จากปลูกผักโดยคนเมือง สู่นโยบายพัฒนาเมือง : บทเรียนจากต่างประเทศ


คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วยระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการสวนผักคนเมืองที่ผ่านมา เราเห็นจำนวนคนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักในเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงานอบรม หรืองานเสวนาต่าง ตลอดจนยอดผู้เข้าชมเว็บไซด์ และเฟสบุ๊คสวนผักคนเมือง ก็พุ่งสูงขึ้น รวมถึงสื่อต่างๆก็ให้ความสนใจค่อนข้างมาก ที่สำคัญ เรายังพบว่ามีคนเมืองจำนวนไม่น้อยที่เริ่มลงมือปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างที่ตนเองมีอยู่ หรือใช้พื้นที่รกร้างที่เคยมองข้ามไป มาปลูกผัก ทำเป็นพื้นที่อาหารของตนเอง และของชุมชน นอกจากนี้ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ตลอดจนบริษัทต่างๆ ก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น บางคนก็ทำขนาดเล็กๆ บางคนก็ทำขนาดใหญ่ๆ บางคนลงมือทำไปแล้ว และยังคงทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ในขณะที่บางคนก็ลงมือทำไปแล้ว และร้างราไปก็มี แต่อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความสนใจของคนในเมืองได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการปลูกผักของคนเมืองจะสามารถนำไปสู่การยกระดับความมั่นคงทางอาหารของเมือง การยกระดับสิทธิทางอาหารของกลุ่มเปราะบางในเมือง การสร้างห่วงโซ่อาหารในเมืองที่เป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงการเชื่องโยงกับมิติอื่นๆอันนำไปสู่การพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดกาของเสีย การใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองได้นั้น นอกจากความร่วมมือร่วมใจจากคนเมืองเองแล้ว ยังต้องการนโยบายหนุนเสริมด้วยเช่นกัน

อ.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ นักวิจัยโครงการบทบาทเกษตรในเมืองในการเพิ่มความยืดหยุ่นของเมืองแผนงาน ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองที่ยืดหยุ่น  มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้นำประสบการณ์หรือบทเรียนจากต่างประเทศ คือจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนิวยอร์ก ประเทศอเมริกา มาร่วมแบ่งปันในงานเสวนาเกษตรในเมือง : ทางเลือก ทางรอดของอาหารคนเมือง ซึ่งทางโครงการสวนผักคนเมืองจัดขึ้น เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา

อ.ปิยะพงษ์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า นโยบายและแผนพัฒนาเรื่องเกษตรในเมืองที่ประสบความสำเร็จนั้นมักตั้งต้นมากจากการที่มีคนเมืองทำเกษตรในเมืองอย่างโดดเด่นอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน เมืองที่คนเมืองหันมาปลูกผักอย่างโดดเด่น ก็มักจะมีนโยบายและแผนพัฒนาเรื่องเกษตรในเมืองที่ดี ดังนั้นทั้งคนเมืองและฝ่ายนโยบายต่างก็มีความสำคัญ และควรจะทำงานขับเคลื่อนควบคู่กันไป เหมือนช้อนกับส้อม โดยที่ไม่ต้องเกี่ยงกันว่าฝ่ายใดจะเริ่มก่อน และบทเรียนจากลอนดอน และนิวยอร์ก ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การที่การส่งเสริมเรื่องเกษตรในเมืองประสบความสำเร็จขึ้นมาได้นั้น เกิดจากความร่วมมือระหว่างคนเมืองปลูกผักและฝ่ายนโยบาย

ในกรณีของเมืองลอนดอน หากมองย้อนกลับไปก็จะพบว่า แท้จริงแล้วที่ลอนดอนมีวัฒนธรรมการปลูกผักในแปลงขนาดเล็กมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีคนจนมาอาศัยอยู่ในเมืองมาก ทำให้ต้องหาพื้นที่ขนาดเล็กๆมาทำเกษตร เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเอง โดยตั้งแต่ยุคศตวรรษ 18 แล้วที่เทศบาลนครลอนดอนช่วยจัดสรรที่ดินให้กับคนจนในเมือง เขาเรียกว่าการปลูกผักในแปลงขนาดเล็กนี้ว่าวัฒนธรรม Allotment จนมาในปัจจุบันเทศบาลนครลอนดอน ก็ยังคงมีการกันพื้นที่สำหรับปลูกผักในเมืองให้กับผู้ที่สนใจ แต่เปลี่ยนจากการแจกที่ดิน เป็นการแบ่งที่ดินให้เช่า ซึ่งก็มีคนสนใจขอเช่าเป็นจำนวนมากจนถึงขนาดต้องลงชื่อจองกันไว้เลยทีเดียว

นอกจากนี้ อ.ปิยะพงษ์ยังเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ทางเทศบาลนครลอนดอนให้ความสนใจเรื่องนี้มาก และให้การสนับสนุนผ่านนโยบายและโครงการที่มีชื่อว่าCapital Growth  จนตอนนี้มีคนในเมืองที่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมืองร่วม100,000 คน และหากเดินไปทุกๆ 100 เมตร ก็จะเห็นแปลงผักอย่างน้อย 1 แปลง แม้ว่าจะอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยพาณิชย์ก็ตาม

ลองมาดูกันว่าคนเมืองที่ลอนดอนทำอะไร และฝ่ายนโยบายช่วยหนุนเสริมอย่างไร

คนเมืองลอนดอนนิยมปลูกผักสวนผักครัวในบริเวณที่พักอาศัย

ทางฝ่ายนโยบายก็มีการจัดประกวดให้รางวัล เพื่อเป็นการจูงใจให้คนปลูกผักกันมากขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมฟาร์มและพัฒนาเครือข่ายคนปลูกผัก

คนเมืองลอนดอนจำนวนไม่น้อย ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการทั้งปลูกผักเพื่อจำหน่าย มีผู้ที่สนใจทำร้านกรีน นำผักที่ปลูกมาทำอาหารให้ผู้บริโภค

ทางฝ่ายนโยบายก็เข้ามาช่วยจัดหาตลาดในการจำหน่ายผลผลิตให้คนเมือง มีการส่งเสริมให้เกิดระบบสมาชิกผักหรือ CSA อีกทั้งยังส่งเสริมด้านเครดิตเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการด้านนี้

คนเมืองลอนดอนสนใจเข้าร่วมปลูกผักในแปลงส่วนรวมจำนวนมาก

ทางฝ่ายนโยบายก็มีการส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยให้มีการออกแบบกันพื้นที่ให้ผู้อยู่อาศัยมาปลูกผักร่วมกันได้ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้เกิดสวนผักชุมชน สวนผักในโรงเรียน และที่น่าสนใจคือมีการส่งเสริมให้ทำเกษตรในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในสวนสาธารณะ หรือสนามฟุตบอล

คนเมืองสนใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครปลูกผักในที่ต่างๆเป็นจำนวนมาก

ทางฝ่ายนโยบายก็มีโครงการที่เรียกว่าBIG DIG ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ด้วยการระดมอาสาสมัครไปช่วยกันปลูกผักโดยมีการจัดทำแผนที่สวนผักชุมชน หรือแปลงผักที่เปิดให้อาสาสมัครเข้าไปร่วมทำกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน เรียกว่าใครใกล้ที่ไหนก็สามารถเลือกไปที่นั่นได้ ตามวันเวลาที่แต่ละที่นัดหมาย

ส่วนทางเมืองนิวยอร์ก ถือเป็นเมืองที่มีเกษตรดาดฟ้าที่โดดเด่นที่สุดในโลก ถือเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีคนเมืองที่สนใจปลูกผักเป็นจำนวนมาก และมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ก็สนใจเป็นผู้ประกอบการสีเขียว มองเรื่องเกษตรในเมืองว่าเป็นโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างหนึ่ง เนื่องจากที่นิวยอร์กจะมีกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารท้องถิ่น เรียกว่าเป็นอาหารที่มีระยะทางอาหารไม่เกิน 100 ไมล์

ในขณะที่ความสนใจของคนในเมืองเป็นเช่นนี้ ทางฝ่ายนโยบายก็จัดทำแผนงานและโครงการหลายอย่างเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมด้านต่างๆ เช่นโครงการ GrowNYC, โครงการ GreenThumb และโครงการ FoodWorks Policy Plan

นอกจากนี้ทางผู้ว่าการฯ ยังออกมารณรงค์เรื่องเกษตรในเมืองผ่านสื่อด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้เกิดตลาดสินค้าเกษตรใกล้บ้าน มีการเปิดจุดจำหน่ายผลผลิตชุมชน มีนโยบายให้ส่วนราชการสนับสนุนผลผลิตในท้องถิ่น

ที่น่าสนใจคือเมื่อคนเมืองมีความต้องการเข้าถึงพื้นที่เพื่อการปลูกผักเพิ่มมากขึ้น ทางฝ่ายนโยบายก็ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ โดยการจัดทำฐานข้อมูลอาคารที่มีความพร้อมและมีความประสงค์ที่ให้เข้าไปเช่าพื้นที่ปลูกผักบนดาดฟ้าได้ อีกทั้งยังออกมาตรการยกเว้นไม่ให้นับรวมพื้นที่สีเขียวบนอาคารเป็นข้อจำกัดตามหลักเกณฑ์การต่อเติมอาคาร และหลักเกณฑ์กำหนดระดับความสูงของอาคารด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจจะทำร้านกรีนที่มีแปลงเกษตรเป็นของตัวเอง หรือรับซื้อผลผลิตในท้องถิ่นจำนวนมากๆ ทางฝ่ายรัฐก็มีการให้เครดิตเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อลงทุน และให้เงินรางวัลสนับสนุนผู้ที่ทำได้โดดเด่นด้วยเช่นด้วยกัน

อาจารย์ปิยะพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าจะมีบางเมืองที่ใช้นโยบายเพื่อขับเคลื่อนเรื่องเกษตรในเมืองเพียงอย่างเดียว หรือบางเมืองก็ใช้คนเมืองขับเคลื่อนด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือทั้งคนเมืองและฝ่ายนโยบายจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน