เทศบาลเมืองแกลงกับการจัดการของเสียแบบไม่เสียของ


เคยสังเกตกันบ้างไหมค่ะว่าแต่ละวัน เราสร้างขยะกันมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นขยะจากเศษอาหาร จากแก้วน้ำ ถุงพลาสติก กล่อง ขวด ต่างๆนานา ตัวเลขที่น่าตกใจคือ การที่คนส่วนใหญ่ร่วมมือกันใช้และทิ้งโดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่างๆที่ตามมานั้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงปีละถึง 15,159,180 ตันเลยทีเดียว ซึ่งทำให้หลายเมืองกำลังประสบกับปัญหาขยะล้นเมืองอย่างน่าเป็นห่วง

เทศบาลเมืองแกลง จังหวัดระยอง ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่เผชิญกับปัญหาขยะล้นเมือง ที่ว่าล้นเมืองนี้ไม่ใช่ว่ามีปริมาณมากเท่านั้น แต่หลุมฝังกลบขยะก็เต็ม จนแทบจะไม่มีที่ให้ทิ้งขยะแล้ว อีกทั้งยังพบว่าเทศบาลจำเป็นต้องใช้เงินในการเก็บและขนขยะไปทิ้งสูงถึงปีละ 6-8 ล้านบาทเลยทีเดียว

ด้วยตระหนักถึงปัญหานี้ ทางเทศบาลจึงได้คิดระบบการจัดการขยะใหม่ มีการแปลงจากขยะหรือของเสียงที่เดิมเคยทิ้งไปอย่างไรประโยชน์ ให้กลายเป็นของมีประโยชน์ขึ้นมาได้ โดยเขาได้แบ่งการจัดการออกเป็นการจัดการขยะอินทรีย์ กับขยะรีไซเคิล

สำหรับการจัดการขยะอินทรีย์ที่นี่ก็ทำอย่างน่าสนใจ คือมีการจับมือกับร้านอาหาร และตลาดสดต่างๆให้ช่วยแยกเศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ ไว้ให้โดยทางเทศบาลก็จะจัดรถไปจัดเก็บเศษอาหารเหล่านี้วันละ 2 รอบ ถามว่าเก็บมาทำอะไร หากใครที่เป็นเทศบาลก็จะพบว่าที่นี่เลี้ยงทั้งหมูป่า เป็ด แพะ และกระต่าย ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือให้สัตว์เหล่านี้ช่วยกำจัดเศษอาหารที่เก็บมาได้นั่นเอง ที่สำคัญยังได้ปุ๋ย ได้ไข่ เป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงด้วย

นอกจากนี้เศษผัก ผลไม้ที่เหลือทิ้ง หากยังไม่เน่าเปื่อยมากนัก ก็จะบดย่อย แล้วนำไปเลี้ยงไส้เดือนซึ่งที่นี่เขาเลี้ยงไส้เดือนกันเป็นฟาร์ม ช่วยผลิตปุ๋ยได้อย่างดี ส่วนที่เน่าหรือสภาพไม่ค่อยดีนัก ก็จะนำไปบดย่อยเพื่อหมักปุ๋ยต่อไป ปุ๋ยที่ได้นี้ก็มีจำหน่ายให้กับเกษตรกรในเมืองนั่นเอง

ส่วนขยะอินทรีย์ที่เหลือ ก็นำไปหมักทำแก๊สชีวภาพได้อีก  ซึ่งแก๊สนี้ก็นำไปใช้ในโรงฆ่าสัตว์ เข้าเตาอบเชื้อเห็ดนางฟ้า และต่อเข้าไปใช้ในบ้านพนักงานที่พักอยู่ที่เทศบาล และกำลังคิดพัฒนาจะนำแก๊สที่ได้บรรจุถังเพื่อจำหน่ายต่อไปด้วย

ส่วนการจัดการขยะรีไซเคิลทางเทศบาลแกลงก็มีโรงคัดแยกขยะเป็นสายพาน มีคนค่อยคัดแยกขยะตามจุดต่างๆของสายพาน ขยะที่คัดแยกก็มีตั้งแต่กล่องนม กล่องชา กล่องกระดาษ ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก ต่างๆเพื่อนำไปขาย เรียกว่ารายได้จากการขายขยะซึ่งคัดแยกได้ประมาณวันละ 2 คันรถ 6 ล้อนั้น ตกเป็นเงินหลักแสนต่อเดือน และรายได้ที่ได้นั้น เขาก็จัดสรรแบ่งให้พนักงานที่ทำงานเทศบาลถึง 70 % เลยทีเดียว

งานนี้เรียกว่านอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่จะต้องทิ้งลงหลุมฝังกลบ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะแล้ว ยังช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้กับเทศบาลอีกมากมายด้วย

นับเป็นตัวอย่างการดำเนินงานของเทศบาลที่น่าชื่นชมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเรื่องขยะนี้ นอกจากจะอาศัยการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือของทุกคนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณขยะ การรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การรู้จักแยกขยะทั้งขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิล รวมถึงหากใครสามารถดูแลจัดการขยะด้วยตนเองได้ เช่นมีการนำเศษผัก ผลไม้ เศษอาหารมาหมักปุ๋ย มาเลี้ยงไส้เดือนเองที่บ้าน ก็จะมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะ ลดภาระการบริหารจัดการ และช่วยแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองได้อย่างมากทีเดียว ของอย่างนี้เราแต่ละคนล้วนช่วยกันทำได้ และควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันทำ เพราะบ้านนี้ เมืองนี้ และโลกใบนี้ ทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมรับผิดชอบที่จะดูแลรักษากันทั้งสิ้น

ใครจะรู้ว่าหากเรายังคงมีพฤติกรรมการบริโภค และทิ้งขยะแบบเดิมๆนี้ วันหนึ่งขยะที่เราทิ้งไปอาจส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม  ต่อคุณภาพชีวิต จนกระทั่งอาจส่งผลทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ดังที่มีตัวเลขในระดับโลกที่แสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุมาจากปัญหาขยะสูงถึง 5 ล้านคนเลยทีเดียว