวิจัยออกมาว่าช่วยเสริมสร้างกระดุกให้แข็งแรง และเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนเมืองที่แพ้นมวัว

การสนทนาระหว่างคุณอั้นและอาจารย์ 2 ท่านก็มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งทั้งคุณอีฟและคุณซิชีเลียก็ประหลาดใจอย่างมากเช่นเดียวกับสวนผักดาดฟ้า สำนักงานเขตหลักสี่ เพราะไม่มีคิดว่าพื้นที่แห่งนี้จะสามารถเลี้ยงปศุสัตว์ได้ เพราะในยุโรป หากจะเลี้ยงปศุสัตว์ ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐหรือเทศบาล และพื้นที่ในเมืองส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้ทำปศุสัตว์เพราะก่อเหตุรบกวนให้แก่ผู้อยู่อาศัยรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องและกลิ่นเหม็นที่มากับมูลสัตว์ แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ใช่ปัญหาสำหรับที่นี่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเพื่อนบ้านก็ไม่ชอบสิ่งรบกวนเช่นเสียงร้องหรือกลิ่นที่ลอยมาจากฟาร์มเท่าไรนัก แต่ด้วยความที่พี่อั้นเลี้ยงสัตว์ที่แปลก ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วในเมือง อย่างเป็ด ไก่ ม้า ควาย และแพะนม ปัญหาสิ่งรบกวนก็ถือเป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อเทียบกับความเพลิดเพลินกับการเดินชมสัตว์เหล่านี้ในยามว่าง

ในแง่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทั้งในเมืองไทยและยุโรป ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยคุณอั้นมีความเห็นว่า ที่เกษตรอินทรีย์ของเมืองไทยไม่ขยายไปได้เท่าที่ควร ก็มีสาเหตุมาจากสินค้าอินทรีย์มีราคาแพงเมื่อเทียบกับรายได้ของคนชนชั้นกลาง ทำให้สินค้าอินทรีย์ส่วนใหญ่ถูกวางขายตามห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง จากนั้น คุณซิชีเลียได้ให้ความเห็นว่า ที่ยุโรปเอง สินค้าอินทรีย์ก็มีราคาแพงเช่นกัน (ในความเป็นจริงสินค้าอาหารทั่วไปที่ยุโรป ต่อให้ไม่เป็นอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็มีราคาแพงอยู่แล้ว) แต่รากของปัญหาต่างกันตรงที่พื้นที่เกษตรอินทรีย์ในยุโรปนั้นมีน้อยมาก และผลิตได้น้อยกว่าความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ทำให้แม้ว่าสินค้าอินทรีย์จะมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป คนเมืองยุโรปที่รักสุขภาพก็ยังเลือกบริโภคสินค้าอินทรีย์ ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีครอบครัวด้วยแล้วจะใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ

ในแง่คุณภาพสินค้าอินทรีย์ก็ถือว่าเป็นข้อถกเถียงกันมากในเมืองไทย ในแง่มุมนี้ คุณซิชีเลีย ได้แบ่งปันแก่พวกเราว่า สินค้าอินทรีย์ทุกรายการในยุโรปจะต้องได้รับตรารับรองก่อนนำมาขายและใช้ชื่อว่า “อินทรีย์” ทำให้ผู้บริโภคไม่สงสัยในแง่ของคุณภาพสินค้า เพราะระบบการตรวจรับรองเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกประเทศในยุโรป ราคาสินค้าอินทรีย์ในยุโรปจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ต่างจากเมืองไทย ที่สะท้อนโดยคุณอั้น และ อ.ปิยะพงษ์ ที่มีหลายมาตราฐานมาก ทำให้เกิดปัญหาหรือข้อสงสัยในกลุ่มผู้บริโภคถึงคุณภาพสินค้า เกิดการแบ่งเกรดสินค้า ราคาสินค้าอินทรีย์จึงต่างกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นผักชนิดเดียวกัน ระบบการผลิตเหมือนกัน แต่ถ้าตรารับรองเป็นคนละแบบกันแล้ว ราคาขายก็ย่อมต่างกัน ด้วยเหตุนี้ เกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยจึงไปไม่ไกลเท่าที่ควร

ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก (ลาดพร้าว 71)

และแล้วก็มาถึงบทสนทนาระหว่างคุณอีฟและคุณปริ๊นซ์ (นคร ลิมปคุปตถาวร) ที่ค่อยข้างสนุก ได้อรรถรส ด้วยอริยบทต่างๆที่เห็น เพราะการสนทนาไม่ต้องใช้ล่ามแปล เนื่องจากคุณปริ๊นซ์พูดภาอังกฤษได้ พร้อมแลกเปลี่ยนกับ​คุณอีฟไว้หลายแง่มุม​ คุณปริ๊นซ์ได้เล่าว่า​ ทางศูนย์ฯ​ ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรในเมือง​มากกว่า​ 10 ปี​ ผ่านการฝึกอบรมให้แก่ผู้สนใจทั่วไป​ เพราะเกษตรในเมืองไม่มีการเปิดสอนเป็นรายวิชาในมหาวิทยาลัย​อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยการสอนเน้นที่การฝึกปฏิบัติเป็นหลัก

โดยเน้นที่การพัฒนาดิน เพราะหากดินมีชีวิต​ มีช่องอากาศถ่ายเทให้รากชอนใชลงไปใต้ดินได้สะดวก​ และมีอินทรีย์วัตถุหรือ​ฮิวมัส​ที่เปรียบเสมือนเจลลี่ดำในธรรมชาติ​แล้ว พืชผักก็สามารถโตได้อย่างแข็งแรง​ ทนทานต่อโรคและแมลง​ ดังนั้น​ เราจึงมักไม่ส่งเสริมวิธืการขุดและพลิกหน้าดิน​ เพราะจะทำให้ธาตุอาหารบริเวณหน้าดินสูญเสียไป​ ส่วนหญ้าก็อาจถอนออกจากแปลงในช่วงแรก​ (ช่วงลงต้นกล้าผัก) จากนั้นค่อยปล่อยหญ้าขึ้นเพื่อให้รากช่วยพรวนดินและเป็นที่อยู่ให้แก่จุลินทรีย์ในดิน​ เพราะเมื่อผักเติบใหญ่จนแซงหญ้าได้แล้ว เรื่องวัชพืชจึงไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

ในแง่พัฒนาการเกษตรในเมือง​ ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนจากประขาชนเป็นหลัก​ ซึ่งเหมือนกับที่ยุโรป​ แต่สิ่งต่างกันคือ​ พื้นที่เกษตรในเมืองของไทยส่วนมาก​มักจะเป็นในครัวเรือนเป็นหลัก​ สวนผักชุมชนก็มักจะเป็นภายในชุมชนเอง​ ที่น่าสนใจ​ คือ​ แนวโน้มที่สวนผักชุมชน​จะอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลจะมีมากขึ้น ซึ่งหลังจากการออกกฎหมายภาษีที่ดิน​ ทำให้เจ้าของที่ดินหลายรายเริ่มเปิดพื้นที่ว่างเปล่าของตนเองให้คนรอบชุมชนเข้ามาทำเกษตรมากขึ้น​

แง่มุมดังกล่าว​ คุณอีฟและคุณซิชีเลีย ได้ให้ความเห็นว่า​ สวนผักชุมชนในเมืองไทยจะต่างจากยุโรป​ ซึ่งสวนผักในชุมชนจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่รัฐหรือเทศบาลเป็นเจ้าของเป็นหลัก​ ได้แก่​ ทางเท้า​ พื้นที่ริมทางรถไฟ​ และสวนสาธารธณะ โดยเฉพาะสวนสาธารณะ​ พื้นที่​ 1 ใน​ 3 จะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาทำเกษตร​เพื่อนำผลผลิตมาบริโภคเองในครัวเรือน​ บางแห่งมีเงื่อนไขอีกว่าห้ามนำผลผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยแบ่งเป็นแปลง ​(allotment) หนึ่งแปลงต่อหนึ่งสิทธิการใช้พื้นที่ ซึ่งหากพบว่าแปลงใดไม่มีการทำเกษตร​ สิทธิในการใช้พื้นที่ก็จะตกไปอยู่ที่ผู้ขอสิทธิใช้พื้นที่รายต่อไป​ ต่างจากเมืองไทย​ที่สวนสาธารณะ​เน้นไปที่การใช้ประโยชน์ในแง่นันทนาการเป็นหลัก​ แม้ว่าบางแห่งมีการปลูกสวนครัวบ้าง​ แต่เป็นในลักษณะ​ปลูกเพื่อ​ “โชว์” เป็นหลัก

บทสรุปจาก 2 ผู้เชี่ยวชาญ

การลงพื้นที่ของคุณอีฟและคุณซิชีเลียในครั้งนี้ ทำให้เราทราบว่า ในอนาคต การทำเกษตรในเมืองจะเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนเมืองมากขึ้น ซึ่งการทำเกษตรในเมืองถือเป็นสิ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามเมืองในยุโรปและทางภาครัฐให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี จนเกิดแหล่งผลิตอาหารและพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกับการพัฒนาเมืองสีเขียว ในเมืองไทยเองก็มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยสนใจมาทำเกษตรอยู่ไม่น้อย หากภาครัฐหรือส่วนกลางมีนโยบายสนับสนุนการเกษตรในเมืองผ่านมาตราการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมให้ความรู้ การให้เงินทุนอุดหนุน หรือ การเปิดพื้นที่ส่วนกลาง (ซึ่งรวมถึงพื้นที่ริมรั่วหรือกำแพง) ก็สามารถเนรมิตเมืองกรุงเทพให้เป็นสีเขียวได้ไม่ยากนัก