โครงการสวนผักคนเมือง : ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต เปิดรับข้อเสนอโครงการสนับสนุนการทำเกษตรในเมืองประจำปี 2562 – 2563

โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ขอเชิญกลุ่มบุคคล ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงาน องค์กรต่างๆ เสนอโครงการขนาดเล็กเพื่อร่วมพัฒนาและยกระดับความสำคัญของการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมือง ให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ผลิตอาหารด้วยการทำเกษตรในเมือง ภายใต้แนวคิด “Land Sharing : แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต” จำนวน 15 โครงการ

1. รู้จัก “สวนผักคนเมือง”

โครงการสวนผักคนเมือง : ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต เริ่มดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2553 ภายใต้มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ศูนย์อบรมเกษตรในเมือง และเครือข่ายสวนผักคนเมือง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยตระหนักถึงปัญหาของคนเมืองในด้านอาหาร ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง เราจึงมุ่งยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมือง และผนวกเรื่องการปลูกผัก การทำเกษตรในเมืองแบบไม่ใช้สารเคมี และการพึ่งตนเองด้านอื่นๆให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนเมือง พร้อมทั้งมุ่งยกระดับความคิด สร้างความตระหนักถึงบทบาทของเกษตรในเมืองในฐานะที่มีส่วนช่วยพัฒนาระบบอาหารและวิถีชีวิตทางเลือกที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูลระหว่างกัน การเกื้อกูลและเข้าใจธรรมชาติ สร้างสังคมการอยู่ร่วมกัน เชื่อมโยงกับการฟื้นฟูดูแลระบบนิเวศของเมือง การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน คนกับธรรมชาติ เมืองกับชนบท เพื่อให้ประชาชนได้มีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนมุ่งสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของเมืองที่ให้ความ สำคัญกับเกษตรในเมืองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง และขยายไปสู่นโยบายของเมืองต่างๆ ในประเทศต่อไป

หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของเรา คือ การสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดพื้นที่รูปธรรมของเกษตรในเมือง ที่สามารถยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมืองให้เพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่อาหารปลอดภัยในเมืองให้เติบโต และสร้างพื้นที่ต้นแบบเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับมิติความมั่นคงทางอาหาร การสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสังคม สวนผักกับการบำบัด การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและผู้คนในสังคม การจัดการขยะ และอื่นๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและของเมือง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง โดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มคน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ

2. กรอบแนวคิดข้อเสนอโครงการ “Land Sharing : แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต”

การเพิ่มขึ้นของประชากร และการขยายตัวของเมือง องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านคน และจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง สูงถึงร้อยละ 70 “ความเป็นเมือง”(Urbanization) จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึง พื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตอาหารจะลดลง เกษตรกร(ผู้ผลิตอาหาร)จะลดลง ในขณะที่ความต้องการอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชาการจำนวนมากขึ้นอีกร้อยละ 6

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขบรรเทาให้เบาลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตและคุณภาพชีวิตที่ อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะนำการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาสู่ภูมิภาคเอเชีย ทั้งสภาพอากาศ การเกษตร การประมง ความหลากหลายทางชีวภาพทางพื้นดินและทางทะเล ความมั่นคงในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค การค้า การพัฒนาเมือง การอพยพเคลื่อนย้าย และการสาธารณสุข วิกฤติน้ำท่วมปี 2554 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า ภัยพิบัติมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะคนเมืองที่ถูกท้าทายความเชื่อที่ว่า ระบบอุตสาหกรรมอาหารที่มีอยู่จะช่วยดูแลและตอบสนองความต้องการด้านอาหารของเราได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อระบบการขนส่งอาหารที่เราพึ่งพิงจากภายนอกทั้งหมดไม่สามารถส่งมาถึงเราได้!! การมีแหล่งอาหารใกล้บ้าน หรือทักษะการพึ่งตนเองจึงเป็นโจทย์สำคัญในสถานการณ์ความท้าทายนี้

การผลิต การบริโภค ความปลอดภัย คำถามที่ว่าอาหารที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้มาจากไหน?? ใครเป็นผู้ผลิต?? ผลิตอย่างไร?? และขนส่งมาด้วยวิธีการใด กลายเป็นเรื่องที่คนทั่วไปละเลย ทั้งๆ ที่คำถามเหล่านั้นล้วนสัมพันธ์กับชีวิต เพราะแหล่งผลิตอาหารเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าอนาคตเราจะมีอาหารกินอย่างเพียงพอหรือไม่ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เผยรายงานผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2562 พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 41% และยังพบสารเคมีที่ห้ามใช้ในประเทศไทยตกค้างถึง 12 ชนิด และพบสารเคมีตกค้างในอาหารกลางวันเด็ก สูงถึง 63%

ข้อมูลพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร รายงานว่า มีพื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558  มีจำนวน 6,722 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ขนาด 75,319 ไร่ หากพื้นที่เหล่านี้ ถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรในเมือง จะสร้างให้เกิดพื้นที่อาหารของเมืองมากขนาดไหน ทั้งยังเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่เรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว ชุมชนท่ามกลางธรรมชาติ ช่วยให้เราได้กินอาหารท้องถิ่นจะสดใหม่ เป็นอาหารตามฤดูกาลและมีรสชาติดี

คุณค่าของการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าด้วยเกษตรในเมือง ช่วยยกระดับความมั่นคงทางอาหารในเมือง ยกระดับอธิปไตยทางอาหาร เพิ่มโอกาส สิทธิในการเข้าถึงอาหาร ที่ดิน ปัจจัยการดำรงชีวติของกลุ่มคนจนเมืองและคนชายขอบ เช่น คนป่วย คนชรา และคนพิการเป็นพิเศษ ช่วยการจัดการที่ดินที่มีประสิทธิภาพ เกษตรในเมืองจะช่วยรักษาและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมในเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางนิเวศของเมืองไว้ ลดการพึ่งพาภายนอกและสร้างการพึ่งพากันและกันทางอาหารในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการจะมีระบบอาหารของตนเองได้รับประกันความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ช่วยทำให้ระบบนิเวศของเมืองเกิดความสมดุลมากขึ้น อาทิ ช่วยจัดการของเสียของเมือง ช่วยรับมือกับมลภาวะ ช่วยนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ช่วยพัฒนาภูมิทัศน์ของเมือง และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การปลูกพืชผักไว้กินเองช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้ดีขึ้น บางแห่งนอกจากมีผักแล้ว ยังตามมาด้วยนก และแมลงอีกนานาชนิด ช่วยให้ห่วงโซ่อาหารสั้นลงและเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้แต่ละห่วงโซ่รับผิดชอบต่อกัน อยู่ใกล้กันและมีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น ช่วยยกระดับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เกิดเครือข่ายการผลิตและการกระจายอาหาร ซึ่งฐานสำคัญของเครือข่ายทางสังคม และการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองร่วมกัน  (ปิยะพงษ์ บุษบงก์,2554)

โครงการสวนผักคนเมืองฯ จึงขอเชิญกลุ่มบุคคล ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย เสนอโครงการขนาดเล็กเพื่อร่วมพัฒนาและยกระดับความสำคัญของการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมืองให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร ภายใต้แนวคิด “Land Sharing : แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต” เพื่อแสดงพลังของคนเมืองที่จะร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่รูปธรรมของการทำเกษตรในเมือง ขยายพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อให้คนเมืองทุกกลุ่มได้เข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณภาพ เข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ ฟื้นฟูทักษะชีวิต ทักษะการพึ่งตนเองด้านอาหาร เรียนรู้ธรรมชาติ วิถีการกินอยู่อย่างเกื้อกูลระหว่างวัน ผ่านการพัฒนา ฟื้นฟู ดูแลพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ให้กลับมาเป็นพื้นที่ที่มีชีวิต มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยการเพาะปลูก การทำเกษตรกรรมในวิถียั่งยืน ผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูคนเมือง ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนเมืองได้เข้ามาทำกิจกรรม เรียนรู้เรื่องราวของอาหาร การเกษตร และธรรมชาติไปพร้อมกัน อันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดนโยบายสนับสนุนการทำเกษตรในเมือง และการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมือง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สร้างเมืองยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสนับสนุน จำนวน 15 โครงการ

3. วัตถุประสงค์

  • สนับสนุนและพัฒนาให้เกิดรูปธรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเมืองเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรในเมือง พื้นที่ผลิตอาหารของเมือง จำนวน  15 แห่ง ผ่านการประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าของที่ดิน คนเมือง เครือข่ายคนปลูกผักในเมือง ผู้บริโภค และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
  • สร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนเพื่อดูแล ฟื้นฟูพื้นที่/ผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ รักษาและเพิ่มพื้นที่อาหารของเมือง จากการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ การพึ่งตนเองด้านอื่นๆในเมือง สร้างแหล่งผลิตอาหารอินทรีย์และแหล่งกระจายอาหารอินทรีย์ในเมือง เพื่อการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัยให้ได้ปริมาณเพียงพอตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 400 กรัมต่อวัน ในกลุ่มคนเมือง
  • สนับสนุนให้เกิดการบริการจัดการที่ดินที่มีประสิทธิภาพ การแบ่งปันสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินในกลุ่มคนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมือง คนด้อยโอกาส คนรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหาร พัฒนาระบบอาหารและวิถีชีวิตทางเลือกที่อยู่บนฐานของการเกื้อกูลระหว่างกัน การเกื้อกูลและเข้าใจธรรมชาติ สร้างสังคมการอยู่ร่วมกัน
  • สร้างและขยายเครือข่ายคนปลูกผักในเมืองและผู้บริโภคในเมืองให้มีความรู้ความเข้าใจ  ตระหนักถึงความสำคัญของการทำเกษตรในเมืองที่มีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ร่วมผลักดันให้เกิดนโยบายสนับสนุนเกษตรในเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินในเมือง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

4. กติกา และหลักเกณฑ์ที่สนับสนุน

กลุ่มเป้าหมาย
  • เจ้าของที่ดิน ที่มีที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้ ขนาดตั้งแต่ 200 ตร.วา ขึ้นไป และไม่มีแผนที่จะได้ใช้ประโยชน์ในอีก 3 ปีข้างหน้า มีความสนใจ และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงนั้นให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ผลิตอาหารในวิถียั่งยืนสำหรับเพื่อนบ้าน คนในชุมชน และคนอื่นๆ ที่ ด้วยการแบ่งปันพื้นที่ให้กับผู้อื่น ร่วมออกแบบพื้นที่ การทำงาน เรียนรู้และลงมือทำเกษตร เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างว่างเปล่านั้น ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากพื้นที่แห่งนั้นร่วมกับเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่สีเขียว ภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ การบริโภคผัก และผลผลิตอื่นๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นๆ
  • คนเมือง เครือข่ายคนปลูกผักในเมือง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว กลุ่ม ชุมชน องค์กร ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป พร้อมที่จะเรียนรู้ และลงมือปฎิบัติไปด้วยกัน ด้วยการทำเกษตรในเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย พื้นที่สีเขียวที่มีชีวิต สร้างวิถีชีวิตทางเลือก คุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง

** โครงการสวนผักคนเมืองจะช่วยสนับสนุนการรวมกลุ่ม และการประสานการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ หากท่านยังไม่มีเพื่อนร่วมทีม และที่ดิน

  • หน่วยงานท้องถิ่น สามารถเข้าร่วมโปรแกรมด้วยการประสานประโยชน์การใช้ที่ดินสาธารณะ ที่ดินของรัฐกับประชาชนในพื้นที่ สนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยปรับปรุงที่ดินนั้นให้มีความพร้อมสำหรับการทำเกษตร และกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
  • นักวิชาการ/นักวิจัย/นักศึกษา/อาสาสมัคร สนับสนุนด้านงานวิชาการ โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่ ข้อมูลด้านการผลิต การบริโภค การจัดการขยะ ความหลากหลายของพันธุกรรมพืช/สัตว์ การฟื้นฟูระบบนิเวศของเมือง เศรษฐศาสตร์ของเกษตรในเมือง การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ สังคม และอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นบทบาทความสำคัญของงานเกษตรในเมือง ที่หน่วยงานในระดับนโยบายควรให้ความสำคัญ และผลักดันเป็นนโยบาย
พื้นที่เป้าหมาย
  1. เป็นที่รกร้างว่างเปล่า อาทิ ที่ดินสาธารณะ ที่ดินของเอกชน ที่ดินของรัฐ ขนาดตั้งแต่ 200 ตารางวาขึ้นไป และยังไม่มีแผนที่จะใช้ประโยชน์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
  2. ตั้งอยู่ในย่านที่การคมนาคมเข้าถึงสะดวก มีสภาพแวดล้อม ปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำเกษตรและกิจกรรมของกลุ่มสมาชิก เช่น มีชุมชน/ที่อยู่อาศัยตั้งอยู่ใกล้ๆ มีแหล่งน้ำ/ที่กักเก็บน้ำ มีต้นไม้ให้ร่มเงาพักเหนื่อย พื้นที่มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
  3. ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เช่น ค่าเช่า ค่าบริการในการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น
  4. ต้องอยู่ในพื้นที่เมือง/ชานเมือง ของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
หลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นโครงการที่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามข้อกำหนด อาทิ จำนวนสมาชิก ขนาดพื้นที่ อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด
  1. เป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย ภายใต้แนวคิด Land sharing วัตถุประสงค์ รวมถึงคุณสมบัติของผู้เสนอโครงการตามที่กำหนด
  2. มีรายละเอียดของโครงการชัดเจน และครบถ้วนตามหัวข้อในแบบเสนอโครงการ และสะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ ที่จะบรรลุเป้าหมายของโครงการร่วมกัน และส่งรายละเอียดโครงการครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด
  3. มีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับกิจกรรมที่ดำเนินการ มีโอกาสที่จะมีความยั่งยืน และต่อเนื่องเมื่อโครงการสิ้นสุดลง เข้าร่วมกิจกรรม/ขั้นตอนการคัดเลือกโครงการตามที่โครงการสวนผักคนเมืองกำหนดไว้
  4. ดำเนินการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีใดๆ พร้อมทั้งมีการปลูกผักหลากหลายตั้งแต่ 20 ชนิดขึ้นไป และเน้นส่งเสริมให้การพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิต การพึ่งตนเองด้านอื่นๆ ให้มากที่สุด
  5. มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่เกษตรในเมือง และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สนับสนุนการทำเกษตรในเมือง

5. รูปแบบการสนับสนุน

  1. เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานความร่วมมือ กับการทำงานร่วมกับสำนักงานเขต ศูนย์อบรม เจ้าของที่ดิน สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนและออกแบบการทำงานร่วมกัน และสนับสนุนเพื่อไปสู่เป้าหมาย
  2. สนับสนุนทีมที่ปรึกษา พี่เลี้ยงจากศูนย์อบรมเกษตรในเมือง และเครือข่ายสวนผักคนเมือง เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำตลอดการทำโครงการ
  3. กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ workshop และการเรียนรู้อื่นๆ ของโครงการสวนผักคนเมืองตลอดทั้งปี
  4. ผลผลิตจากแปลง หากมีจำนวนมากเกินความต้องการบริโภคในกลุ่ม สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ แหล่งกระจายอาหารของเครือข่ายสวนผักคนเมือง อาทิ City farm market  Farm to you  เพิ่มช่องทางอาชีพ รายได้ เป็นเศรษฐกิจอาหารท้องถิ่นของเมืองต่อไป
  5. สนับสนุนการเรียนรู้ สัมผัสประสบการณ์ และลงมือปฎิบัติอย่างจริงจัง ในทุกกระบวนการของการทำเกษตรในเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่อาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย พื้นที่สีเขียวที่นอกจากจะสร้างอาหารให้คุณแล้ว ยังเป็นพื้นที่พักผ่อน พื้นที่ของการเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัว เพื่อนบ้าน และเพื่อนคนอื่นๆ ที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้จักมาก่อน
  6. สนับสนุนความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะชีวิตด้านการทำเกษตรในเมือง เกษตรกรรมยั่งยืน ทักษะการพึ่งตนเองด้านอาหาร และการพึ่งตนเองด้านอื่นๆ ในเมือง การเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมของการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ เมืองกับชนบท ฯลฯ
  7. โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับงบประมาณสนับสนุน ไม่เกินโครงการละ 59,000  บาท  แบ่งเป็น
    • งบปรับปรุงพื้นที่ การปรับปรุงดิน และการเพาะปลูก จำนวน 35,000 บาท
    • งบการจัดอบรม การเรียนรู้ระหว่างสมาชิกโครงการและทีมวิทยากร พี่เลี้ยงของโครงการสวนผักคนเมือง จำนวน 14,000 บาท
    • และงบการจัดประชุม การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย จำนวน 10,000 บาท

6. จะเข้าร่วมโปรแกรม Land sharing อย่างไร ??

หากคุณเป็น “เจ้าของที่ดิน” ที่อยากแบ่งปันการใช้ประโยชน์ที่ดินกับเพื่อนๆ โปรดส่งรายละเอียดของคุณ มาตามรายละเอียด แบบฟอร์ม A

Link download แบบฟอร์ม A 

หากคุณเป็น “คนเมืองที่อยากปลูกผัก” มีพื้นที่/ที่ดินตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว และสามารถรวมกลุ่มเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนบ้าน เพื่อนสมาชิกในชุมชนที่จะร่วมโครงการนี้ ครบ 10 คนแล้ว โปรดส่งรายละเอียดข้อเสนอโครงการมาตามรายละเอียด แบบฟอร์ม B

Link download แบบฟอร์ม B

หากคุณเป็น “คนเมืองที่อยากปลูกผัก” แต่ยังไม่มีที่ดิน และยังมีสมาชิกกลุ่มไม่ครบ 10 คน โปรดส่งรายละเอียดของคุณมาตามรายละเอียด แบบฟอร์ม C

Link download แบบฟอร์ม C

หากคุณเป็น “นักวิชาการ/นักวิจัย/นักศึกษา/อาสาสมัคร” ที่อยากร่วมสนับสนุนโปรแกรม Land sharing โปรดส่งรายละเอียดของคุณมาตามรายละเอียด แบบฟอร์ม D

Link download แบบฟอร์ม D

7.  กรอบเวลา (timeline) “Land sharing แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต”

  • 10 กันยายน – 10 ตุลาคม 62      เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ
  • 11 ตุลาคม 62                                ประกาศผลการคัดเลือกรอบที่ 1
  • 15 ตุลาคม 62                                โครงการที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 นำเสนอโครงการ
  • 18 ตุลาคม 62                                ส่งข้อเสนอโครงการที่ปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะของกรรมการ
  • 21 ตุลาคม 62                               ประกาศผลโครงการที่ได้รับการอนุมัติ
  • 2 – 3 พฤศจิกายน 62                   ปฐมนิเทศโครงการ
  • 14 มีนาคม 63                                กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ /แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งรายงานความก้าวหน้า
  • 13 มิถุนายน 63                             กิจกรรมถอดบทเรียนโครงการ
  • 31 กรกฏาคม 63                           สิ้นสุดการใช้งบประมาณโครงการ และจัดส่งรายงาน

***********************************************************************

ส่งข้อเสนอโครงการ และสอบถามรายละเอียดได้ที่

E-mail: [email protected]
โครงการสวนผักคนเมือง : ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต  มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
  • ที่ตั้ง 3/13 หมู่ที่ 6 ซอยบางอ้อ 2 ถนนบางรักน้อย 18 ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
  • Website: www.thaicityfarm.com
  • Facebook: สวนผักคนเมือง : ปลูกเมือง ปลูกชีวิต
  • เบอร์โทรติดต่อ
    • พลอย 064-150-2259  ผู้ประสานงานโครงการสวนผักคนเมือง
    • ปุ้ย 089-717- 2535   หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง

**หมดเขตส่งข้อเสนอโครงการ วันที่ 10 ตุลาคม 2562