Techniques in Urban Agriculture บทที่ 3: ก่อนจะเกิดผักเป็นต้น ต้องเริ่มที่เมล็ด

ต้นกำเนิดของอาหารก็มาจากเมล็ดพันธุ์ที่จะงอกเป็นต้นกล้าและเติบโตจนมาเป็นผักและผลไม้ให้เรากิน จริงๆ แล้ว การเพาะเมล็ดก็เป็นหนึ่งในวิธีการขยายพันธุ์พืชที่เป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติ และยังมีวิธีตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ปักชำ หรือ การติดตา ที่สามารถใช้ขยายพันธุ์พืชได้ แต่วิธีเหล่านี้มักนิยมใช้กับไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น แต่สำหรับผักกินใบนั้นจะใช้วิธีเพาะเมล็ดเป็นหลัก เรามาเริ่มเพาะงอกกันเลยคะ

การเลือกเมล็ดพันธุ์

หลายท่านอาจละเลยความสำคัญต่อการเลือกซื้อเมล็ด เราควรเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์แท้ และซองเมล็ดต้องไม่ถูกแสงแดดหรือถูกฝน หากซองเมล็ดถูกวางอยู่หน้าร้านและโดนแสงแดดเราก็ไม่ควรเลือกซื้อ หากเมล็ดถูกแสงแดด ความร้อนและความชื้นจะทำให้อัตราการงอกของเมล็ดลดลง และสังเกตวันที่ผลิตและวันหมดอายุ หากเมล็ดยังใหม่ อยู่อัตราการงอกก็จะสูง และหากเมล็ดใกล้หมดอายุ  อัตราการงอกก็จะลดลง โดยทั่วไปควรใช้เมล็ดในซองให้หมดในวันที่เพาะปลูก หากซองเมล็ดถูกฉีกออกแล้ว สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 4 เดือน

การเพาะงอกและเพาะกล้า (Germination and seedling)

วัสดุที่เหมาะสมต่อการเพาะกล้าต้องสามารถรักษาความชื้นได้ดี มีความโปร่งและระบายอากาศได้ดี ซึ่งวัสดุที่เหมาะสมได้แก่ ขุยมะพร้าว พีทมอส และปุ๋ยหมัก หากใช้ปุ๋ยหมักเป็นวัสดุเพาะควรผ่านการร่อนให้เป็นผงเพื่อให้ได้เม็ดปุ๋ยที่มีขนาดเล็ก ซึ่งสามารถระบายอากาศได้ดีและมีธาตุอาหารเพียงพอต่อกล้าผัก เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองปุ๋ยหมัก เรามักจะผสมขุยมะพร้าวกับปุ๋ยหมัก ซึ่งสัดส่วนการผสมแล้วแต่นักปลูกแต่ละท่าน โดยทั่วไปอาจผสมขุยมะหร้าวกับปุ๋ยหมักในสัดส่วนเท่าๆ กัน ขั้นตอนการเพาะงอกและเพาะกล้าผักมีดังนี้

  1. ขั้นแรกเริ่มจากการทำวัสดุเพาะต้นกล้า โดยนำดินและขุยมะพร้าวมาร่อนด้วยตะแกรงหรือตะกร้าก็ได้ จากนั้นผสมดินและขุยมะพร้าวที่ผ่านการร่อนแล้วอย่างละ 1 ส่วน และคลุกเคล้าให้เข้ากัน จริงๆ แล้วจะใช้ดินร่อนละเอียดอย่างเดียวเลยก็ได้ แต่ที่ผสมขุยมะพร้าวลงไปก็เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ดิน มีโพรงช่วยระบาย อุ้มน้ำและรักษาความชื้นดีกว่าวัสดุเพาะที่เป็นดินอย่างเดียว
  2. จากนั้นนำวัสดุเพาะมาเทใส่ตะกร้า หรือ ภาชนะที่มีรูพรุนที่มีความสูงประมาณ 3-4 นิ้วลงไป หากเกรงว่าวัสดุเพาะจะหลุดออกจากตะกร้า ก็สามารถรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เปียกน้ำก่อนเทวัสดุเพาะลงไปในภาชนะเพาะงอก เมื่อเทวัสดุเพาะลงไปแล้ว รดน้ำด้วยฝักบัวสำหรับรดน้ำต้นกล้าให้ชุ่ม
  3. ใช้ไม้ขีดเป็นร่องๆ ให้ห่างประมาณ 1 ไม้บรรทัด ความลึกของร่องอยู่ที่ 0.3 – 0.5 เซนติเมตร หรือลึกประมาณ 3 เท่าของขนาดเมล็ด จากนั้นโรยเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่อง หากเป็นไปได้ ไม่ควรให้เมล็ดซ้อนทับกัน เพราะเมื่อต้นกล้างอกและโตขึ้นจนกดทับกัน ทำให้แยกต้นกล้าออกจากกันได้ยาก
  4. ใช้ดินกลบทับบางๆ พอให้คลุมเมล็ดมิด อย่าให้เมล็ดโดนอากาศหรือแสงแดดซึ่งจะส่งผลให้อัตราการงอกของเมล็ดลดลง ไม่ควรให้ดินกลบเมล็ดลึกจนไร้อากาศให้เมล็ดหายใจ
  5. นำหนังสือพิมพ์มาปิดทับ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม เพื่อรักษาความชื้นและกระตุ้นการงอก

การแยกกล้าลงถาดหลุม

หลังจากต้นกล้าเติบโตเพียงพอแล้ว ขั้นต่อมาคือ การย้ายกล้าลงถาดหลุม ซึ่งมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

  1. ร่อนดินใส่ในถาดเพาะกล้าให้เต็ม ปาดให้เรียบ แล้วค่อยรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้น ใช้ไม้แหลมคล้ายแท่งดินสอหรือไม้ลูกชิ้นแทงงัดต้นกล้าขึ้นมาเป็นกระจุก
  2. เลือกต้นกล้าที่แข็งแรง คือ ต้นตรง ไม่คดงอ มีรากอยู่เยอะ เมื่อเลือกเสร็จ ค่อยวางต้นกล้าลงในถาดหลุม โดยให้รากจ่อไปที่ปากหลุม แล้วใช้ไม้กดไปที่ราก ให้ต้นตั้งตรง รากจมดิน เหลือใบและลำต้นไว้ สิ่งสำคัญคือ ต้องระวังอย่ากดที่โดนต้น เพราะต้นกล้าอาจหักได้
  3. วางพักไว้ในที่ร่มสัก 2 วัน หมั่นรดน้ำและอย่าให้วัสดุเพาะกล้าแห้ง เนื่องจากต้นกล้าชอบอยู่ใต้ร่มเงา ชอบอากาศและดินที่ชื่น พอเข้าวันที่ 3 จึงนำออกแดดได้ รดน้ำอย่างระมัดระวังไม่ให้ต้นกล้าหัก พอต้นกล้าอายุได้ประมาณ 20 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลงที่เตรียมไว้ต่อไป

 

การย้ายต้นกล้า (Transplanting)

เมื่อใบของต้นกล้าเริ่มมีสีเขียว และ เริ่มเอนลำต้นเข้าหาแสงมากขึ้น นั้นก็หมายความว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องย้ายต้นกล้าลงแปลงหรือกระถางได้แล้ว ดังที่กล่าวไปแล้วในบทที่แล้ว การย้ายต้นกล้าต้องระวังไม่ให้รากถูกอากาศ เพราะรากมีความอ่อนไหวต่ออากาศมาก รากจะถูกอากาศแค่ 2-3 วินาที ก็มากเพียงพอที่อากาศจะเข้าไปทำลายขนรากหรือรากขนาดเล็กเป็นจำนวนมากได้

ดังนั้น ระหว่างการย้ายกล้าลงแปลงปลูกต้องพยายามให้ดินห่อหุ้มรากให้ได้มากที่สุด เมื่อย้ายลงแปลงแล้ว ให้นำดินกลบรอบลำต้น พยายามอย่าให้รากถูกแสงแดด  การย้ายต้นกล้าควรทำในตอนเย็นเพื่อไม่ให้ต้นกล้าถูกแดดเผา ยิ่งหากย้ายกล้าในวันที่เมฆปกคลุมหนาแน่นด้วยจะดีมาก หลังย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูกหรือกระถางเสร็จต้องรดน้ำให้ชุ่มทันที การย้ายกล้าในตอนเย็นยังได้รับอิทธิผลจากน้ำค้างในตอนกลางคืน ความชื่นในยามค่ำคืนจะกระตุ้นให้รากงอกออกจากต้นกล้าได้ดีมากขึ้น ต้นกล้าจึงมีความแข็งแรงและอยู่รอดได้มากกว่าต้นกล้าที่ย้ายในเวลากลางวัน

References
  • โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย). (2557). สวนผักคนเมือง : รวมรูปแบบ เทคนิคและเคล็ดลับการปลูกผักในเมือง. ภายใต้การสนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
  • อานัฐ ตันโซ. (2556). ตำรา เกษตรกรรมธรรมชาติประยุกต์ แนวคิด หลักการ เทคนิคปฏิบัติในประเทศไทย ปี 2556. ภายใต้การสนับสนุน โดย  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • Bidlack, J.D. & Jansky, S.H. (2012). Stern’s introductory plant biology. New York: McGraw-Hill.
  • Gliessman, S.R. (2015). Agroecology : The Ecology of Sustainable Food Systems. Bosa Roca: Taylor & Francis Inc.
  • Hamilton, G. (2011). Organic Gardening. New York: Dorling Kindersley Ltd.
  • Mollison, B. (1997). Permaculture: A Designers’ Manual. Tagari Publications.
  • Seymour, J. (2019). The New Complete Book of Self-Sufficiency : The Classic Guide for Realists and Dreamers. London: Dorling Kindersley Ltd.