ปรับปรุงดินด้วยถ่านชีวภาพ


หัวใจสำคัญของการปลูกผักให้งอกงาม ก็คือการปรุงดินให้ดี คนเมืองส่วนใหญ่ที่สนใจอยากปลูกผัก มักเริ่มต้นด้วยการไปซื้อดินถุง แล้วก็ไปซื้อเมล็ดมาหว่านลงไปใน ผลก็มักจะออกมาว่าผักไม่โต แคระแกร็น จนทำให้หลายคนถอดใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีความตั้งใจมุ่งมั่นมากพอ และให้เวลากับการปรุงดินให้ดีก่อนลงมือปลูก เชื่อว่าพืชผักต่างๆก็จะเติบโตงอกงามขึ้นมาให้อิ่มอกอิ่มใจ และเป็นอาหารให้อิ่มท้องได้สมดังตั้งใจ สำหรับวิธีการปรุงดินนั้น ก็มีหลายวิธีด้วยกัน วิธีที่หลักๆที่เรามักสอนให้คนเมืองทำก็คือ การปรุงดินให้อร่อย โดยใช้เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ หมักร่วมกับดิน ปุ๋ยคอก รวมถึงใบไม้แห้ง หรือวัสดุอื่นๆที่หาได้ เช่นกากกาแฟ เปลือกไข่ ใครสนใจก็ลองอ่านความรู้เพิ่มเติมที่ได้เขียนไปแล้วได้ที่

มาครั้งนี้ จะขอแนะนำอีกวิธีในการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยใช้ถ่านชีวภาพ (biochar) หรือถ่าน Agri-cha ซึ่งเราสามารถผลิตถ่านชีวภาพนี้ได้เอง โดยใช้วัตถุดิบที่เหลือทิ้งอย่าง เปลือกทุเรียน เปลือกมังคุด หรือเศษกิ่งไม้ที่ตัดทิ้ง มาเผาโดยไม่ใช่ออกซิเจน หรือใช้น้อยมากในการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูง

คุณสมบัติของถ่านชีวภาพที่ว่านี้ มีหลากประการด้วยกัน คือ

  1. มีช่องว่างหรือรูพรุนในตัวถ่านมากตามประเภทของวัสดุที่นำมาเผา
  2. เป็นคาร์บอน 100 %
  3. สามารถเก็บปุ๋ยและน้ำได้มากในรูพรุนของวัสดุที่นำมาทำถ่านชีวภาพ
  4. มีความเสถียรสูง สามารถอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน
  5. เมื่อเก็บกักปุ๋ยและน้ำ พืชสามารถนำไปใช้ได้ในระยะเวลายาวนาน
  6. สามารถฟื้นฟูคุณภาพดินให้ดีขึ้น ปรับสภาพความเป็นกรดของดินได้
  7. ช่วยเพิ่มการดูดยึดธาตุอาหารในดิน
  8. ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโต และเพิ่มธาตุอาหารในดิน
  9. ช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน

นับเป็นเรื่องโชคดีไม่น้อย ที่ปีนี้ ทางโครงการสวนผักคนเมือง มีสมาชิกโครงการอย่าง อาจารย์เติ้ล       เกศศิรินทร์ แสงมณี และทีมงานทั้งอาจารย์และนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มาร่วมทำโครงการ ดินฟื้นคืน ด้วยถ่าน “ชีวภาพ” กับเรา ทำให้เราได้เรียนรู้ และอยากนำความรู้เรื่องนี้มาแบ่งปันให้ฟัง

อาจารย์เติ้ลกล่าวว่า ถ่านชีวภาพ เป็นงานวิจัยที่ทางคณะทำงาน ได้ทำงานวิจัยมาเป็นระยะเวลา 7 ปี และปัจจุบันทำงานวิจัยในพื้นที่คลอง 9 ลำลูกกา ปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด พบว่า จากดินนา มีโครงสร้างดินที่เหนียว และมี pH 3.5 เมื่อใส่ถ่านชีวภาพ ได้แก่ ถ่านชีวภาพจากเปลือกทุเรียน แกลบ และซังข้าวโพด เพื่อปลูกกระเจี๊ยบเขียว พบว่าหลังการใส่ถ่านชีวภาพไป 3 เดือน ทำให้ดินมี pH เพิ่มขึ้น จนเป็น 7 คือค่ากลาง ดินมีความร่วนซุยขึ้น กระเจี๊ยบเขียว สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการใส่ปุ๋ยทางดินเลย เพียงแต่พ่นน้ำหมักชีวภาพทางใบ

จากงานวิจัยครั้งนั้น อาจารย์เติ้ลและทีมได้นำมาต่อยอด ขยายผลให้กับเพื่อนสมาชิกสวนผักคนเมืองที่ทำสวนผักชุมชนในเขตดอนเมืองรวม 3 ชุมชนด้วยกัน คือชุมชนนิเวศน์ชาวฟ้า ชุมชนศรีกาญจน์ และชุมชนปิ่นเจริญ ซึ่งแต่ละที่ประสบปัญหาดินคุณภาพไม่ดี และเมื่อนำถ่านชีวภาพไปใช้ช่วยปรับปรุงดิน รวมกับน้ำหมักชีวภาพ ก็ทำให้พืชผักเติบโตงอกงาม เป็นอาหารหล่อเลี้ยงชุมชนได้มากมาย

ทำเตาเผาถ่านชีวภาพง่ายๆอย่างไร

เตาเผาถ่านชีวภาพนี้ แต่ละชุมชนสามารถทำไว้ใช้เองได้ โดยมีอุปกรณ์คือ

  1. ถังเหล็ก 50-100 ลิตร 1 ถัง
  2. ถังเหล็ก 200 ลิตร 1 ถัง พร้อม ฝาปิดถังเหล็ก 1 อัน และเข็มขัดที่ใช้รัดฝาถังและปากถังเข้าด้วยกันให้สนิท 1 อัน
  3. ท่อใยหิน 1 ท่อ

วิธีทำคือ

  1. เจาะรูรอบๆถังทั้งใบเล็ก และใบใหญ่โดยเจาะแนวตั้งแถวละ 3 รู รวม 4 แถว โดยรอบถัง
  2. เจาะรูฝาด้านบนถังเหล็ก 200 ลิตร สำหรับวางท่อใยหิน
  3. เวลาเผาถ่าน ให้นำวัสดุที่ต้องการจะเผา เช่นเปลือกทุเรียน เปลือกมังคุด เศษไม้ หรือแกลบดิบ ไปตากแดดให้แห้งก่อน จากนั้นใส่ลงไปในถังเหล็กใบเล็กด้านใน ปิดฝาแล้วใส่เชื้อเพลิงด้านนอกรอบๆถังเหล็กขนาดเล็ก จุดไฟ แล้วปิดฝา รัดเข็มขัดฝาถังให้เรียบร้อย วางท่อใยหินไว้ตรงรูฝาด้านบน  ทิ้งไว้นาน 6-8 ชั่วโมง

วิธีใช้

เมื่อได้ถ่านชีวภาพแล้ว ก็นำทุบให้ละเอียด ก่อนนำไปใส่ในแปลงดินที่จะปลูกผัก  อัตราส่วนที่ทางอาจารย์เติ้ลได้นำไปทดลองใช้ในแปลงชุมชนคือ 1000 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ โดยใส่ถ่านคลุกเคล้าลงไปในดิน รดน้ำหมักชีวภาพทุก 3 วัน หมักทิ้งไว้รวม 7 วัน ก็สามารถปลูกผักได้  ซึ่งจากการทดลองและตรวจวัดสภาพดิน ก็พบว่าดินที่ใส่ถ่านชีวภาพลงไปมีคุณภาพที่ดีขึ้น มีค่า PH สูงขึ้น จากเดิมค่า PH อยู่ 3.5 ก็เพิ่มเป็น 6.5 ทำให้พืชผักเติบโตได้ดีขึ้น และหากใส่ถ่านชีวภาพร่วมกับขี้ไก่ในอัตราส่วนเท่าๆกัน ก็ยิ่งมีส่วนช่วยให้พืชเติบโตดียิ่งขึ้นไปอีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ อาจารย์เติ้ลบอกว่า ใส่ถ่านชีวภาพปรับปรุงดินเพียงครั้งเดียว ก็สามารถช่วยรักษาคุณภาพดินไว้ให้ดีได้เป็นเวลาหลายปีทีเดียว นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนเมือง โดยเฉพาะคนที่มีที่ดินแปลงใหญ่ และไม่รู้จะปรับปรุงดินอย่างดี การใช้ถ่านชีวภาพนี้ ก็มีส่วนช่วยปรับปรุงดินให้ดี พร้อมที่จะปลูกพืชผักให้เติบโตต่อไปได้อย่างดีไม่น้อยทีเดียวค่ะ