เปลี่ยนฝาบ่อบำบัดน้ำเสียให้เป็นพื้นที่อาหาร


ว่ากันตามจริงแล้ว หากเรามีโอกาสสำรวจพื้นที่ของชุมชนตัวเองจริงๆ เราก็จะพบว่า แต่ละชุมชน แม้ว่าพื้นที่บ้านแต่ละคนจะเล็ก แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีพื้นที่สาธารณะส่วนกลางที่ถูกทิ้งร้างไว้อย่างเปล่าประโยชน์ หนำซ้ำบางพื้นที่ยังกลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะ หรือกลายเป็นแหล่งมัวสุมด้วย

ที่ชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 325 ก็มีพื้นที่สาธารณะของชุมชน ที่ถูกทิ้งร้างและกลายเป็นที่ทิ้งขยะเช่นกัน พื้นที่ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นพื้นว่างเปล่าเฉยๆ แต่เป็นเขตพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสียของชุมชน ซึ่งฝาบ่อก็ทำเป็นตะแกรง และกั้นบริเวณไว้ ปกติคนผ่านไปผ่านมา ก็นำขยะมาทิ้ง ส่งกลิ่นเน่าเหม็นทั้งบนบ่อ และในบ่อ  ทว่าที่มีคนในชุมชนส่วนหนึ่ง อย่างป้าอุไร และกลุ่มเพื่อนๆ ก็ไม่ได้นิ่งดูดาย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสภาพที่ไม่ควรจะเป็น

ป้าอุไรกับเพื่อนสมาชิกในชุมชน ก็เลยชวนกันมาช่วยเคลียร์พื้นที่ และใช้พื้นที่ฝาบ่อนี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการปลูกผักในภาชนะ หรือวัสดุเหลือใช้ต่างๆมากมาย

มีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนสวนผักแห่งนี้ ถึงเป็นสวนเล็กๆ บนพื้นที่ประมาณ 5 x 5 เมตร แต่มีพืชผักหลากหลายไม่น้อย ที่ป้าอุไรเเละเพื่อนๆในชุมชนที่สนใจตั้งใจช่วยกันปลูกไว้ กลายเป็นพื้นที่อาหารปลอดภัยใกล้บ้านให้ทั้งตัวเอง และคนในชุมชนได้มาเก็บกินกัน

ป้าอุไรบอกว่า พอปลูกไปได้ 4-5 เดือน พอผักงาม คนที่ผ่านไปมาก็เริ่มมองเห็น เริ่มมาถามไถ่ จากเดิมเคยมีคนมาทิ้งขยะ ตอนนี้ ก็ไม่มีใครกล้าทิ้ง พื้นที่ตรงนี้ก็เลยดูเขียว สวยงาม เเถมคนที่มาปลูกผักด้วยกันยังบอกว่าสุขภาพร่างกายเเละจิตใจดีขึ้นด้วย เพราะได้ออกกำลังกาย ได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ เเล้วก็ได้กินอาหารดีๆไว้กิน

เรื่องการดูเเลสวนผักเล็กๆเเห่งนี้ ป้าอุไรบอกว่าไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีเเต่คนอยากมาดูเเล เหมือนได้มาพักผ่อนเเล้วก็ได้ผักไปกินที่บ้านด้วย ที่นี่เลยไม่มีการเเบ่งเวร หรือทำระบบการจัดการที่ผูกมัดตายตัวอะไร นอกจากนี้บางคนก็ยังเอากลับไปปลูกที่บ้านด้วย

หากถามถึงเรื่องสวนผักกับความมั่นคงทางอาหาร หรือการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทางกลุ่มนี้บอกว่าถ้าปลูกที่บ้านเสริมด้วย บางทีประหยัดได้ถึงเดือนละ 1000-2000 บาทเลยทีเดียว

เรียกว่าการลงมือ ร่วมเเรงร่วมใจกันคราวนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการด้วยกัน ทั้งเรื่องการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ชุมชน เรื่องอาหาร เรื่องสุขภาพ เรื่องค่าใช้จ่าย เเละที่สำคัญคือเรื่องความสัมพันธ์
เป็นเรื่องราวของคนตัวเล็กๆที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์ได้อย่างน่าชื่นชมจริงๆ เชื่อว่าเรื่องราวดีๆอย่างนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยแรงกายแรงใจของเราทุกคนนะคะ