ความ(ไม่)มั่นคงทางอาหารของคนในเมือง

มีโอกาสได้ไปร่วมงานการประชุมแสดงความคิดเห็นเรื่อง “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารจากชุมชนสู่ระดับชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา งานนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายประการ แต่ประเด็นสำคัญที่คิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังมากเป็นพิเศษ ก็น่าจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงต่างๆที่จะนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหาร

ด้วยความที่เป็นคนในเมือง หลายคนอาจจะคิดไม่ออกว่าเราจะเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารได้อย่างไร เรียกว่าขอแค่มีสตางค์ จะเดินเข้าห้าง หรือเดินไปในตลาด ก็มีสารพัดพืชผัก สารพันเมนูอาหารให้เลือกจับจ่ายกันอย่างเพลิดเพลินแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมา อาจจะทำให้หลายคนเริ่มตระหนักได้ว่า ถึงจะรวยล้นฟ้าเพียงใด ก็ใช่จะหาอาหารกินได้เสมอไป เพราะชั้นวางของตามห้างสรรพสินค้าที่ตัวเองเคยฝากท้องไว้ กลับว่างเปล่าอย่างน่าใจหาย จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ใครหลายคนหันมาสนใจเรื่องการปลูกผักกินเอง เรียกว่าหันมาหวังพึ่งตนเองก่อนจะไปพึ่งคนอื่นมากขึ้น

ทั้งนั้นทั้งนั้น สิ่งที่เราควรจะตระหนักและรับรู้กันมากขึ้นก็คือ แม้ว่าจะมหาอุทกภัยจะผ่านพ้นไป แต่ใช่ว่าความเสี่ยงจะหมด และความเสี่ยงที่ว่านี้ก็ใช่จะมีเพียงเรื่องของภัยธรรมชาติอย่างเดียว

เราเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างไรบ้างลองมาดูกัน

  1. จากการสำรวจพบว่า อายุเกษตรกรโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น คืออยู่ที่ระหว่าง 48-50 ปี  และที่สำคัญคือดูเหมือนว่าเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะสนใจที่จะทำเกษตรกันสักเท่าไหร่แล้ว
  2. พื้นที่เกษตรลดน้อยลง น้ำก็จะเริ่มขาดแคลนมากขึ้น ในขณะที่ประชากรก็จะเพิ่มสูงขึ้น
  3. มีการนำพืชอาหารไปผลิตเป็นพืชพลังงานมากขึ้น
  4. มีการใช้สารเคมีในการผลิตสูง นำไปสู่อาหารที่ไม่ปลอดภัย
  5. ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม  พันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิดกำลังสูญพันธุ์ไป
  6. สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติต่างจะรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิต

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ดินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่เกษตรซึ่งเป็นพื้นที่อาหารเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในท้องทะเล ตลอดจนการแย่งยึดที่ดิน หรือการเข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวต่างชาติ ซึ่งกำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

ยังไม่นับเรื่องภัยคุกคามจากระบบการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครอบของบรรษัทขนาดใหญ่ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์  หรือนโยบายการตลาดเช่นการเปิดเสรี ซึ่งล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ทั้งสิ้น

จะว่าไป พอพูดถึงปัญหาเหล่านี้  บางคนอาจบอกว่าเคยฟังมาบ่อยแล้ว แต่จะให้ทำไงได้ หรือบางคนอาจจะเสนอแนะว่า ชุมชนควรจะต้องทำอย่างนั้น เกษตรกรควรจะต้องอย่างนี้ หรือรัฐความจะทำอย่างโน้น ทั้งๆที่อันที่จริงแล้ว เราต่างก็ล้วนมีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะอยู่ในเมือง และไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเป็นผู้ผลิตอย่างเต็มตัวก็ตาม

การทำเกษตรในเมือง  หรือการปลูกผักกินเอง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในทางออกที่แต่ละคนสามารถลงมือทำเพื่อช่วยกันสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นได้ เรียกว่าอย่างน้อยก็ทำให้ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่มากนัก สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณภาพได้มากขึ้น แทนที่จะต้องหวังพึ่งตลาดเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอาหารที่ซื้อมานั้นปลอดภัยและมีคุณภาพแค่ไหน

ยิ่งไปกว่านั้น หากเราสามารถช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดพื้นที่เกษตรในเมืองเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนในเมืองให้เกิดขึ้นได้มากขึ้นเท่านั้น เรียกว่าเป็นการสร้างระบบอาหารที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในเมือง โดยที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบรรษัทขนาดใหญ่ ยังไม่นับว่าการทำเกษตรในเมืองยังสามารถไปเชื่อมโยงกับการจัดการของเสีย มลภาวะ หรือพลังงานต่างๆซึ่งเป็นปัญหาในเมืองใหญ่เลยนะคะ

อย่างไรก็ตาม การจะหวังถึงขนาดว่า คนในเมืองจะสามารถปลูกผักกินเองได้อย่างพอเพียงต่อการบริโภคนั้น เห็นจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ด้วยข้อจำกัดหลายประการ  แต่การได้ลองลงมือทำด้วยตัวเอง อาจจะเริ่มต้นเพียงเล็กๆน้อยๆ ก็น่าจะมีส่วนช่วยทำให้หลายคนได้เข้าใจถึงเรื่องที่มาอาหาร และ ธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะมีส่วนช่วยทำให้กลายเป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย เพราะนอกเหนือจากการลุกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเองบ้างแล้ว การเป็นผู้บริโภคที่ดี คือ รู้จักเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยจากสารเคมี ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และมีราคาที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิต ผู้ขายและผู้บริโภค ก็ถือว่ามีส่วนขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆที่กล่าวมาและทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารขึ้นได้เช่นกัน

หากวันนี้เรายังผลิตเองได้ไม่เพียงพอ และครั้นจะหาซื้ออาหารที่ดี มีคุณภาพ และเป็นธรรมดังที่ใจต้องการก็ยังหาซื้อไม่ได้อีก ก็คงถึงเวลาที่เรา ผู้บริโภค ควรจะลุกขึ้นมาช่วยกันทำอะไรสักอย่างบ้างแล้วล่ะคะ