กินดี อยู่ดี มีสุข (จริงหรือ?)

วันนี้จะกินอะไรดี? นอกจากจะคิดเมนู หรือเลือกร้านอาหารที่จะฝากท้องแล้ว คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมว่า “อาหาร”ที่คุณกำลังกินอยู่นั้นมีประโยชน์แค่ไหน มีความปลอดภัยเพียงใด ใครเป็นเป็นผู้ผลิต แล้วผลิตที่ไหน อย่างไร กระบวนการผลิตทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หรือมีความเป็นธรรมเพียงใด กว่าจะเดินทางมาผสมผสาน กลายเป็นเมนูจานเด็ดอยู่ตรงหน้าคุณ

การตั้งคำถามเช่นที่กล่าวมานั้น อาจจะทำให้หลายคนรู้สึกว่า คิดมากไปหรือป่าว?? ก็แค่ฉันจะขอกินแล้วอิ่มอร่อยเป็นสุขใจกับเขาบ้างไม่ได้หรือไง แค่นี้ชีวิตก็เครียดพออยู่แล้ว !!! แต่เอาแค่คิดถึงตัวเอง ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือความเป็นธรรมทางสังคม (ซึ่งความจริงก็ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวเองทั้งนั้น)  อยากให้ลองทบทวนใหม่กันสักครั้ง ตั้งคำถามกันสักนิดว่า อาหารที่เราเลือกกินกันแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นร้านริมถนน ร้านในตลาด ร้านในโรงเรียน โรงงาน บริษัท หรือร้านในห้างหรู รวมถึงอาหารสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อทั้งหลายนั้น เรากำลังกินดี อยู่ดี มีสุข จริงๆหรือ??

มีสถิติทางด้านสุขภาพออกมาว่า คนไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นปีละ 100,000 คน และพบว่ามีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งชั่วโมงละ 6 คน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า สาเหตุสำคัญของโรคนี้เกิดจากสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร นอกจากนี้ โรคร้ายแรงอื่นๆที่คราชีวิตคนไทยในอันดับต้นๆ ก็ล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภค และสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือด ความดัน หัวใจ เบาหวาน

ในขณะที่ The World Food Summit ได้นิยามคำว่าความมั่นคงทางอาหารไว้ว่า คือ “สถานการณ์ที่ทุกคนในทุกเวลา สามารถเข้าถึงอาหารได้ทั้งทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจ อย่างพอเพียง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่ตรงกับรสนิยมของตนเอง เพื่อชีวิตที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรง”

แล้วอย่างนี้การที่เราหลายคนรู้สึกว่าเมืองไทยเราแสนอุดมสมบูรณ์ มีความสะดวกสบายมากมาย เดี๋ยวนี้หิวเมื่อไหร่ก็มีกิน ขอเพียงแค่มีเงินนั้น จะเรียกว่าเรามีความมั่นคงทางอาหารได้จริงหรือ??

นอกจากวิกฤตเรื่องสุขภาพแล้ว วิกฤตเรื่องราคาอาหารแพง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่จะรุนแรงขึ้นทุกวัน เนื่องจากระบบการผลิตและกระจายอาหารส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ถูกครอบครองด้วยบรรษัทขนาดใหญ่ และล้วนแล้วแต่เป็นระบบการผลิตที่ต้องอาศัยน้ำมันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันในการผลิตปุ๋ยเคมี การใช้น้ำมันในเครื่องจักรการแปรรูป และการใช้น้ำมันในการขนส่ง ในขณะที่น้ำมันกำลังจะขาดแคลน และมีราคาพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาอาหารก็จะพุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมันไปด้วย

หากคิดว่าฉันรวย ไม่เป็นไร ฉันไม่แคร์  แล้วยินดีจ่ายทั้งค่า “อาหาร” และพร้อมจะจ่ายค่ารักษาตัวไปด้วยพร้อมๆ กัน ก็โอเค แต่อย่าลืมว่า ถึงเราจะรวยล้นฟ้าเพียงใด ก็ไม่อาจหลีกหนีภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และวิกฤตที่เราจะต้องเผชิญอย่างแน่นอน ก็คือ วิกฤตโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติมากมายเช่น อุทกภัย และหากเราฝากท้องและความหวังไว้ในมือบรรษัทขนาดใหญ่ที่รับผิดชอบทั้งเรื่องการผลิตและการกระจายอาหารให้กับเราเพียงอย่างเดียว เราก็อาจจะต้องประสบกับสภาวะที่มีเงินเต็มกระเป๋า แต่ไม่มีสินค้าในชั้นให้ซื้อ หรือถ้ามีก็อาจต้องไปแย่งกันซื้อ เหมือนเมื่อครั้งมหาอุทกภัยใหญ่ที่ผ่านมา

รู้แล้ว ทำอะไรได้บ้าง

ในฐานะที่เป็นคนในเมือง บางคนอาจจะเคยฝากท้องไว้กับอาหารนอกบ้านมาแทบทั้งชีวิต ไม่เพียงทำกับข้าวกินเองไม่เป็น แต่บางคนก็ไม่เคยรู้ว่าพืชผักที่กินนั้น เติบโตมาอย่างไร เมล็ด หรือลำต้นหน้าตาเป็นแบบไหน หรือบางคนมือก็อาจจะไม่เคยเปื้อนดินเลยก็ได้ หากดูจากสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น คงไม่เร็วเกินไป หากจะบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเริ่มเรียนรู้ สั่งสมทักษะ ประสบการณ์ในการพึ่งตนเองให้มากขึ้น

คุณคมสัน หุตะแพทย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ผู้สนใจเรื่องการพึ่งพาตนเองมากเป็นเวลานาน กล่าวว่า เราต้องรู้จักเริ่มฝึกฝนที่จะพึ่งตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเริ่มจากสิ่งที่ตนเองมีอยู่ และเป็นสิ่งใกล้ตัวก่อน เช่นการปลูกผักกินเองในพื้นที่ที่ตนเองพอจะมี พอปลูกผักได้แล้ว ก็อาจจะเริ่มเรียนรู้ที่จะปลูกข้าวกินเองในบ่อซีเมนต์ เริ่มทำสบู่ ยาสระผมใช้เอง เริ่มหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ให้อย่างน้อย 50 %  ของชีวิตเรา เราสามารถที่จะพึ่งตนเอง กำหนดได้ด้วยตนเอง

อาจกล่าวได้ว่า การปลูกผักนั้น ไม่ใช้เป็นแค่งานอดิเรก หรือเป็นเพียงการทำเพื่ออาชีพเท่านั้น แต่มันหมายถึงเรื่องของชีวิต เรื่องของสิทธิของปากท้องที่เราสามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง และเมื่อเกิดวิกฤตเราก็ยังมีทักษะ ภูมิปัญญาที่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง

สิ่งสำคัญคือ เมื่อทำได้แล้ว ก็ต้องรู้จักสร้างเครือข่ายให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น มีการแลกเปลี่ยน แบ่งปันกัน เพราะเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น  แม้ว่าจะส่งเสริมเรื่องการพึ่งตนเอง แต่คนในเมืองก็ต้องตระหนักด้วยว่าวิถีชีวิตของเรานั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนในชนบทอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ทรัพยากรต่างๆ ชาวนาบางที่อาจจะประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง ในขณะที่มีน้ำในเขื่อน แต่ต้องกักไว้เพื่อนำมาปั่นไฟให้คนในเมืองกรุงใช้ ดังนั้นนอกจากการดูแลตนเองแล้ว เราก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวมด้วย