ความมั่นคงทางอาหารบนดาดฟ้า เราสร้างได้

อันที่จริง เคยเขียนเรื่องของครูอุษา หรือคุณกัญญ์ณัทพัทร บุณยะโหตระเจ้าของสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านรังษี แถวห้วยขวางไปแล้วครั้งหนึ่ง ในเรื่องเมื่อคนไม่เคยปลูก ลงมือทำ  ยังจำได้ถึงภาพที่เราขึ้นไปเยือนสวนผักดาดฟ้าแห่งนี้ครั้งแรก ว่าเติบโตงอกงามเพียงใด

ระยะเวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี ที่ครูอุษา เริ่มต้นและลงมือทำนั้น เป็นช่วงเวลาที่ครูอุษาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ทั้งเรื่องเทคนิคการปลูกให้งอกงาม เทคนิคการปลูกอย่างไรให้ได้กินทุกวัน อีกทั้งยังเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านของชีวิตจนเมื่อเราได้ฟังเรื่องเล่าที่ครูอุษาแบ่งปันมาจากใจ และได้ไปเยี่ยมแปลงอีกครั้ง เราก็อดไม่ได้ที่จะมอบรางวัลในการประกวดสวนผักดาดฟ้า เขียว กินได้ให้

ครูอุษาเล่าว่า กว่าจะมาเป็นสวนผักเช่นวันนี้ มีอุปสรรค์มากมาย อย่างแรกคือความไม่รู้ ตัวช่วยแรกและดีที่สุดคือเวปไซต์ สวนผักคนเมือง และยังค้นคว้าจากหนังสือ การอ่านหรือดูเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกผักกลายเป็นชีวิตประจำวันในช่วง1ปีที่ผ่านมาแต่ครูที่ดีที่สุดคือ การลงมือทำ

ในระยะแรกของการทำสวนเหมือนการทำวิจัย ต้องทดลองทำ เก็บข้อมูล ถึงจะมีบทสรุปในวิธีการ เพราะความรู้ที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปลูกผักบนพื้นดิน เมื่อไปปลูกบนดาดฟ้าจึงต้องประยุกต์ให้เหมาะกับความร้อนระอุของพื้นปูนที่ต้องเผชิญ

ข้อค้นพบที่ครูอุษาเรียนรู้และแบ่งปันคือ

  1. การปรุงดิน คือหัวใจสำคัญถ้าซื้อดินถุงมาปลูกเลยธาตุอาหารจะไม่เพียงพอ ยิ่งปลูกในภาชนะ ไม่ว่าจะเป็นกระถาง กระสอบ หรือทำแปลง ล้วนเป็นพื้นที่จำกัด ต่างจากปลูกลงดินที่รากพืชสามารถชอนหาอาหารได้ ดังนี้ต้องปรุงดินให้ดีมากๆ หากพบปัญหาดินละเอียดเป็นเเป้งเมื่อใช้ไปนานๆ ให้ผสมทรายลงไปเล็กน้อยในดินปลูก
  2. ควรทำแปลงให้ใหญ่พอ หากต้องการปลูกพืชที่หยั่งรากลึก คือสูงประมาณ 50 เซนติเมตร กว้างยาวตามความเหมาะสม และยกแปลงให้สูงจากพื้นเล็กน้อย เพื่อป้องกันความชื้นลงสู่พื้นปูน
  3. ใส่กาบมะพร้าว3 ใน 4 ของแปลง เพื่อเก็บความชื้น และป้องกันความร้อนจากพื้นปูน
  4. ปลูกพืชอายุสั้นเช่นกวางตุ้ง คะน้า ผักโขม ผักบุ้ง ไว้ตรงกลาง และปลูกพืชอายุยาว รากลึก และเป็นไม้เลื้อยไว้ขอบแปลง เช่นฟัก บวบ เพื่อช่วยพรางแสง และออกลูกให้เก็บเกี่ยวได้เกือบทั้งปี
  5. รดน้ำตอนเช้า และช่วงประมาณบ่าย 3-4 โมง โดยการรดน้ำตอนบ่ายที่ยังมีแดดอยู่บ้างจะช่วยให้น้ำไม่ขังบนพื้นมากนัก และช่วยป้องกันไม่ให้มีความชื้นที่ผักมากเกินไปในตอนกลางคืน ซึ่งอาจเป็นบ่อเกิดของโรคที่มากับเชื้อราได้

จะว่าไป ก็น่าทึ่งอยู่ไม่น้อย ที่ตอนนี้ พื้นที่ดาดฟ้าตึกพื้นที่ประมาณ 96 ตารางเมตร สามารถปลูกผักได้มากกว่า 60 ชนิด ที่สำคัญยังสามารถเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตสมาชิกในครอบครัว 6 คน เด็กวัยก่อนอนุบาล 20 คน และเด็กๆที่มาเรียนกวดวิชาในวันเสาร์อีกประมาณ 30 คนได้อย่างพอเพียง80 -90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวคือถ้าจะซื้อผัก ก็ซื้อเฉพาะบางส่วนที่ปลูกไม่ได้อย่างแครอท

ครูอุษาบอกว่าเทคนิคในการปลูกให้ได้กินทุกวันก็คือ

  1. ปลูกผักที่เราชอบ และหลากหลาย ทั้งผักใบและผักให้ผล ทั้งผักอายุสั้นและอายุยาว
  2. กินทุกวัน ก็ปลูกทุกวัน
  3. เก็บกินใบกินก่อน เพื่อให้แตกใหม่ได้ แล้วค่อยถอนต้น
  4. เพาะเห็ดไว้กิน ทั้งเห็ดนางฟ้า และเห็ดฟาง
  5. เพาะต้นอ่อนทานตะวันซึ่งประมาณไม่เกิน 7 วันได้กิน ในกรณีที่ประเมินแล้วว่าอาทิตย์หน้าผักไม่น่าจะโตทันเก็บมากินได้
  6. เมื่อผักถึงอายุที่ได้เวลาเก็บ ก็ให้เก็บ แม้ว่าจะได้ปริมาณน้อย โดยให้ค่อยๆสะสมไว้ในตู้เย็นก่อน แล้วค่อยนำมาปรุง

สวนผักดาดฟ้าแห่งนี้ นอกจากจะเขียว กินได้ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสมาชิกและเด็กๆในบ้านหลังนี้แล้ว ยังเป็นเหมือนห้องเรียนกลางแจ้ง ที่แทนที่เด็กๆจะต้องเรียนอยู่ในห้องบนตึก ก็ขึ้นมาเรียน มาเล่น มาทำการทดลองกันท่ามกลางธรรมชาติ บนสวนผักดาดฟ้าแห่งนี้ได้ด้วย ที่สำคัญยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนในบ้านหลังนี้อย่างมากด้วย ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องความสามัคคี เรื่องการเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ครูอุษายังบอกว่าการทำสวนผักดาดฟ้าแห่งนี้ ทำให้ตัวเองเติบโตภายใน ความอยากได้อยากมีลดลง ต่างจากเมื่อก่อนที่คิดว่าจะต้องทำงานเพื่อหาเงินให้ได้เยอะ แต่ตอนนี้พอปลูกผักเองได้ พึ่งตนเองได้ ก็รู้แล้วว่าเราไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่นี้ก็พอแล้ว อยู่ได้แล้ว และยังแบ่งปันให้คนอื่นได้ด้วย

เรื่องราวของดาดฟ้า เขียว กินได้ บนตึกแถวแห่งนี้ คงจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า คนบนตึกในเมืองกรุง ก็สามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้ หากลงมือทำ