ผังเมืองของไทยให้ความสำคัญในการสงวนรักษาและพัฒนาแหล่งผลิตอาหารเท่าที่ควรจะเป็นหรือยัง?

ขอบคุณรูปจากอ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์

โดยอาจารย์ฐาปนา บุญยประวิตร

ถ้าจะกล่าวว่าการผังเมืองของไทยไม่ได้ให้ความสำคัญในการสงวนรักษาและพัฒนาแหล่ง ผลิตอาหารก็คงจะไม่ผิดนัก อาจจะด้วยเหตุที่ในยุคสมัยหนึ่งเคยมีคำจำกัดความหมายคำว่า “เมือง” ให้ เป็น บริเวณซึ่งไม่มีพื้นที่การเกษตรตั้งอยู่ ดังนั้นผังเมืองรวมและผังการพัฒนาเมืองในช่วงนั้นจึงไม่มีบทบัญญัติที่ เกี่ยวข้องกับการเกษตร แม้ต่อมาจะพบคำว่า “พื้นที่เมืองและชนบท” อยู่ ใน พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ. 2518 และพบการกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและผังเมืองรวมของ บางจังหวัดให้สงวนรักษาพื้นพี่การเกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ก็ตาม (ซึ่งจากประโยชน์นี้ก็ยังมีคำถามต่ออีกว่า แล้วพื้นที่การเกษตรที่เสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมีเกินพิกัดอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้อยู่ในข่ายการสงวนรักษาหรือไม่)

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะได้ระบุให้สงวนรักษาพื้นที่การเกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อกำหนดที่จำแนกตามผังการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ยังพบการ อนุญาตและยกเว้นให้มีการใช้ประโยชน์สำหรับหน่วยงานราชการ เช่น กรุงเทพมหานคร การเคหะแห่งขาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และกิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการ หรือในบางประเภทการใช้ที่ดินยังมีการอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรโดย ไม่มีการห้ามเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ซึ่งได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นการ จัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยในเวลาต่อมา ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวจะสังเกตได้จากพื้นที่ย่านชานเมืองกรุงเทพมหานครและจากทุกหัวเมืองขนาดใหญ่ของไทย ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายการผังเมืองของไทยให้ความสำคัญ”น้อยมาก”ต่อการสงวนรักษาพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารเมื่อเทียบกับบทบัญญัติและข้อกำหนดประเภทอื่นๆ

จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติการผังเมืองของไทยแตกต่างจากบทบัญญัติการผังเมืองของประเทศที่เจริญแล้วเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศที่ใช้แนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) ในการวางผังซึ่งได้กำหนดให้ทุกการวางผังต้องระบุให้พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ธรรมชาติเป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องสงวนรักษา โดยรัฐและชุมชนมีหน้าที่ในการปรับปรุงฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่เมืองและประเทศเนื่องด้วยพื้นที่การเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะส่วนประกอบเมืองซึ่งทำหน้าที่สำคัญ 6 ประการประกอบด้วย

  1. สร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่เมืองด้วยการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากพอต่อการบริโภค
  2. เป็นแหล่งงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งตั้งอยู่รายรอบชุมชน
  3. เป็นหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชนและเมือง ที่ได้จากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่แล้ว
  4. เป็นพื้นที่โล่ง(Open Space) แหล่งเก็บกับและรองรับน้ำ และผลิตน้ำสะอาดสำรอง ให้กับระบบนิเวศชุมชนและเมือง
  5. เป็นพื้นที่สีเขียว(Green Space) แหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ที่จัดเป็นปอดให้กับชุมชนและเมือง
  6. เป็นพื้นที่ดำรงรักษาวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมดั้งเดิมด้านการเกษตรและการชลประทานซึ่งมีคุณค่ายิ่งสำหรับการพัฒนาในโอกาสต่อไป

หน้าที่ และความสำคัญของพื้นที่การเกษตรดังที่กล่าวข้างต้นจะพบเห็นปรากฏอยู่ในวิสัยทัศน์ของมหานครทั่วทั้งโลกไมว่าจะเป็น มหานครชิคาโก ซีแอตเติล แวนคูเวอร์ โตรอนโต หรือแม้แต่การกำหนดใน Concept Plan ของสิงคโปร์ประเทศซึ่งมีพื้นที่การเกษตรไม่ถึงร้อยละ 5 เมื่อเทียบจากพื้นที่ทั้งหมด

เหตุที่เมืองจำเป็นต้องกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ ตลอดจนข้อกำหนดในการวางผัง เนื่องจากพื้นที่การเกษตรที่ตั้งผสมผสานอยู่ในเขตเมืองกับย่านชานเมืองนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารและความยั่งยืนในการพัฒนาเมือง 4 ด้านคือ

  1. การเป็นแหล่งอาหารสดที่มีราคาต่ำทำให้ประชาชนทุกระดับรายได้สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้
  2. การเป็นแหล่งอาหารสดที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากการขนส่งและเก็บรักษาต่ำไม่เป็นภาระของเมืองในการลงทุนระบบการคลังจัดเก็บและระบบการขนส่ง
  3. เกษตรกรสามารถสร้างระบบบริหารจัดการในเชิงเครือข่ายการค้าร่วมกับผู้บริโภคในขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนโดยที่เกษตรกรยังได้รับมูลค่าเพิ่มจากการผลิตมากกว่าเมื่อเทียบจากมูลค่าที่ต้องถูกแชร์ในระบบ food supply chain
  4. สร้างเสถียรภาพให้กับระดับราคาอาหารตามผลวิจัยของ International Food Policy Research Institute หรือ IFPRI พบ ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ระดับราคาอาหารของกลุ่มประเทศยากจนในอเมริกาใต้และแอฟฟริกาได้ยกระดับสูง ขึ้นเกือบร้อยละ 60 ในขณะที่ระดับราคาของอาหารในกลุ่มประเทศที่ผลิตอาหารในเอเชียสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาอาหารเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ให้ประชาชนที่ยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ และการศึกษาของเครือข่าย Smart Growth BC ในประเทศแคนาดาพบว่า ระดับราคาของอาหารในเขตเมืองจะสูงขึ้นร้อยละ 15 หากแหล่งผลิตอาหารตั้งอยู่ไกลออกไปเกินกว่าทุกๆ 100 ไมล์

ดังนั้น การเติบโตอย่างชาญฉลาดจึงได้กำหนดเป็นนโยบายให้เมืองต้องจัดวางผังให้แหล่งการผลิตอาหารตั้งอยู่ผสมผสานในเขตเมืองและย่านชานเมือง และไม่อนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรไปใช้ในกิจกรรมอื่นอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าที่ดินดังกล่าวจะมีสภาพอย่างไร