เกษตรในเมือง หนึ่งในทางออกของปัญหาพื้นที่รกร้าง

ทราบหรือไม่ว่าจากข้อมูลการสำรวจของกรุงเทพมหานคร ในปี 2550 พบว่า มีอาคารและสิ่งก่อสร้าง พื้นที่รกร้างที่ขาดการดูแลจากเจ้าของมากถึง 7,226 แปลง ซึ่งคิดเป็นเนื้อที่ถึง 4,374 ไร่ ซึ่งพื้นที่รกร้างเหล่านี้มักกลายเป็นแหล่งมั่วสุม และกลายเป็นสถานที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดอาชญากรรมต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขืน หรือการถูกชิงทรัพย์ บางแห่งก็กลายเป็นที่ทิ้งขยะ เป็นแหล่งบ่มเพาะมลพิษ อีกทั้งยังพบว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอัคคีภัยด้วย

จากการดำเนินงานของโครงการสวนผักคนเมืองพบว่าการทำสวนผักคนเมือง หรือเกษตรในเมืองสามารถมีส่วนช่วยเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ กลายเป็นแหล่งอาหารของชุมชน แถมยังมีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้อย่างมาก บางแห่งก็กลายเป็นที่สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนจากการขายผักส่วนที่เหลือจากแบ่งปันกันกินในชุมชนแล้วอีกด้วย

สำหรับแนวทางการนำพื้นที่รกร้างทำเป็นพื้นที่เกษตรในเมืองนั้น จากประสบการณ์ของสมาชิกโครงการสวนผักคนเมืองและเครือข่าย ก็พอจะสรุปออกมาได้ดังนี้

  1. คนในชุมชนสำรวจพบพื้นที่รกร้าง และติดต่อกับเจ้าของที่เองโดยตรง โดยการชักชวนให้เจ้าของที่ร่วมเป็นสมาชิกในการดำเนินงานสวนผักคนเมือง และขอใช้สถานที่ที่เคยทิ้งรกร้างไว้ มาทำเป็นแปลงผัก เมื่อได้ผลผลิตก็แบ่งปันให้กับเจ้าของที่เช่นโครงการสวนผักร่วมใจเพื่อชุมชนปิ่นเจริญ 1 โดยการจัดการพื้นที่รกร้างเพื่อปรับมาทำเป็นแปลงผักในตอนแรกสุดนั้น ทางผู้นำซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้ประสานกับสำนักงานเขต ให้มาช่วยปรับถางพื้นที่ให้ จากนั้นให้สมาชิกในโครงการก็มาร่วมด้วยช่วยกันปลูกผักในพื้นที่นั้น เรียกว่าแปลงผักแห่งนี้กลายเป็นแหล่งรวมคนในชุมชนให้ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยสานสัมพันธ์ แถมยังได้ผักปลอดภัยไว้กินและมีเหลือแบ่งขายที่ตลาดนัดของชุมชนด้วย
  2. คนในชุมชนสำรวจพบพื้นที่รกร้างซึ่งอยู่ใกล้บ้าน และติดต่อกับเจ้าของที่ซึ่งมาซื้อที่ทิ้งไว้ แต่อาศัยอยู่นอกชุมชน เพื่อขอนำที่มาใช้ปลูกผักเพื่อแบ่งปันให้กับคนในชุมชน เช่นโครงการสวนผักปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพคนเมืองกลุ่มแกะสลักเขาควาย โดยเทคนิคในการไปติดต่อขอใช้ครั้งแรกก็คือการนำผลผลิตที่กลุ่มของตนเองปลูกได้ไปให้เจ้าของที่ เล่าเรื่องราวความตั้งใจเกี่ยวกับการปลูกผักให้ฟัง ทำให้เจ้าของที่ยินดีให้ใช้ประโยชน์ที่ดินที่เคยทิ้งร้างไว้ไดh
  3. ประธานชุมชนเล็งเห็นปัญหาของพื้นที่รกร้างซึ่งอยู่ในละแวกบ้านว่าเป็นแหล่งมั่วสุม และมักเกิดคดีอย่างการชิงทรัพย์อยู่บ่อยๆ จึงปรึกษากับเจ้าของที่ดิน และมีการทำสัญญาให้ใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากนั้นจึงรวมรวมเงินจากสมาชิกในชุมชนเพื่อมาช่วยกันทำแปลงผัก โดยผลผลิตก็แบ่งปันกันกินในชุมชน
  4. สำนักงานเขตช่วยประสานกับเจ้าของที่ดิน เพื่อติดต่อขอทำสัญญาขอใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นประสานขอใช้ที่ดินของบริษัทที่ถูกทิ้งร้างไว้ รวมถึงมีการทำสัญญาขอใช้น้ำประปาของบริษัท โดยจะชำระน้ำประปาเอง จากนั้นคนในชุมชนก็ร่วมมือกันพัฒนาทำแปลงผัก โดยได้รับงบประมาณเริ่มต้นในการทำแปลงผักจากสำนักงานเขต เมื่อหมดโครงการ คนในชุมชนที่สนใจมาใช้พื้นที่ปลูกผัก ก็ร่วมลงขันค่าใช้จ่ายกันเอง
  5. สำนักงานเขตเป็นผู้จัดการและดำเนินโครงการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้โดยสำนักงานเขตเป็นผู้สำรวจพื้นที่รกร้างในเขตตัวเอง และประสานกับเจ้าของที่ดินนั้นเพื่อขอใช้พื้นที่ โดยมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งให้คนงานกวาดถนนเป็นผู้มาเรียนรู้และเริ่มลงมือปลูกผักในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้คนงานกวาดถนนได้อาหารที่ปลอดภัยและเป็นรายได้เสริม เช่นโครงการจากดาดฟ้าสู่ลานดินของสำนักงานเขตหลักสี่ ซึ่งนอกจากทางสำนักงานเขตจะช่วยเจรจาเรื่องที่ดินให้แล้ว ยังช่วยให้ความรู้เรื่องการปลูกผัก อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนอุปกรณ์บางส่วน เช่นถังหมักปุ๋ย รวมถึงปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ กากน้ำตาล และเชื้อจุลินทรีย์ ด้วย

จะเห็นได้ว่า การใช้พื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำมาทำเป็นแปลงผัก สร้างแหล่งอาหารและพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมืองนั้นเป็นอีกทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถทำได้หลายแนวทางด้วยกัน ที่สำคัญคงต้องบอกว่าการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นเเปลงผักนั้น ไม่เพียงทำให้คนในชุมชนในอาหารปลอดภัยไว้กินเท่านั้น แต่พื้นที่สวนผักหรือเกษตรในเมืองที่เกิดขึ้น ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆต่อคนในชุมชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน ช่วยคลายเครียด ช่วยสร้างสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ชุมชนอบอุ่นและน่าอยู่มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่เรื่องนี้จะประสบผลสำเร็จได้นั้น อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัวกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต ซึ่งน่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยประสานกับเจ้าของที่ดิน รวมถึงช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดการปรับถางที่ดินในตอนแรก ตลอดจนช่วยสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วน เช่นปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร หรือปุ๋ยหมักจากกิ่งไม้ใบไม้ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร หรือทางสำนักงานเขตมีการทำอยู่บ้างแล้ว

นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นทั้งบุคคล หน่วยงาน หรือเอกชน รวมถึงคนในชุมชน ซึ่งจะเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดสวนผักอันเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย