ทำไมเราจึงควรบริโภคอาหารท้องถิ่น


ดูเหมือนว่าการบริโภคอาหารท้องถิ่น หรือ local food ที่มีระยะทางอาหารจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคไม่ไกลเกิน 100 ไมล์ ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าผู้บริโภครู้ถึงที่มาของอาหารของอาหารด้วยนั้น จะเป็นที่รู้จัก เป็นที่ตื่นตัว และเป็นที่นิยมกันอย่างมากในต่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่ามีโครงการรณรงค์เกิดขึ้นหลายแห่ง และในบ้างร้านค้า ก็ถึงกับมีป้ายติดบอกแหล่งที่ผลิตของสินค้านั้นๆ ไวเลยทีเดียว

ขอบคุณรูปจาก fb Piyapong Boossabong

ถามว่าทำไมเราจึงควรบริโภคอาหารท้องถิ่นเขาก็ให้เหตุผลไว้ดังนี้

  • อาหารท้องถิ่นจะสดใหม่ เป็นอาหารตามฤดูกาลและมีรสชาติดี
  • การบริโภคอาหารท้องถิ่นถือว่ามีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น เป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย สร้างความมั่นคงทางอาชีพให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ต่างจากระบบอาหารในปัจจุบันที่ถูกควบคุมโดยบรรษัทขนาดใหญ่ และเกษตรกรมักจะถูกเอาเปรียบ
  • การบริโภคอาหารท้องถิ่นเปิดโอกาสให้เรารู้จักกับผู้ผลิต และเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตได้
  • การบริโภคอาหารท้องถิ่นยังเปิดโอกาสให้เราได้รู้จัก และพบปะกับเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน
  • การบริโภคอาหารท้องถิ่นทำให้เรารู้จักที่มาของอาหารแต่ละชนิดมากขึ้น
  • การบริโภคอาหารท้องถิ่นถือว่ามีส่วนช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เราได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติที่แตกต่าง เช่นผลไม้ประจำท้องถิ่น อย่างทุเรียนเมืองนนท์
  • การบริโภคอาหารท้องถิ่น มีส่วนช่วยรักษาโลกได้ ดังที่มีการศึกษาพบว่า การบริโภคอาหารท้องถิ่นมีส่วนช่วยลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงในการขนส่งได้ถึง 17 เท่าของอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ

คำว่าระบบอาหารท้องถิ่นนั้นอาจทำให้หลายคนคิดภาพถึงการผลิตอาหารในต่างจังหวัด หรือในชนบทเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว เราสามารถช่วยกันสร้างระบบอาหารท้องถิ่นให้เกิดขึ้นในเมืองได้ด้วยเช่นกัน และการทำเกษตรในเมืองก็เป็นหนึ่งในวิถีทางหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้เกิดระบบอาหารท้องถิ่นขึ้นในเมืองได้มากขึ้น เช่นแทนที่ร้านอาหารจะต้องไปซื้อผักจากตลาด ซึ่งเดินทางมาไกลจากต่างจังหวัด ทำให้สูญเสียเชื้อเพลิง ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจำนวนมาก ร้านอาหารในเมืองแห่งนี้ก็อาจจะมีที่ปลูกผักบางส่วนเองหลังร้าน หรือบนดาดฟ้า หรืออาจจะรับผักจากชุมชนในเมืองในละแวกใกล้เคียงที่ปลูกผัก นอกจากนี้ทั้งชุมชน โรงเรียน หรือหน่วยงานต่างๆ ก็สามารถที่จะจัดสรรพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับทำสวนผัก เป็นแหล่งอาหารสด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย ที่ไม่ต้องเดินทางมาจากไหนไกล และก็ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันรถออกไปซื้อด้วย

อย่างไรก็ตาม การจะสนับสนุนให้เกิดระบบอาหารท้องถิ่นขึ้นในเมืองนั้น อาจจะต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยมาช่วยหนุนเสริม โดยเฉพาะเรื่องของที่ดิน ซึ่งพบว่าในเมืองมีพื้นที่ที่ปล่อยทิ้งร้างไว้จำนวนมาก หากมีการบริหารจัดการ และมีการนำที่ดินเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ไม่แน่เมืองกรุง อาจมีพื้นที่อาหารเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก และสามารถที่จะเลี้ยงคนในเมืองได้มากยิ่งขึ้น และสามารถที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้อย่างมหาศาล ดังที่อจ.กนกวลี สุธีธรได้กล่าวไว้ในงานวิจัยเรื่องผลกระทบของระยะทางอาหารที่มีต่อรูปแบบอาณานิเวศของแหล่งอาหารของกรุงเทพมหานครว่า หากผู้บริโภคในกรุงเทพ ฯ บริโภคอาหารที่มีระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร ก็จะสร้างช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ถึง 721,438 บาทต่อวัน หรือคิดเป็น  263,324,870 บาทต่อปีเลยทีเดียว ยังไม่นับว่าการปลูกผักในเมืองจะมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ด้อยโอกาส มีส่วนช่วยสร้างพื้นที่เรียนรู้ใหม่ๆให้เกิดขึ้น หรือมีส่วนช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นในเมือง และประโยชน์ด้านอื่นๆที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามมาอีกมากมายนะคะ

เรื่องนี้คงต้องอาศัยหลายภาคส่วนมาร่วมด้วยช่วยกัน กรณีตัวอย่างที่นำร่องขับเคลื่อนเรื่องการนำพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเมืองมาใช้ในเกิดประโยชน์ โดยมีการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน ปัจเจกบุคคล และหน่วยงานภาครัฐก็คือโครงการจากดาดฟ้าสู่ลานดิน ที่สำนักงานเขตหลักสี่ได้ทำ โดยทางสำนักเขตหลักสี่ได้ทำการสำรวจพื้นที่รกร้างที่มีอยู่ในเขต และได้ประสานงานกับเจ้าของพื้นที่ ซึ่งหากเจ้าของพื้นที่นั้นๆยินดียกพื้นที่ให้ใช้ก็จะมีการทำสัญญาเรื่องการขอใช้พื้นที่อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของต้องการพื้นที่คืน ก็ให้แจ้งล่วงหน้า 4 เดือน เพื่อให้สามารถจัดการกับแปลงผักและผลผลิตที่ทำไว้ได้

เมื่อได้ที่มาเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงานเขตก็จะจัดการไปเคลียร์พื้นที่ ปรับสภาพดินให้พร้อมที่จะเป็นแปลงผัก สำหรับแรงงานสำคัญที่จะมาช่วยกันทำแปลงผักก็คือพนักงานกวาดถนนทั้งหลาย ที่จะผลัดเวรกันมาปลูก ดูแล รดน้ำ โดยเทคนิควิธีการปลูกผัก ปรับปรุงดิน ทำปุ๋ยทั้งหลาย ก็ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากพี่แหม่มแห่งสวนเกษตรดาดฟ้า สำนักงานเขตหลักสี่นั่นเอง เมื่อได้ผลผลิตทางสำนักงานเขตก็ช่วยกันจัดหาตลาดให้นำไปจัดจำหน่ายกัน เป็นการช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับพนักงานกวาดขยะได้อย่างดีทีเดียว อีกทั้งยังทำให้พวกเขาซึ่งมีรายได้น้อย สามารถมีอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภคได้อีกด้วย

งานนี้ใครมีที่ดินในเมืองที่ปล่อยทิ้งร้างมานาน ระหว่างที่ยังไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไร หากนำมาแบ่งปันให้ผู้สนใจ ตลอดจนผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่กำลังว่างงานอยู่ทั้งหลาย ได้นำมาปลูกผัก ช่วยสร้างทั้งรายได้ให้ตนเอง และสร้างความมั่นคงทางอาหารในเมืองกรุงให้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นไม่น้อย ว่าไหมคะ

ขอบคุณข้อมูลจากอาจารย์กนกวลี สุธีธร ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณจินตนา ทองผุด เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดชำนาญการ สำนักงานเขตหลักสี่