บ้านประหยัดโลก

เรื่องราวของบ้านประหยัดโลกของครอบครัว ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด หรือบ้านต้นคิดทิพย์ธรรม

“ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” คำกล่าวนี้น่าจะเหมาะกับครอบครัวดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิดหรือที่อาจารย์เรียกบ้านตนเองว่าบ้านต้นคิดทิพย์ธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากอาจารย์เดชรัตน์จะเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงาน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องสถานการณ์โลกร้อน และพลังงานทางเลือกแล้ว อาจารย์นำความรู้ความสามารถที่อาจารย์มี มาประยุกต์ปรับใช้กับวิถีชีวิตของตนเองและคนในครอบครัวอีกด้วย

ทางโครงการสวนผักคนเมืองมีโอกาสได้ไปเยี่ยมบ้านอาจารย์เดชรัตน์ก็ตอนที่คุณรุ่งทิพย์ สุขกำเนิด  คู่ชีวิตของอาจารย์ส่งสวนผักบ้านฉันเข้าประกวด และได้รับรางวัลสวนผักนักทดลองไปครอง หลังจากที่ได้ไปเยือนถึงบ้าน จึงทราบว่า นอกจาก “สวนผักบ้านฉัน” ซึ่งมีพืชผักผลไม้กินได้รายล้อมอยู่รวมอยู่ถึง 56 ชนิดแล้ว บ้านหลังนี้ยังมีดีที่ไม่อาจมองข้ามไปได้อีกมากมาย

เริ่มตั้งแต่การออกแบบบ้านเชิงโครงสร้าง ที่มีการใช้แบบของบ้านประหยัดพลังงานมาสร้าง โดยเป็นบ้านที่มีฉนวนข้างใน ตรงกลางเป็นโฟม มีเพียงหลังคาบ้านมาประกบไว้เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อกันความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน ในขณะเดียวกันก็ออกแบบประตูให้มีขนาดใหญ่และมีจำนวนมาก เพื่อให้ระบายอากาศได้ดี มีทางเข้าออกของลมทั้ง 4 ทิศ และไม่ติดม่านซึ่งจะไปกันทิศทางลม

นอกจากการกันและระบายความร้อนแล้ว บ้านหลังนี้ยังเลือกสร้างให้หันหน้าทางทิศใต้ และมีการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงาในทิศที่แสงแดดส่องถึงด้วย และเมื่อออกแบบได้ดังนี้ บ้านหลังนี้จึงไม่มีการติดเครื่องปรับอากาศ ช่วยประหยัดพลังงานโลก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มากกว่า 3 ใน 4  ด้วยการใช้พัดลมแทน

ไม่เพียงเท่านั้น หากเดินไปในบ้าน ก็มีการวางระบบต่างๆเพื่อประหยัดพลังงานมากที่สุด เช่นมีการใช้ตัวตัดไฟ มีการใช้ฝักบัวอาบน้ำ และเลือกใช้ชักโครกประหยัดน้ำ เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ นอกเหนือจากการประหยัดพลังงาน และประหยัดน้ำ ที่บ้านหลังนี้ยังมีการใช้ธรรมชาติในเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย เริ่มตั้งแต่การมีบ่อเก็บน้ำฝน และมีโอ่งเก็บน้ำฝนไว้ใช้ เรียกว่าพืชผักที่ปลูกอยู่สวนที่บ้าน ก็เติบโตด้วยน้ำฝนที่เก็บไว้นี่เอง อีกทั้งยังมีการวางแผนอย่างดีว่า หากปีไหนน้ำฝนมาก ก็มีทางระบายลงสู่บ่อเลี้ยงปลาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสวนในบ้านได้อีกด้วย

ขอบอกว่าปลาในบ่อนี้มีทั้งปลาทับทิม ปลาแรด และปลาตะเพียน ที่เป็นอาหารเลี้ยงปากท้องของคนในบ้านนี้ได้อย่างดี ไม่ว่าจะต้ม ผัดแกงทอด หรือนำไปตากแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังได้

การคัดแยกขยะ และนำเศษอาหารมาทำน้ำหมักชีวภาพก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่สมาชิกในบ้านร่วมมือร่วมใจกันทำ โดยในครัวจะมีถังขยะพิเศษไว้สำหรับใส่เศษอาหารโดยเฉพาะ เมื่อหมดวันก็จะนำไปเทรวมไว้ในถังน้ำหมักชีวภาพ หมักไว้สำหรับรดบำรุงพืชผักในสวน

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำขึ้นจากความตระหนักอย่างแท้จริงว่าเราทุกคนล้วนมีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนขึ้นทั้งสิ้น แต่การใช้ชีวิตต่างกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกต่างกัน และด้วยความที่อาจารย์เดชรัตน์มีความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนและแนวคิดเรื่องรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) เป็นอย่างดี อาจารย์จึงสามารถคำนวณตัวเลขออกมาให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ในชีวิตประจำวันนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกสร้างโลกร้อนเท่าไหร่ และหากคุณปรับเปลี่ยนเพื่อโลก คุณจะช่วยลดการปล่อยได้เท่าไหร่ เช่น

  • การเปิดเครื่องปรับอากาศ 10,000 BTU วันละ 8 ชั่วโมง จะปล่อย CO2 2,020 กก./ปี ในขณะที่หากเปลี่ยนไปใช้พัดลม 60 วัตต์ 2 ตัวแทน จะลด CO2 ลง 1700 กก./ปี ซึ่งลดรายจ่ายได้ถึง 5254 บาทต่อปีเลยทีเดียว
  • การทิ้งขยะของแต่ละคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 200 กก./ปี ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 106 กก.CO2/ปี ในขณะที่หากเรานำเศษอาหารมาทำน้ำหมักชีวภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ และคัดแยกขยะ 80 เปอร์เซ็นต์ การปล่อย CO2 จะลดลง 105 กก./ปี
  • การผลิตอาหารให้เรารับประทานปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 868 กก. CO2/คน/ปี ในขณะที่ถ้าเรากินข้าวที่ผลิตด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ ลดการปล่อยได้ 74 กก. CO2/คน/ปี ถ้าเรากินข้าวแบบมังสวิรัติ จะช่วยลดการปล่อยลงได้ 350 กก./CO2/คน/ปี  และถ้าเราปลูกผักผลไม้ไว้กินเองในพื้นที่ 20 ตร.วาก็จะลดการปล่อยลงได้ 36 กก.CO2/คน/ปี  เป็นต้น

“เราให้ความสำคัญกับการทำให้เกิดสมดุลธรรมชาติ สมดุลพลังงาน เช่นเราอยู่กัน 4-5 คน ใช้รถ 2 คัน ใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำ และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คำนวณแล้ว ถึง 8 ตันต่อปี ดังนั้นนอกจากเราจะช่วยสร้างบ้านประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงานต่างๆลงแล้ว เราก็ยังปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ช่วยดูดซับคาร์บอนด้วย และก็วางแผนกันว่าจะลดการใช้รถยนต์ให้น้อยลงด้วย ตั้งเป้าไว้ว่าจะช่วยกันลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงให้เหลือ 4 ตัน ก็หวังว่าจะช่วยสร้างสมดุลได้มากขึ้นบ้าง” คุณรุ่งทิพย์กล่าว

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่บ้านต้นคิดทิพย์ธรรมพยายามร่วมกันทำ ร่วมกันปรับเปลี่ยนนั้น ไม่ได้ทำไปด้วยกระแส หรือทำไปเพียงเพราะมีคนบอกว่าดีเท่านั้น แต่ยังได้มีการคิดคำนวณจนตระหนักถึงความสำคัญที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกด้วย นับเป็นการนำความรู้วิชาการมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และครอบครัวนี้ก็ได้ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” ว่าเราทุกคนสามารถช่วยกันออกแบบชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง ที่สำคัญอาจารย์เดชรัตน์บอกว่าวิถีชีวิต เช่นนี้ยังทำให้คนในครอบครัวได้เรียนรู้ และอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุขด้วย

ขอบคุณคุณรุ่งทิพย์ และอาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิดที่ให้การต้อนรับที่อย่างดี

ขอบคุณเรื่องราวที่ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด นำมาแบ่งปันในงานในงานสัมมนาวิชาการเกษตรในเมือง “ปลูกเมือง ปลูกชีวิต”

ขอบคุณรูปถ่ายและเนื้อหาจากสไลด์นำเสนอเรื่องบ้านประหยัดโลกในงานสัมมนาวิชาการเกษตรในเมือง “ปลูกเมือง ปลูกชีวิต”