“สวนผักคนเมือง” กับแนวความคิด “Land Sharing : แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต”

“สวนผักคนเมือง” กับแนวความคิด 

“Land Sharing : แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต”

โครงการสวนผักคนเมือง : ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต เริ่มดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2553 ภายใต้มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ศูนย์อบรมเกษตรในเมือง และเครือข่ายสวนผักคนเมือง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยตระหนักถึงปัญหาของคนเมืองในด้านอาหาร ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง เราจึงมุ่งยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมือง และผนวกเรื่องการปลูกผัก การทำเกษตรในเมืองแบบไม่ใช้สารเคมี และการพึ่งตนเองด้านอื่นๆให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนเมือง พร้อมทั้งมุ่งยกระดับความคิด สร้างความตระหนักถึงบทบาทของเกษตรในเมืองในฐานะที่มีส่วนช่วยพัฒนาระบบอาหารและวิถีชีวิตทางเลือกที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูลระหว่างกัน การเกื้อกูลและเข้าใจธรรมชาติ สร้างสังคมการอยู่ร่วมกัน เชื่อมโยงกับการฟื้นฟูดูแลระบบนิเวศของเมือง การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน คนกับธรรมชาติ เมืองกับชนบท เพื่อให้ประชาชนได้มีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนมุ่งสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของเมืองที่ให้ความ สำคัญกับเกษตรในเมืองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง และขยายไปสู่นโยบายของเมืองต่างๆ ในประเทศต่อไป

หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของเรา คือ การสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดพื้นที่รูปธรรมของเกษตรในเมือง ที่สามารถยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมืองให้เพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมืองให้เติบโต และสร้างพื้นที่ต้นแบบเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับมิติความมั่นคงทางอาหาร การสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสังคม สวนผักกับการบำบัด การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและผู้คนในสังคม การจัดการขยะ และอื่นๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและของเมือง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง โดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มคน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ

กรอบแนวคิดข้อเสนอโครงการ “Land Sharing : แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต”

การเพิ่มขึ้นของประชากร และการขยายตัวของเมือง องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านคน และจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง สูงถึงร้อยละ 70 “ความเป็นเมือง”(Urbanization) จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึง พื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตอาหารจะลดลง เกษตรกร(ผู้ผลิตอาหาร)จะลดลง ในขณะที่ความต้องการอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชาการจำนวนมากขึ้นอีกร้อยละ 6

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขบรรเทาให้เบาลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตและคุณภาพชีวิตที่ อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะนำการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาสู่ภูมิภาคเอเชีย ทั้งสภาพอากาศ การเกษตร การประมง ความหลากหลายทางชีวภาพทางพื้นดินและทางทะเล ความมั่นคงในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค การค้า การพัฒนาเมือง การอพยพเคลื่อนย้าย และการสาธารณสุข วิกฤติน้ำท่วมปี 2554 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า ภัยพิบัติมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะคนเมืองที่ถูกท้าทายความเชื่อที่ว่า ระบบอุตสาหกรรมอาหารที่มีอยู่จะช่วยดูแลและตอบสนองความต้องการด้านอาหารของเราได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อระบบการขนส่งอาหารที่เราพึ่งพิงจากภายนอกทั้งหมดไม่สามารถส่งมาถึงเราได้!! การมีแหล่งอาหารใกล้บ้าน หรือทักษะการพึ่งตนเองจึงเป็นโจทย์สำคัญในสถานการณ์ความท้าทายนี้

การผลิต การบริโภค ความปลอดภัย คำถามที่ว่าอาหารที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้มาจากไหน?? ใครเป็นผู้ผลิต?? ผลิตอย่างไร?? และขนส่งมาด้วยวิธีการใด กลายเป็นเรื่องที่คนทั่วไปละเลย ทั้งๆ ที่คำถามเหล่านั้นล้วนสัมพันธ์กับชีวิต เพราะแหล่งผลิตอาหารเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าอนาคตเราจะมีอาหารกินอย่างเพียงพอหรือไม่ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เผยรายงานผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2562 พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 41% และยังพบสารเคมีที่ห้ามใช้ในประเทศไทยตกค้างถึง 12 ชนิด และพบสารเคมีตกค้างในอาหารกลางวันเด็ก สูงถึง 63%

ข้อมูลพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร รายงานว่า มีพื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558  มีจำนวน 6,722 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ขนาด 75,319 ไร่ หากพื้นที่เหล่านี้ ถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรในเมือง จะสร้างให้เกิดพื้นที่อาหารของเมืองมากขนาดไหน ทั้งยังเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่เรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว ชุมชนท่ามกลางธรรมชาติ ช่วยให้เราได้กินอาหารท้องถิ่นจะสดใหม่ เป็นอาหารตามฤดูกาลและมีรสชาติดี

คุณค่าของการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าด้วยเกษตรในเมือง ช่วยยกระดับความมั่นคงทางอาหารในเมือง ยกระดับอธิปไตยทางอาหาร เพิ่มโอกาส สิทธิในการเข้าถึงอาหาร ที่ดิน ปัจจัยการดำรงชีวติของกลุ่มคนจนเมืองและคนชายขอบ เช่น คนป่วย คนชรา และคนพิการเป็นพิเศษ ช่วยการจัดการที่ดินที่มีประสิทธิภาพ เกษตรในเมืองจะช่วยรักษาและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมในเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางนิเวศของเมืองไว้ ลดการพึ่งพาภายนอกและสร้างการพึ่งพากันและกันทางอาหารในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการจะมีระบบอาหารของตนเองได้รับประกันความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ช่วยทำให้ระบบนิเวศของเมืองเกิดความสมดุลมากขึ้น อาทิ ช่วยจัดการของเสียของเมือง ช่วยรับมือกับมลภาวะ ช่วยนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ช่วยพัฒนาภูมิทัศน์ของเมือง และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การปลูกพืชผักไว้กินเองช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้ดีขึ้น บางแห่งนอกจากมีผักแล้ว ยังตามมาด้วยนก และแมลงอีกนานาชนิด ช่วยให้ห่วงโซ่อาหารสั้นลงและเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้แต่ละห่วงโซ่รับผิดชอบต่อกัน อยู่ใกล้กันและมีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น ช่วยยกระดับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เกิดเครือข่ายการผลิตและการกระจายอาหาร ซึ่งฐานสำคัญของเครือข่ายทางสังคม และการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองร่วมกัน

(ปิยะพงษ์ บุษบงก์,2554)