เกษตรในเมืองกับการสร้างจิตสำนึกเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม

ดูเหมือนว่า ทุกวันนี้คนจะพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ไปจนถึงอาหารที่ปนเปื้อนต่างๆ ในขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อย ก็เริ่มตื่นตัว และหันมามีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เช่นเรื่องการลดการใช้พลาสติก ทั้งแก้ว ถุง บรรจุภัณฑ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่อาจจะแค่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่ยังไม่ถึงกับเกิดจิตสำนึก หรือลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงใดๆ และบางทีการทำเกษตรในเมือง ก็อาจเป็นคำตอบหนึ่ง ที่เข้าไปมีส่วนช่วยสร้างจิตสำนึกเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นได้

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ “Urban Farming as A Civic Virtue Development in the Environmental Field” ผลงานของ Wibowo Heru Prasetiyo และคณะ เขาได้เข้าไปศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบของการทำเกษตรในเมือง ที่ชุมชน Bandung Berkebun ประเทศอินโดนีเซีย  โดยสิ่งที่เขาสนใจก็คือว่า การทำเกษตรในเมืองนี้มีผลต่อการสร้างสำนึกพลเมืองที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนในชุมชนได้หรือไม่

 

 

จากการศึกษาครั้งนั้น เขาพบว่า จากเดิม Bandung เป็นชุมชนที่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ แหล่งน้ำแถวนั้นก็สกปรกมาก ทั้งๆที่มีหน่วยงานภาครัฐพยายามเข้าไปทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วม จึงไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆนัก จนกระทั่งมีโครงการปลูกผักในเมืองเกิดขึ้น โดยโครงการปลูกผักที่ชุมชนทำนี้ เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนทั้งเรื่องสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  หัวใจสำคัญคือ โครงการนี้เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ไม่ได้ทำตามคำสั่งของหน่วยงานภาครัฐ

หลังจากที่ทีมงานวิจัยได้เข้าไปสัมภาษณ์ สังเกตการณ์ เก็บข้อมูลคนในพื้นที่วิจัย ก็พบว่าโครงการปลูกผักในเมืองนี้ เข้าไปมีบทบาท และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนในชุมชนหลายมิติด้วยกัน

ด้านการศึกษา เขาพบว่าการปลูกผักในเมือง ทำให้คนในชุมชนมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งยังมีทักษะความรู้ความสามารถในการทำเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตัวเองด้วย

ด้านเศรษฐกิจ เขาก็พบว่า ปลูกผักในเมืองมีส่วนช่วยทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น และผลผลิตบางส่วนก็ยังสามารถขายเป็นรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย

ด้านสังคม เขาพบว่า การปลูกผักในเมืองมีส่วนช่วยสร้างความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้น และทำให้ผู้คนในชุมชนมีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการทำสิ่งต่างๆเพื่อสังคมมากขึ้น

ด้านสิ่งแวดล้อมหรือนิเวศวิทยา เขาพบว่า การปลูกผักในเมืองทำให้คนตระหนักได้ว่า เราสามารถมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวได้โดยเริ่มจากที่บ้านของตัวเอง นอกจากนี้เขายังพบว่า การปลูกผักในเมืองยังทำให้คนตระหนักเรื่องคุณภาพของอาหารที่กินมากขึ้น และทำให้ผู้คนในชุมนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย มีการจัดการขยะ และมีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม ที่ตัวเองจะลุกขึ้นมามีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่นหลายคนก็เริ่มทำปุ๋ยจากเศษอาหารที่บ้าน หลายคนก็เข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้นในเมืองมากขึ้นด้วย

 

 

เขาพบว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเลยคือ ชุมชนสะอาดขึ้น ปัญหาเรื่องขยะ น้ำเสียลดลง และจากที่ไม่มีพื้นที่สีเขียวเลย ตอนนี้ก็แวดล้อมไปด้วยพืชผักสีเขียวกินได้ ที่สำคัญคือคนในชุมชนก็มีสำนึกรักชุมชน และก็ลุกขึ้นมามีส่วนช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชนกันมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่การปลูกผักในเมืองทำให้เกิดจิตสำนึกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นที่กล่าวมาได้นี้ ทางโครงการก็ต้องมีการออกแบบการทำงาน และกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งสร้างความตระหนัก และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยเช่นกัน เพราะกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ จะเข้าไปมีส่วนช่วยทำให้คนในชุมชนเกิดความเข้าใจ เล็งเห็นถึงศักยภาพของตัวเอง มีความมั่นใจ และมุ่งมั่นที่จะลงมือทำมากขึ้น

นี่เป็นหนึ่งในอีกหลายตัวอย่าง ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเกษตรในเมือง ที่มีส่วนช่วยสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากมาย อาจเรียกได้ว่าเป็นเหมือนทุนทางสังคมอันสำคัญ ที่ผู้คนตัวเล็กๆในชุมชนเหล่านี้จะเข้าไปมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ในเมือง ในประเทศ ไปจนถึงในโลกนี้ได้ต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก

https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1114654.pdf

https://towardsthehumancity.org/initiative-31-bandung-berkebun/

https://www.liputan6.com/citizen6/read/2027337/bandung-berkebun-menghijaukan-bandung-sebagai-gaya-hidup